xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” หวังแก้ รธน.ได้ข้อสรุปเร็ว เชื่อเสร็จไม่ทันปี 56 ปัดเร่งจนลืมชาวบ้าน อึ้งเจอซักสถานะ “แม้ว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
นายกฯ หวังเห็นข้อสรุปแก้ รธน.โดยเร็ว ยังโบ้ยเป็นเรื่องของสภา อ้างชำเราอยากเห็นฉบับที่มาจากประชาชน สร้างความเสมอภาคสมดุล 3 สถาบัน โยน กก.ไปคิดคำแถแก้แล้วชาวบ้านได้อะไร เชื่อไม่เป็นเหมือนอียิปต์ แต่รับถ้าได้ทำคงไม่เสร็จทันปีหน้า บอก “พี่ชาย” สั่งลุยแค่ข้อเสนอ โอ่ถ้าทำเพื่อคนคนเดียวชาวบ้านคงไม่เลือกมาอีก อึ้งเจอซักวางสถานะ “แม้ว” ไว้ที่ไหน บอกเป็นแค่คนไทยที่หวังดี ชี้ปรองดองเรื่องสำคัญ ปัดลืมแก้ปัญหาชาวบ้าน ยังไม่พูดนิรโทษกรรม


วันนี้ (30 ธ.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์พิเศษสื่อทำเนียบรัฐบาลฉบับปีใหม่ 2556 ถึงการออกเสียงประชามติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสามารถทำได้ในปี 2556 หรือไม่ว่า รัฐบาลอยากเห็นทางออกที่สรุปโดยเร็ว เพราะขณะนี้คณะทำงานฯ ของรัฐบาลยังอยู่ในช่วงการรวบรวมข้อมูลอยู่ ซึ่งวันนี้จากการที่สอบถามข้อมูลมาจะมีหลายแนวทางด้วยกัน จริงๆในส่วนของรัฐบาลเรามองเรื่องการมีส่วนร่วม การทำประชาเสวนากับประชามติ ขณะเดียวกันในภาคประชาชนหลายๆ ส่วนพูดถึงการที่จะเริ่มเดินหน้าโหวตวาระ 3 เลย หรือจะแก้ไขรายมาตรา หรือการทำประชามติ ดังนั้นขอเวลาให้คณะทำงานฯ ได้ทำงานเพื่อสรุปผลออกมาก่อนจะอย่างไร ถ้าเป็นแนวทางประชามติคงจะได้เห็น แต่ในส่วนของรัฐบาลเราอยากเห็นแนวทางไหนก็ได้ที่เป็นแนวทางที่ประชาชนยอมรับและได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจังตามระบอบประชาธิปไตย

“ในส่วนของรัฐบาลเราถือว่าการโหวตต่างๆ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นส่วนของรัฐสภา รัฐบาลมีหน้าที่สร้างกลไกการมีส่วนร่วม ประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้คำแนะนำว่าควรจะทำประชามติหรือแก้ไขรายมาตราก่อนเพื่อให้เกิดความชัดเจน ดังนั้นรัฐบาลต้องนำข้อเสนอนี้ออกไปสรุปกันเพื่อหาทางออกต่อไป” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เมื่อถามถึงวัตถุประสงค์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ต้องเรียนว่ารัฐธรรมนูญของปี 2550 เกิดจากหลังจากที่ได้มีการปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้น เราอยากเห็นรัฐธรรมนูญที่เราจะใช้ต่อไปเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างมาจากภาคประชาชน ถามว่าการที่มีฉบับนี้ดีอย่างไร คือ ถ้าประชาชนได้มีส่วนร่วมในการที่จะเสนอเนื้อหาต่างๆก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและที่สำคัญจะเป็นไปตามกลไลของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะเห็นว่าในหลายๆ ประเทศทั่วโลกนั้น วิถีทางประชาธิปไตยนอกจากระบอบการทำงาน กลไกการมีส่วนร่วม จะต้องทำให้รัฐธรรมนูญสอดคล้องและเกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกัน

“ข้อดีคือประชาชนทุกคนจะได้รับความเสมอภาค และการทำงานจะมีกลไกที่ตรวจสอบกันสมดุลระหว่างสามเสาหลักระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการและฝ่ายนิติบัญญัติ หากเราสร้างความสมดุลตรงนี้จะทำให้ความมั่นคงของเสถียรภาพของประเทศและเสริมสร้างเศรษฐกิจต่อไป ถามว่าดีอย่างไรเรามองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยากให้ภาคประชาชนเป็นผู้เสนอ” น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุ

เมื่อถามถึงการที่ฝ่ายการเมืองพูดแต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เคยพูดว่ารัฐธรรมนูญมีผลกระทบต่อประชาชนอย่างไรจึงต้องแก้ไข นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้ขอให้คณะทำงานฯไปดำเนินการศึกษาเรื่องนี้ เพราะสิ่งที่เราได้ยินกันอาจคุยกันแง่แก้ไขมาตราต่างๆ แต่สิ่งที่เราต้องย้อนกลับมาให้ประชาชนเข้าใจว่าแก้ไขแล้วประชาชนได้อะไร วันนี้ตนเองได้ฝากแนวทางนี้กับคณะทำงานฯ ให้ช่วยทำการชี้แจงด้วย เพราะตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้คุยกันแต่วิธีการ แต่ยังไม่ได้คุยถึงเนื้อหาจะแก้อย่างไร ประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไร ทั้งนี้ หลังคณะทำงานฯ สรุปส่งมาจะชี้แจงให้ทราบอีกครั้ง เป็นสาเหตุที่คณะรัฐมนตรียังไม่สรุปผล เพราะอยากให้คณะทำงานฯ สรุปเนื้อหาก่อนว่าจะมีประเด็นอะไรบ้างที่เป็นประโยชน์สำหรับประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้ทราบก่อนแล้วค่อยกลับไปดูวิธีการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมหรือการยอมรับของประชาชนคืออะไร

น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังได้กล่าวถึงข้อห่วงใยที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้นว่า หากเรามีการพูดคุยแล้วเห็นพ้องต้องกันว่ามีประโยชน์ร่วมกัน เชื่อว่าจะนำไปในแนวทางที่ดีขึ้น ฉะนั้นอยากให้ร่วมกันสร้างบรรยากาศ โดยรัฐบาลพยายามสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ตั้งแต่เรื่องการทำประชาเสวนา แต่เรามองว่าประชาเสวนาแล้วจะนำไปสู่ข้อสรุปหรือไม่ จึงเป็นส่วนที่ต้องมาถกเถียงกันอีกครั้ง เชื่อว่าถ้าเราช่วยกัน พูดคุยกันให้มากขึ้น มีการแสดงออกในข้อคิดเห็นข้อกังวลใจให้มากขึ้น ใช้เวลาตรงนี้ก่อน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันแล้วค่อยเดินหน้า เชื่อว่าความสงบก็เกิดขึ้น ส่วนที่ห่วงว่าจะเกิดเหตุการณ์วุ่นวายเหมือนที่ประเทศอียิปต์นั้น คงไม่เกิดขึ้น เพราะเป้าหมายแรกเราอยากเห็นประเทศเดินไปข้างหน้า ก็จะเห็นแล้วว่าถ้าบรรยากาศของเราไม่มีความขัดแย้ง เศรษฐกิจหรือความเชื่อมั่นต่างๆ ก็กลับมา

ผู้สื่อข่าวได้ถามย้ำว่า มีความมั่นใจมากน้อยเพียงใดว่าว่าปี 2556 จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใช้หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับวิธีการที่ขณะนี้มีอยู่ 3 แนวทางที่ต้องตกผลึกกันให้ชัดเจนก่อน ทั้งการเดินหน้าโหวตวาระ 3 เลย การแก้ไขรายมาตรา หรือการทำประชามติ ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อตกลงหลังจากนี้ ถ้าเป็นทำประชามติอาจต้องใช้เวลา เพราะถึงตอนนี้หัวข้อประชามติก็ยังไม่สรุป จึงอาจไม่เห็นฉบับใหม่ในปี 2556 เพราะการเลือกประชามติคือการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้คำแนะนำว่าก่อนโหวตวาระ 3 ต้องไปทำประชามติ หรือแก้ไขเป็นรายมาตรา หากประชามติจบก็เดินหน้าแก้ไขมาตรา 291 คือการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนุญ (ส.ส.ร.) ซึ่งต้องสู่กระบวนการเลือกตั้ง เหมือนอย่างการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อได้ ส.ส.ร.ก็ต้องมานั่งประชุมสภาร่างฯขึ้นมาและตกลงกันว่าจะร่างแบบยกแก้ไขทั้งฉบับ หรือแก้รายมาตรา เมื่อได้เรียบร้อยแล้วต้องกลับไปทำประชามติอีก

