xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กู้ 2 ล้านล้าน ดอก 3 ล้านล้าน กู้ชาตินี้........ใช้หนี้ชาติหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ถ้าวันนี้คุณมีอายุ 40-50 ปี

นั่นหมายความว่า “ร่าง พ.ร.บ.ให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง พ.ศ....” หรือเรียกสั้นๆ ว่า ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนำเข้าสู่พิจารณาของสภาและกำลังจะมีผลบังคับคนไทยทั้งชาตินั้น คุณมีแนวโน้มสูงยิ่งที่จะไม่ได้เห็นรัฐบาลไทยใช้หนี้เงินกู้ก้อนนี้ให้หมดภายในช่วงชีวิตของคุณ

เพราะกระทรวงการคลังประมาณการแล้วว่า ต้องใช้เวลาถึง 50 ปีกว่าที่ราชอาณาจักรไทยจะใช้หนี้หมด

หรือใช้ศัพท์ง่ายๆ ให้เห็นภาพอย่างที่ “คำนูณ สิทธิสมาน” ส.ว.สรรหาบัญญัติเอาไว้ว่า “กู้ชาติหนี้ ใช้หนี้ชาติหน้า”

เพราะนี่คือหนี้ก้อนมหึมาที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทยเลยทีเดียว

นอกจากนี้ หากนำตัวเลขเงินกู้มาคำนวณทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยก็จะพบข้อมูลที่น่าสะพรึงกลัวเข้าไปอีก เพราะกู้ 2.2 ล้านบาท แต่เสียดอกเบี้ยสูงถึง ราว 3 ล้านล้านบาท ซึ่งหมายความว่า รวมกันแล้วประเทศไทยและคนไทยจะเป็นหนี้สูงถึง 5.16 ล้านล้านบาท มิใช่แค่ 2.2 ล้านบาท

นั่นแสดงว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำให้คนไทยมีหนี้ต่อหัวเพิ่มขึ้นประมาณ 70,000 บาท ซึ่งถ้ารวมกับหนี้สาธารณะเดิมที่มีอยู่คนละ 80,000 บาทแล้ว เท่ากับคนไทยจะมีหนี้ต่อหัวเพิ่มเป็น 150,000 บาท

ขณะที่งานนี้นักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตรกำชับกำชา ส.ส.ทาสในเรือนเบี้ยทั้งหลายว่า ห้ามเจ็บ ห้ามป่วย ห้ามขาดและห้ามลาเด็ดขาด พร้อมมีมาตรการข่มขู่ที่เฉียบขาด เช่น อาจตัดเงินเดือน และไม่ให้ลงสมัคร ส.ส.ครั้งต่อไป เป็นต้น เพื่อผลักดันกฎหมาย “กู้เพื่อพี่ หนี้เพื่อประชาชน” เหมือนที่ “บุญจง วงศ์ไตรรัตน์” รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยบัญญัติไว้ให้ผ่านสภาให้จงได้

ด้วยเหตุดังกล่าว จงอย่าแปลกใจที่สังคมจะมีคำถามถึงเบื้องหน้า เบื้องหลังและความโปร่งใสของร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ฉบับนี้ เพราะไม่เคยมีรัฐบาลไหนกระเหี้ยนกระหือรือสร้างหนี้ก้อนมหึมาให้คนไทยทั้งประเทศเหมือนเช่นรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์

ที่สำคัญคือร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทยังถูกตั้งคำถามอย่างหนักถึงเรื่องความจำเป็น ความโปร่งใส ความสุ่มเสี่ยงของประเทศที่จะกู้เงินก้อนมหึมามาใช้อย่างบ้าคลั่งเช่นนี้

เนื่องจากต้องไม่ลืมว่า รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์เคยกู้เงินมาแล้วถึง 2 ครั้ง และยังเป็นปัญหามาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ นั่นคือกรณีงบกลาง 1.2 แสนล้านบาท และการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทเพื่อบริหารจัดการน้ำ แต่ผ่านมาปีเศษปรากฏว่าเพิ่งมีการใช้เงินไปเพียงแค่หมื่นล้านบาทเท่านั้น

“โครงการกู้เงิน 2 ล้านล้าน เป็นยุทธศาสตร์ที่พรรคเพื่อไทยใช้มาตลอด ซึ่งมีอยู่ 3 ด้าน คือ 1.ยุทธศาสตร์ที่เอื้อต่อการเลือกตั้ง 2.เพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง และ 3.ทำโครงการที่ใช้วงเงินมากที่สุด เพื่อให้ได้เงินก้อนใหญ่ในคราวเดียว โดยทั้งหมดอยู่ในการควบคุมของเจ้าของพรรคที่สไกป์มาจากต่างประเทศ ที่เอาแต่หาเรื่องจะผลาญชาติ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ โครงการรับจำนำข้าว และการขายข้าวแบบจีทูจี ซึ่งสร้างความเสียหายนับแสนล้านบาท

