วุฒิฯ จัดถกกู้ 2 ล้านล้าน ปลัด ก.คลังชี้ทุก รบ.หนุนปรับการคมนาคมและลอจิสติกส์ แจงกู้ระยะยาวเห็นภาพเปลี่ยนแปลงชัด ย้ำช่วยเศรษฐกิจโต กู้เป็นระยะหนี้สาธารณะไม่พุ่ง แถมไม่ถึง 60% กู้ต่อได้ พร้อมแจงข้อมูลซื้อจ้างผ่านเว็บไซต์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอชี้เหมาะลงทุน หวั่น รบ.ไม่ทำตามข้อบังคับ ตรวจสอบไม่ได้ ย้ำหนี้สาธารณะถึง 60% “คำนูณ” ยันขัด รธน. พร้อมยื่นระงับ อัดกู้มโหฬาร เอกสารแค่ 7 หน้า เชื่อหวังเป็น รบ.ยาว
วันนี้ (27 มี.ค.) คณะอนุกรรมการเสริมสร้างความรู้ในวงงานนิติบัญญัติในคณะกรรมการวิชาการของวุฒิสภา จัดเสวนาในหัวข้อ “มุมมองวุฒิสภา : ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท” โดยเป็นเชิญตัวแทนจากทุกภาคส่วนมาร่วมอภิปรายแสดงความคิดเห็นให้เห็นข้อดีและข้อเสียจากการตราร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ....
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความจำเป็นในเสนอกฎหมายดังกล่าวว่า ประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างจริงจัง ซึ่งทุกรัฐบาลก็เห็นด้วยต่อการปรับปรุงการคมนาคมและลอจิสติกส์ เป็นความฝันกันมาของทุกรัฐบาล แต่ต้องยอมรับว่าความไม่นิ่งของรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา ส่งผลต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่มีความต่อเนื่อง จนทำให้ไทยมีความสามารถในการแข่งขันไม่เท่ากับประเทศอื่นๆ โดยล่าสุดประเทศไทยอยู่ในอันดับ 49 ตามหลังสิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ หากถามว่าการกู้เงินทำไว้อยู่ในงบประมาณประจำปีได้หรือไม่ ซึ่งถ้าจะทำแบบนั้นก็ทำได้ในแต่ละปี ในลักษณะการตั้งงบประมาณขาดดุลและใส่เม็ดเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเข้าไป แต่การทำแบบนี้จะทำให้เห็นภาพชัดใหญ่ที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงและการลงทุนของประเทศไม่ชัด ดังนั้น เพื่อให้เห็นว่าไทยมีความพร้อมในการเป็นศูนย์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถ้าสภาผ่านกฎหมายนี้เมื่อไหร่จะเกิดภาพใหญ่ที่เกิดขึ้นทันที และเมื่อต่างชาติเห็นภาพนี้แล้วการลงทุนจากต่างชาติจะเกิดขึ้นทันที และการเจริญเติบโตเศรษฐกิจจะเป็นไปอย่างยั่งยืน
นายอารีพงศ์ยังกล่าวว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตลอด 7 ปีจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศจะโตเฉลี่ย 4.5% ภายใต้วินัยการเงินการคลัง ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้คำนวณถึงภาระหนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการกู้เงินไม่ได้ทำทันทีทั้งหมด แต่เป็นการทยอยกู้ตามความจำเป็นต้องใช้เท่านั้น อย่างในการกู้เงินช่วงแรกยังจะไม่ถึง 1 แสนล้านบาทด้วยซ้ำ ทำให้หนี้สาธารณะไม่เกิน 50% ต่อจีดีพี ส่วนการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะไม่เกิน 1.9% อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% โดยจะสามารถประหยัดการนำเข้าน้ำมันได้กว่าแสนล้านบาท และช่วยให้ต้นทุนการขนส่งลดลง ส่วนวิธีการใช้จ่ายเงินจะเป็นไปตามระบบจัดซื้อจัดจ้างปกติ จะไม่มีวิธีพิเศษใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างทุกโครงการจะนำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ และขณะนี้ได้วางระบบเอาไว้แล้ว
ทั้งนี้ การคำนวณหนี้สาธารณะที่ไม่เกิน 50% มาจากการคำนวณตัวเลขทุกตัวจาก พ.ร.บ.งบประมาณและ พ.ร.ก.ทุกฉบับบนพื้นฐานที่เรามีความมั่นใจ แต่อย่างไรก็ตาม หากเกิดเหตุการณ์คาดไม่ถึงอย่างกรณีเศรษฐกิจไม่โตจากการดำเนินการ หรือเกิดภาวะช็อกขึ้นมา เราก็ยังมีศักยภาพในการกู้เงินได้อีก เพราะหนี้สาธารณะยังไม่ถึง 60% หรือไม่ก็ชะลอการกู้เงินไปเลยเพื่อบริหารสถานการณ์
