ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การนำเสนอแผนการฟื้นฟู “ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.)” หรือเอสเอ็มอีแบงก์โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โดยการเสนอแผนการควบรวมเอสเอ็มอีแบงก์เข้ากับ “ธนาคารออมสิน” ให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง พิจารณ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจยิ่ง
ทั้งนี้ สศค.ได้ระบุเหตุผลว่าเอสเอ็มอีแบงก์มีปัญหาหนี้เสียจากปล่อยสินเชื่อตามนโยบายรัฐจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยล่าสุดมีหนี้เสียอยู่ที่ 3.9 หมื่นล้านบาท จากหนี้ทั้งหมด 9 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ที่คาดว่าจะแก้ไขได้เพียง 1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ส่วนที่เหลือ 3 หมื่นล้านบาท เป็นหนี้ที่แก้ไขไม่ได้ และต้องดำเนินการฟ้องร้อง
สศค.ระบุในแผนด้วยว่า หากปล่อยให้ธพว.แก้ปัญหาด้วยตัวเองต่อไป หนี้เสียก็ยังอยู่ในระดับสูง 40-50% ของหนี้ทั้งหมดต่อไป จะทำให้เป็นภาระงบประมาณอีกจำนวนมากในการเข้าไปเพิ่มทุนเพื่อแก้ปัญหาหนี้เสียและสร้างความแกร่งให้กับธนาคาร
ถามว่า การให้ ธพว.ควบรวมกับธนาคารออมสินสามารถทำได้หรือไม่
ตอบว่า ทำได้ เพราะออมสินเป็นสถาบันการเงินของรัฐที่มีความเข็มแข็ง มีสินทรัพย์กว่า 2 ล้านล้านบาท และสินเชื่อกว่า 1.5 ล้านล้านบาท โดยมีหนี้เสียเพียง 0.9% ของหนี้ทั้งหมดเท่านั้น หากจะมีหนี้เสียเพิ่มจากการควบรวมกับ ธพว.อีก 30,000-40,000 ล้านบาท ก็จะทำให้หนี้เสียของธนาคารออมสินเพิ่มขึ้นเป็น 1.2% ของหนี้ทั้งหมดซึ่งถือว่าต่ำมาก
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีข่าวดังกล่าวออกมาทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายถึงกับนั่งไม่ติดต้องรีบออกมาแก้ข่าวกันจ้าละหวั่น โดย ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลังที่กำกับดูแลเอสเอ็มอีแบงก์ได้ระบุว่าได้หารือกับผู้บริหารเอสเอ็มอีแบงก์ เมื่อวันที่ 5 ก.พ. โดยฝ่ายบริหารมีข้อสรุปออกมาว่าจะมีการเร่งสรุปแผนฟื้นฟูธนาคารให้ได้ภายในสัปดาห์นี้ และยืนยัน ว่าจะลดหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ที่สูงถึง 4 หมื่นล้านบาท ให้เหลือเพียง 3 หมื่นล้านบาท ลดไป 1 ใน 4 ภายในสิ้นปี 2556 พร้อมทั้งจะเร่งขยายสินเชื่อของธนาคารให้เพิ่มขึ้น 5 % จากในขณะนี้อยู่ในระดับที่ 9 หมื่นล้านบาท
สำหรับแนวทางลดหนี้ มีหลายวิธีทั้งในเรื่องนำหนี้ออกขาย ปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ แต่คงต้องรอแผนที่ฝ่ายบริหารจะเสนอมาก่อนว่าจะใช้วิธีการแบบไหน โดยมั่นใจว่าหากเอสเอ็มอีแบงก์สามารถทำได้ตามที่ระบุไว้ ธนาคารยังอยู่ได้ คงไม่ถึงกับต้องควบรวมของธนาคารออมสิน เนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาของธนาคารเกิดจากการบริหารจัดการที่มีปัญหา ถ้าแก้ไขได้ จะทำให้กลไกของธนาคารเดินหน้าต่อไปได้
อีกทั้ง กรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่าอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ของธนาคารที่อยู่ในระดับต่ำเพียง 1 เท่า ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่ง ประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้ที่ 8.5 เท่า จะส่งผลกระทบต่อแผนการปล่อยสินเชื่อของธนาคารนั้น ตามแผนฟื้นฟูนั้นมีแนวทางที่จะบริหารจัดการให้หนี้ต่างๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อ บีไอเอสของธนาคาร ทำให้สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ให้เติบโตขึ้นได้ตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้
