xs
xsm
sm
md
lg

ปูนำพท.หาช่องแก้รธน. ถ่วงดุลอำนาจองค์กรเสาเหลัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้( 6 ม.ค.2556) เวลา 13.30 น. ที่โรงแรมกรีนเนอรี่ รีสอร์ทแอนด์สปา เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา มีการสัมมนาพรรคเพื่อไทย ภายใต้หัวข้อ “มุ่งมั่น ตั้งใจ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย” โดยถือโอกาสนี้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่ ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมรัฐมนตรี ส.ส.สมาชิกและแกนนำพรรคเพื่อไทย ตลอดจนแกนนำกลุ่ม นปช.เข้าร่วมสัมมนาคับคั่ง อาทิ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมตรี นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ภริยา สาระสำคัญอยู่ที่การระดมความเห็นเพื่อหาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ เหลียวหลัง แลหน้า มุ่งมั่นตั้งใจ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย” เนื้อหาตอนหนึ่งว่า หลังจากที่เราผ่านพ้นบรรยากาศต่างๆ อยากเชิญชวนให้ปี 56 เป็นปีของการคิดบวก ถ้าเรามีความรัก ความเมตา เราก็จะมีความอดทนในการเดินไปด้วยกัน มีความคิดร่วมกันแก้ไขปัญหาในบรรยากาศการหาทางออกของประเทศ แต่การที่เราจะเดินไปหาทางออกของประเทศนั้น ตนขอเหลียวหลังย้อนกลับไปดูอดีตในช่วงการรัฐประหาร 2549 ซึ่งไม่ใช่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น แต่เพื่อให้เข้าใจที่มา ความแตกต่างและปัญหาต่างๆ เพื่อพรรคเพื่อไทยจะนำมารวบรวมความคิด หาทางแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า นับแต่การรัฐประหาร 2549 อำนาจที่เคยเป็นของประชาชนได้ถูกเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่พรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคการเมืองที่เกิดจากประชาชนอยากเห็น คืออยากให้อำนาจนี้กลับคืนสู่ประชาชน ประชาชนใช้กลไกความเป็นประชาธิปไตยการตรวจสอบถ่วงดุลที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคมและข้อกฎหมาย อยากเห็นระบบการทำงานของประเทศเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะจะนำไปสู่ความเสมอภาคดังกล่าว ตนเดินทางไปหลายประเทศ หลังจากรัฐประหารเห็นว่าประเทศไทยขาดความยอมรับจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นประชาธิปไตย แต่หลังจากวันที่ 3 ก.ค.54 รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเริ่มได้รับการยอมรับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีแต่เราจะเดินต่อไปได้อย่างไร ถ้าข้อกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ยังไม่ได้ถูกเอื้อให้เป็นกฎหมายซึ่งเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศและเอื้อต่อการเดินหน้า คำว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงก็เดินไปได้ยาก รวมถึงบรรยากาศการทำธุรกิจ บรรยากาศความเชื่อมั่น เสถียรภาพนโยบายต่างๆ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังปี 2549 มีการเปลี่ยนแปลงหลายรัฐบาล เมื่อไม่มีเสถียรภาพ ความต่อเนื่องของนโยบายก็ไม่มี โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานในการนำความเจริญไปสู่ชุมชนไม่มี ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านพัฒนาไปแล้ว หลายนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน อย่าง 30 บาทรักษาทุกโรค ก็ถูกยกเลิก