“ปานเทพ” ลั่นต้องมีการปฏิรูป พ.ร.บ.ปิโตรเลียมก่อนเปิดสัมปทานรอบที่ 21 เพื่อให้ผลประโยชน์ตกแก่ประชาชนมากที่สุด เชื่อ ก.พลังงานหวังใช้สถานการณ์ซ่อมท่อก๊าซทำไฟดับช่วง เม.ย. เพื่อเปิดทางสู่การใช้พลังงานอื่น ท้าถ้ากล้าเผชิญหน้ากับประชาชนก็เดินหน้าเลย
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการ “คนเคาะข่าว”
วันที่ 26 ก.พ. 56 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ถึงประเด็นสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21
โดยนายปานเทพกล่าวว่า การเปิดสัมปทานโตรเลียมรอบที่ 21 นี้สำคัญ หลังจากเลื่อนมาจากปีที่แล้ว และล่าสุดจะเลื่อนออกไปอีก นั่นก็เพราะภาคประชาชนตื่นรู้ รัฐบาลกลัวเสียคะแนนนิยมเลยยังไม่กล้า
ถ้าเราจะจัดการทรัพยากรของประเทศให้ผลประโยชน์ตกแก่ประชาชนมากที่สุด ไม่สมควรปล่อยต่อไปอย่างนี้ ในอดีตอาจไม่มีความรู้จึงสามารถเข้าใจได้ แต่เวลานี้มีหลายประเทศได้ปรับการให้สัมปทานใหม่ ซึ่งประเทศไทยควรยึดบรรทัดฐานให้เทียบเคียงกับนานาชาติ ณ สถานการณ์ปัจจุบัน
ด้วยเหตุผลนี้จึงเห็นว่าการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ครั้งนี้จะเดินหน้าไม่ได้ ตราบใดที่ประชาชนยังไม่ยอมจำนน และเคลื่อนไหวอย่างเต็มที่กับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม
นายปานเทพกล่าวต่อว่า การเปิดสัมปทานรอบนี้นั้นอาศัย พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ซึ่งแปลกมาก ชาติอื่นเวลาเปิดสัมปทานจะให้คิดจากปริมาณปิโตรเลียมที่ผลิตได้ แล้วแบ่งผลประโยชน์ตรงนั้นตกแก่รัฐ แต่ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม คิดจากที่ผู้รับสัมปทานขายได้ ปัญหาคือถ้ายังไม่ขาย ก็ไม่มีสิทธิ์เอาค่าภาคหลวงจากบริษัทสัมปทานเหล่านี้ ถ้าเขาหัวใสไปตั้งบริษัทลูกขึ้นมา ซึ่งวันนี้ก็มีจริงๆ เพื่อมาเพื่อผ่องถ่ายขายให้บริษัทลูกในราคาถูกๆ แล้วบริษัทลูกก็เอาไปขายในราคานำเข้าจากต่างประเทศบวกค่าขนส่ง ขายในราคาแพงๆให้กับประชาชน
อีกทั้งกลไกการตรวจสอบหากการรายงานนั้นเป็นเท็จต่ำมาก เช่น ปรับ 5 หมื่นบาท มิหนำซ้ำแทนที่จะตั้งเงื่อนไขให้ใช้ในประเทศพอเพียงก่อนที่เหลือจึงส่งออก แต่ พ.ร.บ.นี้ให้สิทธิ์ผู้รับสัมปทานส่งออกเท่าไหร่ก็ได้ สรุปแล้วประเทศเรากลายเป็นว่าขายของถูกแต่นำเข้าของแพง ประชาชนใช้ของแพงโดยที่รัฐได้ผลตอบแทนต่ำ ภาพรวมแล้วเป็นการฉ้อโกงมหากาพย์ และเป็นที่มาว่าต้องมีการปฏิรูป พ.ร.บ.ปิโตรเลียมก่อน แล้วค่อยเปิดสัมปทานครั้งที่ 21
นายปานเทพกล่าวถึงข่าวพม่างดจ่ายก๊าซช่วง เม.ย.ซึ่งอาจทำให้ไทยไฟดับว่า ตามหลักการแล้วถ้าผู้จ่ายไม่สามารถจ่ายให้ได้ตามกำหนด ต้องมีค่าปรับ มีบทลงโทษทางกฎหมาย แต่ทั้งนี้เขาเสนอซ่อมช่วง มี.ค. แต่ไทยกลับไปเจรจาเลื่อนไป เม.ย. เอาเวลาพีคที่สุด เพื่ออ้างใช้แหล่งพลังงานอื่นๆ ด้วยต้นทุนที่แพงกว่า
เตือนว่าถ้ากระทรวงพลังงานเดินหน้าเอาเลย เพื่อให้ประชาชนลุกขึ้นสู้ ถ้ามั่นใจคิดว่าฝ่าด่านได้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบน้ำมันและก๊าซแพงจนมีผลกระทบต่อฐานะทางเศรษฐกิจต้องไม่ยอมแน่นอน ถ้าจะเดินหน้าก็ต้องเผชิญหน้ากับประชาชน
นายปานเทพกล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.สุกำพล สุวรรณทัตน์ พบ พล.อ.เตีย บัญ ที่เขาพระวิหารว่า ผลประโยชน์พื้นที่อ่าวไทยถูกเชื่อมโยงว่าหากทำพื้นที่ทางบกให้จบ พื้นที่ทางทะเลก็จะตามมา ซึ่งถ้ารัฐบาลคิดแต่เอาประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยไม่คำนึงถึงอธิปไตยของชาติ อันนี้เจ็บปวดสองเท่า
