ซีอีโอแบงก์ “เอสเอ็มอี” โต้ข่าวลูกค้าแห่ถอนเงิน ลั่นเป็นภาวะปกติ ไม่ได้มีความวิตกกับฐานะการเงินของแบงก์ ยันได้มีการชี้แจงต่อลูกค้าจนเกิดความเข้าใจแล้ว พร้อมวอนอย่าเชื่อข่าวลือ มั่นใจแผนฟื้นฟู 3 ปี “คลัง” ยันไม่จำเป็นต้องไปควบกับแบงก์ “ออมสิน” มั่นใจสางหนี้เน่าหมดในปีนี้ แย้มข่าวดีปี 56 พนง.ได้โบนัสแน่
นายพิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมการบริหาร และประธานจัดทำแผนยุทธศาสตร์การฟื้นฟู ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า ได้เข้ารายงานแผนการฟื้นฟูให้แก่กระทรวงการคลังรับทราบแล้ว โดยจะไม่มีการควบรวมกับธนาคารออมสิน และจะดำเนินการตามแผนการฟื้นฟูระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเบื้องต้น จะขอให้ภาครัฐเพิ่มทุนให้ 3,000-6,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลที่มีอยู่ 39,000 ล้านบาทในปัจจุบัน โดยแบ่งเป็นหนี้จากโครงการรัฐ จำนวน 7,000 ล้านบาท และหนี้รายย่อย จำนวน 10,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ตามแผนการฟื้นฟูจะมีการลดหนี้เอ็นพีแอล จาก 39,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของสินเชื่อรวม 1 แสนล้านบาท ให้เหลือ 28,000 ล้านบาท ในปี 2556 หรือคิดเป็นร้อยละ 30 และลดเหลือ 23,000 ล้านบาท ในปี 2557 และเหลือ 17,000 ล้านบาท ในปี 2558
โดยจะใช้วิธีการปรับปรุงการทำงานของบุคลากร และระบบไอทีของธนาคาร เพื่อให้สามารถติดตามหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งในส่วนของหนี้เสียได้ให้แนวทางในการจัดการหนี้เสียให้กลับมาเป็นหนี้ดี ด้วยการเจรจากับลูกหนี้เพื่อให้มาชำระหนี้ ซึ่งเชื่อว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่ของธนาคารซึ่งมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเป็นที่ดิน และอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น จะมีการชำระคืน ซึ่งธนาคารพร้อมเจรจาลดดอกเบี้ย ยกเว้นสินเชื่อรายย่อยที่มีวงเงินกู้ต่ำกว่า 1 ล้านบาทที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ส่วนลูกหนี้ที่ไม่สามารถเจรจาชำระหนี้ได้ ธนาคารจะตัดขายหนี้ส่วนนี้ออกไป
ส่วนการปล่อยสินเชื่อใหม่จะเน้นการปล่อยตามนโยบายของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะคิดอัตราดอกเบี้ยอย่างสมเหตุสมผลไม่ต่ำจนเกินไปจนกระทบฐานะธนาคาร และไม่สูงเกินไปจนกระทบความสามารถทางการแข่งขัน โดยจะเป็นอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือเอ็มอาร์อาร์ ซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 8 ซึ่งสูงกว่าเดิมอยู่ที่ร้อยละ 4-5 ซึ่งจะช่วยทำให้ธนาคารมีกำไรมากขึ้น พร้อมกับวางหลักเกณฑ์ว่าสินเชื่อใหม่ตามนโยบายภาครัฐห้ามมีหนี้เสียเกินร้อยละ 15 ของสินเชื่อรวม และมีเอ็นพีแอลของสินเชื่อที่ธนาคารปล่อยกู้เองไม่เกินร้อยละ 7 ส่วนอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือบีไอเอส ขณะนี้ติดลบร้อยละ 0.95 โดยเชื่อว่า แผนการฟื้นฟูนี้จะเริ่มเห็นทิศทางที่ดีขึ้นต่อผลประกอบการของธนาคารตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีนี้
ส่วนกระแสข่าวที่ว่ามีลูกค้ามาถอนเงินจากธนาคารนั้น ยืนยันว่า เป็นภาวะปกติไม่ได้มีความวิตกกับฐานะการเงินของธนาคาร ซึ่งธนาคารได้ชี้แจงต่อลูกค้าจนเกิดความเข้าใจ และไม่ต้องการให้ลูกค้าเชื่อข่าวลือที่แพร่สะพัดในช่วงนี้
**คลังมั่นใจสางหนี้เน่าหมดในปีนี้ พนง.เตรียมเฮ! ได้โบนัสแน่
ด้านนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหนี้เสียของเอสเอ็มอีแบงก์ โดยพบว่า ล่าสุด ได้รับข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รวมถึงผู้บริหารของเอสเอ็มอีแบงก์แล้วถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งคาดว่าจะสรุปแผนการฟื้นฟูอย่างเป็นทางการภายในสัปดาห์นี้ โดยมั่นใจว่าภายในปีนี้ เอสเอ็มอีแบงก์จะพลิกฟื้นได้ดีขึ้น โดยจะลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ประมาณ 1 ใน 4 จากปัจจุบันที่มีเอ็นพีแอล 31,900 ล้านบาท และจะขยายสินเชื่อในปีนี้อีกร้อยละ 5 จากปัจจุบัน 96,700 ล้านบาท และจะมีโบนัสให้แก่พนักงานอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้กระทรวงการคลังยังไม่มีแผนการควบรวมกิจการของเอสเอ็มอีแบงก์ กับธนาคารออมสิน แต่จะเพิ่มความเข้มข้นในการบริหาร แยกชั้นหนี้ออกจากกัน ซึ่งจะทำให้ฐานะของธนาคารดีขึ้นภายในปีนี้อย่างแน่นอน โดยยังไม่จำเป็นต้องนำเงินจากภาครัฐมาเพิ่มทุน
สำหรับผลประกอบการของเอสเอ็มอี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2555 เอสเอ็มอีแบงก์มีสินทรัพย์ 98,700 ล้านบาท มีหนี้สิน 96,300 ล้านบาท มีสินเชื่อคงค้าง 96,700 ล้านบาท มีหนี้เสีย 31,900 ล้านบาท หรือร้อยละ 33 ของหนี้ทั้งหมด มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) อยู่ในระดับต่ำมากเพียง 1 เท่า