จึงขอมองย้อนไปถึงสาเหตุไม่ใช่ต้องการให้แตกแยก แต่อยากให้เราได้เห็นได้เข้าใจปัญหาเพื่อหาทางออกร่วมกัน ไม่เช่นนั้นประเทศก็วนเวียนติดหล่มอยู่แบบนี้ เดินหน้าได้ไม่เต็มที่ ขณะเดียวกันก็ต้องแลหน้าควบคู่กันไป ซึ่งบรรยากาศเป็นไปในทางที่ดีเชื่อว่าไตรมาส 4 จีดีพีจะโต 5.5 เปอร์เซ็นต์ พรรคเพื่อไทยมุ่งมั่นสานต่อนโยบายและต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น โดยยึดปรัชญา 3 ข้อคือ สร้างรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส สำหรับงานปี 56 ดูเหมือนว่าจะเข้าที่ แต่ภาระของรัฐบาลคือการแก้ปัญหาที่มีอยู่ ขับเคลื่อนงานและวางโครงสร้างพื้นฐานระยะยาว ซึ่งไม่เสร็จในปีเดียว แต่ต้องบูรณาการและอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างแท้จริง
“ปี 56 เป็นปีของการหาทางออกของประเทศไทย เพื่อบันทึกในประวัติศาสตร์ว่าพรรคเพื่อไทยมาจากประชาชน ต้องร่วมใจกันแก้ไขเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน รวมทั้งปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบที่เป็นปัญหาให้สอดคล้อง การทำงาน ทั้งหมดนี้ดิฉันต้องการการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคและประชาชน การดูแลให้เกิดประชาธิปไตยในภาคประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ จึงอยากเห็นกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ยืนยันว่าทุกเสาหลักต้องมีการถ่วงดุลอำนาจของตัวเอง ไม่ก้าวก่ายกัน อะไรที่ยังไม่เห็นทางออก เรานิ่งนอนใจไม่ได้ เราจึงอยากเปิดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมสร่าง ร่วมแก้กันต่อไป” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
จากนั้น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในหัวข้อรัฐธรรมนูญปี 50 : ปัญหาของประเทศ ภาระของคนไทย” ว่า ยืนยันว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนวิธีการส่วนตัวเห็นว่าควรแก้รายมาตรา ใน 9 ประเด็น 81 มาตรา คือ 1.ยกเลิกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยให้ไปดำเนินคดีกับศาลยุติธรรมเช่นเดียวกับศาลล้มละลายหรือศาลภาษี 2.ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 3.ศาลรัฐธรรมนูญยังมีเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนเป็นแผนกที่ศาลฎีกา 4.เปลี่ยนศาลปกครองเป็นแผนกที่ศาลฎีกาเช่นเดียวกัน โดยให้เขียนเป็นบทเฉพาะกาลแยกไว้ 5.ผู้ตรวจการแผ่นดินรับเรื่องร้องเรียนและส่งต่อให้หน่วยงานอื่น แต่ไม่มีอำนาจลงโทษ 6.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องมาจากการเลือกตั้งของรัฐสภา ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี 7. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาจากการเลือกตั้งของรัฐสภา ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปีและต้องถูกตรวจสอบได้ 8.แก้ไขมาตรา 190 ไม่ต้องขออนุมัติรัฐสภาเพราะมาตรานี้บั่นทอนการทำงานของรัฐบาล 9.แก้มาตรา 237 ว่าด้วยการยุบพรรคและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค
นายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อหาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ และในฐานะฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ระหว่างร่วมสังเกตการณ์สัมมนาพรรคเพื่อไทย ที่โรงแรมกรีนเนอรี่ รีสอร์ทแอนด์สปา เขาใหญ่ จ.นครราชสีมาว่า การสัมมนาพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ น่าจะยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเลือกแนวทางใด น่าจะเป็นการให้เวลาไปทำความเข้าใจ ให้ความรู้แก่ประชาชนเพิ่มเติม แต่ส่วนตัวเห็นว่าแนวทางที่ปลอดภัยที่สุด คือรัฐบาลขอให้มีการออกเสียงประชามติ แต่เป็นการทำประชามติเพื่อขอคำปรึกษาจากประชาชนต่อรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ส่วนคำถามที่ใช้ไม่แตกต่างจากการทำประชามติเพื่อหาข้อยุติ เช่น อาจเป็นการถามประชาชนว่าหากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเห็นด้วยหรือไม่ หากมีผู้ยื่นตีความก็ไปสู้กันที่ศาล เพราะไม่มีทางออกอย่างอื่นแล้ว แต่มั่นใจว่ารัฐบาลสามารถเสนอให้ออกเสียงประชามติได้ เพราะมาตรา 165 ให้การรองรับไว้ แต่ที่เป็นข้อถกเถียงคือไม่ได้เขียนเนื้อหาไว้ว่าการทำประชามตินั้นต้องเป็นกรณีใดบ้าง
"ส่วนตัวยังเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญหากปล่อยไว้นานจะไม่เป็นผลดี ไม่เช่นนั้นคนก็จะมองว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่กล้าตัดสินใจเดินตามนโยบาย และไม่เป็นผลดีต่อประชาธิปไตย"นายชูศักดิ์กล่าว
นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานนปช. นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ต่างเห็นตรงกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีประเด็นควรต้องแก้ไข เพียงแต่ยังตกลงไม่ได้ว่า ควรทำอย่างไร รัฐธรรมนูญนี้มีคนไม่เห็นด้วยมากกว่า 11 ล้านเสียง จากการลงประชามติ เมื่อปี 2550 แสดงให้เห็นว่า ประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่ยอมรับ สังคมไทยถูกสร้างขึ้นมาด้วยมายาคติว่า มีเพียงสองแบบ คือ นักการเมืองโกง ทำให้ขาดคุณธรรม กับ เผด็จการรัฐประหาร ทำให้ขาดความเป็นประชาธิปไตย นำมาซึ่งการยอมรับ และไม่ยอมรับของแต่ละฝ่าย ทั้งที่เราไม่ควรยอมรับทั้งคู่ หากจะแก้ไขต้องครอบคลุมทั้งการให้สิทธิ เสรีภาพประชาชน หรือการเข้าไปตรวจสอบนักการเมืองได้ มาตรา 309 ที่ห่วงว่าจะนำไปสู่การช่วยเหลือคนๆ เดียวนั้น ควรเติมข้อความต่อท้ายด้วยว่า เว้นแต่รัฐสภาฯ จะมีมติให้การใดโดยเฉพาะนั้นเสียเปล่า หรือมีผลเป็นประการอื่น เพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม

** "เต้น"ซัดองค์กรอิสระตัววุ่น
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ และ แกนนำนปช. กล่าวว่า ซึ่งรัฐธรรมนูญนี้เป็นรัฐธรรมนูญ 18 มงกุฎ เข้าไปยึดอำนาจจากประชาชน ซึ่งประหลาดตั้งแต่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจไปเพียงเพื่อจะได้มาเป็นส.ส. อีกทั้งในบ้านเมืองนี้มีคนกลุ่มหนึ่งใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญจัดการกลุ่มคนมีหน้ามีตาในสังคมไปพูดกันที่สปอร์ตคลับ ตั้งแต่ยังไม่มีพรรคพลังประชาชนว่า หากเข้ามาก็จะยุบอีก แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ บ้านเมืองมี 3 เสา นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แต่ที่ทำให้วุ่นวายทุกวันนี้คือ เสาที่ 4 คือ องค์กรอิสระ ทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย ทั้งป.ป.ช. , กกต โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ นึกจะจัดการใครก็จัดการ ทั้งยุคนายสมัคร นายสมชาย แต่หากจะจัดการกับ นส.ยิ่งลักษณ์ ต้องข้ามศพนายณัฐวุฒิไปก่อน ที่พูดเช่นนี้ เพราะบางช่วงต้องทำคะแนนบ้าง
