xs
xsm
sm
md
lg

“ลิ่วล้อแม้ว”ชงตัดม. 7 รื้อศาลไม่พอ-“ปู”ปัดแนวคิดเหลิมไม่ใช่มติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(8 ม.ค.56) นายประสพ บุษราคัม ประธานคณะกรรมการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันของสภาผู้แทนราษฎร์ เปิดเผยว่าในวันที่14 ม.ค. นายโสภณ เพชรสว่าง ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแก้ไขรธน.สภาฯ จะนำผลศึกษาการแก้ไขรธน.50 มาหารือที่ประชุมจากนั้นจะให้คณะกรรมการชุดใหญ่ตรวจสอบว่ามีความครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ หรือมีประเด็นอื่นๆเสริมเข้าไปด้วยอีกหรือไม่
ทั้งนี้ความเห็นส่วนตัวต้องการให้ตัดมาตรา 7 ของรธน.เพราะไม่ต้องการให้มีบุคคลมาขอนายกพระราชทานอีก ดังเช่นกรณี"มาร์ค ม.7"เพราะตนเชื่อว่าในอนาคตจะต้องมีคนแอบอ้างในลักษณะดังกล่าวอีก
และวิธีนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น
"เราไม่ต้องการให้ใครมาทำให้ในหลวงทรงระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท เพราะท่านเคยตรัสเอาไว้แล้วว่าไม่สามารถตั้งนายกพระราชทานได้ ดังนั้นเห็นว่า มาตรา 7 มีปัญหาจึงควรตัดออกไป ส่วนในอนาคตหากสถานการณ์ทางการเมืองเกิดช่องว่างก็ใช้กลไกประชาธิปไตยจัดการกันได้"
นายประสพ ยังกล่าวว่า องค์กรศาลและองค์กรอิสระต่างๆ ควรผ่านกระบวนการทางสภาฯซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนในการแต่งตั้งทั้งหมด อาทิ ปปช. กกต. อัยการสูงสุด ศาลปกครอง รวมทั้งตำแหน่งประธานศาลฎีกาด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากคณะกรรมการฯเห็นชอบตามที่กล่าวมาแล้วนั้น จะเสนอให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร หากท่านเห็นด้วยก็ให้นำไปมอบให้พรรคการเมืองต่างๆไปพิจารณา หรือหากประชาชน 5 หมื่นรายชื่อ รวมทั้งส.ส. ตามช่องทางมาตรา291ที่สนใจก็สามารถนำไปเสนอขอแก้ไขรธน.ได้

** ชี้แก้ ม.309 เหมือนแตะของร้อน
นายประสพ กล่าวว่า ส่วนตัวที่ได้ดูข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่าไม่ควรเข้าไปแตะต้อง แก้ไของค์กรอิสระ และมาตรา 309 เพราะมั่นใจว่าหากไปแตะเมื่อไหร่ฟ้าผ่าเมื่อนั้นเนื่องจากเป็นของร้อนไม่ควรเข้าไปแตะต้อง ทั้งนี้เห็นว่าในเรื่องรัฐธรรมนูญเราหลงทางกันมานาน เช่น มาตรา 237 เรื่องการยุบพรรค เป็นการเอากฎหมายลูกมาใส่ในกฎหมายแม่ ทำให้ขัดกันไปหมด ส่วนตัวตนเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรแก้ไขให้น้อยที่สุด และควรมีไม่กี่มาตราเท่านั้น อยากให้ไปดูและนำรัฐธรรมนูญปี 2479 มาใช้ เพราะถือว่าเป็นเจตนารมณ์ของคณะราษฎร์ในปี 2475 และที่สำคัญก็มีการเขียนเรื่องห้ามนิรโทษกรรมเอาไว้ด้วย เท่ากับว่าจะไม่สามารถทำรัฐประหารได้ เป็นต้น.

