“คุณหญิงจารุวรรณ” ปลุกประชาชนจับตา พ.ร.บ.ให้เอกชนร่วมลงทุนฯ ชี้ให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับคณะกรรมการที่มาจากฝ่ายการเมืองอย่างน่าเกลียด ด้าน “คำนูณ” ถามรัฐบาลกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท ทำไมไม่ทำเป็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งตรวจสอบได้เข้มข้นกว่า ระบุจะทำให้การดูสถานะของประเทศเกิดความสับสน เชื่อ “แม้ว” พักนิรโทษฯ ไว้ก่อน พุ่งเป้าไปที่งบมหาศาล หวังทำประเทศพัฒนาได้แล้วผลดีทางการเมืองจะตามมา
เมื่อวันที่ 12 มี.ค. เมื่อเวลา 20.30 น. คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV
โดยคุณหญิงจารุวรรณได้กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ที่แก้มาจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ว่า วันนี้ตนอยากเรียกร้องให้คนไทยเจ้าของเงินร่วมจับตามองกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งตนตั้งข้อสังเกตดังนี้ กฎหมายเดิมหน่วยงานเจ้าของโครงการที่ประสงค์ให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในโครงการใด เสนอผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการโดยละเอียด ตามประเด็นหัวข้อที่ สศช.กำหนดต่อกระทรวงเจ้าสังกัด ดูแล้วแน่นแฟ้น ให้ไปวิเคราะห์แล้วเสนอมา แล้วต้องผ่าน สศช.มา แต่กฎหมายใหม่ในมาตรา 6 บอกว่าให้เอกชนร่วมลงทุนของรัฐให้คำนึงถึง 7 ข้อ ซึ่งดูเหมือนดี แต่ใช้คำว่า “คำนึง” มันนามธรรมมาก
อีกอันคือการที่ต่างประเทศมาร่วมลงทุนในประเทศเรา ประชาชนต้องได้ประโยชน์ ดังนั้นควรผ่านสภาพัฒน์ และสำนักงบประมาณ แต่ของใหม่นี้ให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่งโดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน จากการแต่งตั้งของ ครม. แล้วคณะกรรมการชุดนี้มีอิทธิพลมาก มีวาระ 4 ปี อยู่ได้ 2 วาระ นานถึง 8 ปีเลย แม้รัฐบาลหมดวาระไปแล้ว คนที่รัฐบาลเลือกมายังอยู่ต่อ ถ้าการร่วมลงทุน การกู้เงินมาใช้ โดยที่ 4 คนนี้ยังเข้ามามีบทบาทมันก็เป็นเรื่องน่าเป็นห่วง
แล้วถ้าคณะกรรมการชุดนี้ทำงานซื่อสัตย์ แต่ดันมีมาตรา 12 เรื่องการพ้นวาระ นอกจากจะครบวาระ ตาย ลาออก ครม.ยังมีสิทธิให้ออกได้ด้วย เปิดช่องให้นักการเมืองสามารถบังคับให้คณะกรรมการสนับสนุนโครงการ ถ้าไม่ทำตามก็ปลดออกได้
นอกจากนี้ ในมาตรา 16 ให้อำนาจคณะกรรมการชุดนี้ในการคัดเลือกโครงการที่จะให้เอกชนร่วมลงทุน และพิจารณาอนุมัติตัดสินชี้ขาด นอกจากนี้คณะกรรมการชุดนี้ยังสามารถวินิจฉัยการโต้แย้งของกฎหมายฉบับนี้ได้เองด้วย สรุปคือมีอำนาจครบทุกอย่าง ถึงขั้นเป็นผู้พิพากษาไปในตัว แม้กระทั่งการตั้งอนุกรรมการอะไรก็ต้องเป็นไปตามคณะกรรมการชุดนี้กำหนด
