ประธานสภาฯ เชื่อ ประชุม พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้านบาท บรรยากาศน่าจะดีถ้ายึดข้อบังคับ อภิปรายสร้างสรรค์ คาดไม่ล่มเหมือนสัปดาห์ที่แล้ว ปัดเกี่ยว “นช.แม้ว” สั่งห้ามโดด แต่รับยังไม่ได้อ่านเนื้อหาร่างกฎหมาย เชื่อแก้รัฐธรรมนูญทำไม่เมษาเดือด ชี้ชำเรา ม.68 แค่เล็กน้อย ยันไม่มีใครโดนหลอกให้เซ็น อ้างให้ศาล รธน.รับทุกเรื่องจะไปกันใหญ่ ย้ำลดเหลือแค่ชงอัยการหวังคานอำนาจ
วันนี้ (27 มี.ค.) ที่รัฐสภา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลในวันที่ 28-29 มีนาคมนี้ว่า ตนจะดูแลการประชุมให้เป็นไปตามปกติ และเชื่อว่าบรรยากาศน่าจะดีเพราะทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ แม้ว่า ส.ส.รัฐบาลจะมีการเตรียมประเด็นพาดพิงพรรคประชาธิปัตย์ในเรื่องโครงการไทยเข้มแข็ง และมิยาซาวา แต่ทุกอย่างก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับการประชุม ซึ่งตนเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาหากทุกฝ่ายยึดข้อบังคับ และคัดค้านด้วยเหตุผล อภิปรายอย่างสร้างสรรค์ และเห็นว่าไม่น่าจะมีปัญหาเรื่ององค์ประชุมไม่ครบ เหมือนที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเป็นญัตติสำคัญเช่นเดียวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่จะมีขึ้นในวันที่ 1-2 เมษายนนี้
“ที่ผมมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาองค์ประชุมไม่ได้เป็นเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สไกป์ผ่านที่ประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทยกำชับให้ร่วมประชุมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาองค์ประชุมไม่ครบแต่เรื่องนี้เป็นหน้าที่ที่ ส.ส.ทุกคนต้องมีความรับผิดชอบอยู่แล้ว ที่ผ่านมาวาระที่ไม่สำคัญอาจมีปัญหาบ้างแต่ถ้าเทียบกับสภาสมัยที่แล้วก็ถือว่าเป็นหนังคนละเรื่อง” นายสมศักดิ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายสมศักดิ์ยอมรับว่ายังไม่ได้ดูรายละเอียดในร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทนั้น แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าออกเป็นพระราชกำหนด ส่วนที่ไม่ได้ใช้ระบบงบประมาณปกติแต่ใช้การออกกฎหมายกู้เงินแทนเป็นการหลีกเลี่ยงระบบตรวจสอบหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องชี้แจงเอง และฝ่ายที่เห็นต่างก็ต้องฟังเหตุผลด้วย
ส่วนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา นายสมศักดิ์กล่าวว่า ไม่น่าจะทำให้เกิดบรรยากาศที่ทำให้เดือนเมษายนเป็นเดือนเดือดทางการเมือง เพราะสาระที่แก้ไม่มีอะไรมากจึงไม่น่าจะส่งผลอะไร ไม่ว่าจะเป็นประเด็น 190 หรือ 237 แต่ที่อาจจะมีการมองต่างมุมก็คือมาตรา 68 และเรื่องของ ส.ว. และการลงชื่อเพื่อยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราครั้งนี้ก็ไม่มีใครถูกหลอกให้ร่วมลงชื่อ เพราะทุกคนมีวุฒิภาวะและมีความคิดเป็นของตัวเอง
“การยื่นแก้ไขมาตรา 68 ก็ไม่ใช่การยัดไส้เข้ามาแต่เป็นสิทธิของสมาชิก และการปิดช่องทางไม่ให้ประชาชนยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้นก็ไม่ใช่การตัดสิทธิของประชาชน เนื่องจากยังมีสิทธิยื่นต่ออัยการสูงสุดได้ จึงไม่ใช่การปูทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ค้างการพิจารณาวาระสามในรัฐสภาเพราะเรื่องนี้เป็นแนวทางที่เขาจะทำอยู่แล้ว ดังนั้นอะไรที่เป็นเรื่องถูกต้องตามรัฐธรรมนูญก็สามารถทำได้ แต่ถ้าไม่ถูกต้องก็ทำไม่ได้”
ประธานสภาฯ กล่าวด้วยว่า การแก้ไขมาตรา 68 เป็นปัญหาเล็กน้อยไม่ใช่สาระสำคัญที่จะทำให้เกิดปัญหาการเดินขบวน เพราะประเด็นนี้ตนไม่คิดว่าเป็นการตัดสิทธิประชาชน เป็นเพียงขั้นตอนการตรวจสอบเท่านั้น คือแทนที่จะให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งรับเรื่องเอง ตรวจสอบเอง ชงเองกินเอง สอบเองคงไม่ได้ ต้องมีการคานอำนาจ เป็นเรื่องการคานอำนาจไม่ใช่การตัดสิทธิประชาชนเพราะยังมีสิทธิยื่นได้ตลอดเหมือนเดิมผ่านอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นการถ่วงดุลดีกว่าจะให้องค์กรเดียวไปรับผิดชอบทุกเรื่อง เพราะจะยิ่งไปกันใหญ่
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 50 ประชาชนพบปัญหาการล้มล้างรัฐธรรมนูญหรือล้มการปกครอง สามารถที่จะยื่นได้สองช่องทาง คือ อัยการสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อแก้ไขแล้วจะทำให้เหลือเพียงช่องทางเดียวคือยื่นต่ออัยการสูงสุด จะถือเป็นการมัดมือชกประชาชนหรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ต้องมีตำรวจ อัยการ ให้มีศาลแค่องค์กรเดียวดีหรือไม่ ก็คงทำไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นการคานอำนาจ