**โวย โสภณ” ให้ข่าวก่อนชงปธ.
นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกส่วนตัวประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายโสภณ เพชรสว่าง ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในคณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เสนอแนวคิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อสาธารณะ ว่า เรื่องนี้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ยังไม่รับทราบข้อเสนอดังกล่าว ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าการให้ข้อสรุปของอนุกรรมการต่อสื่อมวลชนก่อนที่นายสมศักดิ์จะพิจารณา ถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม โดยหลักแล้วการทำงานในคณะกรรมการ ภายใต้คำสั่งการแต่งตั้งของประธานสภาฯ คือการศึกษา พิจารณาข้อมูล เพื่อนำเสนอให้กับประธานสภาฯ ได้พิจารณาและตัดสินใจก่อนที่จะเผยแพร่เป็นข่าว
“สิ่งที่คุณโสภณนำเสนอแนวทางแก้รัฐธรรมนูญ หลังวันที่พรรคเพื่อไทยมีการประชุมเพื่อแก้ไขรัฐธรมนูญ เสมือนกับว่าเป็นการทำงานเพื่อสอดรับกับพรรคเพื่อไทย ทั้งที่ข้อเท็จจริง การทำงานของคณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย รวมถึงอนุกรรมการชุดต่างๆ ท่านประธานสภาฯ ไม่เคยเข้าไปแทรกแซงการทำงานแม้แต่ครั้งเดียว และไม่เคยสั่งการให้ศึกษา เรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ” นายวัฒนา กล่าว

**ปธ.สภาหนุนแนวประชามติฟังเสียงปชช.
นายวัฒนา กล่าวกรณีคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีข้อสรุปให้ยกเลิกมาตรา 309 ยุบศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งลดอำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. นั้น
ประเด็นดังกล่าวสามารถนำเสนอได้ แต่เป็นเพียงข้อสรุปจากคณะกรรมการชุดเล็กเท่านั้น ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายก่อน จึงจะเสนอรายงานต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ทั้งนี้ประธานสภาไม่จำเป็นจะต้องรับข้อสรุปนี้ไว้ หากเห็นว่า แนวทางดังกล่าว จะนำมาซึ่งความขัดแย้งแตกแยกในสังคม
ทั้งนี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร อาจพักข้อสรุปของคณะอนุกรรมการฯไว้ก่อน หรือนำแนวทางดังกล่าวเก็บไว้เป็นข้อมูลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป อย่างไรก็ตาม นายวัฒนา ยืนยันว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร สนับสนุนแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยวิธีการทำประชามติ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน และให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม

** ส.ว.เลือกตั้ง หนุนแก้รายมาตรา
ที่รัฐสภา นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ส.ว.ชลบุรี เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา(วิปวุฒิสภา) กล่าวว่า จากการหารือนอกรอบของส.ว.สายเลือกตั้ง 64 คน เมื่อค่ำวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมาถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยทุกคนเห็นร่วมกันว่าร่างรัฐธรรมนูญปี 50 มีบางมาตรากระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น ควรมีการแก้ไขเพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีมติว่าควรเสนอแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา อาทิ มาตรา 190 เกี่ยวกับทำสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ มาตรา 237 เรื่องยุบพรรค ให้ลงโทษเฉพาะที่กระทำผิดหรือทุจริตการเลือกตั้งเท่านั้น รวมทั้งมาตรา 111 เรื่องที่มา ส.ว.จากจำนวน 150 เป็น 200 คน โดยให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และให้ใช้ฐานประชากรเป็นตัวกำหนดสัดส่วนส.ว. จากนี้ไปคณะทำงานของส.ว.เลือกตั้ง มีตนก็เป็นหนึ่งในนั้นจะไปศึกษาและหารือกับทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เพื่อนำเสนอแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จตามแนวทางดังกล่าวต่อไป.

