เสวนา พท.ช่วงบ่าย “เฉลิม” ยันแก้รายมาตราง่ายสุด “ณัฐวุฒิ” อ้างคนที่ไม่เห็นด้วยอย่าคิดว่าเป็นคนทั้งประเทศ ลั่นจัดการ “ปู” ข้ามศพไปก่อน มั่นใจแก้เสร็จบ้านเมืองปรองดองแน่ “ภูมิธรรม” ชงมหาวิทยาลัยช่วยหาทางออก เจอลูกพรรคค้านนัว “ไอ้ตู่” ขู่กดดันศาล รธน.ส่ง “ธิดา” ยื่นหนังสือถาม ส่วน “เจริญ” ตำหนิรีบร้อนเกินไป อัดยุทธศาสตร์พรรคจะโดนยุบพรรคอีกรอบ หวั่นดื้อโหวตวาระ 3 เสียงไม่พอแน่ แถมมี ส.ส.ไม่กล้ายกมือ
วันนี้ (6 ม.ค.) ในการจัดสัมนาพรรคเพื่อไทยภายใต้ชื่อ “มุ่งมั่น ตั้งใจ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย” ระหว่างวันที่ 6-7 ม.ค. 2556 ณ โรงแรมเดอะกรีนเนอรี่ รีสอร์ท เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ในช่วงบ่ายได้มีการจัดเสวนา ‘รัฐธรรมนูญ 2550 ปัญหาของประเทศ ภาระของคนไทย จริงหรือ?’ โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีแนวคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา 9 ประเด็น รวม 81 มาตรา ประกอบด้วย 1. ยกเลิกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2. ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
3. ศาลรัฐธรรมนูญให้คงอยู่ แต่เป็นแผนกหนึ่งของศาลฎีกา 4. ศาลปกครองก็ทำเช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นแผนกหนึ่งในศาลฎีกา 5. ยุบผู้ตรวจการแผ่นดิน 6. ป.ป.ช.ต้องมีอยู่ แต่ให้มาจากการเลือกตั้งของรัฐสภา อยู่คราวละ 4 ปี และต้องตรวจสอบได้ 7. กกต.มากจากเลือกตั้งของรัฐสภา ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี อยู่บนเงื่อนไขที่ตรวจสอบได้เช่นกัน 8. แก้ไขมาตรา 190 ไม่ต้องขออำนาจจากรัฐสภา เนื่องจากบั่นทอนการทำงานของรัฐบาล และ 9. แก้ไขมาตรา 237 ไม่ให้มีการยุบพรรรค พรรคการเมืองต้องคงไว้เป็นสัญลักษณ์ สำหรับการแก้ไขรายมาตรานั้นทำง่าย อำนาจอยู่ในมือของเรา ความคิดของตนก็คือต้องทำให้หน่วยงานตามองค์กรรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้ ส่วนการทำประชามติตนมองว่าเป็นแนวทางที่เหนื่อย ยากที่จะสำเร็จ อย่างไรก็ตาม หากพรรคว่าอย่างไรตนก็พร้อมสนับสนุน
นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ต่างเห็นตรงกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีประเด็นควรต้องแก้ไข เพียงแต่ยังตกลงไม่ได้ว่าควรทำอย่างไร รัฐธรรมนูญนี้มีคนไม่เห็นด้วยมากกว่า 11 ล้านเสียง จากการลงประชามติเมื่อปี 2550 แสดงให้เห็นว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่ยอมรับ
ทั้งนี้ สังคมไทยถูกสร้างขึ้นมาด้วยมายาคติว่ามีเพียงสองแบบ คือ นักการเมืองโกง ทำให้ขาดคุณธรรม กับเผด็จการรัฐประหาร ทำให้ขาดความเป็นประชาธิปไตย นำมาซึ่งการยอมรับและไม่ยอมรับของแต่ละฝ่าย ทั้งที่เราไม่ควรยอมรับทั้งคู่ หากจะแก้ไขต้องครอบคลุมทั้งการให้สิทธิเสรีภาพประชาชน หรือการเข้าไปตรวจสอบนักการเมืองได้ มาตรา 309 ที่ห่วงว่าจะนำไปสู่การช่วยเหลือคนๆ เดียวนั้น ควรเติมข้อความต่อท้ายด้วยว่า เว้นแต่รัฐสภาฯ จะมีมติให้การใดโดยเฉพาะนั้นเสียเปล่า หรือมีผลเป็นประการอื่นเพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ และแกนนำ นปช.กล่าวว่า รัฐธรรมนูญนี้เป็นรัฐธรรมนูญ18 มงกุฎ เข้าไปยึดอำนาจจากประชาชน ซึ่งประหลาดตั้งแต่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจไป เพียงเพื่อจะได้มาเป็น ส.