xs
xsm
sm
md
lg

โต้งรับกู้2ลล. ใช้หนี้ถึง50ปี สว.ชี้ส่อขัดรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ครม.ผ่านร่างพ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้าน เพื่อการลงทุนเมกะโปรเจกต์ ใน 3 ยุทธศาสตร์ "โต้ง" ยัน 50 ปี ใช้หนี้หมด "ปู" ย้ำกู้เพื่อสร้างความมั่นใจนักลงทุน "ส.ว.ประสาร " ชี้ พ.ร.บ. กู้เงิน เสี่ยงขัดรธน. มาตรา 169 เล็งยื่นตีความ "ยะใส" ชี้ร้ายแรงเทียบเท่า พ.ร.บ.ปรองดอง ขณะที่เลขากฤษฎีกา การันตี ไม่ ขัดรธน.

เมื่อวานนี้ (19 มี.ค.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... ในวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ทั้งนี้ โดยจะมีการระดมเงินทุนเพื่อดำเนินโครงการในระยะเวลาประมาณ 7 ปี ซึ่งคาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้ภายในเดือนมี.ค.นี้ และเมื่อรัฐสภาเห็นชอบแล้ว คาดว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ได้ก่อนปีงบประมาณ 2557

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่มีการเปรียบเทียบใช้ถ้อยคำรุนแรงว่า รัฐบาลกำลังทำรัฐประหารทางการเงินของประเทศนั้น ขออย่ากล่าวหากันรุนแรงถึงขนาดนั้น เพราะเมื่อโครงการนี้ทำไปแล้ว สิ่งที่ได้มาก็คือ ทรัพย์สินของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง หรือเส้นทาง คมนาคมต่างๆ ทุกอย่างสามารถตรวจสอบและวัดผลได้ เพราะทุกโครงการต้องนำเสนอรัฐสภา และประชาชนในพื้นที่เอง ก็สามารถตรวจสอบได้

เมื่อถามว่า มีผู้ออกมาตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงใช้งบประมาณปกติไม่ได้ ทำไมต้องไปกู้เงิน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า หากใช้งบประมาณปกติ จะมีปัญหาในการตั้งงบประมาณ ที่ตั้งได้ปีต่อปี หากมีการเปลี่ยนรัฐบาล หรือเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โครงการต่างๆ ก็จะไม่ต่อเนื่อง อันนี้ถือเป็นปัญหา เราจึงไม่ลงทุน เพราะในแต่ละปี

ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเงินกู้ในประเทศ ก็ต้องให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณา หรือบางส่วนอาจต้องใช้เงินกู้จากต่างประเทศ หาก พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสภาพร้อมชี้แจง

**"โต้ง"คุย 50 ปีใช้หนี้หมด !

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนากยฯ และรมว.คลัง กล่าวว่า พ.ร.บ.เงินกู้ดังกล่าว มีลักษณะสำคัญต่างจาก พ.ร.บ.การกู้เงินปกติ เพราะที่มีเอกสารแนบท้าย กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ว่า นำเงินจำนวนเท่าไร ไปทำอะไรบ้าง และร่างฯ ที่ส่งยังรัฐสภา มีเอกสารรายละเอียดโครงการและงบประมาณแนบท้ายไปด้วย

ทั้งนี้ การออกเป็นพ.ร.บ. เงินกู้ จะทำให้เกิดความมั่นใจ เพราะในอดีตที่ใช้งบประมาณปกติ ไม่มีความแน่ชัดว่าปีต่อไปจะได้รับงบประมาณต่อหรือไม่ ทั้งนี้ งบประมาณจำนวน 2 ล้านล้านบาทนั้น จะใช้กับโครงการที่แนบท้ายมาใน พ.ร.บ. เท่านั้น ส่วนเรื่องการชำระหนี้นั้น มีแนบในเอกสารเรื่องการชำระหนี้ ที่จะส่งให้รัฐสภาพิจารณา โดยใน 10 ปีแรก ที่ยังเป็นการลงทุนก่อสร้างจะใช้หนี้เฉพาะดอกเบี้ย ไม่ใช้หนี้ส่วนเงินต้น ส่วนในปีที่ 11 จะใช้หนี้ในส่วนของเงินต้นปีละ 20,000 ล้านบาท

" คาดว่าจะชำระหนี้เงินกู้จำนวนนี้ ได้หมดก่อน 50 ปี ซึ่งทรัพย์สินที่สร้างมา จะอยู่กับประเทศไปอีก 100 ปี ยืนยัน พ.ร.บ. นี้มีมาตราฐานสูงสุดเท่าที่เคยมีมา "

