ส.อ.ท. ระดมผู้ประกอบการ 5 ภาคทั่วไทยหารือข้อตกลงรัฐฯ ผ่อนปรนเงื่อนไขเข้าถึงเงินกู้เพื่อรายย่อย หลังพบปัญหาหลักเรื่องหลักทรัพย์ค้ำประกัน ชี้มาตรการภาษีที่ผ่านมาเอื้อรายใหญ่มากกว่า
นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ ( 21 มกราคม 2556) ส.อ.ท.จะมีการประชุมตัวแทนจากผู้ประกอบการ 5 ภาค ประกอบด้วย ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการแก้ปัญหาผลกระทบจากนโยบายค่าจ้าง 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการในต่างจังหวัดได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เบื้องต้นต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาด้านนโยบายทางการเงินมากกว่านโยบายด้านภาษี
สำหรับมาตรการภาษีที่รัฐบาลออกมา เช่น การลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 20% การยกเว้นภาษีนิติบุคคล, การลดหย่อนภาษีจากการเปลี่ยนเครื่องจักร ซึ่งผู้ที่ได้อานิสงส์ส่วนใหญ่คือธุรกิจขนาดใหญ่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากค่าจ้าง 300 บาท แต่หากออกมาตรการด้านการเงินจะช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าขอรับความช่วยเหลือได้ง่ายกว่า
ทั้งนี้ ต้องการให้รัฐบาลช่วยผ่อนคลายการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากโครงการของรัฐ เช่น ลดเงื่อนไขในการขอกู้ เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้เข้าถึง เช่น เอสเอ็มอีจำนวนมากยังประสบปัญหาเรื่องของหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน เพราะหลักทรัพย์ที่มีอยู่อย่างเครื่องจักร ที่ดิน หรือตัวอาคาร ส่วนใหญ่ก็ติดจำนองกับธนาคารในช่วงที่ผ่านมาเกือบหมดแล้ว เนื่องจากขณะนั้นต้องมีการขอสินเชื่อในการทำธุรกิจหรือขยายกิจการ เป็นต้น นอกจากนี้บางรายเคยมีกำไร 3-5% ในปีก่อน แต่เมื่อค่าแรงขึ้นทำให้ต้นทุนเพิ่มอีก 5-6% ก็ทำให้เกิดการขาดทุน ซึ่งสถาบันการเงินจะไม่ค่อยปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจที่ขาดทุน
“หากดูบัญชีในปี’55 พบว่าเอสเอ็มอีในต่างจังหวัดจำนวนมากยังเป็นตัวแดง หรือบัญชีขาดทุน หากไม่ขอสินเชื่อจากธนาคารภาครัฐเขาก็ไม่กล้าปล่อยเช่นกัน เพราะผู้บริหารก็แสดงความกังวลหากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเมื่อไรก็มักจะถูกตรวจสอบเกี่ยวกับผลการดำเนินงาน และหากปล่อยให้ธุรกิจที่ขาดทุนหรือมีเอ็นพีแอลอยู่แล้วเชื่อว่าโดนเล่นงานแน่” นายธนิตกล่าว