xs
xsm
sm
md
lg

“วราเทพ” คาดประชามติได้ ก.พ.56 ยกเมฆแจงแก้ รธน.ชาวบ้านได้อะไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
ทีมทำประชามติเชื่อปีหน้าการเมืองดีขึ้น ถ้าเคลียร์แก้ รธน.ได้ก็เดินหน้าได้ ย้ำโหวตเหมาะสุด ลดขัดแย้งได้ เร่งหาชื่อหัวข้อให้ได้เดือนหน้า อย่างช้า ก.พ.ลุยต่อ จี้พลังเงียบตัดสิน ยังเชื่อใช้สิทธิเกินครึ่ง จวกพวกปฏิปักษ์การออกเสียงไม่ดี แต่ตอบไม่ได้ชาวบ้านได้อะไร บอกแค่มีส่วนร่วม อ้างสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้ปรากฏ ยันใช้ 2 พันล้านแก้ปัญหาเหมาะสม ย้ำถ้าล่มก็แก้ได้อยู่ แนะอย่าเชื่อโหรลั่นอยู่ครบเทอมแน่ คาดสภาไม่แรง ซัดฝ่ายค้านชกใต้เข็มขัด รูดซิปปรับ ครม.แทน “ชุมพล”

วันนี้ (29 ธ.ค.) นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะทำงานศึกษาแนวทางการทำประชามติ กล่าวถึงการวางแผนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2556 ว่าบรรยากาศการเมืองในปีหน้าคิดว่าน่าจะดีขึ้น ที่คิดอย่างนี้ก็เพราะว่าเมื่อต้นปีทุกคนอยากจะเห็นบ้านเมืองสงบ และบรรยากาศการลงทุนที่ดีขึ้น ฉะนั้นประเด็นการเมืองต้นปีก็ยังไม่น่าจะมีอะไรที่รุนแรง มีอุณหภูมิเหมือนช่วงกลางปี และหากในช่วงต้นปีหากรัฐบาลสามารถดำเนินการทำความเข้าใจในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดยเฉพาะได้ข้อสรุปในทางเลือกทั้ง 3 แนวทางที่พรรคเพื่อไทยได้มีการพิจารณา ก็เชื่อมั่นว่าทุกอย่างจะเดินหน้าไปได้

“ในเรื่องของการทำประชามติ รัฐบาลยังมองว่าเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เนื่องจากประชาชนสามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่ การทำประชามติเป็นเครื่องมือชี้วัดที่ดีที่สุดในขณะนี้ที่จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งได้ แต่เรื่องนี้เนื่องจากยังต้องใช้เวลาในการอธิบาย ทำความเข้าใจ โดยเฉพาะขั้นตอนที่มีปัญหา เรื่องความซับซ้อนและความเป็นห่วงในเรื่องของแนวทางและชื่อเรื่องที่จะถามในการทำประชามติ ซึ่งคณะทำงานศึกษาแนวทางการทำประชามติก็จะเร่งหาข้อสรุปให้ได้ภายในเดือนมกราคม หากทุกอย่างเรียบร้อยก็น่าจะเดินหน้าทำประชามติได้ภายในปลายเดือนมกราคมหรืออย่างช้ากุมภาพันธ์ และนั่นหมายความว่าเราจะมีความชัดเจนในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงต้นปี” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายฝ่ายกังวลหลายประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำมาซึ่งความขัดแย้งในบ้านเมือง นายวราเทพกล่าวว่า อยู่ที่การตั้งสมมติฐานของคนที่มองย้อนกลับไปในขณะที่เกิดความขัดแย้งและยังไม่มีทางออก แต่การทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นทางออกที่หากทุกฝ่ายยอมรับและหันกลับไปหาประชาชน ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินก็จะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุดเพราะถ้าฝ่ายที่ไม่ยอมรับให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีเหตุผลที่จะให้อีกฝ่ายหนึ่งได้แสดงความคิดเห็น บ้านเมืองก็จะไปไม่ได้ ก็จะมีคนที่เป็นพลังเงียบอยู่ในปัจจุบันที่จะเป็นคนกำหนดหรือชี้วัดว่าทั้งสองฝ่ายจะได้รับการตอบรับแบบไหน ถ้าพลังเงียบออกมาตอบรับว่าเห็นควรที่จะให้บ้านเมืองเดินหน้า คนที่ค้านโดยไม่มีเหตุผล ก็คงไม่มีใครร่วมสนับสนุนด้วย

