xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” เตือนสภาเกิดวิกฤตหากผ่าน พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน “พิชาย” แนะ ปชป.อย่าร่วมประชุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ปานเทพ” ชี้ พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้าน มีโอกาสขัดรัฐธรรมนูญสูง เตือนสภาหากดื้อผ่านไปได้อาจเกิดวิกฤต เพราะถ้าถูกชี้มูลความผิด “ส.ส.-ครม.” ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่ทันที ด้าน “พิชาย” แนะ ปชป.อย่าเข้าร่วมประชุมเพื่อป้องกันตัวเองจากความผิด และทำให้การตั้งคณะกรรมาธิการฝ่ายเดียวของรัฐบาลไม่ชอบธรรม


วานนี้ (25 มี.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำพันธมิตรฯ รุ่น 2 และโฆษกพันธมิตรฯ พร้อมด้วย ผศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

โดยนายปานเทพ ได้กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท ว่า เหตุที่รัฐบาลไม่ออกเป็นงบประมาณปกติเนื่องจากคิดอยากใช้เงิน แต่ไม่รู้ว่าแต่ละโครงการต้องใช้จริงเท่าไหร่ ราคาต่อหน่วยเท่าไหร่ ไม่สามารถตรวจสอบตามแบบแผนวิธีงบประมาณปกติได้ เลยตราเป็น พ.ร.บ. ต่างหากเพื่อสำหรับการกู้เงิน แต่บังเอิญมันไม่ใช่การกู้ธรรมดา แต่นี่เป็นการกระทำที่ให้ขั้นตอนสั้นลง กระบวนการตรวจสอบน้อยลง โดยมีข้อสงสัยกันว่าร่าง พร.บ.นี้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 169 และ 170 โดยมาตรา 169 ระบุว่า “การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนรัฐบาลจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ”

ในกรณีเช่นว่านี้ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังในพระราชบัญญัติโอนเงินงบประมาณรายจ่าย พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป ทั้งนี้ ให้กำหนดแหล่งที่มาของรายได้เพื่อชดใช้รายจ่ายที่ได้ใช้เงินคงคลังจ่ายไปก่อนแล้วด้วย หมายความว่ากลไกงบประมาณบ้านเราให้มีวินัยทางการคลัง และต้องหารายได้กลับมาใช้คืนคลังด้วย แต่ พ.ร.บ.ที่รัฐบาลออกนี้ในมาตรา 5 ระบุให้เป็นการตั้งงบประมาณมาเฉยๆ จะกู้ก็กู้ได้เลย

และที่อันตรายมากคือ มาตรา 6 บอกว่าไม่ต้องนำเงินที่เหลือจากการกู้ส่งคลัง สมมติการกู้เงินครั้งนี้มากเกินจำเป็น ก็ไม่จำเป็นต้องส่งเงินคืนคลัง เป็นการตัดกลไกการตรวจสอบอย่างสิ้นเชิง เป็นการกระทำการให้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการตัดสินใจของรัฐบาล โดยปราศจากรายละเอียดเนื้อหาของโครงการ มีความเสี่ยงอย่างมากต่อการขัดรัฐธรรมนูญ

นายปานเทพ กล่าวต่อว่า ส.ว.คงจะยื่น ป.ป.ช. ว่า กรณีที่ ครม. เสนอบทบัญญัติขัดรัฐธรรมนูญแบบนี้เป็นการตั้งใจหาเงินนอกวิธีการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อาจถึงขั้นจงใจฝ่าฝืน หรือทุจริต ยื่นให้ ป.ป.ช.เพื่อส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้วินิจฉัยว่า ครม.ที่ลงมติเมื่อ 22 มี.ค.56 เป็นการกระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ สมรู้ร่วมคิดกันเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินกู้มหาศาลโดยปราศจากการตรวจสอบ แล้วไม่ต้องถึงขั้นศาลตัดสิน แค่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ครม.ทั้งคณะต้องยุติการทำหน้าที่ทันที

และเมื่อ ครม.เห็นชอบไปแล้ว ตอนนี้เข้าสู่กระบวนการรัฐสภาซึ่งจะพิจารณาในวันที่ 28-29 มี.ค.นี้ ถ้าวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ถามว่า ส.ส. ทั้งหลายพร้อมที่จะมีความเสี่ยงร่วมกับรัฐบาลหรือไม่ เพราะเงิน 2.2 ล้านล้านคือขุมทรัพย์มโหฬาร ถ้าชักแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ หมายถึงจำนวน 6 แสนกว่าล้านบาท เป็นขุมทรัพย์มโหฬารที่เป็นแรงจูงใจให้รัฐบาลรวมถึงคนที่อยู่ต่างประเทศตัดสินใจว่าจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเอาเรื่องที่จำเป็นก่อนคือ มาตรา 190 เพื่อป้องกันสวัสดิภาพรัฐบาลในการทำสนธิสัญญา หรือโครงการต่างๆ จะได้ไม่ต้องยุ่งยาก ลดทอนอำนาจการตรวจสอบ และแม้กระทั่งว่ากลไกที่รู้ว่ามีความเสี่ยงก็รีบแก้ เช่น มาตรา 68 เพื่อไม่ให้ประชาชนยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญเองได้โดยตรง ต้องผ่านอัยการก่อน และมาตรา 237 สมมติผิด ศาลวินิจฉัยผิดรัฐธรรมนูญก็อย่าถึงขั้นยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

