รายงานการเมือง
การเมืองเรื่องจังหวะรุกคืบแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เบื้องต้นคุยกันไว้อย่างไม่เป็นทางการระหว่างวิป 3 ฝ่าย คือ วิปรัฐบาล-วิปฝ่ายค้าน-วิปวุฒิสภา จะจัดคิวให้วันที่ 1-2 เมษายน 2556 เป็นคิวการประชุมร่วมรัฐสภา
เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทยจับมือกับสมาชิกวุฒิสภายื่นร่างแก้ไขเอาไว้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
แม้จะให้มีการประชุมกันสองวัน 1-2 เมษายน แต่ก็น่าจะเป็นการประชุมร่วม ส.ส.-ส.ว. คาดว่าจะมีสมาชิกขอใช้สิทธิ์อภิปรายกันจำนวนมาก เผลอๆ สองวันอาจไม่พอ เว้นแต่ข้อตกลงร่วมวิปสามฝ่ายยืนกรานไม่สามารถขยับเพิ่มวันได้ ทุกอย่างก็ต้องเสร็จภายใน 2 เมษายน
ขณะที่เป้าหมายของกลุ่มที่ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นการจับมือกันของ ส.ส.เพื่อไทย และ ส.ว.สายเลือกตั้งที่ใกล้ชิดกับพรรคร่วมรัฐบาล เห็นได้ชัดว่ามีวัตถุประสงค์หลักๆ ก็คือ
การลดทอนอำนาจองค์กรอิสระ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ จะโดนตัดอำนาจออกไปสองเรื่องเห็นๆ คือ 1. อำนาจในการพิจารณายุบพรรคการเมือง และตัดสิทธิการเมืองห้าปีกรรมการบริหาร พรรคการเมืองที่ร่วมกันกระทำความผิดทุจริตการเลือกตั้งจนโดนยุบพรรคห้าปีตาม รธน.ปี 50 มาตรา 237 และ 2. อำนาจในการพิจารณาคำร้องเรื่องที่มีการกล่าวหาว่ามีการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามมาตรา 68
นอกจากนี้ยังเป็นการแก้ไข รธน.เพื่อจะช่วยขยายอำนาจให้กับเครือข่ายพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ในการที่จะรุกคืบเข้าไปมีอำนาจแฝงเร้นในสภาสูง ผ่านการส่งคนของตัวเองหรือเครือข่ายตัวเองลงสมัคร ส.ว.เลือกตั้งทั่วประเทศ 200 คน ตามร่าง รธน.ที่มีการแก้ไขที่มาของ ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
ซึ่งพรรคใหญ่จะได้เปรียบที่สุดในการวางแผนเพื่อที่จะได้มีแขนขาของตัวเองในสภาสูงเพื่อไว้ทำภารกิจการเมืองต่างๆ กรณีเช่นนี้ เคยเห็นกันมาแล้วตอนทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทยเข้าไปยึดครองสภาสูงในช่วงปี 44-48 ผ่านข้อตกลงแลกเปลี่ยนอะไรต่างๆ แบบตอบแทนกันและกัน
อย่าง สุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภา ก็เห็นกันชัดๆ ทุกวันนี้ก็มีตำแหน่งเป็นทางการคือที่ปรึกษานายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังตลอดหลายปีที่ผ่านมานับแต่พ้นจากตำแหน่งประธานวุฒิฯ ก็ไปทำงานให้ทักษิณ-เพื่อไทยมาตลอด ไม่นับรวมกับอดีต ส.ว.ยุคเลือกตั้งปี 43 ที่พาเหรดกันมาอยู่กับทักษิณจำนวนมาก
จึงเห็นได้ชัดว่าระดับโครงสร้างการเมืองหลังการแก้ไขรธน.รายมาตราครั้งนี้เสร็จสิ้นลง แม้จะยังไม่เห็นผลอะไรทันที เพราะอย่างเรื่องโละ ส.ว.สรรหา ก็ยังไม่ใช้หลังแก้ไข รธน.เสร็จ แต่หลังทุกอย่างเริ่มเข้าจุดที่วางไว้ ฝ่ายที่จะได้มากที่สุดในการแก้ไข รธน.รายมาตราครั้งนี้ก็คือ เพื่อไทย นั่นเอง
เพราะดูจากจำนวนเสียงสมาชิกรัฐสภาที่จะหนุนหลังการแก้ไข รธน.ครั้งนี้แล้ว ยังไงเสียด้วยจำนวนเสียงที่มี การแก้ไข รธน.ครั้งนี้ ในแง่จำนวนเสียงโหวตในรัฐสภา คงผ่านไปได้ง่ายๆ เพราะลำพังแค่ ส.ส.รัฐบาลก็ประมาณ 300 เสียงแล้ว
ไหนจะพวกฝ่ายค้านแต่ใจเป็นรัฐบาลอย่างกลุ่มสมศักดิ์ เทพสุทิน ในพรรคภูมิใจไทยอีกร่วมๆ 7 เสียง ไหนจะ ส.ว.ที่จะมาร่วมโหวตอีก ดูแล้วขั้นต่ำเกิน 60-70 เสียงแน่นอน แค่นี้รวมกันก็เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนเสียง ส.ส.-ส.ว.รวมกันแล้ว
ทั้งนี้ ตามขั้นตอนการแก้ไข รธน.มาตรา 291 ใน รธน.ปี 50 บัญญัติว่า ในการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภาคือสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา
การโหวตวาระแรกน่าจะผ่านไปได้ไม่ยาก แม้เวลานี้ได้มี ส.ว.ร่วม 5-6 คนไปถอนชื่อออกจากที่เซ็นหนุนแก้ไข รธน.แต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับญัตติขอแก้ไขเพิ่ม รธน.ที่ยื่นไป
