“คลัง” เร่งแก้หนี้เสีย “ธพว.-ไอแบงก์” เตรียมเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อให้นำไปฟื้นฟูกิจการ “อารีพงศ์” ยอมรับ “เอ็นพีแอล” ทั้ง 2 แบงก์เกิน 50% ของสินเชื่อ แต่จะค่อยๆ เติมเงินเข้าไปอุ้ม โดยไม่ใส่ไปทีเดียว พร้อมระบุแผนควบรวมกิจการของธนาคารทั้ง 2 แห่งเข้ากับธนาคารรัฐอื่นๆ จะตัดสินใจทำดีหรือไม่ เพราะจัดตั้งมาเกือบ 10 ปี และเคยมีบทบาท และฐานลูกค้าที่น่าเสียดาย ซึ่งในจำนวนธนาคารรัฐทั้ง 8 แห่ง ก็มีปัญหาแค่ 2 แห่งเท่านั้น
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เตรียมงบประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการฟื้นฟูธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 2 แห่งคือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ที่กำลังประสบปัญหากับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระดับสูง และอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ โดยกระทรวงการคลังกำหนดให้ธนาคารรัฐทั้ง 2 แห่งเสนอแผนเข้ามาภายในสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา จากนั้นสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะวิเคราะห์ความเหมาะสมว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป
นายอารีพงศ์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาลำดับแรกของธนาคารคือ การแก้ไขปัญหาหนี้เอ็นพีแอลที่สูงถึงร้อยละ 50 ของสินเชื่อ โดยจะต้องให้ความสำคัญกับลูกค้าของธนาคาร ด้วยการเข้าไปดำเนินการปรับโครงการสร้างหนี้ เพื่อรักษาลูกค้าไว้ก่อน แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนที่กำหนด จึงหาแนวทางอื่นมาเสริม แต่ก็ยังไม่ใช่ข้อสรุปการควบรวมกิจการกับธนาคารรัฐอื่นๆ เพราะ ธพว.ถือเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ตามนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับเอสเอ็มอีมาก ซึ่งในระหว่างการฟื้นฟู ธพว.นั้นก็จะใช้กลไกให้บรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาเป็นกลไกในการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีไปพลางก่อน
“ก็ยังไม่ชัดเจนว่าเราจะควบรวมกิจการของธนาคารทั้ง 2 แห่งเข้ากับธนาคารรัฐอื่นๆ หรือไม่ เพราะธนาคารจัดตั้งมาเป็น 10 ปี ก็มีบทบาทและฐานลูกค้าที่น่าเสียดาย ซึ่งในจำนวนธนาคารรัฐทั้ง 8 แห่ง ก็มีปัญหาแค่ 2 แห่งเท่านั้น จึงเตรียมวงเงินที่จะเพิ่มทุนไว้ หากจำเป็นต้องใส่เงินเข้าไปก็จะค่อยใส่ทีละนิดแต่ละจุดที่เป็นปัญหามากกว่าการทุ่มเข้าไปทีเดียว”