xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ-พิชาย” เตือนจับตา พ.ร.บ.เอกชนร่วมทุนฯ เปิดช่องรัฐบาลกินรวบ 2.2 ล้านล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ปานเทพ” ชี้กรณี “แม้ว” สั่งเพื่อไทยเร่งนิรโทษฯ ให้เฉพาะมวลชน แสดงว่ายังไม่ต้องการทำรัฐบาลพัง เนื่องจากรอใช้งบมหาศาล เชื่อ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนฯ หวังให้เปิดช่องใช้ 2.2 ล้านล้านตามใจชอบ ไร้การตรวจสอบ “พิชาย” เตือนเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ฝ่ายการเมืองกำลังกินรวบโครงการใหญ่

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการ “คนเคาะข่าว”  

วันที่ 11 มี.ค. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำพันธมิตรฯ รุ่น 2 และโฆษกพันธมิตรฯ พร้อมด้วย ผศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

จากกรณีที่พันธมิตรฯ ปฏิเสธร่วมหารือแนวทางแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และเกิดวาทกรรมกล่าวหาฝ่ายที่ไม่เข้าร่วมว่าเป็นอุปสรรคต่อการนิรโทษกรรม นายปานเทพกล่าวว่า ถ้าตนไม่ได้ไปเริ่มหารือด้วยแต่แรกอาจพูดได้ว่ามันไม่มีกลไกอื่นแล้วเพราะไม่มีใครยอมเจรจา แต่นี่ไม่ใช่ เพราะเรามีเงื่อนไขและข้อตกลงจากหลายฝ่ายที่จะช่วยเหลือคนบางกลุ่ม แต่เขาไม่เลือก การที่นายวรชัย เหมะ และคณะ เสนอกฎหมายพร้อมกับล่ารายชื่อ ส.ส.42 คน สะท้อนว่าเขาไม่คิดเจรจาอย่างจริงจัง แต่เขาต้องการอยู่เหนือศักดิ์และสิทธิคู่เจรจา เหมือนคู่กรณีเจรจาไปถูกปืนจ่อหัวไป เอามาขู่ว่าถ้าไม่ยอมตามที่เขาต้องการกระบวนการในสภาก็จะเดินหน้า แบบนี้ไม่มีใครอยากเจรจาด้วย เพราะมันไม่สามารถสร้างบรรยากาศความไว้วางใจได้

การที่ตนไป 2 ครั้งและถอนตัวนั้น เสื้อแดงจะเห็นได้ว่ามีทางเลือกที่สามารถช่วยพี่น้องเสื้อแดง 1,000 กว่าคนให้พ้นผิดได้เร็วที่สุด ด้วยกลไกที่หลายฝ่ายเดินหน้าได้ แต่เพื่อไทยไม่เลือก เขาเลือกที่จะมัดมวลชนเป็นตัวประกันด้วยการเอาคนที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-พ.ร.บ.มั่นคง เอาไว้กับความผิดทางอาญาร้ายแรง แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณก็ต้องการพ่วงตัวเองเข้าไปด้วย ดังนั้น 5 กลุ่มที่ไม่เข้าร่วม (ประชาธิปัตย์-พันธมิตรฯ-องค์การพิทักษ์สยาม-เสื้อหลากสี-นางนิชา) ไม่ใช่อุปสรรค แต่เป็นอุปสรรคคือเพื่อไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่อยากจับมวลชนเหล่านี้เป็นตัวประกัน

นายปานเทพกล่าวต่อถึงการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ สไกป์เข้ามายังที่ประชุมพรรคเพื่อไทย สั่งให้เร่งเดินหน้านิรโทษกรรมเนื่องจากทำให้เสียมวลชนว่า แสดงว่าฐานมวลชนคนเสื้อแดงสะเทือนอย่างมาก และคงรู้ว่าถ้าเดินหน้า พ.ร.บ.นิรโทษฯแบบพ่วงแกนนำและ พ.ต.ท.ทักษิณเข้าไปด้วยจะต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง เลยให้ช่วยเฉพาะมวลชน และต้องทำแบบระมัดระวังไม่ให้เห็นว่ามีวาระแอบแฝง แต่มันสำคัญที่กลไก เพราะถ้าช่วยคนที่มีความผิดเล็กน้อยได้ภายใต้กระบวนการนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางสภา หรือจำนวน ส.ส.ที่มีในสภา สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการเลียนแบบ เช่น ขั้นแรกนิรโทษกรรมเฉพาะมวลชน ขั้นต่อไปก็จะนิรโทษกรรมคนทำผิดคดีอาญาร้ายแรง ในเมื่อกระบวนการของสภาทำได้สำเร็จก็สามารถช่วยไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณได้