**กฤษฎีกายันไม่ขัดรธน.

แหล่งข่าวจากที่ประชุมครม.เปิดเผยว่า ในการประชุมครั้งนี้ ใช้เวลาในการพิจารณาเกี่ยวกับพ.ร.บ.การกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ประมาณชั่วโมงครึ่ง จำนวนถึง 268 หน้า โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรมว.คลัง รวมถึง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม เป็นผู้ลุกขึ้นชี้แจงสลับกัน

"ในระหว่างการชี้แจง นายกรัฐมนตรี ได้ซักถามเป็นระยะๆ พร้อมทั้งได้ถามนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อยู่ตลอดว่า ทำได้หรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ อย่างไรก็ตามใน พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้านนี้ ทางเลขาธิการกฤษฎีกา ยืนยันในที่ประชุมครม. 3 ข้อ คือ 1. พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้านนี้ เป็นพ.ร.บ.ฉบับแรก ที่มีการกำหนดรายละเอียดว่า จะเอาเงินไปทำอะไรบ้าง เพราะมีทั้งโครงการ แผนที่ และจุดที่จะมีการก่อสร้าง 2. พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้านฉบับนี้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และ 3. การบริหารโครงการเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ใช่เป็นเหมือนพ.ร.ก. กู้ 4 แสนล้านในสมัยปชป. ที่เหมือนเป็นการมัดมือชกในโครงการไทยเข้มแข็ง ” แหล่งข่าว กล่าว

** ส.ว.เล็งยื่นตีความพ.ร.บ.กู้ 2.2ล้านล้าน

ในการประชุมวุฒิสภา เมื่อวานนี้ (19 มี.ค.) นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ได้หารือต่อที่ประชุมถึงกรณี กระทรวงการคลัง เสนอร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ฯ) ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเป็นเงินที่นอกเหนือจากงบประมาณแผ่นดิน หากรวมกับหนี้เดิมซึ่งในปี 2563 ประเทศไทยจะมีภาระแบกรับดอกเบี้ยปีละ 1 แสนล้านบาท ตนก็คิดว่าจะใช้หนี้อีกกี่ปีกี่ชาติ ถึงจะหมด

การที่รมว.คลังระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีมาตรฐานไม่น้อยไปกว่า พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดิน น่าสงสัยไว้เรื่องนี้เป็น ไวท์ลาย อีกหรือไม่ เพราะหากออกเป็นพ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดิน จะไม่ใช่การพิจารณาตรวจสอบของสภาฯเท่านั้น แต่จะเกิดสภาพบังคับให้รัฐบาลต้องรักษาวินัยการคลัง และจะต้องพิจารณาภาพรวมของหนี้ที่เกิดกับประเทศ การขาดดุลงบประมาณ ตลอดจนสัดส่วนเงินกู้ กับงบประมาณต่อรายได้ประชาชาติ วิธีการเช่นนี้ภาษาทางการคลัง เรียกว่า ภาระการคลังซ่อนเร้น และยังสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 169 วรรค 1 ที่ระบุว่า การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ก็เฉพาะได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย เว้นแต่ในกรณีที่จำเป็นเร่งด่วน ซึ่งรัฐบาลต้องสำรองเงินจ่ายไปก่อน และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้ อีกทั้งให้กำหนดแหล่งที่มาของรายได้ เพื่อชดใช้รายจ่าย ตนจึงอยากทราบว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นเร่งด่วนเพียงใด ถึงต้องใช้เงินถึง 3 แสนล้านบาทต่อปี เป็นเวลาถึง 7 ปี ทั้งนี้ รัฐบาลเตรียมตัวได้เลย เพราะเรื่องดังกล่าวถึงจะถูกร้องศาลรัฐธรรมนูญ อย่างแน่นอน

** พ.ร.บ.กู้หมกเม็ดคล้ายพ.ร.บ.ปรองดอง

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กล่าวว่า การร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านบาท ที่ ครม.มีมติวันนี้ และเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมสภาฯ เร็วๆนี้ ถือเป็นร่างกฎหมายที่เป็นอันตราย และสร้างปัญหาต่อสังคมไทยร้ายแรงพอๆกับ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฟอกผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

จะเห็นชัดเจนว่า รัฐบาลออกแบบให้ร่าง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ฉบับนี้ เป็นเครื่องมือในการผลาญงบประมาณ และเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท โดยไม่มีการถ่วงดุลตรวจสอบ หรือคำนึงถึงความโปร่งใสแต่อย่างใด

ที่น่าแปลกใจคือ ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน ที่เกิดจากการรวมตัวของหอการค้า และสภาหอการค้าฯ กลับหลงประเด็น โดยการจัดทำสัญญาคุณธรรมเพื่อให้กลุ่มทุนธุรกิจที่เข้าร่วมประมูลงาน ลงนามกับตัวแทนกระทรวงคมนาคม เพื่อต่อต้านการทุจริตและสินบนจากการลงทุนในงบประมาณดังกล่าว ทั้งๆ ที่สัญญาคุณธรรมไม่มีผลทางกฎหมาย ไม่มีข้อผูกมัดถึงความรับผิดชอบต่อสังคม

