xs
xsm
sm
md
lg

“ส.ว.ไพบูลย์” ลั่นอย่าปล่อยผ่าน “กู้ 2 ลล.-แก้ รธน.-นิรโทษฯ” ชี้พลาดอย่างใดอย่างหนึ่งแพ้ทันที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายไพบูลย์ นิติตะวัน
“ส.ว.ไพบูลย์” ชี้ “กู้ 2 ล้านล้าน-แก้ รธน.-นิรโทษฯ” ล้วนเกี่ยวโยงกัน เป็นแผนขยายอำนาจของรัฐบาล ลั่นต้องอย่าปล่อยผ่านทั้งสามเรื่อง ถ้าพลาดอย่างใดอย่างหนึ่งจะถูกรุกคืบด้านอื่นถือว่าแพ้ทันที ด้าน “อ.สมศักดิ์” มั่นใจ พ.ร.บ.กู้เงิน จอดที่ชั้นศาลแน่นอน เพราะขัดรัฐธรรมนูญชัดเจน



เมื่อวันที่ 27 มี.ค. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และนายสมศักดิ์ เธียรจรูญกุล อาจารย์สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

โดยนายไพบูลย์ กล่าวถึง พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท ว่า เหตุที่ต้องคัดค้านมี 3 ประเด็นคือ 1.เป็นจำนวนเงินที่มากเกินไป 2.นำมาใช้กับเรื่องที่ไม่จำเป็น แทนที่จะจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง 3.เกาะเกี่ยวอยู่ที่คำๆ เดียว ว่า เป็นเงินแผ่นดินหรือไม่ ถ้าตีความว่าเงินกู้คือเงินแผ่นดิน จะเข้ามาตรา 169 ต้องตั้งเป็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ซึ่งตนมั่นใจว่าเป็นเงินแผ่นดิน เนื่องจากรัฐธรรมนูญเขียนเรื่องคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินไว้ เวลาตรวจก็ไม่ได้ตรวจเฉพาะงบประมาณ แต่ดูเงินกู้ด้วย

ตอนนี้ตนสบายใจแล้วว่าประเทศชาติคงรอดพ้นจากหายนะ สุดท้ายสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริงไม่ปล่อยให้ไปได้อยู่แล้ว และไม่ใช่แค่คาดเดาแล้วอยู่บ้านเฉยๆ แต่เราต้องทำงานหนัก ด้วยการทำให้ประชาชนเห็นถึง 3 ประเด็น ให้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ และ ส.ว. จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแน่นอน ตอนนี้ได้เตรียมการกันแล้ว

นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ตนเป็นห่วงว่าถ้ามัวแต่ไประวังเรื่องกู้เงิน 2.2 ล้านล้าน เขาก็จะไปดันเรื่องอื่น เพราะตอนนี้รุกมาหลายเรื่องพร้อมกัน ทั้งกู้เงิน 2.2 ล้านล้าน แก้รัฐธรรมนูญ และนิรโทษกรรม เราไม่สามารถแพ้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือชนะเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ เพราะถ้าแพ้ก็จะแพ้ทุกเรื่อง ชนะก็จะชนะหมดทุกเรื่อง ฉะนั้น ต้องหยุดให้ได้ทั้งสามเรื่อง เพราะสามเรื่องนี้เกี่ยวโยงกันหมด เขาต้องการขยายอำนาจทางเศรษฐกิจผ่านการกู้เงิน ขยายอำนาจทางการเมืองด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนิรโทษกรรมเพื่อปลดพันธนาการ แล้วทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การขยายอำนาจอย่างเต็มที่

ดังนั้น ถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งเขาพ้นไปได้ หมายถึงว่าแนวต้านต้านไม่อยู่ เขาก็จะล้ำเข้ามาเรื่องอื่น สมมติหยุดได้เฉพาะกฎหมายกู้เงิน แต่แก้รัฐธรรมนูญสำเร็จ เขาก็ออกกฎหมายใหม่ได้ แค่กู้เงินได้ช้าลง ทั้งสามเรื่องนี้ถ้ายันไว้อยู่ได้ก็ยันได้หมด ถ้าไม่ได้ถือว่าแพ้ การที่เขากล้าโยนหลายๆ เรื่องเข้ามา แสดงว่าเขากล้าที่จะเสี่ยง

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปกติการใช้งบประมาณของประเทศต้องเดินตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหมวด 8 การใช้จ่ายเงินค่อนข้างมีข้อจำกัด แต่พอมา พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาทนี้ไม่ได้ใช้แนวทางเดิมของรัฐธรรมนูญหมวด 8 เลย เขาสร้างระบบขึ้นมาใหม่ โดยให้เงินที่กู้มาไม่ต้องส่งคลัง เท่ากับว่า ทำหน้าที่เหมือนแบงก์ชาติแห่งที่ 2 วางระบบใหม่โดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา

ถ้ามองระบบรัฐธรรมนูญ ต้องบอกว่า กฎหมายนี้ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เช่น มาตรา 169 วรรค 1 บอกว่า “การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนรัฐบาลจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีเช่นว่านี้ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังในพระราชบัญญัติโอนเงินงบประมาณรายจ่าย พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป ทั้งนี้ ให้กำหนดแหล่งที่มาของรายได้เพื่อชดใช้รายจ่ายที่ได้ใช้เงินคงคลังจ่ายไปก่อนแล้วด้วย” แต่เขามองว่า มันยุ่งยากเลยเอาอำนาจสภามาไว้กับฝ่ายบริหาร ให้สภาทำหน้าที่แค่รับทราบทำอะไรไม่ได้เลย มันคือการยึดอำนาจนิติบัญญัติมาไว้กับอำนาจบริหาร แล้วการที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหมวด 8 เปรียบเสมือนการงดบังคับใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ถือเป็นการรัฐประหารทางการเงินก็ว่าได้

การที่รัฐบาลอ้างกฤษฎีกาปี 2552 ที่ให้ความเห็นว่า การใช้จ่ายเงินกู้ตามกฎหมายพิเศษไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 169 การมองว่าเงินกู้เป็นหรือไม่เป็นเงินแผ่นดินประเด็นเดียวไม่พอ การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญหมวด 8 ก็เหมือนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยอาศัย พ.ร.บ. ซึ่งรัฐธรรมนูญระบุว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องตรากฎหมายลำดับศักดิ์เดียวกัน

และถึงแม้สภาโหวตผ่านก็ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญอยู่ดี ขัดหมวด 8 และมาตรา 291 นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อเนื่องไปยัง ครม.ซึ่งในกฎหมายเงินกู้นี้คนมีอำนาจสูงสุดคือ รมว.คลัง เมื่อมีการงดบังคับใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา กลายเป็นว่า ครม.มีอำนาจอยู่เหนือรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป เพราะสามารถใช้ระบบการเงินการคลังโดยไม่ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ตนมองว่า กฎหมายนี้อาจใช้เสียงข้างมากผ่านสภาไปได้ แต่มันไม่จบต้องมีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และเชื่อว่าไปได้ไม่สุด เสร็จในชั้นศาลแน่นอน


นายสมศักดิ์ เธียรจรูญกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น