เมื่อถามว่า จนถึงขณะนี้ยังเชื่อว่าเสียงประชามติจะเกินครึ่งตามที่กำหนดไว้หรือไม่ นายวราเทพกล่าวว่า โดยส่วนตัวยังเชื่ออย่างนั้น ซึ่งได้มีการพิจารณาในหลายมุมมอง และในเรื่องของขั้นตอนของกฎหมายแล้ว เช่นมีกฎหมายรองรับ และสามารถอธิบายได้ ที่สำคัญคือหลักการที่จะให้กลับไปหาประชาชน เวลาเรามีปัญหาทางการเมือง การที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองก็ต้องกลับไปถามประชาชน เมื่อถามต่อว่ามีการเตรียมการไว้หรือไม่ว่าหากขั้นตอนการทำประชามติไม่ผ่าน จะมีขั้นตอนอย่างไร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ตนพูดมาตลอดว่าเหมือนกับการไปเลือกตั้ง ถ้าเราเป็นนักการเมือง ถ้าเราไปคิดว่าเราแพ้แล้ว เราจะไปหาวิถีทางที่จะชนะ ก็คงไม่ใช่กติกาประชาธิปไตย เราต้องคิดว่ามีแต่กติกาให้เราดำเนินการตามระบอบประชาธิปไตย แพ้ชนะเป็นเรื่องทีหลัง เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความคิดว่าผลจะออกมา แพ้หรือชนะ ซึ่งถ้าจะให้โอกาสประชาชนเป็นคนชี้วัดเราก็ต้องยอมรับในคำตัดสินของประชาชน

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะรู้สึกเสียหน้าหรือไม่ หากประชามติไม่ผ่าน นายวราเทพกล่าวว่า กรณีนี้ คำว่าเสียหน้ามี 2 กรณี คือ ถ้าเป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะเนินการโดยไม่รับฟังความคิดเห็นของใคร ก็อาจจะทำให้รัฐบาลถูกมองว่ารัฐบาลดื้อดึง แต่ถ้าเป็นเรื่องของการที่รัฐบาลรับฟังมาทุกฝ่ายแล้วและเลือกทางที่ดีที่สุดให้คนตัดสิน ส่วนประชาชนจะเลือกทางใด ทางหนึ่งก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับรัฐบาลว่าจะต้องเสียหน้า หรือมีความเห็นว่าต้องรับผิดชอบใดๆ และขณะนี้ตนยังไม่อยากบอกว่าผลของประชามติจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะเหมือนเป็นการพูดถึงปัญหาก็จะทำให้กระบวนการเดินหน้าเดินไม่ได้ จึงอยากเรียกร้องให้เรามาช่วยกันหาทางออกก่อน เพราะทั้งนายกฯและรัฐบาลก็พร้อมที่จะเลือกทางที่ดีและเหมาะสมที่สุดและเป็นที่ยอมรับ ถ้าสมมุติว่าเราเลือกการทำประชามติ เมื่อมีประชามติให้แก้ไขแล้ว ก็จะมี ส.ส.ร.ตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เรื่องการทำประชามติก็ได้มีการส่งหนังสือไปหารือกับ กกต.แล้ว ซึ่งรัฐธรรมนูญจะเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ดีไม่ดีก็อยู่ที่ประชาชนเป็นคนเลือก เขาจึงไม่ให้สมาชิกรัฐสภาเกี่ยวข้องทั้งในการร่างและเห็นชอบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีวิธีอย่างไรที่จะทำให้คนมาใช้สิทธิ นายวราเทพกล่าวว่า กฎหมายกำหนดให้มีการเผยแพร่ทำความเข้าใจ 90 วัน ซึ่งก็เป็นหนึ่งในแนวทางที่จะทำให้เกิดการกระตุ้นให้คนออกมา แต่สิ่งที่คณะทำงานฯ ต้องคิดและจะมอบส่งไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบก็คือ เรื่องของการทำอย่างไรให้เกิดความรู้สึกว่าประชาชนน่าจะออกมามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งคงอยู่ที่ทุกฝ่ายด้วย ถ้าทุกฝ่ายอยากเห็นทางออกของบ้านเมืองและจิตสำนึกของทุกคน พยายามไม่เอาความรู้สึกส่วนตัว หรือความเห็นส่วนตัวมาชนะคะคานกันทางการเมือง ก็เชื่อว่าประชาชนจะออกมาใช้สิทธิกันมาก เมื่อถามต่อว่า สถานการณ์ขณะนี้คิดว่าสุกงอมที่ประชาชนควรจะออกมาใช้สิทธิ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ตอนนี้คิดว่ายังไม่ถึงขั้นที่ประชาชนมีความรู้สึกขนาดนั้น แต่เมื่อถึงข้อสรุปว่าแนวทางที่รัฐบาลเลือกในการให้ประชาชนดำเนินการ ก็คิดว่าจะเริ่มมีพัฒนาการในการตื่นตัวของประชาชนเรื่อยๆ ในช่วงระยะเวลา 90 วัน ทั้งนี้คิดว่าทุกฝ่ายต้องช่วยกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหมือนในประเทศอียิปต์

“ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยต้องยอมรับและยึดหลักกติกา ซึ่งการที่จะไปรณรงค์ไม่เห็นด้วยก็เป็นสิทธิ แต่การขัดขวางการเป็นปฏิปักษ์ในการออกเสียงประชามติทั้งเปิดเผยและในทางลับคิดว่าก็จะไม่เป็นผลดีกับส่วนรวม คนที่มีความเห็นต่างเราเคารพอยู่แล้ว แต่ต้องเป็นความเห็นแตกต่างที่อยู่บนหลักการในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งบรรยากาศของการเป็นประชาธิปไตยในช่วงรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารกับช่วงรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยมันต่างกัน ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะที่ประเทศมีประชาธิปไตย มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วเป็นรัฐธรรมนูญที่แย่กว่ารัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหาร ดังนั้นจึงมั่นใจว่าประชาชนจะคิดได้ว่ารัฐธรรมนูญที่จะแก้ไข จะไม่มีทางเลวร้าย หรือแย่ไปกว่ารัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นในขณะมีรัฐประหารในทุกประเด็น กระบวนการตรวจสอบ กระบวนการได้มา สามารถอธิบายได้ว่าประชาชนมีส่วนร่วม และถือเป็นโอกาสที่ดีที่ประชาชนจะได้ใช้สิทธิครั้งนี้” นายวราเทพกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ประชาชนจะได้อะไรบ้าง นายวราเทพกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเป็นการเขียนโดยประชาชนเลือกผู้ร่างซึ่งก็คือสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ที่จะต้องลงไปทำหน้าที่รับฟังความเห็นประชาชนและมาเขียนรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นประชาชนจะมีสิทธิในการที่จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เห็นว่าประชาชนมีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำอย่างไรที่จะไม่ให้ประชาชนคิดว่ารัฐบาลมุ่งเน้นในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากเกินไปจนละเลยการแก้ปัญหาในด้านอื่นๆ นายวราเทพกล่าวว่า พยายามพูดอยู่ว่า ต้องแยกกัน เพราะรัฐบาลทำหน้าที่ในฐานะที่รัฐบาลบริหารประเทศ แต่ในเวลาเดียวกันรัฐบาลก็ต้องทำหน้าที่อื่นๆ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถึงแม้จะบอกว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่มันเป็นโครงสร้างใหญ่ เราลองนึกย้อนกลับไปว่าวันที่เรารัฐประหารเราไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐธรรมนูญเราไม่เป็นประชาธิปไตย ประเทศต่างๆในโลกนี้ที่จะร่วมมือกับเราจะน้อยมาก เพราะฉะนั้นถ้าเราบอกว่าวันนี้รัฐธรรมนูญประเทศเราเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร กับถ้าวันหนึ่งเราแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วประกาศให้ทั่วโลกรู้ว่าประชาชนออกมาใช้สิทธิทำประชามติจำนวนมากแล้วยกร่างรัฐธรรมนูญจากประชาชน ความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญไทยจะปรากฏ ความเป็นประชาธิปไตยจะปรากฏ และจะส่งผลดีกับประเทศชาติจะได้รับการยอมรับ

เมื่อถามเรื่องของการใช้งบประมาณการทำประชามติจะคุ้มค่าหรือไม่ นายวราเทพกล่าวว่า ถ้าฟังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งคือ 2,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นงบประมาณที่สูง ถ้าเราไปเปรียบเทียบกับโครงการที่เรายังไม่มีงบประมาณ แต่ถ้าเราบอกว่า 2,000 ล้านบาทนี้จะถูกนำไปแก้ไขปัญหาใหญ่ของประเทศเพื่อที่จะให้เรื่องต่างๆยุติ ตนคิดว่าก็เหมาะสม เพราะ 2,000 ล้านบาท นี้เราไม่ได้เอาไปให้ใครคนใดคนหนึ่ง และเกอดประโยชน์กับประเทศชาติโดยรวม