ขอให้สมาชิกพรรคเพื่อไทย ไปสื่อสารกับประชาชนว่า สิ่งที่ทำอยู่ ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของพรรค แต่เป็นปัญหาของประเทศ และไม่ได้ช่วยเหลือคนๆเดียว แม้เสาที่4 องค์กรอิสระต่างๆ มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ แต่ มาตรา309 เป็นอำนาจที่เหนือกว่าใคร ไม่มีใครไปจัดการอะไรกับคมช. ได้เลย ตอนนี้จะโหวตวาระ 3ก็ไม่ได้ จะลงประชามติก็กลัวประชาชนจะไม่มาใช้สิทธิ์ เราจึงต้องมาคุยกันเพื่อหาทางออก หากยังไม่พบทางออก ก็ขอเสนอให้ไปออกตรงทางเข้า คือไปทบทวนกันใหม่ แม้คนที่ไม่เห็นด้วย อย่าไปคิดว่าเป็นความเห็นคนทั้งประเทศ ยังมีคนจำนวนไม่น้อยว่าทำไมถึงต้องแก้ ตรงไหนเป็นปัญหา ไม่คิดว่าแก้รัฐธรรมนูญเสร็จจะปรองดอง แบบแฮปปี้เอนดิ้ง แต่เมื่อแก้เสร็จจะนำไปสู่การปรองดอง เพราะจะมีกติกานำไปสู่ประชาธิปไตย ให้คนทุกฝ่ายเท่าเทียมกัน

**รธน.50 วางกับดักฝ่ายบริหาร
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวในช่วงเปิดการสัมมนา ว่า รัฐบาลสามารถก้าวข้ามอุปสรรคมาได้ระดับหนึ่ง แต่ยังก้าวได้ไม่เต็มตัว เพราะประเทศยังมีปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย เนื่องจากรัฐธรรมนูปี 50 มีเจตนารมณ์ ทำลายระบบตรวจสอบถ่วงดุล ผ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ซึ่งเป็นอำนาจพื้นฐานประชาธิปไตย
นอกจากนี้ รัฐธรรรมนูญมีความพยายามเพิ่มอำนาจองค์กรอิสระ และชัดเจนว่า ผู้บริหารองค์กรอิสระไม่เชื่อมโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 50 ใช้อำนาจเกินขอบเขต และมุ่งทำลายพรรคการเมืองที่ประชาชนไว้วางใจ ด้วยความพยายามยุบพรรคการเมืองอย่างง่ายดาย รัฐธรรมนูญยังสร้างอุปสรรคปัญหาและทำความคล่องตัวในการทำข้อตกลงระหว่างประเทศจนเกิดความล่าช้าในการสร้างความร่วมมือ
"รัฐธรรมนูญได้วางกับดักทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ในเรื่องการทำประชามติ จนทำให้กระบวนการแก้เป็นไปด้วยความยากลำบาก รัฐธรรมนูญปี 50 เป็นใจกลางความขัดแย้ง และเป็นเหตุวิกฤตที่จะนำมาให้เกิดความไม่เสถียรภาพ และเป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศด้วย" นายจารุพงศ์ กล่าว

** แนะใช้สถานศึกษาเป็นเกราะกำบัง
ในช่วงการสัมมนา หัวข้อ “ทางออกประเทศไทย รัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตย คนไทยต้องมีความสุข” ปรากฏว่า มีการเสนอทางออกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากแกนนำพรรคเพื่อไทยอย่างหลากหลาย พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ ส.ส. และสมาชิกพรรคได้อภิปรายแสดงความเห็น โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร่วมนั่งฟังการสัมมนาด้วย
นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากความเห็นที่ต่างกันของพรรคเพื่อไทยใน 3 แนวทาง คือ การโหวตวาระ 3 การแก้รายมาตรา และการทำประชามติ ขอบอกว่า พรรคได้หาเสียงในช่วงเลือกตั้งว่า จะแก้รัฐธรรมนูญ วันนี้เราอยู่ในจุดที่ไม่ว่าจะเลือกการแก้ไขรัฐธรรมนูญทางไหน ก็มีข้อโต้แย้งทั้งสิ้น และเรามีบทเรียนการถูกยุบพรรคมา 2 ครั้ง แค่นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ไปทำกับข้าวออกโทรทัศน์ ก็ยังถูกเปิดพจนานุกรม มาตัดสินคดี ส่วนที่เสนอให้แก้รายมาตรา คนก็บอกจะแก้ใช้เวลานานเกินไป ดังนั้นเรื่องนี้ต้องทำให้ชัดเจนในสังคม