** เต้น”อ้างแค่ความเห็นส่วนบุคคล
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านออกมาระบุว่า ไม่เห็นด้วยที่พรรคเพื่อไทยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเสนอในยุบองค์กรอิสระว่า เรื่องนี้เป็นความคิดเห็นที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีย้ำมาตลอด ถือเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล หากจะแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่ค้างอยู่ในสภาขณะนี้ คนที่จะมาทำหน้าที่ยกร่างและพิจารณาก่อนทำประชามติ คือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ไม่ใช่เป็นเรื่องของพรรคการเมืองหรือบุคคลใด ดังนั้น วันนี้การนำเสนอความคิดเห็น หรือการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือเป็นโอกาสที่ทำให้ประชาชนได้คิดพิจารณาในแนวทางต่างๆร่วมกันด้วย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ายังไม่มีอะไรที่น่ากังวล เพราะทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ยังถือเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล แต่ในส่วนของรัฐบาลและรัฐสภา ก็ยังไม่มีมติที่ชัดเจนเกี่ยวกับเนื้อหาสาระในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“ผมคิดว่าระยะเวลาไม่สำคัญเท่ากับฝ่ายที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีความคิดเห็นที่ตกผลึก เห็นตรงกันอย่างเป็นเอกภาพในแนวทางที่จะดำเนินการ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ต้องใช้สรรพกำลังของทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประชาชน เพื่อให้เกิดพลังร่วมกันถึงจะดำเนินการลุล่วง เพราะตัวรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้อยู่ขณะนี้ มีหลายบทบัญญัติมาตราที่มีกับดักสำหรับผู้ที่จะแก้ไข รวมถึงบทบาทหน้าที่ขององค์กรอิสระบางหน่วยงาน ที่พร้อมจะออกมาใช้อำนาจนอกเหนือกฎหมาย เพื่อให้มีผลกระทบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย”นายณัฐวุฒิ กล่าว

**ปู ย้ำข้อเสนอ “เฉลิม” ไม่ใช่มติ
ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราว่า แนวคิดการแก้ไขรายมาตราเป็นข้อเสนอของร.ต.ต.เฉลิม ยังไม่ถือเป็นมติของใครใดๆทั้งสิ้น โดยส่วนตัวเห็นว่า เรามีหน้าที่ทำอย่างไรให้บ้านเมืองเดินได้และเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย อันนี้เป็นประเด็นมากกว่า แต่การที่จะโหวตวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ คือรัฐสภา ที่จะต้องไปหารือกับสมาชิกในสภาฯว่าวาระที่ค้างอยู่นี้จะทำอย่างไรต่อไป พร้อมกับนำข้อแนะนำหรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาพิจารณาพร้อมๆกันด้วยว่า คณะรัฐสภาจะตัดสินใจอย่างไร รัฐบาลเป็นเพียงแค่กระบวนการระดมความคิดเห็นเท่านั้น ขณะนี้คงรอคณะทำงานศึกษาแนวทางด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถึงเวลานี้รัฐบาลต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จโดยเร็วหรือเป็นอย่างอื่น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราอยากเห็นประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนเพื่อให้ประชาชนได้สามารถใช้รัฐธรรมนูญนี้ตรงกับความต้องการและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ แต่เราไม่อยากเห็นการเร่งรัดจนทำให้เกิดความไม่สงบหรือความไม่สามัคคีหรือความเป็นกังวนของประชาชนนั่นคือสิ่งที่เราคงต้องพูดคุยกันมากกว่าและเมื่อไรที่เราเห็นพ้องต้องกันเมื่อนั้นคงจะเป็นเวลาที่เหมาะสม แต่ถ้าความคิดเห็นยังไม่ตรงกันเรามองว่าควรจะศึกษาให้ละเอียดก่อน