ส. อีกทั้งในบ้านเมืองนี้มีคนกลุ่มหนึ่งใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญจัดการ กลุ่มคนมีหน้ามีตาในสังคมไปพูดกันที่สปอร์ตคลับ ตั้งแต่ยังไม่มีพรรคพลังประชาชน ว่าหากเข้ามาก็จะยุบอีก แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ บ้านเมืองมี 3 เสา นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แต่ที่ทำให้วุ่นวายทุกวันนี้คือ เสาที่ 4 คือ องค์กรอิสระ ทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย ทั้ง ป.ป.ช. กกต. โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ นึกจะจัดการใครก็จัดการ ทั้งยุคนายสมัคร นายสมชาย แต่หากจะจัดการกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องข้ามศพตนไปก่อน ที่พูดเช่นนี้เพราะบางช่วงต้องทำคะแนนบ้าง
ทั้งนี้ สมาชิกพรรคเพื่อไทยขอให้ไปสื่อสารกับประชาชนว่า สิ่งที่ทำอยู่ ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของพรรค แต่เป็นปัญหาของประเทศ และไม่ได้ช่วยเหลือคนคนเดียว แม้เสาที่ 4 องค์กรอิสระต่างๆ มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ แต่มาตรา 309 เป็นอำนาจที่เหนือกว่าใคร ไม่มีใครไปจัดการอะไรกับ คมช.ได้เลย ตอนนี้จะโหวตวาระ 3 ก็ไม่ได้ จะลงประชามติก็กลัวประชาชนจะไม่มาใช้สิทธิ์ เราจึงต้องมาคุยกันเพื่อหาทางออก ทางยังไม่พบทางออกก็ขอเสนอให้ไปออกตรงทางเข้า คือไปทบทวนกันใหม่ แม้คนที่ไม่เห็นด้วย อย่าไปคิดว่าเป็นความเห็นคนทั้งประเทศ ยังมีคนจำนวนไม่น้อยว่าทำไมถึงต้องแก้ ตรงไหนเป็นปัญหา ไม่คิดว่าแก้รัฐธรรมนูญเสร็จะปรองดอง แบบแฮปปี้เอนดิ้ง แต่เมื่อแก้เสร็จจะนำไปสู่การปรองดอง เพราะจะมีกติกานำไปสู่ประชาธิปไตย ให้คนทุกฝ่ายเท่าเทียมกัน
ต่อมาเวลา 16.30 น. ได้มีการสัมมนาในหัวข้อ “ทางออกประเทศไทย รัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตย คนไทยต้องมีความสุข” ปรากฏว่ามีการเสนอยทางออกในการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาจากแกนนำพรรคเพื่อไทยอย่างหลากหลาย พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ ส.ส.และสมาชิกพรรคได้อภิปรายแสดงความเห็นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ โดยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่นั่งฟังการสัมมนาตลอดทั้งวัน
โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุว่า จากความเห็นที่ต่างกันของพรรคเพื่อไทยใน 3 แนวทาง คือ การโหวตวาระ 3 การแก้รายมาตรา และการทำประชามติ ขอบอกว่าพรรคได้หาเสียงในช่วงเลือกตั้งจะแก้รัฐธรรมนูญ ตกลงรับปากกับประชาชนเอาไว้ วันนี้เราอยู่ในจุดที่ไม่ว่าจะเลือกการแก้ไขรัฐธรรมนูญทางไหนก็มีข้อโต้แย้งทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการโหวตวาระ 3 ไปเลย แต่เรามีบทเรียนการถูกยุบพรรค 2 ครั้ง แค่นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ไปทำกับข้าวออกโทรทัศน์ก็ยังถูกเปิดพจนานุกรมมาตัดสินคดี ส่วนที่เสนอให้แก้รายมาตรา คนก็บอกจะแก้ใช้เวลานานเกินไป ดังนั้นเรื่องนี้ต้องทำให้ชัดเจนในสังคม
