xs
xsm
sm
md
lg

ภาคธุรกิจจ่อล่ารายชื่อยื่น กกต.เบรกการเมืองขึ้นค่าแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาคธุรกิจระดมสมองจวกการเมือง “ขึ้นค่าแรง 300 บ./วัน” เพื่อประชานิยมลูกเดียว ผวาใช้หาเสียงเพิ่มอีก เตรียมล่ารายชื่อเอกชนยื่น กกต.เบรกการเมืองใช้นโยบายดังกล่าวหวังแก้ปัญหาที่ต้นตอ ยอมรับที่ผ่านมาถือเป็นบทเรียน กางผลสำรวจย้ำ “ปู” ค่าแรงที่ขึ้นจะส่งผลให้ธุรกิจปิดกิจการ 24.44%

นายประสงค์ แสนปราชญ์ ประธานกลุ่มสภาอุตสาหกรรม ภาคตะวันออก เปิดเผยหลังการประชุมระดมความเห็นเรื่อง “ผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน และข้อเสนอแนะมาตรการช่วยเหลือของภาคเอกชน” เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ว่า เร็วๆ นี้ ส.อ.ท.จะร่วมมือกับภาคธุรกิจในเครือข่ายต่างๆ เพื่อรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการเสนอให้ระงับพรรคการเมืองทุกแห่งที่จะนำนโยบายประชานิยมมาหาเสียงโดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศเพื่อป้องกันและป้องปรามก่อนที่ฝ่ายการเมืองจะเดินหน้าหาเสียงอีกรอบหลังจากได้ปรับขึ้นค่าจ้างทั่วประเทศ 300 บาทต่อวัน

“เป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นทางก่อนที่การเมืองจะหาเสียงไปมากกว่านี้ ที่ผ่านมาขึ้น 300 บาทต่อวันถือว่าเป็นบทเรียนของเรา ที่การเมืองนำมาเป็นประชานิยมที่เน้นฐานเสียงผู้ใช้แรงงาน 17 ล้านคนเป็นหลัก ขณะที่ความเดือดร้อนของธุรกิจและผู้บริโภคที่ต้องรับราคาสินค้าแพงรัฐบาลกลับไม่คำนึงถึง” นายประสงค์กล่าว

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นการทำลายระบบไตรภาคีโดยสิ้นเชิง ทั้งที่ผ่านมาจะต้องพิจารณาจากทุกส่วนและต้องเป็นที่ยอมรับ และการขึ้นค่าจ้างแต่ละพื้นที่จะต้องดูความเหมาะสม การปรับขึ้นเท่ากันทั่วประเทศทำลายอุตสาหกรรมต่างจังหวัดที่มีต้นทุนขนส่งที่แพงกว่า

นายวุฒิไกร สุวรรณวานิช เลขาธิการ ส.อ.ท.จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ค่าแรงที่ปรับขึ้นทั่วประเทศครั้งนี้กระทบโดยตรงต่อโรงงานของตนที่ผลิตเสื้อตามสั่งทุกสไตล์ที่ จ.ขอนแก่นเพราะต้องใช้แรงงานจำนวนมากส่งผลให้ล่าสุดต้องปรับราคารับออเดอร์เสื้อผ้าจากลูกค้าแล้ว 5% โดยเฉพาะชุดนักเรียน นักศึกษา และเชื่อว่าหลายอุตสาหกรรมที่เป็นขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ก็จะต้องหนีไม่พ้นการขึ้นราคาสินค้า อย่าลืมว่าเมื่อธุรกิจเดือดร้อน ที่สุดก็กระทบเป็นลูกโซ่ไปยังผู้ใช้แรงงาน และรัฐควรตระหนักว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่ขึ้นทำให้การขึ้นค่าแรงต้องปรับทั้งระบบ

“ถ้าธุรกิจเจ๊งเพราะค่าแรง 300 บาทต่อวันที่รัฐบาลขึ้นมา ผมเองก็อยากรู้นะว่าจะฟ้องร้องได้หรือเปล่า” นายวุฒิไกรกล่าว

นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการและรักษาการประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ได้ทำแบบสำรวจผลกระทบค่าจ้างกับภาคเอกชนครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม ทั้งหอการค้าและสมาคมต่างๆ 1,000 ราย และมีผู้ตอบกลับมากว่า 400 ราย พบว่าธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี)ทั้งหมดได้รับผลกระทบเชิงกำไรที่ลดลงและถึงขาดทุน ปรากฏว่าธุรกิจจะกำไรลดลง 44.44% และขาดทุน 35.56% ไม่มีรายใดที่ระบุว่าจะมีกำไรมากขึ้นหรือคงเดิมแม้แต่รายเดียว

นอกจากนี้ ยังมีการระบุถึงโอกาสการปิดกิจการ 24.44% พอประคองธุรกิจได้ 64.44% และยังไม่แน่ใจ 11.11% ขณะที่โอกาสที่เอสเอ็มอีไทยจะย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ พบว่าส่วนใหญ่ 81.82% ไม่มีนโยบายย้ายฐานการผลิต ขณะที่ 18.18% มีแนวคิดไปประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศที่นักลงทุนต้องการไป 50% เป็นพม่า

สำหรับมาตรการช่วยเหลือรัฐบาลจากการสอบถามไม่พบรายใดที่ระบุว่าจะช่วยเหลือได้มาก โดย 46.6% เห็นว่าไม่สามารถช่วยได้ ช่วยได้ปานกลาง 2.22% ช่วยได้น้อย 51.11% และความพึงพอใจต่อนโยบายรัฐที่ออกมาพบว่า 66.67% ไม่พอใจ และ 28.89% มีความพอใจ 4.44% โดยมาตรการช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการต้องการจากรัฐมากสุดคือการตั้งงบประมาณหรือกองทุนชดเชยส่วนต่างค่าจ้าง 3 ปีซึ่งเป็นมาตรการเดียวที่เอกชนต้องการ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ได้นำเสนอ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) เมื่อเร็วๆ นี้แล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น