หน.ปชป.ยันเหตุผลกู้ รบ.ฟังไม่ขึ้น ชี้ใช้ระบบงบประมาณก็มีเงินสร้างโครงการได้ อยู่ที่การจัดลำดับความสำคัญ ย้อน “แม้ว” มุ่งแต่ประชานิยม หนุนเชื่อมอาเซียนแต่ไม่กู้ ติงร่างผ่าน คลังมีปัญหา ย้อนกลืนน้ำลาย หนี้สาธารณะพุ่ง ชาติหน้าหนี้ยังไม่หมด ย้อนเหลวแบบรถคันแรก กู้นอกระบบทำฟุ่มเฟือย ฟันธงกู้มามีรุมทึ้งทำไม่ได้ที่พูด ชี้เลี่ยงใช้ระบบงบ เหตุไม่ต้องแจงที่กู้ วิธีเดียวงบช่วยน้ำท่วม อัดรถไฟความเร็วสูงไม่ตามแผน ตอกกู้ 3.5 แสนล้านยังลูกผีลูกคน ยังกู้เป็นภาระอีก 5 ล้านล้าน แถมขัด ปชต.ขวาง ปชช.สอบ
วันนี้ (28 มี.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายโดยยืนยันชัดเจนว่าจะไม่รับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งการกู้เงินของรัฐบาลอ้าง 3 เหตุผล คือ เงินในงบประมาณไม่พอ กฎระเบียบ กฎหมายไม่เอื้ออำนวยที่จะลงทุนได้โดยไม่ต้องกู้เงิน และปัญหาเรื่องการเมือง ตนเห็นว่าทั้งหมดนี้ไม่ใช่ข้อจำกัด และไม่ได้แก้ด้วยการอนุญาตให้รัฐบาลไปกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท คือ 1. เรื่องเงินที่รัฐบาลจะใช้ 2 ล้านล้านบาทในเวลา 7 ปี เฉลี่ยปีละ 3 แสนล้านบาท แต่ตัวเลขสำนักบริหารหนี้สาธารณะแถลงไว้ว่าในแต่ละปีจนถึง 2563 จะใช้เงินเท่าไหร่ เช่น เริ่มจากออกกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้าน ปี 2556 ใช้ 27,209 ล้านบาท ปีที่ใช้เยอะที่สุดคือ 2559 ใช้ 382,490 ล้านบาท ถึงไม่กู้ก็หาเงินมาบริหารงานระบบงบประมาณได้ เพราะ รมว.คลังแถลงถึงการจัดทำงบประมาณไว้โดยปี 57 ขาดดุล 2.5 แสนล้าน และสมดุลในปี 2560 หากนำแผนการจัดทำงบประมาณของรัฐบาลมาบวกกับเงินที่จะใช้ 2 ล้านล้านบาทจะพบความจริงว่า เงินที่จะใช้จ่ายสามารถจัดเป็นงบขาดดุลโดยไม่กระทบเพดานเงินกู้ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณและ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องกู้แต่ใช้ระบบงบประมาณก็มีเงินเพียงพอที่จะทำโครงการเหล่านี้ ถ้าการมาขอไปกู้เงินนอกระบบปกติโดยอ้างว่ารัฐบาลมีเงินไม่พอ คำตอบคือไม่จริง
2. โครงการที่จะทำไม่จำเป็นต้องกู้อย่างเดียว เพราะสภาเพิ่งผ่านกฎหมายปรับปรุงกติกาเกี่ยวกับการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนที่เป็นรูปแบบการลงทุนซึ่งประเทศต่างๆ พยายามใช้ ถ้าให้เอกชนมาร่วมลงทุนอย่างจริงจัง ตัวเลขลงทุนจะไม่สูงถึง 2 ล้านล้าน ทำไมจึงอ้างว่าต้องกู้เงินมาทำโครงการทั้งที่มีเครื่องมือทางกฎหมายในการร่วมทุน
3. เรื่องของการเมืองไม่เกี่ยวกับการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพราะอยู่ที่การบริหารของรัฐบาลและการตัดสินใจทางการเมือง ทั้งนายกฯ และ รมว.