การที่ พ.ต.ท.ทักษิณยังไม่ให้ช่วยแกนนำเสื้อแดงและตัวเขาเองนั้น แสดงว่าต้องการเอาใจมวลชนก่อน ส่วนตัวเองยังไม่รีบ นั่นก็เพราะไม่ต้องการเผชิญหน้าทำให้รัฐบาลสั่นคลอน เนื่องจากรัฐบาลกำลังรองบมโหฬาร 2.2 ล้านล้านบาท การเปิดสัมปทานปิโตรเลียม การอ้างขาดแคลนพลังงานเพื่อนำเข้าถ่านหินมาผลิตไฟฟ้า ป้อนให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีร่ำรวยต่อไป รวมถึงการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนอ่าวไทย สะท้อนว่า พ.ต.ท.ทักษิณคำนึงถึงเสถียรภาพรัฐบาลเหนือสิ่งอื่นใดในขณะที่ต้องเอาใจมวลชนไปด้วย

โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวอีกว่า ตนไม่คาดคิดมาก่อนในกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน (ส.ว.สรรหา) กำลังเป็นห่วงกฎหมายฉบับหนึ่ง ที่มีขึ้นในปี 2535 สมัยนายอานันท์ ปันยารชุน ชื่อว่า “พ.ร.บ.ว่าด้วยให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535” กฎหมายนี้กำหนดว่า “ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในโครงการของรัฐ ไม่ว่าการลงทุนนั้นจะมีร่วมลงทุนหรือไม่ แต่การลงทุนนั้นมีวงเงินหรือทรัพย์สินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ต้องผ่านกระบวนการต่างๆ มากมายตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน จะเห็นได้ว่าไม่ได้กำหนดเรื่องการลงทุนอย่างเดียว แต่ใช้คำว่าโครงการด้วย และใช้คำว่าร่วมงาน หรือดำเนินการ ไม่ว่าร่วมลงทุนกับเอกชน ไม่ว่าด้วยวิธีใดหรือมอบหมายให้เอกชนดำเนินการแต่ฝ่ายเดียว โดยวิธีการอนุญาตให้สัมปทานหรือให้สิทธิ ไม่ว่าในลักษณะใด ต้องเข้าสู่กฎหมายฉบับนี้หมด กฎมายฉบับนี้ให้ตั้งคณะกรรมการหนึ่งชุด ประกอบด้วยบุคคลหลายภาคส่วน และให้ความสำคัญกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอย่างมาก แม้ว่าจะผ่านคณะกรรมการแล้วยังต้องผ่านการไตร่ตรองอีกชั้นหนึ่งจากผู้แทนสภาพัฒน์ และผู้แทนกระทรวงการคลัง นั่นคือมีกระบวนการถ่วงดุลนอกหน่วยงานรัฐอีกชั้นหนึ่ง

แต่ปรากฏว่าเร็วๆ นี้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ โดยใช่ชื่อว่า “ร่าง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ” จากเดิมใช้คำว่า “ให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ” หมายถึงจำกัดขอบเขตว่าเฉพาะให้เอกชนร่วมลงทุนด้วยถึงเข้าเงื่อนไขนี้ จำกัดขอบเขตไปเยอะ จากเดิมโครงการเกิน 1 พันล้านบาท กระบวนการต้องเข้าสู่สภา แต่ของใหม่เฉพาะต้องเป็นการลงทุนจากหน่วยงานเอกชนถึงเข้าเงื่อนไข เขายังบอกว่าหน่วยงานเจ้าของโครงการสามารถที่จะตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมา โดยกำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมด้วยถึง 4 คน หมายความว่า 4 คนนี้ ฝ่ายการเมืองสามารถแทรกแซงได้ แล้วคณะกรรมการชุดใหญ่จากเดิมเป็นเจ้าของกระทรวงหรือหน่วยงานนั้นๆเป็นประธาน แต่งานนี้ให้นายกฯนั่งเป็นประธานเอง ก็แสดงว่ามีธงการเมืองเข้ามายุ่งในกระบวนการลงทุนให้รัดกุมน้อยลง เป็นการปูทางสู่การใช้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท

นายปานเทพยังกล่าวด้วยว่า กฎหมายฉบับนี้เริ่มในสมัยประชาธิปัตย์ มันถึงไม่มีใครคัดค้าน แล้วตอนนี้กำลังรอลงพระปรมาภิไธย ตนคิดว่าคนที่ได้ประโยชน์บางส่วนอาจเป็นผู้ลงทุนเกี่ยวกับการเช่าพื้นที่แถวสนามบินหรือเปล่าก็ไม่ทราบได้ แต่ดูมาตราของเดิมในมาตรา 16 ระบุว่า “ในการคัดเลือกให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการ หากคณะกรรมการมีความเห็นว่าไม่ควรใช้วิธีการคัดเลือกโดยวิธีประมูลและหน่วยงานเจ้าของโครงการเห็นชอบด้วย ให้รายงานสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและกระทรวงการคลัง หากสองหน่วยงานเห็นพ้องด้วย ให้เสนอ ครม.อนุมัติ แต่ถ้าหน่วยงานเจ้าของโครงการไม่เห็นด้วยตามวรรคหนึ่ง ให้ทำบันทึกเสนอสำนักงานสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและกระทรวงการคลัง เพื่อประกอบการพิจารณา หากสองหน่วยงานเห็นพ้องด้วย หรือถ้าหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่เห็นพ้องด้วย ให้ใช้วิธีคัดเลือกด้วยการประมูล” ของใหม่แก้เป็นมาตรา 38 ระบุว่า “ในการคัดเลือกให้เอกชนร่วมลงทุน หากหน่วยงานเจ้าของโครงการและคณะกรรมการคัดเลือกมีความเห็นตรงกันว่าไม่ควรใช้วิธีการคัดเลือกโดยวิธีประมูลให้เสนอสำนักงาน (นโยบายรัฐวิสาหกิจ) พิจารณา หากเห็นพ้องด้วยให้เสนอคณะกรรมการอนุมัติ หากหน่วยงานเจ้าของโครงการและคณะกรรมการคัดเลือกมีความเห็นไม่ตรงกันว่าไม่ควรใช้วิธีการคัดเลือกโดยวิธีประมูล ให้เสนอสำนักงานพิจารณา หากสำนักงานเห็นว่าควรใช้วิธีคัดเลือกโดยวิธีประมูลให้ใช้วิธีการประมูล แต่ถ้าไม่ควรให้เสนอคณะกรรมการตัดสินชี้ขาด” สรุปคือ ให้สำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง และอยู่ภายใต้คณะกรรมการชุดใหญ่ที่นายกฯ เป็นประธาน เป็นตัวชี้ขาด มันกวาดจนจบในกระบวนการเดียว มันถึงเป็นแรงจูงใจไม่ต้องการกระเพื่อมเรื่องนิรโทษฯในตอนนี้ เพราะกฎหมายนี้กำลังจะผ่านแล้ว ซึ่งนายไพบูลย์ นิติตะวัน กำลังจะทำเรื่องคัดค้านว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ

นายพิชายกล่าวเสริมว่า กฎหมายเดิมเวลาทำโครงการเกิน 1 พันล้านบาท ต้องเข้าหน่วยงานที่ดูแล คือ 1. สภาพัฒน์ เพื่อดูความเป็นไปได้ของโครงการ และทำการศึกษา แล้วทำข้อเสนอขึ้นไป 2. สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เพื่อดูงบว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ สองหน่วยงานนี้ทำหน้าที่ให้ความเห็นไปแล้วไปสู่การตัดสินใจของคณะกรรมการอีกที แต่กฎหมายใหม่ตัดตรงนี้ไปเลย แล้วให้ตั้งตัวแทนจากคนเหล่านี้เป็นคณะกรรมการชุดใหญ่ แต่มีปัญหาคือระหว่างนั่งเป็นคณะกรรมการกับให้มีการศึกษาอย่างละเอียด การตัดสินใจจะต่างกัน ความรอบคอบจะต่างกันมาก ที่ร้ายกว่านั้นคือเงินกู้ไม่ต้องผ่านสภา แค่ใช้มติของ ครม. เป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก ฝ่ายการเมืองกำลังเข้าไปกินรวบโครงการใหญ่ๆ ให้กระบวนการต่างๆ ง่ายขึ้น ตัดฝ่ายเทคนิคทางเศรษฐศาสตร์ อย่างสภาพัฒน์และกระทรวงการคลังออกไป และเล่นให้ฝ่ายการเมืองตัดสินได้เลย ซึ่งถ้ากฎหมายนี้ผ่าน เราคงได้เห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับ 2.2 ล้านล้านบาท




กำลังโหลดความคิดเห็น