ร่างกฎหมายนี้มีเนื้อหาจริงๆ แค่ 63 บรรทัด แยกเป็นยุทธศาสตร์การปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าให้เป็นต้นทุนต่ำ 18 บรรทัด ใช้เงิน 354,000 ล้านบาท ยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก 24 บรรทัด 1,042,000 ล้านบาท ยุทธศาสตร์พัฒนาปรับปรุงระบบขนส่งทางรางใน กทม.และการเชื่อมพื้นที่ 12 บรรทัด 493,000 ล้านบาท และมีแผนงานที่แยกออกมาหมวดหนึ่งต่างหาก อีก 9,000 ล้านบาทเศษ รวมแล้ว 2 ล้านล้านบาท” นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหาให้ทัศนะ

นอกจากนั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงเสียยิ่งกว่าก็คือ ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทนั้นยังมีลักษณะล้มล้างระบบการจ่ายเงินแผ่นดินตามกฎหมาย 4 ฉบับคือ พ.ร.บ.พิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ.2491 พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีและพ.ร.บ.โอนงบประมาณ

และที่สำคัญที่สุดก็คือ ขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 169 ว่าด้วยการจ่ายเงินแผ่นดิน มาตรา 170 เกี่ยวกับเงินรายได้ของหน่วยงานรัฐและอาจรวมถึงมาตรา 167 ว่าด้วยเรื่องการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ด้วย

พิสิฐ ลี้อาธรรม คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความเห็นว่าที่ผ่านมาประเทศไทยโชคดีที่มีผู้ดูแลเรื่องการเงินการคลังของประเทศมาอย่างดี มีการรักษาวินัยการเงินการคลังมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ตาม ทำให้ประเทศสามารถรอดวิกฤติต่างๆ มาได้ตลอด แต่การดำเนินการตาม ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 169 อย่างชัดเจน เป็นการทำลายระบบการเงินการคลังของประเทศ

“หากมองในแง่เศรษฐศาสตร์แล้ว ถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรที่ไม่ถูกต้อง เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทนี้ถือเป็นทรัพยากร ที่ต้องมีการวางแผนในการดำเนินการอย่างชัดเจน หากรัฐบาลเร่งดำเนินการเช่นนี้ จะไปเบียดเบียนและทำให้โครงการอื่นๆ ขาดโอกาส เพราะเงินจำนวนมหาศาลถูกนำมาดำเนินการในโครงการนี้ โดยเฉพาะด้านการสาธารณสุขที่ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลในการดูแลคนไทยทั้งประเทศ แต่เงินที่หามาได้กลับถูกนำมาใช้ในโครงการนี้หมด”

นายพิสิฐ กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญก็คือ ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้บอกแหล่งที่มาของเงินที่จะนำไปใช้หนี้ บอกเพียงว่าสามารถชำระเงินคืนได้ภายใน 50 ปี แต่ไม่ได้บอกว่านำเงินมาจากไหน

ด้วยเหตุดังกล่าว สิ่งที่ต้องขยายความต่อก็คือร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 169 อย่างไร

จากการตรวจสอบข้อมูล มาตรา 169 บัญญัติเอาไว้ว่า

“มาตรา 169 การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณหรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนรัฐบาลจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีเช่นว่านี้ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังในพระราชบัญญัติโอนเงินงบประมาณรายจ่าย พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป ทั้งนี้ให้กำหนดแหล่งที่มาของรายได้เพื่อชดใช้รายจ่ายที่ได้ใช้เงินคงคลังจ่ายไปก่อนแล้วด้วย”

แต่ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... นั้น กลับบัญญัติ มาตรา 5 และมาตรา 6 ที่ขัดรัฐธรรมนูญ

มาตรา 5 เขียนเอาไว้ว่า....

“ ให้กระทรวงการคลังโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี มีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อนำไปใช้จ่ายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ทั้งนี้ ตามยุทธศาสตร์และแผนงานและภายในวงเงินที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้

“การกู้เงินตามวรรคหนึ่งให้มีมูลค่ารวมกันไม่เกินสองล้านล้านบาท และให้กระทำได้ภายในกำหนดเวลาไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563”

และมาตรา 6 ระบุว่า....