ด้านนายอิฐบูรณ์กล่าวว่า กรณีที่นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่าเตรียมต่ออายุสัมปทานให้ผู้ลงทุนรายเดิมเพื่อไม่ทำให้กำลังการผลิตก๊าซฯ ต้องหยุดชะงัก แต่จะเป็นการเพิ่มผลประโยชน์ให้รัฐมากกว่าเดิม มีแต่จะเป็นการช่วยให้เจ้าเดิมถลุงก๊าซได้ถูกๆ ซึ่งแหล่งก๊าซบงกชและเอราวัณ เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของไทย ปตท.สผ. และเชฟรอน เลยไม่ยอมหนีไปไหน ทีนี้จะต่ออายุได้ต้องแก้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เนื่องจากสามารถต่ออายุได้แค่ครั้งเดียว ซึ่งทั้งสองเจ้านี้เคยต่ออายุไปแล้ว ทีนี้ถ้าจะแก้ภายใต้โครงสร้างของกฎมายเดิมคือให้ผลประโยชน์ตอบแทนรัฐร้อยละ 12.5 แทนที่จะต่อรองขอเพิ่มในเมื่อมีโอกาสแล้ว แต่ถ้าจะแก้ภายใต้กรอบที่ว่าให้ผลตอบแทนร้อยละ 5-15 เอกชนมีแต่ได้ประโยชน์ เพราะเขาปรับเปลี่ยนการขุดเจาะเป็นแบบแท่นขนาดเล็ก แต่หลายๆ หลุม เวลาแสดงค่าปิโตรเลียมในการจ่ายค่าภาคหลวงเป็นแบบขั้นบันไดขุดน้อยจ่ายน้อย แล้วการที่แบ่งซอยเป็นหลายๆหลุมมันก็แสดงวันต่อวันออกมาได้น้อย อันนี้เป็นการต่ออายุสัญญาที่รัฐไทยมีแต่เสียเปรียบ แล้วมีข้ออ้างว่าถ้าไม่ให้เขาทำต่อ จะมีปัญหาทิ้งแท่นเจาะกลางทะเล แต่ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมบอกว่าต้องมีกองทุนสำหรับเก็บแท่นเจาะ ถ้ารัฐเก็บเองก็สามารถไปเรียกเก็บเงินได้ แล้วเอาอุปกรณ์มาดำเนินการต่อได้ ฉะนั้นข้ออ้างนี้ฟังไม่ขึ้น
พ.ร.บ.ปิโตรเลียมเป็นกฎหมายปล้นชาติ ถึงเวลาที่ประชาชนต้องตื่นตัว เพราะพ.ร.บ.นี้สามารถทำให้พี่น้องอยู่ดีกินดีได้ แต่ขณะนี้เราไม่ใส่ใจ
นายอิฐบูรณ์กล่าวต่อถึงสถานการณ์ที่มีการปล่อยข่าวว่าก๊าซจากพม่าจะขาดทำให้ไฟดับช่วงสงกรานต์ว่า เหมือนว่าคนไทยอยู่ภายใต้ภาวะถูกข่มขู่ว่าก๊าซจะขาด ไฟดับ ต้องปรับค่าไฟ ขึ้นค่าก๊าซ แล้วเดี๋ยวก็จะอ้างว่าต้องแก้ปัญหาด้วยการนำเข้า LNG เฟสแรก 5 ล้านตันต่อปี แล้วเฟดที่สอง 10 ล้านตันต่อปี ถามว่าเป็นมูลค่าเท่าไหร่ เขาไม่เคยบอกราคาเราเลย ซึ่งเรื่องนี้มีการวางแผนซื้อก๊าซ LNG ต่อเนื่องมาตั้งแต่หลังแปรรู ปตท. แล้วเมื่อปี 54 ได้ทดลองนำเข้ามาแล้ว 1 ล้านตัน แต่น้ำท่วมเสียก่อน ทีนี้เข้ามาแล้วตามข้อมูลจากสัญญาพบว่ามีราคา 16,000 ล้านบาท ต่อ 1 ล้านตัน ฉะนั้น 5 ล้านตัน จะตกร่วม 80,000 ล้านบาท แต่ราคาขยับถึง 100,000 ล้านบาทแน่ หรือก็จะอ้างต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งตอนนี้บริษัทลูก ปตท.ไปจัดตั้งไว้เรียบร้อยแล้วที่อินโดนีเซีย เพื่อเปิดมาล้อกับการปล่อยข่าวว่าก๊าซจะขาดหายไป 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ขณะนี้คนไทยเจอละครถูกฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่า อ้างว่าท่อก๊าซขาด แต่พอทราบว่าท่อก๊าซสร้างเสร็จตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว ก็เลยเหลือประเด็นว่าแหล่งก๊าซพม่าหยุดส่ง ประเด็นก็คือ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต พอตรวจก๊าซจากพม่าส่งเข้าเมืองไทยรวมกันแล้วอยู่แค่ 820 ล้านลูกบาศก์ฟุต หรือลืมหักตัวเลขแหล่งส่งก๊าซที่ท่อขาดไป แต่ยังเอาตัวเลขนี้มาแสดงต่อพี่น้องประชาชน
อีกประเด็นทำไมต้องมาซ่อมช่วงเมษายน ปรากฏว่ามีรายงานบอกว่าทางมาเลเซียจะซ่อมช่วงมีนาคม แต่มีคนไทยคนนหึ่งประสงค์ร้ายหรือไม่อย่างไหร ไปเจรจาให้ซ่อมช่วงสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงที่คนใช้ไฟพีกที่สุด แทนที่จะไปคุยให้ไทยได้ประโยชน์ อันนี้เป็นข้อสงสัยว่าต้องการปั่นหัวคนไทยเพื่อสร้างเรื่องใช้โรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์