“ทีดีอาร์ไอ” แนะรัฐฉวยโอกาสบาทแข็งค่า เพิ่มการลงทุน พร้อมเร่งนำเข้าสินค้าทุน และเครื่องจักร เพื่อผลักดันจีดีพีขยายตัวได้ 7% พร้อมแนะการบริหารค่าเงิน ต้องผสมผสานหลายเครื่องมือ แทนการมุ่งใช้ ดบ. เพียงมาตรการเดียว
นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวในงานเสวนาสาธารณะ เรื่องค่าเงินบาทกับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว โดยระบุว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมีผลกระทบต่อภาคการส่งออก เนื่องจากการส่งออกเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนการส่งออกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี สูงถึงร้อยละ 75 ดังนั้น อัตราแลกเปลี่ยนจึงมีความสำคัญ ตรงกันข้ามกับภาคการลงทุนที่มีสัดส่วนต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤต ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มบทบาทของการลงทุนในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ และได้ใช้ประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาทให้เกิดประสิทธิภาพ ด้วยการนำเข้าสินค้าทุน และเครื่องจักร โดยในรัฐบาลชุดนี้มีแผนที่จะลงทุนทั้งการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งหากเพิ่มการลงทุนของภาครัฐขึ้นได้ร้อยละ 5 ของจีดีพี หรือประมาณ 570,000 ล้านบาทต่อปี หรือ 4 ล้านล้านบาทใน 7 ปีข้างหน้า จะช่วยสร้างความสมดุลให้แก่ระบบเศรษฐกิจไทย และช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจให้เติบโตได้ร้อยละ 7 ต่อปี
ส่วนแนวทางในการบริหารค่าเงินบาทในภาวะเงินทุนผันผวนในระยะสั้นนั้น สามารถทำได้ยาก และมีข้อจำกัดหลายด้าน รวมทั้งต้นทุนของ ธปท.ในการดูดซับสภาพคล่องสูง และอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งในแนวทางการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังได้ เพราะโดยหลักการแล้ว เมื่อเกิดเงินทุนไหลเข้า กระทรวงการคลังจะต้องการให้ ธปท.ลดดอกเบี้ย โดยคาดว่าจะทำให้เงินทุนไหลเข้าน้อยลง แต่ทาง ธปท.จะเน้นการรักษาเสถียรภาพในการดูแลเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นหลัก ซึ่งส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยในระยะยาว ซึ่งแนวทางที่จะดูแลค่าเงินบาท ธปท.ต้องผสมผสานเครื่องมือทางการเงินต่างๆ ทั้งอัตราดอกเบี้นนโยบาย อัตราแลกเปลี่ยน การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (reserve requirement) และการควบคุมปริมาณเงินทุนเข้าออก (capital control) ซึ่งต้องผสานนโยบายมากกว่าพุ่งไปที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงอย่างเดียว
ด้านนายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่าทั้ง ธปท.และกระทรวงการคลังต้องประสานความร่วมมือในการใช้นโยบายการเงินการคลังเพื่อเพิ่มการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ และดูแลเงินเฟ้อตามช่วงเวลาที่เหมาะสม โดย ธปท.ควรใช้เครื่องมือบริหารการเงินที่หลากหลายในการแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็ง นอกเหนือจากการใช้อัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม มองว่าควรใช้โอกาสที่ค่าเงินบาทแข็งค่าในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยกระตุ้นการนำเข้าเครื่องจักรเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มการลงทุนทั้งภาครัฐ และเอกชน