“ถ้าจำได้ตอนที่เราร่างรัฐธรรมนูญปี 40 ใช้เวลาหลายปี ตอนนี้จึงเป็นแค่เริ่มขบวนการเท่านั้น นั่นคือสิ่งที่เรามองว่าข้อกฎหมายต่างๆ เวลาเปลี่ยนแปลงไป การที่เรามีเรื่องของประชาคมอาเซียนก็ดี เมื่อมีสิ่งต่างๆเหล่านี้หลายอย่างในช่วงของการเปลี่ยนแปลงของต่างประเทศก็ดี ข้อกฎหมายต่างก้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไป นั่นคือสิ่งที่เราต้องกลับมาค่อยๆดู ดังนั้นคงจะไม่ได้เสร็จเร็วในปีหน้าแน่นอน” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว

เมื่อถามถึงท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่าให้ลุยทำประชามติไปเลย ถึงเป็นการส่งสัญญาณที่รัฐบาลต้องตัดสินใจทำตามหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวปฏิเสธ พร้อมกล่าวว่า เป็นเพียงข้อเสนอของ พ.ต.ท.ทักษิณ เท่านั้น นั่นคือทุกคนมีสิทธิที่จะให้คำแนะนำ และข้อเสนอได้ วันนี้เราอยู่ในขั้นตอนของการรับฟังกับทุกส่วน ไม่ใช่รัฐบาลเพียงส่วนเดียว รัฐบาลต้องไปหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รัฐสภา และวุฒิสภาด้วย รวมถึงพรรคการเมืองอื่นๆ และภาคประชาชน ดังนั้นทุกคนสามารถเสนอได้ และนี่คือเสน่ห์ของประชาธิปไตย

ต่อข้อถามที่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีข้อแตกต่างจากการแก้ไขครั้งที่ผ่านๆมาอย่างไร และทำอย่างไรให้ผลประโยชน์ตกที่ประชาชน ไม่ใช่เพียงรัฐบาลหรือ พ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ต้องเรียนว่าเราคุยกันแต่วิธีการ และพูดถึงปลายทางเลย ทั้งที่ปลายทางยังไม่ถึง ถ้าคุยเรื่องประชามติ เราจะไม่รู้เลยว่าต่อไป ส.ส.ร.จะเป็นใคร และจะร่างออกมาอย่างไร ฉะนั้นมันคือปลายทางที่หลายฝ่ายอาจจะกังวลใจไปก่อน จึงอยากจะขอใช้เวลาในการที่จะพูดคุยในส่วนของเนื้อหาที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้เห็นประโยชน์ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมีประโยชน์อย่างไร

นายกฯ กล่าวต่อไปว่า ในความเป็นจริงแล้วบางส่วนเป็นสิ่งที่มีร้องขอมาจากประชาชน ตั้งแต่พรรคเพื่อไทยทำงานสำรวจพื้นที่ แต่เราจะนำกระบวนการทั้งหมดมาให้ประชาชนได้รับทราบ และพยายามที่จะให้แนวทางคณะทำงานได้พูดคุยถึงเนื้อหามากขึ้น แทนที่จะพูดคุยในเรื่องข้อกฎหมายอย่างเดียว ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ที่สำคัญการแก้ไขรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นงานในส่วนของรัฐสภา แต่สิ่งที่รัฐบาลทำได้ คือกลไกต่างๆ เราก็จะอยู่ในหมวดของการที่ไม่เร่งตัดสินใจ แต่เราอยากจะเร่งในการทำความเข้าใจร่วมกันและหาข้อสรุปเพื่อหาทางออก