“มาตรา 6 เงินที่ได้จากการกู้ตามมาตรา 5 ให้นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ในการกู้ โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง

“กระทรวงการคลังอาจนำเงินที่ได้จากการกู้ไปให้กู้ต่อแก่หน่วยงานของรัฐเพื่อให้นำไปใช้จ่ายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศก็ได้ แต่ต้องเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์และแผนงานที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้เท่านั้น”

ด้วยเหตุดังกล่าว ร่างพระราชบัญญัตินี้จึงย่อมขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ที่ระบุเอาไว้ว่า “การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณหรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง” อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ดี แม้ในประเด็นดังกล่าว นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแก้ต่างว่า ไม่ขัดต่อรัฐธรรมธรรมนูญ เนื่องจากในสมัยที่นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแห่งพรรคประชาธิปัตย์ได้มีการหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และที่ประชุมของคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 12 ได้มีการวินิจฉัยว่า การใช้จ่ายเงินกู้ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.หรือ พ.ร.ก.ก็ไม่ขัดต่อมาตรา 169 ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่เป็นรายได้ของแผ่นดิน แลไม่ได้เกี่ยวข้องกัน ทว่า ก็ต้องไม่ลืมว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นเพียงแค่ที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล มิใช่ ศาลสถิตยุติธรรมซึ่งจะมีคำพิพากษาเป็นที่สุด ดังนั้น จึงไม่แน่เสมอไปว่า หากมีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จะมีคำวินิจฉัยออกมาในแนวทางเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือไม่

นอกจากนี้ ก่อนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลได้แจกเอกสารประกอบการพิจารณาร่างกฎหมายให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยมีความหนา 231 หน้า โดยแยกแผนงานและโครงการตามยุทธศาสตร์ทั้งสิ้น 3 ยุทธศาสตร์ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าโครงการที่ตั้งเอาไว้มีประเด็นที่ชวนขนหัวลุกมากขึ้นเป็นลำดับ เพราะการใช้งบประมาณจำนวนไม่น้อย หมดไปกับค่าจ้างที่ปรึกษา เฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ใช้งบประมาณ 1.43 หมื่นล้านบาท ขณะที่ค่าเวนคืนถึง 4 หมื่นล้านบาท และเป็นค่าก่อสร้าง 5.8 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกันยังพบด้วยว่า เอกสารค่อนข้างสับสนว่าโครงการก่อสร้างไปสิ้นสุดที่ไหน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 982 กม. ตั้งงบประมาณ 124,327,900,000 บาท ขณะที่รถไฟความเร็วสูงจากสนามบินสุวรรณภูมิ-ระยอง ระยะทาง 221 กม. กลับตั้งงบประมาณถึง 100,631,000,000 บาท เป็นไปได้ว่าโครงการกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ ตั้งงบประมาณก่อสร้างไว้แค่หัวหิน ซึ่งมีระยะทาง 225 กม.เท่านั้น แต่ใช้ชื่อเต็มโครงการ

ส่วนสายกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 615 กม. ตั้งงบไว้ที่ 170,450,000,000 บาท ก็น่าจะก่อสร้างแค่นครราชสีมา เพราะเมื่อเทียบกับรถไฟความเร็วสูงสายเชียงใหม่ ระยะทาง 679 กม. ที่ตั้งงบไว้ 387,821,000,000 บาท คาดว่าจะเป็นสายเดียวที่สร้างเต็มโครงการ หากจะก่อสร้างสายใต้และอีสานให้เต็มทั้งโครงการ ก็ต้องออกกฎหมายกู้เงินใหม่

นอกจากนี้ เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท มีการตั้งงบประมาณค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการต่างๆ ทั้งหมดเอาไว้กว่า 4 หมื่นล้านบาทอีกต่างหาก

แน่นอน เมื่อกฎหมายที่ทำคลอดออกมาจากมันสมองของ “จอมยุทธ์หูกระต่าย” พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ผ่านสภา ชาติไทยก็จะตกเป็นหนี้กันอย่างถ้วนหน้าไปกว่าอีก 50 ปี แถมทำท่าว่าจะต้องแบกรับภาระหนี้ก่อนนี้ผ่านมาตรการทางภาษีจนบักโกรกอีกต่างหาก ขณะที่นักการเมืองก็คงกำลังฝันอร่อยถึงถุงขนมก้อนโตที่จะได้รับจากหนี้สิ้นอันล้นพ้นตัวอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย

อ่าน...เงินกู้แบบโรคจิต วิธีคิดของคนบ้า โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต


กำลังโหลดความคิดเห็น