xs
xsm
sm
md
lg

บาทแข็งซ้ำเติมค่าแรงส่งออกเดี้ยงแน่! ส.อ.ท.ถกรับมือ 25 ม.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
ส.อ.ท.เตรียมหารือผลกระทบค่าเงินบาทแข็งค่า 25 ม.ค.นี้ ผวาทำส่งออกไตรมาส 2 วูบหนักหากรัฐเอาไม่อยู่! หลังเริ่มเจรจาออเดอร์ใหม่หืดจับต้นทุนพุ่งทั้งค่าแรง 300 บ. แถมบาทยังมาแข็งค่าซ้ำเติม ลั่นแตะ 28 บ.เมื่อใดจบเห่ หนุน ธปท.แทรกแซง ลดดอกเบี้ยนโยบายสกัดเก็งกำไร

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันที่ 25 ม.ค.นี้คณะทำงานฝ่ายเศรษฐกิจ ส.อ.ท.จะหารือถึงผลกระทบค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอแนวทางให้กับภาครัฐบาลในการหามาตรการรับมือ เพราะขณะนี้ผู้ส่งออกกำลังได้รับความเดือดร้อนแล้วในการรับคำสั่งซื้อสินค้า (ออเดอร์) ในไตรมาส 2 ที่ไม่สามารถเสนอราคาที่จะไปแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทของไทยช่วงปลายปีเฉลี่ยที่ 30.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐอเมริกา แต่ขณะนี้อยู่ที่ 29.73 บาทต่อเหรียญฯ ถือเป็นการแข็งค่า 2.69% เป็นการแข็งค่ามากสุดในประเทศคู่แข่งทางการค้ารองลงมาอินเดียที่แข็งค่า 1.48% ที่เหลืออย่างเวียดนาม กัมพูชากลับติดลบด้วยซ้ำ และเมื่อธุรกิจไทยยังต้องเจอกับต้นทุนค่าแรง 300 บาทต่อวันทั่วประเทศก็ยิ่งทำให้ขีดความสามารถการแข่งขันลำบากมากขึ้นท่ามกลางภาวะที่ตลาดโลกยังไม่ฟื้นตัว

“ออเดอร์เก่าส่วนใหญ่ไตรมาสแรกผู้ส่งออกรายใดไม่ได้ทำประกันความเสี่ยงไว้ก็ต้องรับสภาพขาดทุน โดยเฉพาะรายกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอี แต่ที่เราห่วงคือไตรมาส 2 นี้ที่ต้นทุนเราเพิ่มก็จะต้องไปขึ้นราคาสินค้า แต่ถามว่าขึ้นได้หรือไม่ ยามนี้ถ้าบาทยิ่งแข็งค่าไปแตะ 28 บาทต่อเหรียญฯ จริง บอกเลยว่าส่งออกปีนี้ไม่ต้องพูดถึงว่าจะโตถึง 12% ทุกอย่างจบแน่ ซึ่งเราอยากเห็นบาทเฉลี่ยอยู่ในระดับ 30-30.5 บาทต่อเหรียญฯ" นายวัลลภกล่าว

ทั้งนี้ เห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องพิจารณาว่าเหตุใดค่าบาทของไทยจึงแข็งค่ามากกว่าคู่แข่งทางการค้า และยังมีอัตราแข็งค่าที่เร็วกว่าด้วย ซึ่งเข้าใจว่ามาจากเงินที่ไหลเข้ามาก ดังนั้น รัฐก็จะต้องมีมาตรการที่บริหารจัดการหลายๆ ด้านเพื่อควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้าย (Capital control) เช่น การเรียกกันเงินทุนสำรอง 30% สำหรับการเข้ามาลงทุนโดยตรงของต่างประเทศ (FDI) การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอีก ที่ขณะนี้สูงจนทำให้มีการเข้ามาเก็งกำไรในตราสารหนี้ และพันธบัตรของไทย เพราะดอกเบี้ยต่างประเทศต่ำกว่า พร้อมกันนี้ ธปท.เองคงจะต้องเข้าไปแทรกแซงค่าเงินในบางจังหวะ เป็นต้น

นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการและรักษาการประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ขณะนี้ธุรกิจส่งออกกำลังประสบปัญหาหนักสุดเนื่องจากต้องเจอกับต้นทุนค่าแรงที่สูงแล้ว ยังต้องประสบภาวะค่าเงินบาทและการแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้น ซึ่งหากค่าเงินบาทแตะไปในระดับ 28 บาทต่อเหรียญฯ จะส่งผลให้ธุรกิจส่งออกที่เป็นเอสเอ็มอีต้องประสบปัญหาสภาพคล่อง และแนวโน้มเงินทุนยังไหลเข้ามาไทยมากขึ้นก็จะทำให้ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าได้อีก หากรัฐไม่มีมาตรการดูแลดีๆ จะกระทบส่งออกไทยอย่างมาก

“ถ้าบาทแข็งไปอยู่ระดับ 28 บาทต่อเหรียญฯ ก็เท่ากับว่าเงินเราจะหายไป 2 บาทเมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปีหรือเฉลี่ย 5-6% ของรายได้ ขณะที่กำไรเอสเอ็มอีก็อยู่ระดับนี้ก็เห็นชัดว่าจะขาดทุนกันถ้วนหน้า ผมคิดว่า ธปท.เองก็พยายามดูแลอยู่ แต่เห็นว่าอีกส่วนที่ไม่ควรมองข้าม คือ การลดดอกเบี้ยนโยบายลงมา เพราะสูงเกินไปทำให้จูงใจเข้ามาทำกำไร และการลดดอกเบี้ยนโยบายยังทำให้ธุรกิจมีสภาพคล่องดีขึ้นอีกด้วย” นายธนิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น