เมื่อเสร็จสิ้นการโหวตวาระแรกแล้ว หากเสียงเห็นชอบผ่านฉลุย ก็จะเข้าสู่การขอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ที่คาดว่ารายชื่อกรรมาธิการ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่พรรคเพื่อไทยส่งไปทำเรื่องนี้รวมถึงพวก ส.ว.ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการยื่นแก้ไข รธน.ก็จะเข้าไปคุมทิศทางในชั้นกรรมาธิการ
ส่วนฝ่ายค้านก็น่าจะส่งคนไปร่วมเป็นกรรมาธิการด้วยเช่นกัน แล้วก็จะมีการเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาว่าจะให้กรรมาธิการมีเวลาพิจารณากันกี่วัน อาจจะ 45 วันหรือ 60 วันก็แล้วแต่ข้อตกลงที่คุยกันมาก่อนนอกรอบ
ขณะที่สภาฯนั้นจะปิดสมัยประชุมในวันที่ 19 เมษายน แต่เบื้องต้น ฝ่ายเพื่อไทยบอกว่า ถึงแม้อาจจะมีการเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญในเดือน พ.ค.เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 57 แต่ก็ไม่น่าจะนำร่างแก้ไข รธน.ของกรรมาธิการวิสามัญฯ เข้าพิจารณา คงจะนำเข้าสู่การพิจารณาเมื่อมีการเปิดสภาฯช่วงกลางปีนี้
ก็หมายถึงว่า ระหว่างสภาฯปิด กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ก็ประชุมไปเรื่อยๆ จนแล้วเสร็จ ก็จะส่งร่างรายงานของกรรมาธิการเสนอต่อรัฐสภา คาดว่าคงเสร็จช่วงใกล้เปิดสภาฯพอดี จากนั้นเมื่อร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าวของกรรมาธิการวิสามัญฯ ถูกบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภา แล้วมีการเรียกประชุมรัฐสภาวาระ 2 เพื่อพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าว ทางที่ประชุมร่วมรัฐสภาก็จะพิจารณาร่างแก้ไขรธน.ของกรรมาธิการวิสามัญอันเป็นการ พิจารณาเรียงลำดับรายมาตรา
ซึ่งการจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบอย่างไรในวาระ 2 ให้ใช้เสียงข้างมากในการโหวตของที่ประชุม พอโหวตวาระ 2 เสร็จ ก็ต้องรอไว้สิบห้าวัน
เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วให้รัฐสภาเรียกประชุมเพื่อโหวตวาระ 3 ที่ใช้วิธีการเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภาฯ รวมกัน
หากทุกอย่างเป็นไปตามนี้ หมายถึงว่ากระบวนการแก้ไข รธน.ทั้ง 3 วาระดังกล่าวก็น่าจะแล้วเสร็จและมีการประกาศใช้ในช่วงเดือนสิงหาคม
คนกลุ่มแรกที่จะได้ประโยชน์ทันที หากการแก้ไข รธน.สำเร็จมีการประกาศใช้ก็คือพวก 109 อดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน-ชาติไทยพัฒนา-มัชฌิมาธิปไตย ที่จะได้ร่นเวลาในการคืนชีพการเมืองเร็วขึ้นร่วมๆ 4 เดือน จากเดิมที่จะได้กลับมาเล่นการเมืองอีกครั้งช่วงต้นเดือน ธ.ค.ปีนี้
เพราะในร่างแก้ไข รธน.ที่ยื่นไป มีการเขียนไว้ว่าให้การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนหน้านี้เป็นอันสิ้นสุดลง และให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่เคยเป็นผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งทำให้พวก 109 ออกจากคุกการเมืองเร็วขึ้นทันที
เสร็จจากแก้ไข รธน.ครั้งนี้ไปแล้ว ล็อตสองที่เตรียมกันไว้ก็คือจะเสนอแก้ไข รธน.รายมาตราเข้าไปอีก โดยล็อตสองตามข่าวว่าเพื่อไทยจะเสนอให้เปลี่ยนแปลงที่มาของ ส.ส.จากปัจจุบันที่ ส.ส.เขตมี 375 คน-ปาร์ตี้ลิสต์ 125 คน ก็จะแก้ให้เป็น ส.ส.เขต 400 คนและปาร์ตี้ลิสต์ 100 คนเหมือน รธน.ปี 40
อย่างไรก็ตาม แผนการทั้งหมด ดูแล้วอาจหยุดชะงักบางช่วงได้ หากสุดท้าย ส.ว.บางกลุ่มยื่นเรื่องไปที่ศาล รธน.ให้วินิจฉัยว่าการแก้ไข รธน. ครั้งนี้โดยเฉพาะการแก้ไขเรื่องที่มาของ ส.ว.ที่แม้ต้นร่างที่ยื่นไปจะเป็น ส.ส.เพื่อไทยแต่ก็เห็นได้ชัดว่าเป็นการจับมือกันของเพื่อไทยกับ ส.ว.เลือกตั้งบางกลุ่ม เป็นการแก้ไขโดยชอบหรือไม่
แม้เพื่อไทย และ ส.ว.ขี้ข้าทักษิณ ที่สุมหัวกันทำเรื่องนี้ คงคิดไว้ล่วงหน้าแล้วว่าต้องโดนสกัดแบบนี้ และคงเตรียมพร้อมไว้แล้วตั้งแต่ตอนนี้หากมีการยื่นเรื่องไปศาล รธน.จริง แต่ลึกๆ แล้ว ครั้งนี้เพื่อไทยดูจะมั่นใจค่อนข้างมาก เพราะวางแผนมาดีกว่าคราวที่แล้ว
เลยเชื่อว่าน่าจะผ่านศาล รธน.ไปได้ไม่ยาก