ส.ส.ปชป.ดาหน้าจวก รบ.กู้ 2 ล้านล้าน “กนก” ชี้ค่ารถไฟความเร็วสูงแพง คนจนหมดสิทธิ สร้างความเหลื่อมล้ำ “บุญยอด” ตอกกู้มโหฬารเอกสารนิดเดียว แถมลูกที่ปรึกษานายกฯ ไร้ประสบการณ์ กลับได้งาน “สามารถ” อัดเห็นคนเหนือดีกว่าอีสาน แก้ลำดับสายรถไฟ ทั้งที่ยากกว่า เชื่อเจอสายการบินต้นทุนต่ำแย่งลูกค้า ติงเลียนแบบญี่ปุ่นไม่รุ่ง ภูมิประเทศต่างกัน
วันนี้ (29 มี.ค.) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ (พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท) เป็นวันที่ 2 มีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยส.ส.พรรคฝ่ายค้านยังคงทยอยอภิปรายคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว
นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า หากนำตัวเลขในรายละเอียดพบว่า การลงทุนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่ในเอกสารระบุว่าใช้เงินลงทุน 3.8 แสนล้านบาท และจะชำระคืนภายใน 50 ปี ซึ่งข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านรถไฟ ในกระทรวงคมนาคม ได้ให้ข้อมูลว่า หากรถไฟความเร็วสูงมีผู้โดยสาร 49,600 หมื่นคนต่อวัน ระยะทาง 700 กิโลเมตร เดินทางตลอด 365 วันนั้น ก็มีคำถามว่าค่าโดยสารจะอยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งการคำนวณพบว่าหากในแต่ละปีมีดอกเบี้ย 2% ราคาค่าโดยสารราคา 1,800 บาท แต่หากดอกเบี้ย 3% ค่าโดยสาร 2,000 บาท หากรัฐบาลจะให้ราคาต่ำกว่านี้ก็ต้องชดเชยเอง ทั้งนี้ หากค่าโดยสาร 1,800 บาทต่อเที่ยวก็จะมีแต่นักธุรกิจหรือคนรวยที่ได้ขึ้น คนจนจะไม่ได้ขึ้น การลงทุน 2 ล้านล้านจะได้ประโยชน์เฉพาะคนรวยเท่านั้น ตนหวังว่าการลงทุนเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่ความเหลื่อมล้ำจะมีมากขึ้นด้วย และเรื่องดังกล่าวไม่ใช่ความกล้าหาญของรัฐบาล แต่ตนมองว่าเป็นความบ้าบิ่นมากกว่า จึงไม่ควรเอาประเทศมาใช้ความบ้าบิ่น เพราะจะเป็นอันตรายต่อประเทศ
ด้านนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนไม่ตื่นเต้นที่บอกว่ากู้เงินมาแล้วจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แต่ตกใจว่ารัฐบาลจะกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท หรือ 2 ล้านบาทกันแน่ เพราะเอกสารที่รัฐบาลส่งให้นั้นมี 232 หน้า และเอกสารใบสุดท้ายมีข้อความเพียง 3 บรรทัด แต่ขอเงิน 9 พันล้านบาท จึงอยากให้รัฐบาลดำเนินการตามแนวนโยบายการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 87 ทั้งนี้ระหว่างการอภิปรายนายบุญยอดได้นำบทสัมภาษณ์ของนายวิป วิญญรัตน์ บุตรชายนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ได้รับงานจากรัฐบาลให้วิจัยเกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยเป็นผู้จัดนิทรรศการ “ไทยแลนด์ 2020” ร่วมกับเพื่อน 3-4 คน ทั้งที่นายวิปไม่มีความรู้ด้านวิศวกรรมและรถไฟความเร็วสูงเลย เพราะจบปริญญาตรีด้านปรัชญา ปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์ จึงต้องตั้งคำถามกับรัฐบาลว่าทำไมคนที่ไม่มีความรู้ และประสบการณ์ถึงได้ทำงานที่มีเงินสูงถึง 2 ล้านล้านบาท
ขณะที่นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากดูรายละเอียดแล้วพบว่า เป็นการจัดสรรตามภาคนิยม บนฐานความพอใจของฉันเองไม่มีหลักวิชาการด้านการขนส่งมารองรับ ไม่มีการ จัดลำดับความสำคัญของโครงการตามความจำเป็นเร่งด่วน รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เคยริเริ่มโครงการะบบรางไว้ตั้งแต่รัฐบาลชวน 1 แต่รัฐบาลชุดต่อๆ มาไม่ให้ความสนใจยกเว้นรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีการวางแผนแผนแม่บทรถไฟฟ้า และรถไฟรางคู่ไว้แล้ว ต่อมา รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีการเปลี่ยนแปลงลำดับความสำคัญแบบตามใจฉัน โดย ไม่มีผลการศึกษามารองรับ ทั้งที่กรุงเทพ-หนองคายเหมาะสมที่สุด แต่กลับจะสร้างไปกรุงเทพฯ-เชียงใหม่อันดับแรก คนอีสานจำไว้ให้ดีว่ารัฐบาลนี้รักคนอีสานน้อยกว่าคนเหนือ
“การต่อรถไฟจากเชียงใหม่ไปคุนหมิงทำได้ยาก เพราะมีปัญหาภูมิประเทศ แต่เส้นหนองคายมีความพร้อมมากกว่า เพราะจีนต้องการเชื่อมมาทางหนองคาย รวมถึงลาวต้องการให้รถไฟความเร็วสูงผ่านเมืองหลวง เชื่อมไปสู่จีนไม่ได้ ยุทธศาสตร์การเชื่อมไทยสู่โลกตามที่รัฐบาลคุยจะล้มไม่เป็นท่า สุดท้ายจะเหลือแต่เส้นกรุงเทพฯ-เชียงใหม่เท่านั้น พ.ร.บ.เงินกู้ฉบับถูกครหาว่า เป็น พ.ร.บ.เงินกู้ฉบับบ้านเกิดเมืองนอนของดิฉัน” นายสามารถกล่าว
นายสามารถกล่าวว่า การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงระยะทางสั้น ไปโคราช ไปหัวหินจะล้มเหลวเพราะแข่งกับรถยนต์ไม่ได้ ซึ่งผลการศึกษาของ สนข. และ ร.ฟ.ท.ยืนยันชัดเจน ทำอย่างนี้จะเสียของ ตนอยากให้ไทยมีรถไฟความเร็วสูง แต่ห่วงว่าจะมีผู้โดยสารน้อยเหมือนแอร์พอร์ตลิงก์ เพราะมีคู่แข่งน่ากลัว คือ สายการบินต้นทุนต่ำ ที่มีค่าโดยสารพอๆ กับรถไฟความเร็วสูง และพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ ประชาชนตั้งบ้านเมืองกระจัดกระจายอยู่สองข้างทางถนน ต่างกับประเทศญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จ เพราะมีพื้นที่เพียง 60 เปอร์เซ็นต์ของไทย และส่วนใหญ่เป็นที่สูงมีที่ราบแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่มีประชาชนมากถึง 2 เท่า มีประชากรอาศัยบ้าน หนาแน่นสองข้างทางทำให้ มีคนใช้รถไฟความเร็วสูงจำนวนมากจึงอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญรถไฟทางคู่ครอบคลุมทั่วประเทศระยะทาง 3,039 กม. ถ้าเงินเหลือค่อยมาสร้างรถไฟความเร็วสูง