คมนาคมกล่าวว่า โครงการเหล่านี้คิดแต่ไม่ได้ทำ ตนเห็นว่าเป็นเรื่องการจัดลำดับความสำคัญและการตัดสินใจทางการเมืองที่จะเดินหน้าโครงการหรือไม่ ทั้งถนน 4 ช่องทางจราจร รถไฟรางคู่ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อนุมัติคนแรก แต่จากปี 45 เป็นต้นมา การลงทุนน้อยก็เพราะรัฐบาลในขณะนั้นจัดลำดับความสำคัญให้งบประมาณกับโครงการประชานิยมมากกว่า โครงสร้างพื้นฐานที่เกิดขึ้นในช่วง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คือ สนามบินสุวรรณภูมิ แต่ถนนและระบบรางแทบไม่มีการลงทุน แม้กระทั่งการซ่อมแซมยังจัดงบไม่เพียงพอ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นการตัดสินใจของรัฐบาลแต่ละชุด ไม่ใช่เรื่องว่ามีเงินหรือไม่ เช่นเดียวกับระบบสาธารณสุขที่เสื่อมโทรมไปช่วงหนึ่งเพราะต้องหางบประมาณมาจัดทำโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
“ส่วนที่อ้างเรื่องการเชื่อมโยงอาเซียนนั้นพวกตนเป็นคนเสนอให้เป็นวาระอาเซียนในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน จึงเป็นไปไม่ได้ที่ตนจะคัดค้านการเชื่อมโยงกับภูมิภาค หรือระบบราง เพราะรัฐบาลที่แล้วผลักดันกฎหมายตั้งเป้าลดต้นทุนโลจิสติก วันนี้ท่านจะลดต้นทุนลอจิสติกเพิ่มอีก 2% แต่ขอกู้ 2 ล้านล้านบาท ทั้งๆ ที่ในสมัยที่ตนเป็นรัฐบาลทั้งการลดต้นทุนลอจิสติกส์และรถไฟความเร็วสูงที่เจรจากับจีนทำได้โดยไม่ต้องกู้ 2 ล้านล้าน แต่จะทำในรูปแบบการร่วมทุน ซึ่งในขณะนั้นพรรคเพื่อไทยไม่ลงคะแนนให้เมื่อมีการนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า จะมีปัญหาเกิดขึ้น 4 ด้านหากสภาผ่านร่างกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท คือ 1. ปัญหาวินัยทางการคลัง ตอนที่ตนเป็นรัฐบาลพวกท่านคัดค้านการกู้เงินบอกสร้างหนี้ให้ประเทศ กู้มาโกง เก่งแต่กู้ และยังหาเสียงว่าไม่กู้เงิน ขึ้นป้ายล้างหนี้ให้ประเทศ ต้องดูว่าล้างหรือสร้างเพราะเป็นการกู้เงินมากกว่าตอนกู้ไอเอ็มเอฟ หรือตอนที่ พ.ต.ท. ทักษิณกู้มาทำกองทุนฟื้นฟูฯ
“ในช่วงที่หาเสียง พ.ต.ท.ทักษิณเคยพูดว่าไม่ต้องกู้สักบาท มีวิธีบริหารจัดการ แต่ทำไมวันนี้ถึงต้องกู้” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ในอดีตมีการกู้เงินด้วยเงื่อนไขเดียว คือ เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะต้องมีเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจและหนี้ชนเพดานตามกฎหมายหนี้สาธารณะแต่วันนี้ไม่มีเงื่อนไขเหล่านี้ โดยในวันที่ตนพ้นตำแหน่งหนี้สาธารณะประมาณร้อยละ 40 แต่ตอนนี้เพิ่มขึ้นคาดว่าจะถึงร้อยละ 50 ทั้งที่ยังไม่มีการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ขณะที่ยังมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก รัฐบาลจะใช้หนี้ 50 ปี เพราะจะมีดอกเบี้ยอีก 3 ล้านล้านบาท รวม 5 ล้านล้านบาท บนสมมติฐานว่าเศรษฐกิจโลกจะมีดอกเบี้ยต่ำไปอีก 50 ปี วันข้างหน้าถ้าเกิดวิกฤตโลก ดอกเบี้ยสูงขึ้น แผนที่รัฐบาลวางไว้จะผิดหมด ไม่สามารถใช้หนี้ได้ใน 50 ปีหรือชาติหน้า แต่จะเป็นชาติโน้น ในขณะที่ประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสวัสดิการ การดูแลสาธารณสุขจะต้องเพิ่มขึ้น จึงไม่ควรก่อหนี้ถ้าไม่จำเป็น การที่เรายืนยันว่าบริหารในงบประมาณเพื่อบังคับให้รัฐบาลมีวินัย เพราะจะต้องเลือกว่าเงินที่ประชาชนเป็นคนใช้หนี้จากการเสียภาษีควรเอาไปทำอะไร
