xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์รัฐเข้าคิวเจ๊ง ส่อเกิดวิกฤตต้มยำปู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติรัตน์ ณ ระนอง
สะเก็ดไฟ

ข้ออ้างของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ที่ออกมาเป็นลูกคู่ให้กับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในการให้เหตุผลเกี่ยวกับการควบรวมกิจการระหว่าง ธนาคาร SME กับธนาคารออมสินว่า

เป็นไปตามข้อเสนอของเวิลด์แบงก์นั้นเป็นเรื่องที่ชวนหัวร่ออย่างยิ่ง และอาจเรียกได้ว่าเป็น “ไวต์ลาย” เล็ก ๆ อีกครั้งหนึ่งของกิตติรัตน์และยิ่งลักษณ์ สองคู่หูจากแก๊งโฟร์ซีซั่นส์ โดยใช้กลยุทธ์พูดความจริงครึ่งเดียว เอาแต่ได้เข้าตัวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ทั้งนี้หากพิจารณาไส้ในของธนาคาร SME จะพบว่ามีปัญหาสถานะการเงินจากการปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพิษค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่ธนาคาร SME ต้องเข้าไปอุ้มธุรกิจ SME ในการปล่อยสินเชื่อจนเกิดปัญหาหนี้เน่าพุ่งกระฉูดตามมา

ภายในปีครึ่งจากหนี้เสียอยู่ที่ 15,000 ล้านบาทในปี 2554 ทะยานขึ้นเป็น 4 หมื่นล้านบาทในปีนี้อย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มสูงขึ้นเกือบสองเท่าตัวเลยทีเดียว ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากการปล่อยสินเชื่อเพื่อชะลอการเลิกจ้างตามแนวทางของรัฐบาลเพื่อรองรับผลกระทบจากค่าแรง 300 บาทนั่นเอง

ดังนั้น การที่ยิ่งลักษณ์จะตีหน้าซื่อทำท่างงเมื่อถูกถามว่าธนาคาร SME เจ๊งเพราะนโยบายประชานิยมพ่นพิษแล้วอ้างว่าไม่เกี่ยวกัน แต่เป็นข้อเสนอของเวิล์ดแบงก์จึงฟังไม่ขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากย้อนไปดูข้อเสนอของเวิลด์แบงก์จะเห็นชัดเจนว่าสิ่งที่องค์กรแห่งนี้แนะนำรัฐบาลไทย คือ การใช้จ่ายอย่างมีวินัยการเงินการคลังที่เคร่งครัด ด้วยการลดประชานิยมที่จะกระทบต่อธนาคารรัฐ

สุดท้ายนโยบายประชานิยมก็ทำให้สถานะทางการเงินของธนาคารรัฐมีปัญหาตามมาจริงๆ

จากรายงานติดตามภาวะเศรษฐกิจไทย ฉบับที่ 1 ปี 2555 เวิลด์แบงก์ได้ส่งสัญญาณเตือนไทยให้เตรียมพร้อมรับมือเศรษฐกิจโลกป่วน พร้อมกับแนะรัฐบาลเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงลดโครงการประชานิยมลง เนืิ่องจากมีปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกประเทศ

โดยปัจจัยภายนอกคือความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ที่อาจส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจไทยได้หากตั้งรับไม่ดีพอ ขณะเดียวกัน ปัจจัยภายในประเทศแม้ไทยจะมีภาคการเงินที่เข้มแข็งและทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่จะกระทบต่อสถานะทางการเงินของธนาคารรัฐที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือตอบสนองนโยบายของรัฐบาล

เวิลด์แบงก์เสนอรัฐบาลไทยด้วยว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการ คือ ทบทวนนโยบายของภาครัฐที่มีต้นทุนที่สูงแต่ช่วยเพิ่มผลิตภาพของเศรษฐกิจไม่มากนัก เนื่องจากมีนโยบายประชานิยมถึง 9 นโยบาย คิดเป็นรายจ่ายประมาณ 3% ของจีดีพี และคาดว่ารายได้รัฐสูญเสียไป 1.5% ของจีดีพีในปี 2555 ประเทศไทยต้องมีช่องว่างทางการคลังให้เพียงพอเพื่อการลงทุนและเป็นตัวรองรับในกรณีเกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจากการประมาณการ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2555 จะอยู่ที่ระดับ 48.7% เพิ่มเป็น 50.7% ในปี 2556

ทำไม กิตติรัตน์และยิ่งลักษณ์ จึงไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของเวิลด์แบงก์ที่ให้ลดโครงการประชานิยมที่จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ แต่กลับกระดี๊กระด๊าพร้อมควบรวมกิจการระหว่างธนาคาร SME กับธนาคารออมสิน