โดยทนุศักดิ์ กล่าวยืนยันว่าปัญหาของเอสเอ็มอีแบงก์ในปัจจุบันนั้น ไม่ได้เกิดมาจาก เรื่องสภาพคล่อง หรือเรื่องเงิน แต่เกิดจากความผิดพลาด ในการบริหารจัดการที่ไม่เข้มข้นเพียงพอ โดยหลังจากนี้ ตนเองในฐานะผู้กำกับดูแลเอสเอ็มอีแบงก์และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเพิ่มความเข้มข้นในการบริหารจัดการ และเชื่อว่าปัญหาของธนาคารจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ภายในปีนี้อย่างแน่นอน
ขณะที่พิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมการบริหาร และประธานจัดทำแผนยุทธศาสตร์การฟื้นฟู ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า ได้เข้ารายงานแผนการฟื้นฟูให้กับกระทรวงการคลังรับทราบแล้ว โดยจะไม่มีการควบรวมกับธนาคารออมสิน และจะดำเนินการตามแผนการฟื้นฟูระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเบื้องต้นจะขอให้ภาครัฐเพิ่มทุนให้ 3,000-6,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล ที่มีอยู่ 39,000 ล้านบาท ในปัจจุบัน โดยแบ่งเป็นหนี้จากโครงการรัฐ จำนวน 7,000 ล้านบาท และหนี้รายย่อย จำนวน 10,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ตามแผนการฟื้นฟูจะมีการลดหนี้เอ็นพีแอล จาก 39,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40% ของสินเชื่อรวม 1 แสนล้านบาท ให้เหลือ 28,000 ล้านบาท ในปี 2556 หรือคิดเป็น 30% และลดเหลือ 23,000 ล้านบาท ในปี 2557 และเหลือ 17,000 ล้านบาท ในปี 2558
"ส่วนของหนี้เสียจะเจรจากับลูกหนี้ เพื่อให้ มาชำระหนี้ ซึ่งเชื่อว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่ของธนาคาร ซึ่งมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น จะมีการชำระคืน ซึ่งธนาคารพร้อมเจรจาลดดอกเบี้ย ยกเว้นสินเชื่อรายย่อยที่มีวงเงินกู้ต่ำกว่า 1 ล้านบาทที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ส่วนลูกหนี้ที่ไม่สามารถเจรจาชำระหนี้ได้ ธนาคารจะตัดขายหนี้ส่วนนี้ออกไป"
ไม่แน่ใจว่ามันเป็นความบังเอิญหรือจงใจที่ต้องการปล่อยข่าวการควบรวมแบงก์รัฐทั้งสองแห่งนี้ออกมาเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยหากจะมองในแง่ดีคือฝ่ายที่ต้องการปกป้องผลประโยชน์ของธนาคารออมสินหรือผลประโยชน์ของชาติ ที่รับรู้ถึงแผนอำมหิตในการควบรวมแบงก์รัฐทั้งสองแห่ง โดยเอาหนี้เสียที่มีอยู่ในเอสเอ็มอีแบงก์กว่า 3.9 หมื่นล้านบาท ในขณะที่มีสินทรัพย์อยู่เพียง 9 หมื่นกว่าล้านบาทเท่านั้น หรือเป็นเอ็นพีแอลคิดเป็น 40% ของพอร์ตสินเชื่อรวม
หากนำแบงก์ทั้งสองมาควบรวมกันแล้วจะทำให้หนี้ที่มีอยู่สูงกว่า 40% ของเอสเอ็มอีแบงก์ ไปรวมอยู่ในพอร์ตสินเชื่อแบงก์ออมสินที่มีอยู่ถึง 1.5 ล้านล้านบาท สินทรัพย์ที่แข็งแกร่งกว่า 2 ล้านล้านบาท และมีเอ็นพีแอลเพียง 0.9% เท่านั้น ก็จะทำให้หนี้เอ็นพีแอลของเอสเอ็มอีแบงก์แทบจะหายไปโดยสิ้นเชิงเมื่อเกิดการควบรวมกิจการระหว่างแบงก์รัฐทั้งสองแห่งนี้ ปัญหาการปล่อยสินเชื่อเด็กฝากนักการเมืองทั้งหลายในเอสเอ็มอีแบงก์ก็จะหมดไปในทันที
แต่ไม่แน่ใจว่าผู้หวังดีคนดังกล่าวต้องการสกัดกั้นปฏิบัติการชั่วร้ายของนักการเมืองบางรายที่อ้างกว่าการควบรวมเป็นแค่ผลการศึกษาของธนาคารโลกหรือเวิลด์แบงก์ แต่เมื่อไม่มีมูลฝอยหมาย่อมไม่ขี้ ดังนั้นแผนสกัดกั้นดังกล่าวจึงได้ผลเต็มที่โดยการออกมาต่อต้านจากหลายฝ่ายจนเป็นข่าวดังในชั่วข้ามคืนและต้องยุติดีลอื้อฉาวนี้ในทันที แต่ผู้ที่โชคร้ายที่สุดก็คือเอสเอ็มอีแบงก์เองที่เกิดความระส่ำระสายเกิดขึ้นในองค์กรและความเชื่อมั่นของลูกค้าลดน้อยถอยลงโดยทันที...