เมื่อถามว่า แนวคิดที่จะให้มหาวิทยาลัยมาเป็นคนกลางในการหาทางออกได้คุยกันหรือยัง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อันนี้เป็นข้อเสนอจากที่ประชุม ซึ่งคณะทำงานมีแนวโน้มที่จะรับตรงนี้ แต่คงต้องรอคณะทำงานฯเสนอคณะรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตามในความคิดเห็นนี้เป็นความคิดที่ดี เพราะมีประเด็นเรื่องการตีความข้อกฎหมาย ซึ่งหลายๆท่านเห็นแล้วว่าข้อกฎหมายอยู่ที่มุมของการตีความด้วย ซึ่งต้องตีความตามตัวบทของรัฐธรรมนูยปี 2550 ขณะเดียวกันต้องตีความตามข้อวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะมีผลอย่างไร ฉะนั้นจึงไม่สามารถที่จะใช้ข้อมูลแค่เฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น เลยมองว่าต้องให้ผู้ที่มีความรู้ด้านของนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์หรือทางคณะอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญตรงนี้หารือก่อนว่าการตีความต่างๆนั้นเป็นอย่างไร เพื่พให้แต่ละกลุ่มเกิดความสบายใจ เพราะรายละเอียดเนื้อหายังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันอยู่
นางสาวยิ่งลักษณ์ ยังปฏิเสธที่จะตอบคำถามต่อกรณีที่ว่า อนุกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญสภาผู้แทนฯ เสนอยุบศาล รธน.-ศาลฎีกาคดีการเมืองโดย เดินไปขึ้นรถส่วนตัวไปทันที
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าที่ประชุมมีการเสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคมาช่วยหาข้อยุติเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อเป็นแนวทางให้กับ ส.ส.ของพรรคต่อไป

**มาร์คซัดพท.ชงยุบองค์กรอิสระ-ล้ม 309
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่า คณะอนุกรรมการฯชุดดังกล่าวคือชุดใด เพราะมีหลายชุดที่ทำงานเรื่องนี้อยู่ แต่ตนก็สนใจเพราะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นว่าการที่พรรคเพื่อไทยบอกว่าจะต้องจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับนั้นเขาติดใจเรื่องอะไร ซึ่งก็ดูค่อนข้างชัดอย่างที่เคยตั้งข้อสังเกตไว้ ในเรื่ององค์กรอิสระต่างๆ เพราะรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยเคยยกย่องรัฐธรรมนูญปี 40 ว่าเป็นประชาธิปไตย แต่จะยกเลิกองค์กรอิสระที่เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 40 และสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือมาตรา309 ที่รัฐบาลเหมือนกับบอกว่า ยืนยันจะไม่ให้มีผลย้อนหลังกลับไปกระทบกับคดีต่างๆ ซึ่งรัฐบาลจะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่ารัฐบาลพูดจริงหรือเปล่า
“ซึ่งกรณีนี้ก็ชัด และเป็นการฟ้องออกมาว่าสุดท้ายแล้วเป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร และผมก็คิดว่าอันนี้ก็ทำให้ประชาชนเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ที่มันขัดแย้งกันกับคนที่เขาไม่เห็นชอบกับแนวความคิดแบบนี้มันเกิดขึ้นจากอะไร และผลประโยชน์ของส่วนรวมมันอยู่ที่ตรงไหน”

**วิปค้านชี้รบ.เลิกองค์กรอิสระหวังรวบอำนาจ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า สะท้อนว่า กำลังนำประเทศไปสู่การปกครองแบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ เป็นประชาธิปไตยแบบกินรวบ ประชาธิปไตยแบบสามานย์ หรือทุนสามานย์ กลัวการตรวจสอบ ข้อเสนอให้ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาแผนกคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลปกครอง ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อยกเลิกกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่งผลให้รัฐบาลใช้อำนาจตามอำเภอใจได้มากขึ้น การกำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาจากกาคัดเลือกของรัฐสภา ที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งที่องค์กรเหล่านี้ต้องตรวจสอบฝ่ายบริหารฝ่ายการเมือง การกำหนดทิศทางเช่นนี้ ก็หวังจะให้มารับใช้ฝ่ายการเมือง ต่อไปการทุจริตคอรัปชัน การใช้อำนาจรัฐ การโกงเลือกตั้ง จะทำได้สะดวกขึ้น
โดยเฉพาะข้อเสนอให้โละมาตรา 309 ถือว่าหางโผล่ แม้จะอ้างอย่างไร ก็ลบวาระการทำเพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนพิเศษทิ้งไปไม่ได้ สิ่งที่สังคมกังวลกำลังปรากฏเป็นจริง รวมถึงการทำประชามติที่ขณะนี้ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีข้อเสนอเพิ่มเติมที่นอกจากการทำประชามติ เพื่อให้ได้ข้อยุติแล้ว ยังมีแนวทางที่จะทำประชามติแบบขอคำปรึกษา สะท้อนว่าเริ่มปรากฏเค้าลางว่าจะทำแบบหลัง ซึ่งฝ่ายค้านจะจับตาไม่กะพริบ ยืนยันว่าต้องทำประชามติแบบหาข้อยุติ จึงจะนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้.