เมื่อถามว่า ถ้าการทำประชามติไม่ประสบผลสำเร็จแนวทางการแก้ไขรายมาตราก็ยังคงเป็นอีก 1ทางเลือกใช่หรือไม่ นายวราเทพกล่าวว่า จริงแล้วเป็นอย่างนั้นเพราะทางศาลรัฐธรรมนูญได้พูดถึงเรื่องการแก้ไขรายมาตราเพราะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เปิดโอกาสให้อยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ก็จะเกิดขึ้นอยู่กับคำถาม ถ้าคำถามบอกว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือรายมาตรา อย่างนี้ก็หมายความว่าชัดเจนเพราะถ้าคนเลือกรายมาตราก็แก้ไขรายมาตรา แต่ตนคิดว่าคำถามตอนนี้มีมากหลายความเห็น เช่น คำถามที่ว่าเห็นควรแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ ตรงนี้ก็เป็นประเด็นว่าถ้าผลออกมาไม่เห็นสมควร นั่นหมายความว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะแก้ไขทั้งฉบับไม่ได้อีกเลย ดังนั้นคำถามต้องหารือกับหลายฝ่าย

“ในฐานะที่ผมเป็นคณะทำงานอยากจะเสนอความเห็นว่า คำถามต้องตรงไปตรงมา ใครที่มาเสนอว่าคำถามที่ใช้ต้องเป็นวิธีการเพื่อให้ได้คะแนนเสียง ยิ่งจะทำให้เกิดผลกระทบทำให้คนไม่ออกมา ยิ่งทำการเมืองโดยเฉพาะให้ประชาชนมีส่วนร่วมแล้วไม่ตรงไปตรงมา การยอมรับก็จะน้อยลง ดังนั้นสบายใจได้เรื่องคำถาม แต่คำถามเป็นเพียงการกำหนดประเด็น และคำอธิบายในการชี้แจงด้วย เพื่อการตีความไปในทางเดียวกัน ” นายวราเทพกล่าว

เมื่อถามว่า คณะทำงานจะเป็นผู้สกรีนคำถามที่กระทรวงมหาดไทยเสนออีกครั้ง นายวราเทพกล่าวว่า เราคงต้องหารือหลายฝ่าย และสุดท้ายก็อยู่ที่หน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพในการจัดทำประชามติ เมื่อถามว่าก็ 3 แนวทางอยู่แล้วว่าจะเลือกแนวทางไหน นายวราเทพกล่าวว่า 3 แนวทางมีความเห็นในส่วนของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะสรุปให้เหลือแนวทางเดียว เมื่อเหลือแนวทางก็จะมาซึ่งคำถามถ้าทำประชามติ แต่ถ้าเหลือแนวทางการโหวตวาระ 3 ก็โหวตไปเลยไม่มีประชามติ ก็จะไม่มีคำถาม

เมื่อถามว่า โดยข้อเท็จจริงประชาชนถูกแอบอ้างมาตลอด นายวราเทพกล่าวว่า เรามองว่าประชาชนมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มประชาชนที่ไม่ได้มีการรวมตัวกันก็จะฝากความหวังไว้กับตัวแทนของเขา แต่ในปัจจุบัน มีการรวมตัวกันทั้งกลุ่มผลประโยชน์ที่เรียกว่าอาชีพเดียวกันหรือที่เรียกว่ามีผลประโยชน์ทางธุรกิจ คนเหล่านี้ก็จะไปรวมตัวผลักดันรัฐธรรมนูญของเขา เพราะฉะนั้นความเข้มแข็งในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเกิดขึ้นจากความตื่นตัวของผู้ที่เป็นประชาชนที่รวมตัวกัน ไม่เข้าใจว่าทำไม รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขาจึงอยากปกป้องกันไว้ เพราะถ้านักเลือกตั้งแล้วไม่น่าคิดว่าควรจะเป็นรัฐธรรมนูญที่คงอยู่อย่างถาวร

เมื่อถามว่า คิดว่ารัฐบาลจะอยู่ครบเทอมหรือไม่ นายวราเทพ กล่าวว่า ต้องครบ อย่าไปเชื่อโหรที่ออกมาทำนาย เพราะเราผ่านวันสิ้นโลกมาแล้ว เราต้องฝืนคำทำนาย อย่าไปเชื่อ

รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า การเมืองในรัฐสภาสมัยประชุมนี้เป็นเรื่องของสมัยนิติบัญญัติ เชื่อว่าบรรยากาศสภาคงไม่รุนแรงนัก ซึ่งวาระสำคัญคงยังไม่มีเข้ามา ทั้งเรื่องของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือเรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณ ตนอยากให้ใช้โอกาสในช่วงสมัยประชุมนี้ผลักดันกฎมายที่สำคัญที่ยังค้างอยู่สภา ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้ออกมามากที่สุด ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าหากฝ่ายนิติบัญญัติสามารถทำหน้าที่และมีผลงานการออกกฎหมายให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน ภาพทางการเมือง ทั้งความเชื่อมั่น ความศรัทธาทางการเมืองก็จะเพิ่มขึ้น