“ถ้าป.ป.ช.ชี้มููลความผิดก็จะไปถึง ครม. แล้วถ้า ส.ส. เดินหน้าก็จะผิดถึง ส.ส.ทั้งขบวนการ ผมเชื่อว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ เมื่อทั้ง ส.ส. และนายกฯ ถูกชี้มูลพร้อมๆ กันน่าคิดว่าจะเกิดอะไรต่อไป” นายปานเทพ ระบุ

นายพิชาย กล่าวว่า วันที่ 28-29 มี.ค. ที่สภาจะพิจารณา พ.ร.บ.กู้เงิน อาจมีเกมในสภาเกิดขึ้น นายกรณ์ จาติกวณิช ก็พูดชัดว่าขัดมาตรา 169 ถ้าชัดเจนขนาดนี้ และมีแนวโน้มที่ ส.ว. จะยื่นให้ ป.ป.ช. ในสัปดาห์นี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่าประชาธิปัตย์ต้องดำเนินมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันตัวเอง เช่น อาจไม่เข้าร่วมประชุมพิจารณากฎหมายนี้ ก็จะเหลือแต่เพื่อไทย และพรรคอื่น ถ้าเขาระดม ส.ส. มาได้ครบองค์ประชุมก็ผ่านวาระ 1 ไปได้ จากนั้นจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการ ตนเชื่อว่าไม่กล้าผ่าน 3 วาระรวด ทีนี้การตั้งคณะกรรมาธิการถ้าประชาธิปัตย์ไม่เข้าร่วม ก็จะเป็นคณะกรรมาธิการฝ่ายเดียว ซึ่งอาจมีปัญหาได้ ถ้าเป็นเช่นนี้เพื่อไทยคงต้องคิดหนักเช่นกัน ถ้าประชาธิปัตย์เล่นเกมนี้ และถ้าเขามีความกังวลอยู่บ้างก็อาจถอนออกมา แล้วเอากฎหมายไปแก้บางส่วนที่อาจทำให้สุ่มเสี่ยงน้อยลงต่อการขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในเรื่องของเงินกู้ที่ไม่ต้องคืนคลัง

แล้วนอกจากจะขัดรัฐธรรมนูญแล้ว พ.ร.บ.เงินกู้นี้ยังขัด พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ ที่ออกในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ เองด้วย โดยเฉพาะมาตรา 23 บอกว่า การกู้เงินทำได้เมื่อมีความจำเป็น และให้ใช้จ่ายนอกเหนืองบประมาณประจำปี หรือจำเป็นต้องกู้เงินก็ให้เป็นเงินตราต่างประเทศ ไม่เกินร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี หมายความว่าถ้ากู้ภายใต้ พ.ร.บ.นี้ จะกู้ได้ที่ประมาณ 2.2 แสนล้านบาทเท่านั้น

ฉะนั้น ไม่ง่ายเท่าไหร่ที่ผลัก พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้าน ออกมาได้ เข้าใจว่าวันที่ 28-29 มี.ค. อาจไม่ได้พิจารณา นี่คือการประเมินของตน ไม่ใช่การเรียกร้อง ส่วนประชาธิปัตย์จะทำอย่างไรก็แล้วแต่ จะเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงหรือไม่

นายพิชาย กล่าวอีกว่า สมมติ 28-29 มี.ค. สภาผ่าน พ.ร.บ.กู้เงินปได้ ต่อไปคงเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญในเชิงยุทธศาสตร์ โดยแก้มาตรา 68 ก่อน ปิดทางประชาชนในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ มากกว่านั้นก็มาตรา 190 เพราะสองมาตรานี้เป็นอุปสรรคต่อการใช้เงิน 2.2 ล้านล้าน ส่วนมาตราอื่นเขารอได้ อีกเรื่องก็คือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คงมีความพยายามสูงที่จะผลักเข้าสภา เรื่องเหล่านี้ที่ประดังเข้ามาอาจทำให้เดือนเมษาแผ่นดินลุกเป็นไฟ

นายปานเทพ กล่าวว่า ความร้อนที่จะเกิดขึ้นในเดือนเมษา วันนี้เงื่อนไขสำหรับประชาชนเยอะมากแล้ว ทั้งน้ำมันแพง ค่าไฟขึ้น รถคันแรกมีปัญหา จำนำข้าวล้มเหลว ล้วนแต่เป็นวิกฤตที่กำลังเผชิญหน้า แต่สำหรับตนมองว่าเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดอยู่ที่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หากชี้มูลความผิดนายกฯ เมื่อไหร่ จะเห็นวิกฤตที่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เช่น ป.ป.ช. ชี้มูลกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชี้แจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จแจงในการปล่อยกู้ให้สามีตัวเอง ถ้า ป.ป.ช.ชี้มูลต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หรือล่าสุด การหาเสียงผู้ว่าฯอาจขัดต่อกฎหมาย เพื่อไทยเลยเอา นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ มาเป็นนายกฯ สำรอง แต่ถ้าเรื่อง พ.ร.บ.กู้เงินผ่านขั้นสภาไปได้ จะไม่ใช่แค่นายกฯ ที่พ้นจากตำแหน่ง แต่ ส.ส. ในสภาก็จะโดนด้วย เมื่อนั้นก็จะเกิดวิกฤต

นอกจากนี้ ถ้าประชาชนเกิดความรู้สึกเป็นเอกภาพในการเคลื่อนไหวสูง เกิดความต้องการเปลี่ยนแปลงพร้อมๆ กัน มันก็มีโอกาสพลิกผัน อาจเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิด กรณีแบบนี้มองข้ามไม่ได้






กำลังโหลดความคิดเห็น