**นักเศรษฐศาตร์ไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.กู้

กรุงเทพโพล เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 33 แห่ง จำนวน 60 คน เรื่อง"นักเศรษฐศาสตร์ตั้ง KPI โครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาท" โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 13–18 มี.ค. ที่ผ่านมา พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ ร้อยละ 56.7 อยากให้รัฐบาลดำเนินการลงทุนด้วยวิธีการอื่นๆ มากกว่า การออก พ.ร.บ. กู้เงิน เนื่องจากเป็นห่วงในปัญหาต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น ขณะที่ร้อยละ 25.0 เห็นว่าการออก พ.ร.บ. กู้เงิน เป็นวิธีการที่เหมาะสมแล้ว แม้ว่าอาจนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ บ้าง แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย หรือ ทำไปตามกรอบเดิมๆ หรือตามกรอบงบประมาณที่มี

สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์มองว่า เป็นปัญหาสำหรับการออก พ.ร.บ. กู้เงิน คือ ปัญหาหนี้สาธารณะ และปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน โดยในส่วนของปัญหาหนี้สาธารณะนั้น ร้อยละ 60.0 เห็นว่า เป็นสิ่งที่น่ากังวล เนื่องจากหนี้สาธารณะอาจเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 60 ต่อจีดีพี หากประเทศเจอวิกฤติเศรษฐกิจหรือฟองสบู่แตก รวมถึงรัฐบาลอาจขาดสภาพคล่อง เนื่องจากต้องใช้จ่ายในโครงการ(ประชานิยม)อื่นๆ ร่วมด้วย ขณะที่ร้อยละ 21.7 เห็นว่า ไม่น่าเป็นกังวล เพราะ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ยังต่ำ อีกทั้งเป็นการกู้ภายในประเทศ และการลงทุนจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวจะทำให้เก็บภาษีได้มากขึ้นและช่วยให้แข่งขันได้ดีขึ้น

ในส่วนของความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาล ว่าจะดูแลปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่อาจเกิดขึ้นในโครงการนี้ได้ดีเพียงใดนั้น ร้อยละ 88.3 บอกว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่นถึงไม่เชื่อมั่นเลย

จัดงานแฉงบ"ไทยเข้มแข็ง"

วานนี้ (19 มี.ค.) ที่พรรคเพื่อไทย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย เป็นประธานเปิดนิทรรศการ "บทเรียนประเทศไทย ปฏิบัติการใคร ? เข้มแข็ง" จัดโดยสำนักงานปราบโกง ร่วมกับกองงานโฆษกพรรคเพื่อไทย แสดงรายละเอียดการใช้จ่ายเงินตาม พ.ร.ก.และพ.ร.บ. เงินกู้ 8 แสนล้านบาท ซึ่งใช้ดำเนินการในโครงการไทยเข้มแข็ง สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่หลายโครงการพบว่า ส่อไปในทางทุจริต

พรรคเพื่อไทยตรวจสอบพบว่า มีการเบิกใช้จ่ายเงินจริงแค่ 4.2 แสนล้านบาท จากเงินกู้จริง พร้อมเปรียบเทียบกับการ ออกพ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งจะจัดแสดงให้ประชาชนทั่วไป และผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค.-17 เม.ย. ที่บริเวณห้องโถงชั้น 1 อาคารที่ทำการพรรคเพื่อไทย


**"มาร์ค"เตือนเจอภัยศก. กู้ในปท. ดีดดอกสูง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนฯ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า โดยภาพรวมแล้ว เห็นด้วยกับการลงทุนในโครงการเหล่านี้ ซึ่งเป็นโครงการที่ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลชุดก่อนเกือบทั้งหมด แต่ว่าความจำเป็นต้องกู้เงินนั้น ก็อีกเรื่องหนึ่ง แล้วก็วิธีการในการให้อำนาจรัฐบาลที่จะไปกู้เงินในครั้งนี้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จะต้องดูในตัวกฎหมายว่าเขียนว่าอย่างไร

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กฎหมายก็คงจะเปิดช่องให้กู้ทั้งภายใน และนอกประเทศได้ ส่วนรัฐบาลตอนที่จัดแสดงนิทรรศการ เขียนค่อนข้างชัดว่า จะกู้ภายในประทศเป็นหลัก เหมือนกับยังไม่ได้ปิดทางการกู้นอกประเทศ ซึ่งก็มีทั้งข้อดี ข้อเสีย เวลาที่กู้เงินในต่างประเทศ เวลาชำระหนี้ ก็มีความเสี่ยงมากขึ้น ในเรื่องค่าเงิน ถ้าเป็นหนี้ภายในประเทศ ก็จัดการง่ายกว่า