ด้านนายคำนูณกล่าวถึง พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท ว่า โครงการการลงทุนโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานครั้งนี้เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 4.24 ล้านล้านบาท โดยแยกอยู่ในร่าง พ.ร.บ.กู้เงินประมาณ 2 ล้านล้านบาท ส่วนอีก 2.2 ล้านล้านบาท จะกระจายอยู่ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นโครงการของหน่วยงานต่างๆ ปัญหา คือ โครงการใหญ่ขนาดนี้มันไม่ได้ใช้งบหมดภายในทีเดียว สามารถที่จะตั้งเป็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งงบประมาณประจำปีนี้กระบวนการทำงานจะทำเกือบทั้งปีโดยข้าราชการประจำ สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ฯ แล้วก็ผ่าน 2 สภา โดยในชั้นสภาผู้แทนราษฎรสามารถแปรญัตติตัดงบได้ การตรวจสอบจะเข้มข้นกว่า แต่การใช้เงินนอกงบประมาณมันมีแต่ราคากลมๆมา เป็นต้นว่า 2.2 ล้านล้านบาท มาจากไหน ไม่มีรายละเอียดเพราะโครงการยังไม่เกิด การตรวจสอบก็ทำได้น้อย
แล้วงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้นเปรียบเสมือนการดูงบดุลของประเทศในแต่ละปี สามารถดูฐานะประเทศได้ว่าเป็นอย่างไร ถ้าเรามีเงินนอกงบประมาณเขาก็จะบอกว่าให้ยกเว้นไม่ต้องส่งคลัง เท่ากับว่าเราดูสถานะประเทศเฉพาะในงบไม่ได้แล้ว เพราะยังมีหนี้ก้อนอื่นอีก
โครงการนี้จะยิ่งสับสนกันไปใหญ่เพราะมันไม่ใช่แค่ 2.2 ล้านล้านบาท แต่มันเป็น 4.2 ล้านล้านบาท ระบบเลยกลายเป็นสองระบบ การที่ดูสถานะของประเทศจะดูไม่ออก เราก็วิเคราะห์ไม่ได้ว่าควรทำไม่ทำอะไรอย่างไร เป็นต้นว่าการลงทุนเยอะขนาดนี้ทำไมไม่คิดถึงรายได้ของประเทศ ทำไมไม่เอามาใส่ในร่างงบประมาณประจำปี โดยการตรวจสอบทำได้เป็นไปตามปกติ แล้วทำให้เห็นภาพรวมของประเทศ ทำไมต้องแยกเป็นเงินนอกงบประมาณ ทำให้ประเทศมีสองระบบขึ้นมาทันที ซึ่งประชาธิปัตย์ทำการค้านอยู่ แต่ก็ค้านได้ไม่เต็มปาก เพราะสมัยประชาธิปัตย์ก็ใช้วิธีนี้กับโครงการไทยเข้มแข็ง
นายคำนูณกล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ว่า ตนยังมองไม่เห็นว่าจะเกี่ยวโดยตรงกับเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท ไม่น่ามาปนกับเงินกู้ แต่อย่างที่บอกอีก 2 ล้านล้าน เขาอาจจะใช้วิธีรูปแบบร่วมทุนก็ได้ อันนี้พูดบนพื้นฐานที่ยังไม่เห็น พ.ร.บ.ให้กระทรวงการคลังกู้เงิน
นายคำนูณยังกล่าวด้วยว่า ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลตอนนี้ยอมเรื่องอื่นไปก่อน ไม่ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ เรื่องนิรโทษกรรม เพราะเป้าหมายหลักคือ 2.2 ล้านล้านบาท หรือทั้งโครงการ 4.2 ล้านล้านบาท เขาเชื่อว่าเงินตัวนี้จะช่วยยกระดับประเทศ ให้กลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายใน 10 ปี จึงเห็นว่าต้องดันตรงนี้ให้เคลื่อนไปข้างหน้าก่อน ดูจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ สไกป์เข้ามาเมื่อวาน เขาเน้นพูดเรื่องรถไฟความเร็วสูง เขาเชื่อว่าพอรัฐบาลอยู่ครบวาระ เลือกตั้งใหม่เพื่อไทยก็ชนะอยู่ดี ฉะนั้นเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ นิรโทษกรรม ค่อยว่ากันที่หลัง เพราะเงินก้อนนี้เขาไม่ได้มองเป็นแค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่สามารถพลิกประเทศได้ แล้วถ้าสำเร็จเรื่องการเมืองมันจะเดินตามไปได้