“ก่อนมาสัมมนาได้มีการหารือพูดคุยกัน ก็จะมีการเสนอให้สถาบันการศึกษามาช่วยหาคำตอบเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการคือจะขอให้สถาบันวิชาการคือคณะนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ประมาณ 3-4 สถาบัน อย่างจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ รามคำแหง สุโขทัยธรรมาธิราช มาช่วยหาคำตอบให้เราว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรทำอย่างไร โดยให้มีการระดมให้ประชาชนรับรู้มากที่สุด เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนแต่ไม่ใช่เร่งด่วนที่สุด ข้อเสนอนี้คือรัฐบาลยังเดินหน้าต่อไป แต่ให้สถาบันการศึกษามาเกี่ยวข้องมาศึกษาเรื่องนี้ว่าจะแก้ไขอย่างไร แก้แบบไหนภายใน 45 - 60 วัน โดยให้สถาบันการศึกษาเอาไปบอกประชาชนให้รู้มากที่สุดเป็นกระแสสังคมให้กว้างขวางมากที่สุด” นายภูมิธรรมกล่าว
ด้านนายวราเทพ รัตนากร รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี และหนึ่งในคณะทำงานศึกษาข้อกฎหมายและการออกเสียงประชามติ สรุปแนวทางดังกล่าวว่า การดำเนินการของพรรคเพื่อไทยได้เกิดแนวทางใหม่ขึ้นมาที่จะเสนอต่อนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ ที่เป็นประธานคณะทำงานศึกษาการทำประชามติว่า ควรให้สถาบันการศึกษาเช่น คณะนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ จาก 3-4 สถาบันการศึกษามาศึกษาเรื่องนี้ แล้วจากนั้นก็ส่งผลมาให้คณะทำงานฯ อีกครั้ง
จากนั้นได้มีการเปิดโอกาสให้ ส.ส.และสมาชิกพรรคแสดงความเห็นกันอย่างเต็มที่ ซึ่งคนที่จะแสดงความเห็นต้องออกมาอภิปรายที่หน้าห้องสัมมนา โดยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์นั่งฟังด้วยตลอด เริ่มจาก นายอดิศร เพียงเกษ อดีต ส.ส.ขอนแก่น สายเสื้อแดง ใช้สิทธิขออภิปรายกลางวงสัมมนาว่า ประชาชนเข้าใจเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงมาเลือกพรรคเพื่อไทย แต่รัฐสภาก็ยังไม่ยอมทำอะไร มีกระบวนการมาก้าวก่ายแทรกแซงเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างหน้าด้านที่สุดในระบอบประชาธิปไตย
“สภาฯ ควรทำหน้าที่ต่อไป แม้จะแพ้ชนะอย่างไร ถ้าสภาฯไม่ทำหน้าที่ก็อย่าอยู่เป็นผู้แทน ขอให้ท่านกล้าหาญ ความกลัวทำให้เสื่อม จะมีประชาชนมาหนุนช่วย“ นายอดิศรระบุ
จากนั้นนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ อดีต ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย หนึ่งในทีมกฎหมายของพรรคเพื่อไทย ก็ได้แสดงความเห็นว่า ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ อยากเตือนนายกฯ ว่าเรากำลังหลงทาง จะเอาของร้อนมาทำไม ตนไม่เคยซี้ซั้วเรื่องกฎหมาย เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล อยากถามว่าหากนายกฯ ได้ผลประชามติแล้วจะไปบังคับใคร นายกฯ อยู่ฝ่ายบริหารแล้วจะไปบังคับฝ่ายนิติบัญญัติให้แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้
ขณะที่ นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย อภิปรายเป็นคนต่อมาว่า เราจะทำเรื่องผิดไม่ได้ มันจะเป็นตราบาปชั่วชีวิต และต้องชนะใจประชาชนด้วย จึงต้องโหวตวาระ 3 อย่างเดียว วันนี้มีมารร้ายมาขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีความเห็นเป็นที่สุดแต่การตีความคดีนี้เป็นการตีความขยายอำนาจตัวเอง