"ก่อนมาสัมมนาได้มีการหารือพูดคุยกัน ก็จะมีการเสนอให้สถาบันการศึกษามาช่วยหาคำตอบเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ คือ จะขอให้สถาบันวิชาการคือ คณะนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ประมาณ 3 - 4 สถาบัน อย่างจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ รามคำแหง สุโขทัยธรรมาธิราช มาช่วยหาคำตอบให้เราว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรทำอย่างไร โดยให้มีการระดมให้ประชาชนรับรู้มากที่สุด เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ไม่ใช่เร่งด่วนที่สุด ข้อเสนอนี้คือ รัฐบาลยังเดินหน้าต่อไป แต่ให้สถาบันการศึกษามาเกี่ยวข้องมาศึกษาเรื่องนี้ว่าจะแก้ไขอย่างไร แก้แบบไหนภายใน 45 - 60 วัน โดยให้สถาบันการศึกษาเอาไปบอกประชาชนให้รู้มากที่สุดเป็นกระแสสังคมให้กว้างขวางมากที่สุด" นายภูมิธรรม กล่าว
ขณะที่ นายวราเทพ รัตนากร รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี และหนึ่งในคณะทำงานศึกษาข้อกฎหมายและการออกเสียงประชามติ สรุปแนวทางดังกล่าวว่า การดำเนินการของพรรคเพื่อไทย ได้เกิดแนวทางใหม่ขึ้นมาที่จะเสนอต่อนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ ที่เป็นประธานคณะทำงานศึกษาการทำประชามติ ว่าควรให้สถาบันการศึกษาเช่น คณะนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ จาก 3-4 สถาบันการศึกษามาศึกษาเรื่องนี้แล้วจากนั้นก็ส่งผลมาให้คณะทำงานฯ อีกครั้ง

** แกนนำแดงให้ลุยโหวตวาระ3
จากนั้นได้มีการเปิดโอกาสให้ ส.ส. และสมาชิกพรรคแสดงความเห็นกันอย่างเต็มที่ โดยนายอดิศร เพียงเกษ อดีต ส.ส.ขอนแก่น สายเสื้อแดง กล่าวว่า ประชาชนเข้าใจเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงมาเลือกพรรคเพื่อไทย แต่รัฐสภาก็ยังไม่ยอมทำอะไร มีกระบวนการมาก้าวก่ายแทรกแซงเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างหน้าด้านที่สุด
“สภาฯควรทำหน้าที่ต่อไป แม้จะแพ้ชนะอย่างไร ถ้าสภาฯไม่ทำหน้าที่ ก็อย่าอยู่เป็นผู้แทน ขอให้ท่านกล้าหาญ ความกลัวทำให้เสื่อม จะมีประชาชนมาหนุนช่วย" นายอดิศร กล่าว
นายประยุทธ์ ศิริพานิช อดีต ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย หนึ่งในทีมกฎหมายของพรรคเพื่อไทย ก็ได้แสดงความเห็นว่า ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ อยากเตือนนายกฯว่า เรากำลังหลงทาง จะเอาของร้อนมาทำไม ตนไม่เคยซี้ซั้วเรื่องกฎหมาย เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล อยากถามว่า หากนายกฯได้ผลประชามติแล้วจะไปบังคับใคร นายกฯอยู่ฝ่ายบริหาร แล้วจะไปบังคับฝ่ายนิติบัญญัติให้แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้
ขณะที่นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า เราจะทำเรื่องผิดไม่ได้ มันจะเป็นตราบาปชั่วชีวิต และต้องชนะใจประชาชนด้วย จึงต้องโหวตวาระ 3 อย่างเดียว วันนี้ มีมารร้ายมาขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีความเห็นเป็นที่สุด แต่การตีความคดีนี้เป็นการตีความขยายอำนาจตัวเอง
"ขอบอกนายกฯว่า ที่เราไม่กล้าโหวตวาระ 3 เพราะกลัวศาลรัฐธรรมนูญ เรากลัวทำไม มีคนๆเดียวเขียนคำวินิจฉัยส่วนตนให้ทำประชามติ คือ นายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่เป็นแค่ความเห็นเดียวใน 8 เสียง แต่กลับไปเป็นความเห็นรวมในศาลรัฐธรรมนูญที่ถือว่าเป็นแค่ 1 ใน 8 ของเสียงข้างมากในการวินิจฉัยของศาล แล้วที่บอกว่าถ้าโหวตแล้วเสียงจะต่ำกว่านั้น มันก็เป็นการทรยศหักหลังตัวเอง ที่เคยโหวตวาระ 1 และ 2 แต่ไม่โหวตวาระ 3 มันจะเป็นไปได้ยังไง ที่คะแนนเสียงวาระ 3 จะน้อยกว่าวาระ 1 และ 2 ก็อยากให้พรรคไปทำโพลดูว่าประชาชนเอาอย่างไร หากจะโหวตวาระ 3" นพ.เหวง ระบุ
นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. กล่าวว่า สมาชิกรัฐสภาต้องเดินหน้าโหวตวาระ 3 เพราะการทำประชามติ เต็มไปด้วยกับดัก ขวากหนาม เส้นทางประชามติ นอกจากจำนวน 24 ล้านเสียงแล้ว ก็ยังมีกับดักข้อกฎหมายเช่นเดียวกัน ที่บอกจะไม่มีสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.-ส.ว. ไม่โหวตวาระ 3 เพราะกลัวจะพ้นจากการเป็นส.ส. ไม่ว่าหนทางประชามติ รายมาตรา และวาระ 3 อย่างเรื่องแก้รายมาตราที่ ร.ต.อ.เฉลิม เสนอ สุดยอดที่สุด แต่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่เรื่องประชามติ ที่ทำเพราะปลุกความกล้าสมาชิกรัฐสภา
" ผมเห็นด้วยที่บอกจะให้คณะรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ไปศึกษามา แต่พวกผมก็เห็นด้วยที่จะทำหนังสือถามไปถึงศาลรัฐธรรมนูญให้รู้ความชัดเจนไปเลย เพราะการทำประชามติใช้เงิน 2,000 บาท ทำไมไม่ทำหนังสือถามไปที่ต้นทางเสียเลย เพื่อถามใน 2 ประเด็นก็คำถามละ 1,000 ล้านบาท ถามไปที่ต้นตอเลย สัปดาห์นี้ นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช.จะทำหนังสือไปถามศาลรัฐธรรมนูญ 2 ข้อ คือ 1. ในคำวินิจฉัยได้ให้ทำประชามติก่อนโหวตวาระ 3 หรือไม่ และ 2. ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งห้ามไม่ให้โหวตวาระ 3 หรือไม่ คำตอบของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นคำตอบข้อละ 1,000 ล้านบาท จะได้รู้กันไปเลย และระหว่างรอศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะให้ คณะรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ 3 สถาบัน ก็ทำพ่วงไป ระหว่างนี้พวกผมก็ทำไป แต่ขอตอนนี้อย่าเพิ่งตัดสินใจทำประชามติ สรุปความคือ ขอให้รอฟังจากศาลรัฐธรรมนูญว่า สั่งห้ามโหวตวาระ 3 หรือไม่ และให้ทำประชามติก่อนโหวตวาระ 3 หรือไม่ จะประหยัดได้สองพันล้านบาท" นายจตุพรกล่าว โดยได้รับเสียงปรบมือจากคนในห้องประชุม
ต่อมา นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ควรมีการทำประชาเสวนา เพราะตอนนี้ก็มีการอนุมัติงบให้กระทรวงมหาดไทยไปทำแล้ว จากนั้นก็ไปโหวต วาระ 3 ต่อไป
พ.อ.อภิวันฑ์ วิริยะชัย ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ส่วนตัวสนับสนุนแนวทางการแก้ไขรายมาตรา แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับหลายประเด็นที่ ร.ต.อ.เฉลิม เสนอ โดยอยากให้พรรคเร่งในการสรุปเรื่องนี้โดยเร็ว เพราะประชาชนคาดหวังเรื่องนี้มาก จึงเห็นว่าไม่ควรเกิน 1 เดือน ต่อจากนี้ต้องมีข้อสรุปออกมา หากมีข้อสรุปออกมาแนวทางใด สมาชิกพรรคก็จะดำเนินการเต็มที่ ทั้งนี้ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของนายภูมิธรรม ที่จะให้สถาบันการศึกษามาช่วยศึกษาเรื่องนี้ ตามที่เสนอ เพราะการแก้กฎหมายเป็นหน้าที่ของส.ส.ไม่ใช่หน้าที่อาจารย์ หรือสถาบันการศึกษา
ด้านนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และแกนนำ นปช. แสดงความเห็นว่า เวลานี้เรากลัวแต่เมื่อถึงเวลาก็ต้องตัดสินใจ เพราะไม่ว่าจะเดินทางไหนฝ่ายตรงข้ามก็เตะสกัดขาอยู่แล้ว ส่วนตัวเสนอโหวต วาระ 3 เพื่อคงความศักดิ์สิทธิ์ และศักดิ์ศรีของรัฐสภา วันนี้รัฐบาลยังแข็งแรง นายกฯ ยังได้รับการสนับสนุนท่วมท้นและมวลชนก็ยังเหนียวแน่น ถ้าเกิดอะไรขึ้นเลือกตั้งใหม่ก็ชนะ อย่างไรก็ตาม ถ้าโหวตวาระ 3 แล้วตกไป ก็ไปแก้รายมาตรา