ยกตัวอย่างการประเมินผิดพลาดของรัฐบาลจากโครงการรถคันแรก ที่มีการใช้เงินมากกว่าประมาณการ เถียงกันว่าจะใช้เงินจากตรงไหน สมมติฐานที่ระบุว่าหนี้้ไม่เกินร้อยละ 50 งบจะสมดุล จะมีปัญหาจากโครงการลักษณะนี้อีกหรือไม่ และรัฐบาลทราบหรือไม่ว่าถ้าไม่ทำรถคันแรกมีเงินทำรถไฟฟ้าสองสาย รัฐบาลควรทบทวนโครงการที่ฟุ่มเฟือยแทนที่จะใช้วิธีกู้แบบง่าย ๆ เพราะจะทำให้รัฐบาลไม่บังคับตัวเอง ไม่พิจารณาความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อดูประโยชน์สูงสุดของประชาชน และที่ รมว.คลังอ้างว่ากู้เงินนอกงบประมาณเพราะไม่อยากให้ขาดดุลงบประมาณเรื้อรังนั้น จะทำให้รัฐบาลทำโครงการฟุ่มเฟือยต่อไป โดยลืมไปว่ากู้เงินนอกงบประมาณไว้ ซึ่งจะกระทบต่อสถานะการเงินของประเทศในที่สุด นอกจากนี้ สมมติฐานที่บอกว่าจะไม่ขาดทุนโครงการจำนำข้าวหลังจากปี 2556 ต้องถามว่ารัฐบาลใช้สมมติฐานอะไร เพราะในแต่ละปีขาดทุนกว่า 2 แสนล้านบาทหรือร้อยละ 2 ของจีดีพี ยกเว้นว่าจะเลิกโครงการจำนำข้าว
“ถ้ารัฐบาลเอาแสนล้านให้ชาวนา และอีกแสนล้านมาทำโครงการก็ยังทำได้ แต่ที่ออกกฎหมายกู้เงินเพราะไม่ต้องการผูกมัดตัวเองว่าต้องมีวินัย ไม่ยอมลดนโยบายที่ฟุ่มเฟือย ประชาชนมีสิทธิเรียกร้องกับพวกเราที่ต้องเข้มงวดกับงบประมาณเพื่อปรับปรุงปฏิรูปประเทศ นำไปสู่การลงทุนที่คุ้มค่าไม่กระทบวินัยทางการคลัง กล้าเขียนในกฎหมายไหมว่า เมื่อมีกฎหมายนี้แล้วรัฐบาลตั้งแต่ปี 56-60 จะปรับลดการขาดดุลเท่าไหร่และหลังปี 60 จัดงบสมดุล ผมเชื่อว่าไม่กล้าเขียนและจะไม่ดำเนินการตามนี้ ในที่สุดการกู้เงินจะไม่ได้ทำโครงการเหล่านี้ แต่กู้เพื่อทำโครงการอื่นๆ ที่ไม่คุ้มค่าต่อไป จึงไม่เห็นด้วยที่จะรับหลักการกฎหมายฉบับนี้” นายอภิสิทธิ์กล่าว
2. ที่ใช้วิธีการกู้นอกงบประมาณเป็นปัญหาเรื่องระบบตรวจสอบและความโปร่งใส เพราะประชาชนก็สับสนว่า กฎหมายมีแค่ 4 หน้า บัญชีแนบท้ายอีก 2 หน้า อีก 200 กว่าหน้าไม่ใช่ส่วนหนึ่งของกฎหมายและไม่เหมือนกับเอกสารประกอบงบประมาณที่มีสถานะรับรองตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นโครงการต่างๆ ในเอกสารประกอบแปรญัตติไม่ได้เลย มีแค่ 2 หน้าที่บอกว่า 3 แสนกว่าล้านเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาปรับเปลี่ยนเรื่องการขนส่งให้มีต้นทุนลดลง แต่ไม่มีอำนาจพิจารณาว่าการสร้างถนน รถไฟ กิโลละกี่บาท นี่คือความต่างระหว่างการอยู่ในระบบงบประมาณและกฎหมายกู้เงิน ถ้าเรื่องนี้อยู่ในระบบงบประมาณแต่ละปีสภาจะตรวจสอบได้ว่าโครงการไปถึงไหน ทำแล้วเกิดประโยชน์หรือไม่ ตัดได้ เปลี่ยนได้ ถ้าไม่ดี หรือถ้ามีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนก็ทำได้ แต่เมื่อใช้วิธีการกู้เงินจะทำได้แค่รับทราบว่ารัฐบาลทำอะไรแต่ไม่มีอำนาจให้ปรับเปลี่ยน ตัด แก้ ที่สำคัญความโปร่งใสจะมีปัญหาในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ตนไม่ได้ระแวง แต่ยึดถือจากประสบการณ์ของรัฐบาลชุดนี้ พวกตนเคยฟังนายกพูดในสภาว่า 1.2 แสนล้านที่เอาไปฟื้นฟูน้ำท่วมจะมีระบบตรวจสอบได้ แต่ภาคเอกชนและฝ่ายค้านไม่สามารถตรวจสอบได้ จนกว่ารัฐบาลจะใช้เงินไปแล้ว กระทั่งมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องการขุดลอกคูคลองที่มีการทุจริตมากมาย กู้เงิน 3.5 แสนล้านก็ยกเว้นการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด นายกฯ บอกว่ามีระเบียบพัสดุจะเขียนในกฎหมายได้หรือไม่ว่าจะดำเนินการตามระเบียบพัสดุไม่ออกมติ ครม.ยกเว้น ถ้าทำได้จะน่าเชื่อถือว่าระดับความโปร่งใสจะเป็นแบบเดียวกับระบบงบประมาณ
3. โครงการที่มีการพูดกันเป็นไปตามที่รัฐบาลโฆษณาว่าจะเชื่อมไทยสู่โลกหรือไม่ เริ่มจากรถไฟความเร็วสูง สายอีสานเพื่อเชื่อมไปจีน ไปถึงแค่โคราชไม่ถึงหนองคาย สายใต้เพื่อเชื่อมมาเลเซีย หยุดที่หัวหินไม่ถึงปาดังเบซาร์ และไม่มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมทวาย รัฐบาลต้องตอบว่าทำไมสาย กทม.-เชียงใหม่มาก่อน ในขณะที่หลายโครงการยังต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ชุมชน สุขภาพ เงินกู้ 3.5 แสนล้านมีบทเรียนแล้วว่าบางโครงการทำไม่ได้เพราะมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ภาคใต้ที่จะพัฒนาท่าเรือสองฝั่งบอกให้ชัดว่าพัฒนาระดับไหนอย่างไร เพราะประชาชนไม่ประสงค์เห็นอุตสาหกรรมหนักที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงกับธรรมชาติและกระทบกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
“ถ้าค่าตั๋วรถไฟความเร็วสูงเกือบเท่ากับค่าโดยสารสายการบินต้นทุนต่ำ จะคุ้มค่าที่ชาวบ้านจะโดยสารหรือไม่ เพราะเงินที่จะใช้เป็นภาระของลูกหลานในอนาคต ยกตัวอย่างแอร์พอร์ตลิงก์แนวคิดดี แต่เมื่อสร้างแล้วการใช้จริงคุ้มค่าหรือไม่ เพราะเพิ่งมีข่าวว่าที่สถานนีมักกะสันมีคนขึ้นแค่ 4 คน ก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยอ้างว่าต้องออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านมาใช้บริหารจัดการน้ำ เดือนมิถุนายนต้องกู้เงินให้ครบ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในโครงการว่าจะทำอะไร แล้วจะกู้ 2 ล้านล้านมากองไว้เพื่อให้เป็นภาระแก่ลูกหลานทำไม” หัวหน้าประชาธิปัตย์กล่าว
ส่วนปัญหาข้อที่ 4 คือ ขัดต่อหลักของระบอบประชาธิปไตย คือผู้แทนปวงชนชาวไทยไม่มีสิทธิ์ตรวจสอบการใช้เงินของประชาชน เพราะไม่มีกฎหมายวิธีการงบประมาณควบคุม ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย
“เราไม่รับหลักการกฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่เพราะไม่ต้องการเห็นโครงการเหล่านี้เกิดขึ้น แต่ได้พิสูจน์แล้วทั้งทางการเมือง กฎหมายและการเงินว่าทำได้ภายใต้กรอบงบประมาณ อย่าทำเหมือนหลังน้ำท่วม เอาภาพสวยๆ มาฉายอนาคตบังหน้า เพื่อกู้มากอง กู้มาโกง เพิ่มหนี้ เพิ่มความเสี่ยงให้กับประเทศ 50 ปี 5 ล้านล้านบาทคือผลที่จะได้จากการอนุมัติกฎหมาย แต่โครงการไม่มีหลักประกันว่าจะทำได้จริงตามที่มีการระบุหรือไม่” นายอภิสิทธิ์ย้ำ