นายวราเทพกล่าวว่า ในฐานะผู้ประสานงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) กับรัฐสภา ตนได้รายงาน ครม.แล้วว่ากฎหมายของแต่ละกระทรวงที่ยังค้างอยู่ในสภาต้องมีผู้รับผิดชอบติดตามใกล้ชิดว่าติดค้างอยู่ที่ไหน เนื่องจากกรรมาธิการมีหลายคณะการนัดประชุมอาจไม่สามารถทำได้ต่อเนื่องซึ่ง อยากให้กฎหมายที่สำคัญดำเนินการไปตามกำหนดระยะเวลา นอกจากนี้ ในส่วนของกฎหมายที่เป็นแผนปฏิรูปกฎหมายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาไว้ จะต้องให้ความสำคัญในลำดับต้นๆโดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนดระยะ เวลา ส่วนกฎหมายที่ได้มีการแก้ไขโดยกรรมาธิการแล้วเป็นสาระสำคัญในเรื่องการที่ ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายเดิมของกฎหมายที่เสนอเข้าไป ตรงนี้ก็ต้องไปพิจารณาให้รอบคอบว่าการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการมีผลกระทบใน เรื่องกฎหมายฉบับที่เสนอเข้าไปหรือไม่

เมื่อถามว่า ในฐานะรัฐบาลเสียงข้างมากจะทำอย่างไรให้การทำงานในรัฐสภาราบรื่น นายวราเทพกล่าวว่า ตนเคยทำหน้าที่ฝ่ายค้านมาก่อน ก็เข้าใจว่ามีหน้าที่ตรวจสอบซึ่งไม่มีฝ่ายค้านที่ไหนในโลกที่จะสนับสนุน รัฐบาลและจะยอมตามกติกาทั้งหมด แต่ว่าการชกใต้เข็มขัดก็อย่าถึงกับน่าเกลียด ตนเห็นว่าบางครั้งไม่ควรก้มหน้าชกใต้เข็มขัดอย่างเดียว ควรชกแบบตรงไปตรงมาบ้างก็จะทำให้ประชาชนรู้สึกศรัทธา เพราะไม่อย่างนั้นก็จะทะเลาะเบาะแว้งกันตลอดเวลา

“ผมไม่ได้เป็นสมาชิก แต่ไม่อยากเห็น เพราะช่วงที่เป็น ส.ส.อยู่ก็มีความรู้สึกว่าสามารถพูดคุยกันได้ ซึ่งบรรยากาศสภาในสมัยก่อนจะพูดคุยถกเถียงกันด้วยข้อเท็จจริง หลังจากนั้นก็แยกความรู้สึก การขัดแย้งหรือโกรธกันเกลียด ความเห็นขัดแย้งกันมันต้องจบด้วยเหตุและผล” นายวราเทพกล่าว

นายวราเทพยังกล่าวทิศทางการเมืองในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันนี้ไม่กล้าพูด เพราะยังไม่ถึง ตนเพิ่งเข้ามาไม่ถึง 2 เดือน และตนไม่ใช่กุนซือทางกฎหมาย ทำแต่เพียงช่วยประสานงาน มองว่ารัฐบาลคงต้องเร่งรีบดำเนินการตามนโยบายที่ได้ประกาศเอาไว้ ซึ่งการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. นายกรัฐมนตรีได้กำชับนโยบายที่ผ่านมาในปีแรก ก็ต้องเร่งรีบในเรื่องการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบาย ตรงไหนเป็นอุปสรรค ตรงไหนต้องเร่งเพิ่มเติม ส่วนนโยบายในปีที่ 2 และ ปีที่ 3 ก็ต้องเร่งผลักดัน

เมื่อถามว่า ปัญหาสุขภาพของนายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ท่องเที่ยวและกีฬา จะทำให้มีการปรับ ครม.เร็วๆ นี้หรือไม่ นายวราเทพกล่าวว่า ไม่มีข้อมูล ตนได้ทราบข่าวว่าอยู่ระหว่างการดูแลของคุณหมอ อย่าเพิ่งพูดเรื่องนี้เลย ปีใหม่แล้วขอให้มีท่านสุขภาพที่แข็งแรง


กำลังโหลดความคิดเห็น