ถ้าไม่ใช่เพราะมีแผนที่จะทุบเงินออมของเด็กมาผลาญกับโครงการประชานิยมที่กำลังทำประเทศชาติล่มจมต่อไป หลังจากทำธนาคาร SME เจ๊งจนใกล้เข้าสู่ภาวะล่มสลายเต็มที

ที่สำคัญคือ เวิลด์แบงก์ย้ำหนักหนาในรายงานดังกล่าวว่า รัฐบาลไทยจะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องช่องว่างทางการคลังให้เพียงพอเพื่อรองรับเศรษฐกิจโลกด้วย

คำว่า “เตรียมความพร้อมในเรื่องช่องว่างทางการคลัง” หมายถึง รัฐบาลต้องมีวินัยทางการเงินการคลัง และมีความรอบคอบในการใช้จ่ายแทนที่จะใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยไปกับนโยบายประชานิยมที่ไม่สร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นภาระทางการเงินที่หนักหนาสาหัสสำหรับประเทศไทยด้วย โดยในรายงานดังกล่าวเวิลด์แบงก์ยังคำนวณด้วยว่าหนี้สาธารณะของประเทศไทยจะทะลุ 50% ในปี 2556 นี้

แต่แทนที่รัฐบาลจะดำเนินการตามคำแนะนำของเวิลด์แบงก์ กลับเตรียมที่จะออก พ.ร.บ.เงินกู้อีก 2.2 ล้านล้านบาท แถมไวต์ลายประชาชนว่าจะดูแลไม่ให้หนี้สาธารณะเกิน 50% ด้วย ทั้งๆ ที่จากการคาดการณ์ของเวิล์ดแบงก์ก็ยืนยันชัดเจนว่ายังไม่รวมหนี้ก้อนยักษ์ดังกล่าว หนี้สาธารณะไทยก็เกิน 50% อยู่แล้ว เมื่อพอกหนี้ใหม่เข้าไปอีก 2.2 ล้านล้านบาท แม้จะทยอยกู้ภายใน 7 ปีก็ไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะดูแลไม่ให้หนี้สาธารณะเกิน 50% ดังที่ ยิ่งลักษณ์ ออกมาโม้

ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้จึงมีหลายปัจจัย ทั้งปัญหากับสถานะทางการเงินของธนาคารรัฐโดยปรากฏความล่มสลายของธนาคาร SME ให้เห็นเป็นยอดภูเขาน้ำแข็งแล้ว ยังน่าจะมีอีกหลายธนาคารที่รอจ่อคิวเจ๊งด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธ.ก.ส.ที่แบกภาระโครงการรับจำนำข้าวเอาไว้ จนแทบจะกระอักออกมาเป็นเลือดอยู่แล้ว ในขณะที่กระทรวงการคลังก็หมดปัญญาไปค้ำประกันเงินกู้ให้กับ ธ.ก.ส. ต้องบีบให้ ธ.ก.ส.ไปตายเอาดาบหน้าด้วยการกู้เงินเอง

นอกจากนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังนำเศรษฐกิจชาติไปเสี่ยงกับการกู้เงินอีก 2.2 ล้านล้านบาท ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว และมีแนวโน้มว่าอาจแย่หนักกว่าเก่า

แทนที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจไทย กลับลากชาติลงเหวด้วยการ “กู้มาผลาญ” ซึ่งจะทำให้ไทยมีหนี้ท่วมประเทศในระยะเวลาอันใกล้นี้ ไม่แตกต่างจากยอดหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น จนเกิดปัญหาการผิดนัดชำระเงินกู้ตามมาในที่สุด

พี่ชายนักโทษเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่นำไทยไปเป็นทาสไอเอ็มเอฟ บริหารเศรษฐกิจผิดพลาดจนเงินสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอนำไปสู่ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” วันนี้น้องสาวไม่น้อยหน้ากำลังพาไทยไปสู่ “วิกฤตต้มยำปู” ต่างกันแค่ว่าเปลี่ยนจากความล่มสลายของสถาบันการเงินเอกชนมาเป็นธนาคารของรัฐเท่านั้น
 

และสุดท้ายผู้ที่ต้องแบกรับภาระไปเต็มๆ คือ ประชาชนคนกินข้าวแกงอย่างเราๆ ท่านๆ ที่ต้องถูกนำเอาภาษีจากหยาดเหงื่อแรงงานที่มีไปสังเวยกับประชานิยมบ้าคลั่งที่กำลังจะทำประเทศชาติล่มจม
กำลังโหลดความคิดเห็น