“ขอบอกนายกฯ ว่า ที่เราไม่กล้าโหวตวาระ 3 เพราะกลัวศาลรัฐธรรมนูญ เรากลัวทำไม มีคนๆ เดียวเขียนคำวินิจฉัยส่วนตนให้ทำประชามติคือ นายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่เป็นแค่ความเห็นเดียวใน 8 เสียง แต่กลับไปเป็นความเห็นรวมในศาลรัฐธรรมนูญที่ถือว่าเป็นแค่ 1 ใน 8 ของเสียงข้างมากในการวินิจฉัยของศาล แล้วที่บอกว่าถ้าโหวตแล้วเสียงจะต่ำกว่านั้น มันก็เป็นการทรยศหักหลังตัวเอง ที่เคยโหวตวาระ 1 และ 2 แต่ไม่โหวตวาระ 3 มันจะเป็นไปได้ยังไงที่คะแนนเสียงวาระ 3 จะน้อยกว่าวาระ 1 และ 2 ก็อยากให้พรรคไปทำโพลล์ดูว่าประชาชนเอาอย่างไรหากจะโหวตวาระ 3” นพ.เหวงกล่าว
ต่อมานายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.ก็แสดงความเห็นเช่นกันว่า สมาชิกรัฐสภาต้องเดินหน้าโหวตวาระ 3 เพราะการทำประชามติ เต็มไปด้วยกับดักขวากหนาม เส้นทางประชามตินอกจากจำนวน 24 ล้านเสียงแล้ว ก็ยังมีกับดักข้อกฎหมายเช่นเดียวกัน ที่บอกจะไม่มีสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส. ส.ว.ไม่โหวตวาระ 3 เพราะกลัวจะพ้นจากการเป็น ส.ส. ไม่ว่าหนทางประชามติ รายมาตรา และวาระ 3 อย่างเรื่องแก้รายมาตราที่ ร.ต.อ.เฉลิมเสนอ สุดยอดที่สุด แต่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่เรื่องประชามติที่ทำเพราะปลุกความกล้าสมาชิกรัฐสภา
“ผมเห็นด้วยที่บอกจะให้คณะรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ไปศึกษามา แต่พวกผมก็เห็นด้วยที่จะทำหนังสือถามไปถึงศาลรัฐธรรมนูญให้รู้ความชัดเจนไปเลย เพราะการทำประชามติใช้เงิน 2 พันล้านบาท ทำไมไม่ทำหนังสือถามไปที่ต้นทางเสียเลย เพื่อถามใน 2 ประเด็นก็คำถามละ 1 พันล้านบาท ถามไปที่ต้นตอเลย สัปดาห์นี้ นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช.จะทำหนังสือไปถามศาลรัฐธรรมนูญ 2 ข้อ คือ 1. ในคำวินิจฉัยได้ให้ทำประชามติก่อนโหวตวาระ 3 หรือไม่ และ 2. ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งห้ามไม่ให้โหวตวาระ 3 หรือไม่ คำตอบของศาลรัฐธรรมนูญเป็นคำตอบข้อละ 1,000 ล้านบาท จะได้รู้กันไปเลย และระหว่างรอศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะให้คณะรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ 3 สถาบันก็ทำพ่วงไป ระหว่างนี้พวกผมก็ทำไป แต่ขอตอนนี้อย่าเพิ่งตัดสินใจทำประชามติ สรุปความคือขอให้รอฟังจากศาลรัฐธรรมนูญว่าสั่งห้ามโหวตวาระ 3 หรือไม่ และให้ทำประชามติก่อนโหวตวาระ 3 หรือไม่ จะประหยัดได้ 2 พันล้านบาท” นายจตุพรกล่าวโดยได้รับเสียงปรบมือจากคนในห้องประชุม
ต่อมานายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ควรมีการทำประชาเสวนา เพราะตอนนี้ก็มีการอนุมัติงบให้กระทรวงมหาดไทยไปทำแล้ว จากนั้นก็ไปโหวตวาระ 3 ต่อไป จากนั้น พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายต่อมาว่า ส่วนตัวสนับสนุนแนวทางการแก้ไขรายมาตรา แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับหลายประเด็นที่ ร.ต.อ.เฉลิมเสนอ โดยอยากให้พรรคเร่งในการสรุปเรื่องนี้โดยเร็ว เพราะประชาชนคาดหวังเรื่องนี้มาก จึงเห็นว่าไม่ควรเกิน 1 เดือนต่อจากนี้ต้องมีข้อสรุปออกมา หากมีข้อสรุปออกมาแนวทางใด สมาชิกพรรคก็จะดำเนินการเต็มที่ ทั้งนี้ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของนายภูมิธรรมที่จะให้สถาบันการศึกษามาช่วยศึกษาเรื่องนี้ตามที่เสนอ เพราะการแก้กฎหมายเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ไม่ใช่หน้าที่อาจารย์หรือสถาบันการศึกษา