นายสมชัย จิตสุชน นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า เงินกู้นี้สามารถพลิกประเทศไทยและส่วนตัวเห็นด้วยการต่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ในเชิงหลักการ ซึ่งเชื่อว่าไม่มีใครคัดค้าน ประกอบกับจังหวะการลงทุนในเวลานี้มีความเหมาะสมเพราะโลกเกิดปัญหาเศรษฐกิจในหลายประเทศ และรัฐบาลแต่ละประเทศได้ทำมาตรการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน หรือคิวอี ออกมาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้จะมีเงินทุนไหลเข้าประเทศ มีผลให้ต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ และเงินบาทแข็งค่าขึ้นช่วยให้การนำเข้าเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะมีต้นทุนที่ต่ำไปในตัว แต่มีข้อกังวลในรายละเอียด คือ สภาพบังคับทางกฎหมายของบัญชีของ พ.ร.บ. หมายความว่า ถ้าบัญชีแนบท้ายไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมาย หากในอนาคตรัฐบาลดำเนินการไม่ตรงกับบัญชีดังกล่าวจะถือเป็นเช็คเปล่าหรือไม่ เพราะฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจแค่ในการตรวจสอบการใช้เงินกู้ที่เป็นเงินนอกงบประมาณเหมือนกับที่มีอำนาจในการตรวจสอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี ถ้าบัญชีแนบท้ายไม่เป็นสภาพบังคับสภาก็ตรวจสอบอะไรไม่ได้ แม้ว่าในร่าง พ.ร.บ.จะกำหนดให้ต้องรายงานสภาฯ แต่ในความเป็นจริงก็ไม่มีสภาพบังคับรัฐบาลให้ดำเนินการได้
ขณะเดียวกัน มีความสงสัยว่ากระทรวงการคลังมีการคำนวณตัวเลขหนี้สาธารณะอย่างไร เพราะทีดีอาร์ไอได้ใช้ตัวเลขทางเศรษฐกิจชุดเดียวกับกระทรวงการคลังมาคำนวณ แต่คำนวณได้ผลว่าระดับหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 60% ดังนั้น การคำนวณเรื่องนี้ควรคำนวณในแง่ร้ายที่สุดเพื่อประเมินความเสี่ยงของประเทศ
ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในฐานะกรรมาธิการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน กล่าวว่า จากการชี้แจงของกระทรวงคมนาคมยืนยันว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะมีจำนวนทั้งสิ้น 4.24 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ตาม พ.ร.บ.จำนวน 2 ล้านล้านบาท และเงินลงทุนในงบประมาณประจำปีของแต่ละหน่วยงานในอีก 7 ปี จำนวน 2.24 ล้านบาท ทั้งนี้ตนไม่ใช่คนขวางโลก แต่ที่ต้องออกมาคัดค้านเพราะต้องการให้ประชาชนเห็นว่าการกู้เงินยังมีปัญหาอีกด้านอยู่ การพลิกโฉมประเทศไทยที่แท้จริงจะต้องให้เกิดการถ่วงดุลของฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย หากการใช้เงินกู้แบบนี้เท่ากับว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและวิธีการงบประมาณที่มีเจตนารมณ์ให้การใช้เงินงบประมาณของประเทศเป็นไปอย่างรอบคอบ จึงยืนยันได้เลยว่าจะขอเสียง ส.ว.ให้ครบ 65 คนเพื่อยื่นเรื่องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยให้เกิดบรรทัดฐานอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ การพิจารณากฎหมายงบประมาณประจำปีมีเอกสารเป็นลัง ถ้าใครเป็นกรรมาธิการติดต่อกัน 3 ปีแทบจะต้องสร้างบ้านใหม่เพื่อเก็บเอกสาร แต่ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทที่มีเม็ดเงินเท่าๆ กับงบประมาณประจำปี กลับมีเพียง 7 หน้า ต่อให้รัฐบาลจะชี้แจงมีเอกสาร 286 หน้า หรือบอกว่ามี 2,000 หน้าก็ไม่ได้มีผล เพราะเอกสารที่รัฐบาลอ้างนั้นไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมาย แต่บัญชีแนบท้ายที่เขียนไว้อย่างกว้างๆ เพียงไม่กี่หน้าต่างหากที่มีสภาพบังคับตามกฎหมาย
นายคำนูณกล่าวว่า ยุทธศาสตร์จะทำให้ในอนาคตรัฐบาลตลอด 7 ปีข้างหน้าจะมีอำนาจบริหารงบประมาณลงทุนในแต่ละปีประมาณ 7 แสนล้านบาทต่อเนื่อง 7 ปี จากงบลงทุนตามเงินกู้ 3 แสนล้านบาท และงบลงทุนในงบประมาณประจำปีอีก 4 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าพรรคเพื่อไทยจะต้องทำให้ตัวเองเป็นรัฐบาลต่อไป