**ชป.หนุนแก้รายมาตราค้านแก้ทั้งฉบับ
นายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวยืนยัน ว่า หลักการของทางพรรค ก็ไม่ปฏิเสธเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ แต่การแก้ต้องสอดคล้องกับยุค และสังคมที่เปลี่ยนไป รวมถึงต้องไม่แก้เพื่อนิรโทษกรรมให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง และต้องยึดมั่นในระบบนิติรัฐ นิติธรรม ส่วนวิธีการนั้น ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาล หากมีการแก้เป็นรายมาตรา ทางพรรครับได้ แต่หากแก้ทั้งฉบับ หรือแก้มาตรา 309 นั้น รับไม่ได้ เพราะต้องมี คตส. ไว้รักษาผลประโยชน์ประเทศชาติ และต้องไม่เอนเอียงไปตามเสียงข้างมาก เพราะต้องให้ความเป็นธรรมดำรงอยู่ ส่วนเรื่องยุบองค์กรอิสระนั้น ทางพรรคยังเป็นห่วงในเรื่องนี้ เพราะองค์กรอิสระมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบ อีกทั้ง ฝ่ายค้านจะตรวจสอบเองได้ก็ไม่หมด เพราะมีแรงต้านไม่เพียงพอ ซึ่งพรรคไม่เห็นด้วยหากจะทำการแก้ไข เพราะจะทำให้ประเทศและคนไทย เสียประโยชน์อย่างมากมาย

**ศาลรธน. ไม่กังวลถุกยุบ ยันเป็นกลาง
นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นเพียงข้อสรุปเท่านั้น จึงไม่ได้รู้สึกกังวลหรือกดดันต่อการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ทั้งนี้ขอยืนยันว่าตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมาของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทุกคนปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กรอบกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยเฉพาะการพิจารณาคดี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยด้วยความรอบคอบ ตามหลักกฎหมายและข้อเท็จจริง ไม่เคยเอนเอียงหรือเข้าข้างฝ่ายใด เพราะสิ่งที่ศาลให้ความสำคัญและยึดเป็นที่ตั้งในการปฏิบัติงานนั่นคือการคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก

**เผยสาเหตุ เพื่อไทยเป็นเพื่อถอย
วันเดียวกัน สำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอรายงานพิเศษเรื่อง เบื้องหลัง “เพื่อไทย” ตีกรรเชียง ถ่วงเวลาแก้ รธน.ที่เขาใหญ่ โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้ "บทสรุป" เรื่อง "วิธี" แก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย (พท.) ในการสัมมนาพรรคที่โรงแรมกรีนเนอรี่ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา
ก็คือ “ไม่มีบทสรุป” !