ด้านนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และแกนนำ นปช.แสดงความเห็นว่า เวลานี้เรากลัวแต่เมื่อถึงเวลาก็ต้องตัดสินใจ เพราะไม่ว่าจะเดินทางไหนฝ่ายตรงข้ามก็เตะสกัดขาอยู่แล้ว ส่วนตัวเสนอโหวตวาระ 3 เพื่อคงความศักดิ์สิทธิ์และศักดิ์ศรีของรัฐสภา วันนี้รัฐบาลยังแข็งแรง นายกฯ ยังได้รับการสนับสนุนท่วมท้น และมวลชนก็ยังเหนียวแน่น ถ้าเกิดอะไรขึ้นเลือกตั้งใหม่ก็ชนะ อย่างไรก็ตามถ้าโหวตวาระ 3 แล้วตกไปก็ไปแก้รายมาตรา
ขณะที่ นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร แสดงความเห็นว่า สภาฯ ต้องเดินหน้าโหวตวาระ 3 เพราะเป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภา การจะไปทำประชามติหรือประชาเสวนาอะไรก็ตาม ไม่สามารถมีผลบังคับกับรัฐสภาได้ แล้วอยากฝากคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ให้ระวังพรรคจะถูกยุบ เพราะไม่มีสิทธิ์ใช้มติพรรคไปบังคับ ส.ส.ให้ทำอะไรก็ได้ ทั้งนี้ตนเชื่อว่า หากโหวตวาระ 3 วันนี้ เสียงจะไม่เพียงพอ เพราะสมาชิกเกรงจะทำแล้วขัดกฎหมาย อย่าว่าแต่ ส.ว. เลย แม้แต่กับ ส.ส.เพื่อไทยก็ไม่กล้าลงมติ หากมีการลงมติจริง อาจจะมี ส.ส.บางคนไม่เข้าร่วมประชุม
“อยากให้รัฐบาลอยู่ในอำนาจไป 3 ปีก่อนแล้วค่อยไปแก้รัฐธรรมนูญ เพราะตอนนี้ไม่ว่าออกทางไหนก็โดน ดังนั้นจึงควรค่อยเป็นค่อยไป และก็ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะให้สถาบันการศึกษามาศึกษาเรื่องนี้” นายเจริญกล่าว
ส่วน นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และแนวร่วม นปช.กล่าวว่า พรรคมีความเห็นก็เป็นความเห็นของพรรคไป แต่จะมาบังคับ ส.ส.ไม่ได้ ขอให้ไปตรวจสอบพวก ส.ว. และ ส.ส.เหตุใดจึงกลัว จะทำอย่างไรให้หายกลัว ไปพร้อมกับการเดินหน้าให้ความรู้กับประชาชนและดึงคนเสื้อแดงมามีส่วนร่วม เป็นการปลุกกระแสโดยใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่ที่จะทำห้ามทำช่วงเดือน เม.ย.นี้ เพราะจะมีกรณีเขาพระวิหาร และเดือน ต.ค.ก็ไม่ได้ ถ้าจะโหวตก็ไปเป็นหลังปีใหม่ปีหน้าไปเลย ทำตอนนั้นจะเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน
จากนั้น นายพงศ์เทพในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาข้อกฎหมายและการออกเสียงประชามติ กล่าวสรุปปิดการแสดงความเห็นว่า เรื่องที่ประธาน นปช.จะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องดีมากหากศาลรัฐธรรมนูญจะตอบ แต่หลายคนก็บอกกันว่ายากที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยหรือตอบในสิ่งที่ประธาน นปช. ถามไป หรือจะเสนอทางเลือกอีกทางเลือกคือแก้รัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องตอบ ข้อเสนอที่นำเสนอทั้งหมดจะนำไปคุยกันในคณะทำงานฯ
“จากการหารือเดิมที่มีสามทางเลือกมาตอนนี้มีหกทางเลือกแล้ว แม้จะมีการมองแง่ดีว่าทุกปัญหามีทางออกแต่ตอนนี้เป็นว่าทุกทางออกมีปัญหา แถมทุกทางออกยังมีฆาตรกรโรคจิตรออยู่ด้วย ปัญหาที่มีแน่นอนตอนนี้คือสมาชิกรัฐสภากังวลใจลังเลกลัวฆาตรกรโรคจิต เพราะทำประชามติก็มีปัญหา หรือจะทำให้ประชามติโดยไม่ให้มีผลผูกพันรัฐสภา ก็ยังเป็นประเด็นต้องนำไปหารืออีก” นายพงศ์เทพกล่าว