ส่วนข้อดีคือ เงินที่มาจากนอกประเทศ ก็คือเป็นเงินที่เข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจเรา จากที่จะอยู่นอก ก็มาอยู่ในระบบเศรษฐกิจเรา

" แต่ประเด็นก็คือว่า มันก็เป็นการมาแย่งเงินกู้จากคนอื่น ที่ต้องการกู้เงินภายในประเทศ พูดง่ายๆ ก็เป็นไปตามหลักอุปสงค์ อุปทาน เงินนั้นถ้าเกิดมีความต้องการกู้เงินสูง แต่เงินที่จะมีให้กู้น้อย ราคาของเงิน ก็คือดอกเบี้ยก็จะสูงขึ้น" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

**กู้ 2.2 ล้านล้านทำไทยเป็นหนี้ 50 ปี

นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีต รมว.คลัง กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะกู้เงินนอกระบบงบประมาณ เพื่อมาดำเนินการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เพราะเกรงว่าจะมีความไม่โปร่งใสในการเบิกจ่าย ถ้าเป็นงบประมาณปกติ จะต้องมีการเสนอรายละเอียดของโครงการให้ชัดเจนก่อนได้รับอนุมัติ

การออก พ.ร.บ.ดังกล่าว อาจขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญระบุชัดเจนว่า รายจ่ายของรัฐ ต้องออกเป็นพ.ร.บ.งบประมาณ ซึ่งเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทนี้ ก็เป็นรายจ่ายที่ชัดเจน แต่ รัฐบาลกลับไม่นำเข้าเป็นระบบงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2557 ซึ่งหากกู้มาจริง 2.2 ล้านล้านบาท คาดว่าจะต้องใช้หนี้หมดภายใน 50 ปี ถือเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน และเป็นการทิ้งภาระหนี้สินไว้ให้กับลูกหลาน และรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารงานต่อ

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การกู้ครั้งนี้ มีความผิดปกติหลายประการ คือ 1. ไม่ได้ใช้จ่ายภายใน 1 ปี แต่แบ่งจ่ายเป็นเวลา 7 ปี ปีละประมาณ 3 แสน -3.5 แสนล้าน ทั้งที่สามารถจัดสรรในงบประมาณปกติได้

2. จะทำให้การลงทุนของภาครัฐที่จะมี สภาพัฒน์ และสำนักงบประมาณเป็นผู้ให้ความเห็นก่อนเสนอตามลำดับชั้นสู่ ครม.ก็จะถูกตัดตอนออกไป โดยมีคณะกรรมการที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้นใหม่เป็นผู้ตรวจสอบ ทำให้ยากต่อการตรวจสอบความคุ้มทุน และประโยชน์ของประชาชนที่จะได้รับ แต่อาจเห็นประโยชน์กลุ่มทุน การเมือง พ่อค้ามากกว่าประชาชนในการพิจารณาลำดับความสำคัญของโครงการ

ทั้งนี้ หากรัฐจริงใจ ก็ขอให้กลับมาใช้ระบบการใช้จ่ายงบประมาณตามปกติ

ส่วนกรณีที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรมว.คลัง ยอมรับว่า เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท อาจมีการทุจริต และโกงได้นั้น ตนเห็นว่า เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ที่เปิดทางยอมรับว่าอาจมีการทุจริต คอร์รัปชัน จึงเสนอแนวคิดให้ค่าตอบแทนผู้ดูแลงบประมาณเป็นความคิดที่แย่มากขึ้น เพราะเป็นวิธีคิดของคนที่ไม่มีธรรมาภิบาล หากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องใช้อามิสสินจ้างมาเป็นตัวล่อเพื่อป้องกันการทุจริตแค่คิดก็ผิดแล้ว นายกิตตรัตน์ ต้องไปใช้ตรรกกะในการแก้ปัญหาการทุจริตใหม่

ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยหยิบยกกรณีโครงการไทยเข้มแข็ง เพื่อให้สังคมหลงทางนั้นขอยืนยันว่า การทำงานของพรรค มีการออก พ.ร.ก. 4 แสนล้าน และไม่มีการเบิกจ่าย พ.ร.บ. 4 แสนล้านมาใช้แต่อย่างใด อีกทั้งทุกโครงการก็มีการตรวจสอบ หากคิดว่ามีการทุจริต ทำไมเป็นรัฐบาลมาเกือบสองปีจึงไม่สามารถเอาผิดได้แม้แต่โครงการเดียว แต่กลับจะกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท มาปู้ยี่ปู้ยำประเทศ ซึ่งตนขอตั้งฉายาว่า เป็น "เลดี้กูกู้มาโกง" ของแท้ จึงขอเรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันตรวจสอบในเรื่องนี้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น