**"เจริญ"ฟันธงโหวตวาระ3แพ้แน่
ขณะที่นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร แสดงความเห็นว่า สภาฯ ต้องเดินหน้าโหวตวาระ 3 เพราะเป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภา การจะไปทำประชามติ หรือประชาเสวนาอะไรก็ตามไม่สามารถมีผลบังคับกับรัฐสภาได้ แล้วอยากฝากคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคให้ระวังพรรคจะถูกยุบ เพราะไม่มีสิทธิ์ใช้มติพรรคไปบังคับ ส.ส.ให้ทำอะไรก็ได้ ทั้งนี้ตนเชื่อว่าหากโหวตวาระ 3 วันนี้ เสียงจะไม่เพียงพอ เพราะสมาชิกเกรงจะทำแล้วขัดกฎหมาย อย่าว่าแต่ ส.ว.เลย แม้แต่กับ ส.ส.เพื่อไทย ก็ไม่กล้าลงมติ หากมีการลงมติจริง อาจจะมี ส.ส.บางคนไม่เข้าร่วมประชุม
" อยากให้รัฐบาลอยู่ในอำนาจไป 3 ปีก่อน แล้วค่อยไปแก้รัฐธรรมนูญ เพราะตอนนี้ไม่ว่าออกทางไหน ก็โดน ดังนั้นจึงควรค่อยเป็นค่อยไป และก็ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะให้สถาบันการศึกษามาศึกษาเรื่องนี้" นายเจริญ กล่าว
ส่วน นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และแนวร่วม นปช. กล่าวว่า พรรคมีความเห็นก็เป็นความเห็นของพรรคไป แต่จะมาบังคับ ส.ส.ไม่ได้ ขอให้ไปตรวจสอบพวก ส.ว.-ส.ส. เหตุใดจึงกลัว จะทำอย่างไรให้หายกลัว ไปพร้อมกับการเดินหน้าให้ความรู้กับประชาชน และดึงคนเสื้อแดงมามีส่วนร่วม เป็นการปลุกกระแสโดยใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่ที่จะทำห้ามทำช่วงเดือน เม.ย.นี้ เพราะจะมีกรณีเขาพระวิหาร และเดือน ต.ค. ก็ไม่ได้ ถ้าจะโหวตก็ไปเป็นหลังปีใหม่ปีหน้าไปเลย ทำตอนนั้นจะเป็นของขวัญปีใหม่ ให้ประชาชน
จากนั้น นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาข้อกฎหมายและการออกเสียงประชามติ กล่าวสรุปปิดการแสดงความเห็นว่า เรื่องที่ประธานนปช. จะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องดีมาก หากศาลรัฐธรรมนูญจะตอบ แต่หลายคนก็บอกกันว่า ยากที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยหรือตอบในสิ่งที่ประธาน นปช. ถามไป หรือจะเสนอทางเลือกอีกทางเลื
อกคือ แก้รัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องตอบ ข้อเสนอที่นำเสนอทั้งหมดจะนำไปคุยกันในคณะทำงานฯ
" จากการหารือเดิมที่มีสามทางเลือกมาตอนนี้มีหกทางเลือกแล้ว แม้จะมีการมองแง่ดีว่าทุกปัญหามีทางออกแต่ตอนนี้เป็นว่าทุกทางออกมีปัญหา แถมทุกทางออกยังมีฆาตรกรโรคจิตรออยู่ด้วย ปัญหาที่มีแน่นอนตอนนี้คือสมาชิกรัฐสภากังวลใจลังเลกลัวฆาตรกรโรคจิต เพราะทำประชามติก็มีปัญหา หรือจะทำให้ประชามติโดยไม่ให้มีผลผูกพันรัฐสภา ก็ยังเป็นประเด็นต้องนำไปหารืออีก" นายพงศ์เทพ กล่าว

**แก้รธน.ต้องไม่กระทบสถาบันฯ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า ทางฝ่ายค้านยังย้ำในจุดยืนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ถ้าแก้รัฐธรรมนูญไม่ไปเกี่ยวข้องอำนาจสถานะสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่กระทบความอิสระของตุลาการ ไม่ไปล้างผิดให้ใคร ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้ายังวนเวียนอยู่กับเรื่องพวกนี้ จะใช้วิธีไหนก็เกิดความขัดแย้งขึ้น ส่วนที่คนเสื้อแดงเรียกร้องให้ลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญวาระ 3 นั้น ก็ควรต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะเรื่องนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ให้ความเห็นเอาไว้แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น