เมื่อท้ายสุด ที่สมาชิก พท.ต่างเห็นพ้องกับแนวทางที่ “ภูมิธรรม เวชยชัย” เลขาธิการ พท.เสนอ คือโยนให้สถาบันการศึกษาอย่างน้อย 3 แห่งไปหา “วิธี” แก้ไขรัฐธรรมนูญแทนฝ่ายการเมือง ให้เวลา 45-60 วัน
งานสัมมนาของ พท.ครั้งนี้ ก็มีความผิดปกติพอสมควร เพราะทั้งๆ ที่ อ้างว่าเป็นเรื่องสำคัญ และโหมโรงมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ว่าในวันนี้จะได้ “บทสรุป” แน่ๆ
แต่ในการสัมมนาพรรคกลับแบ่งงานออกเป็น 3 ส่วน ช่วงแรกให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี พูดถึงนโยบายที่จะทำในปี 2556 ช่วงที่สอง เป็นการสัมมนา โดย “เฉลิม อยู่บำรุง-วีรพัฒน์ ปริยวงศ์-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ต่างออกมาชำแหละข้อเสียของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และช่วงที่สาม ระดมสมองหา “วิธี” แก้รัฐธรรมนูญ ตามที่โหมโรงไว้ก่อนหน้า
แต่ปรากฏว่า พท.กลับให้เวลากับช่วงเวลาดังกล่าวเพียงชั่วโมงเศษเท่านั้น
แถมพอจบงานสัมมนา สมาชิก พท.ต่างก็รีบออกจากห้องประชุม เปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดคาวบอย และบึ่งไปร่วมงานปีใหม่คาวบอยไนท์ที่จัดขึ้นที่โรงแรมโรแมนติก รีสอร์ต ที่อยู่ใกล้เคียงกันทันที
ราวกับว่า “วาระหลัก” ในการมารวมตัวกันของสมาชิก พท.ครั้งนี้ คืองานเลี้ยงปีใหม่ ส่วนการถกเถียงเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเพียง“วาระรอง”
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการสัมมนาของ พท.หนนี้ จะไม่มี “เนื้อหาสาระ” อะไรเลย เพราะเท่าที่สังเกตมีซ่อนอยู่ในคำพูดของบุคคลต่างๆ รวม 4 ประเด็น ดังนี้
1.แก้ทีละมาตราปลอดภัยที่สุด แต่...
สมาชิก พท.ส่วนใหญ่ต่างเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ทีละมาตรา” เป็นวิธีที่ “ปลอดภัย” ที่สุด แต่ยังไม่ใช่วิธีดีที่สุด เพราะประเมินแล้วว่าจะใช้เวลานานแสนนาน
ระหว่างการสัมมนา “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” รองนายกฯ กล่าวยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญดีที่สุด ต้องแก้ทีละมาตรา
ขณะที่สมาชิก พท.บางส่วนลุกขึ้นแสดงความเห็นด้วย แต่ก็มีเสียงติติงว่าถ้าแก้ทีละมาตราไม่รู้ว่ากี่ปีจะเสร็จ เพราะเพียงมาตราเดียว ไม่รู้ว่า 1 เดือนจะเสร็จหรือไม่ แล้วรัฐธรรมนูญที่อยากแก้มีตั้งเกือบร้อยมาตรา !
ส่วน “ภูมิธรรม เวชยชัย” เลขาธิการ พท.ได้กล่าวกับนักข่าวกลุ่มใหญ่ระหว่างงานเลี้ยงปีใหม่ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ทีละมาตรา”เป็นวิธีที่ พท.ต้องใช้อยู่แล้ว หากวิธีอื่นๆ ที่ใช้เวลาน้อยกว่า ดูแล้วไม่น่าจะเวิร์ค
2.สิ่งที่คน พท.เป็นห่วงมากที่สุด คือ “ศาลรัฐธรรมนูญ”
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า หากดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เขียนว่ายังวินิจฉัยถูก-ผิดไม่ได้ เพราะยังไม่มีการลงมติวาระสาม ถ้าเดินหน้าลุยลงมติวาระสามไปเลยตามแนวทางของคนเสื้อแดง ศาลรัฐธรรมนูญก็จะหยิบขึ้นมาพิจารณาโดยอ้างว่าความผิดสำเร็จแล้ว
“ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” รมช.กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะแกนนำ นปช.เปรียบว่า องค์กรอิสระบางแห่งเหมือนซอยเปลี่ยว ถ้าเรารู้ว่ามีฆาตกรที่รอฆ่าเราอยู่ในนั้น พท.ก็ต้องเลี่ยงที่จะไม่เข้าไปในซอยนั้น