“คิดว่าไม่เป็นการดีที่จะทิ้งค้างไว้อย่างนี้ และไม่สามารถที่จะเดินหน้าได้ หรือทำอะไรได้ เพราะวันนี้มติถูกคาไว้ และมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาก็ต้องมาพูดคุยกันว่าเราจะเดินอย่างไร จะแก้ปัญหาอย่างไรร่วมกัน” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การบริหารของรัฐบาลที่ผ่านมาถูกมองว่า พ.ต.ท.ทักษิณเข้ามาเกี่ยวข้อง ในอนาคตมีโอกาสที่รัฐบาลจะก้าวข้าม พ.ต.ท.ทักษิณได้หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า อยากทุกคนดูในเนื้อหาในสิ่งที่ทำให้กับประชาชน เชื่อว่าแม้กระทั่งการมีส่วนร่วมการลงประชามติ หรือการเลือกตั้งต่างๆ เป็นสิทธิของประชาชนโดยแท้ ไม่มีใครที่จะมาบังคับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศได้ ถ้าเห็นว่าสิ่งที่ตนทำงานเพื่อคนคนเดียวไม่ได้ทำเพื่อคนส่วนรวม ครั้งหน้าพี่น้องประชาชนคงไม่เลือกเข้ามาในตำแหน่งนี้ หรือไม่ให้โอกาสสมาชิกพรรคเพื่อไทย ตรงนี้เป็นกลไกของระบอบประชาธิปไตย ที่มีกลไกทั้งการตรวจสอบและการตัดสินโดยประชาชน

เมื่อถามว่า นายกฯ วางสถานะ พ.ต.ท.ทักษิณ ไว้ตรงไหน สามารถตัดความเป็นพี่น้องออกไปได้หรือไม่ เมื่อผู้สื่อข่าวถามจบทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์อึ้งไปพักหนึ่งก่อนที่จะกล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณก็เป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่มีความหวังดีและอยากเห็นประเทศชาติของเราเดินไปข้างหน้าได้ และเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ทางการเมือง และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

“ดิฉันถือว่าเป็นหนึ่งเสียงเทียบกับทุกๆ คน ฉะนั้นเราเองหน้าที่รัฐบาลเราต้องฟังทุกๆเสียงจากประชาชน และการตัดสินใจต้องอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค อย่างเท่าเทียมกันและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนส่วนร่วมเป็นที่ตั้ง” นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่า ในฐานะที่เป็นผู้นำประเทศมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สำคัญเป็นอันดับแรกกว่าการแก้ไขปัญหาในด้านอื่นหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า การสร้างบรรยากาศให้เกิดความเชื่อมั่นและการสร้างความสามัคคีปรองดองเป็นเรื่องหลัก เพราะเป็นพื้นฐานของการสร้างเสริมเศรษฐกิจและความมั่นคง

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความสำคัญ แต่ไม่ใช่ประเด็นเร่งด่วน ถ้าเราเข้าไปเร่งแก้ไข แล้วเกิดความขัดแย้งในสังคมไทย เกิดปัญหานำมาซึ่งความรุนแรง จะทำให้เศรษฐกิจต่างๆ ไม่ดี เราจึงพยายามที่รักษาบรรยากาศต่างๆ เข้าไว้ บางครั้งต้องขอความเห็นใจบางท่านอยากให้เร่งแก้ไข เราเองถือว่าการแก้ไขอยู่ที่ทางรัฐสภาจะตัดสินใจ และเราในฐานะรัฐบาลเราเข้าไปช่วยในกรณีที่อยากให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน” นายกฯ ระบุ

เมื่อถามย้ำว่า หลายฝ่ายกังวลว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนลืมเรื่องแก้ไขปัญหาอื่นให้แก่ประชาชน นายกฯ กล่าวปฏิเสธทันทีพร้อมอธิบายว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจ แต่อย่างน้อยสิ่งที่ได้เห็น คือ ทุกฝ่ายพูดถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่ดีคือเราพูดถึงวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตยที่มีความสงบ คือ การมีส่วนร่วม เสนอความคิดต่างๆแบบสร้างสรรค์ แต่ไม่ใช่การใช้กำลังรุนแรง หรือการที่จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ถ้าเราได้พูดมากขึ้น ได้เข้าใจมากขึ้นสุดท้ายข้อสรุปต่างๆ ก็จะออกมาเอง

ผู้สื่อข่าวยังได้ถามถึงว่าแนวโน้มการออกกฎหมายนิรโทษกรรมว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนทั่วไป และอาจรวมไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณไว้ด้วยได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันนี้เรากำลังพูดถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องนิรโทษกรรม ทุกอย่างเราพูดถึงประโยชน์ของประชาชน การที่จะออกกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้นทุกอย่าง เราต้องทำแล้วให้เกิดความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งถือเป็นหลักการทำงานของรัฐบาล และไม่มีการตั้งเป้าว่า จะทำให้ใครได้ประโยชน์เป็นพิเศษ เพราะหากเป็นเช่นนั้นคงไม่มีใครให้กฎหมายนั้นๆ ผ่านไปได้


กำลังโหลดความคิดเห็น