ขณะที่ “จตุพร พรหมพันธุ์” แกนนำ นปช.เตรียมเดินทางไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคำวินิจฉัยของตัวเองว่า บังคับให้ต้องทำประชามติก่อนหรือห้ามลงมติวาระสามทันทีหรือไม่ ในสัปดาห์หน้า
3.พท.ต้องการกันนายกฯ ให้ออกมาจากเกมแก้รัฐธรรมนูญ
ร.ต.อ.เฉลิม ทำนายว่า หากมีการลงมติวาระสามผ่าน ประธานรัฐสภาจะต้องส่งให้นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน แต่ระหว่างนั้น จะมีคนไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ไต่สวน ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้เวลาแค่ 2 ชั่วโมงก็เสร็จ เขาจะเอาของเก่ามาเล่าใหม่ แล้วคราวนี่จะบอกว่า นายกฯไม่ต้องรับผิดชอบด้วยคงไม่ได้
ขณะที่ ส.ส.พท.หลายคนก็แสดงความเห็นว่า การแก้รัฐธรรมนูญควรจะเป็นเรื่องของรัฐสภาอย่างเดียว หากให้รัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วม อาทิ ให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการทำประชามติ หากมีปัญหาอะไรขึ้นมารัฐบาลโดยเฉพาะตัวนายกฯ จะต้องเข้ามาร่วมรับผิดไปด้วย
4.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่สิ่งที่ พท. “ต้องทำ” เป็นลำดับแรกๆ อีกต่อไป
แกนนำ พท.หลายคนพูดทั้งบนฟลอร์และนอกฟลอร์ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ ขณะที่ ส.ส.พท.บางคนเสนอว่า ให้เลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปปีหน้า เพราะในปีนี้จะมีปัญหาหลายอย่างที่อาจกระทบกับเสถียรภาพรัฐบาล โดยเฉพาะกรณีเขาพระวิหาร
“พายัพ ชินวัตร” ประธานภาคอีสานของ พท.ก็บอกว่า หากยังหาวิธีที่ดีที่สุดไม่ได้ ก็ค่อยๆ คิดหาทางออกกันไป ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนอะไร
เช่นเดียวกับภูมิธรรมที่กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็มีอีกหลายอย่างที่รัฐบาลจะทำในปีนี้
จึงไม่แปลกที่เมื่อ “พงศ์เทพ เทพกาญจนา” รองนายกฯและ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ สรุปผลการสัมมนาของ พท.ว่าจะโยนเผือกร้อนนี้ไปให้คณะทำงานศึกษาข้อกฎหมายและวิธีการออกเสียง ประชามติพิจารณาอีกครั้ง ว่าจะส่งไปให้สถาบันการศึกษาอย่างน้อย 3 แห่งศึกษาวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรและเมื่อใด ซึ่งคำนวณได้คร่าวๆ ว่าจะใช้เวลาอีกหลายเดือนแน่ๆ
...กลับไม่มีเสียงคัดค้านจากสมาชิก พท.รายใด แม้กระทั่งแกนนำ นปช.ที่ตบเท้าออกมาเสนอว่า ต้องลงมติวาระสามทันที ทั้งจากจตุพร อดิศร เพียงเกษ ก่อแก้ว พิกุลทอง เหวง โตจิราการ ฯลฯ
แม้การไม่มีข้อสรุปจากเขาใหญ่ของ พท.จะทำให้แฟนคลับบางส่วนขุ่นเคือง กระทั่งเปลี่ยนชื่อเรียก พท.ในโลกออนไลน์เป็น “พรรคเพื่อถอย”
แต่ก็เป็นการหาทางออกชนิด “เหนือเมฆ” ของ พท.คือเต้นฟุตเวิร์ควนไปเรื่อยๆ ในประเด็นที่ร้อนแรง ไม่จำเป็นต้องเอาตัวเข้าแลก จนเสี่ยงเจอหมัดน็อคจนต้องกระเด็นจากอำนาจ
นี่คือเบื้องหลังการตีกรรเชียงของ พท.เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในการสัมมนาพรรคที่เขาใหญ่!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น