xs
xsm
sm
md
lg

จับตายุบเอสเอ็มอีแบงก์แก้หนี้เสีย คาดดันควบออมสิน-เล็งชง “กิตติรัตน์” ตัดสินใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติรัตน์ ณ ระนอง
“คลัง” เล็งเสนอ “กิตติรัตน์” สางปัญหาหนี้เน่า “เอสเอ็มอีแบงก์” จับควบรวมแบงก์ออมสิน ยอมรับเอ็นพีแอลเต็มแบงก์ “ทนุศักดิ์” ใจดียังให้โอกาสแก้ตัว บอร์ดไอแบงก์ การันตีเอ็มดีคนใหม่ทำงานดี ไม่มีปัญหาแน่

แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เสนอแผนการควบรวมธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธพว. หรือเอสเอ็มอีแบงก์ เข้ากับธนาคารออมสิน ให้แก่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง พิจารณาตัดสินใจ เนื่องจากเอสเอ็มอีแบงก์มีปัญหนี้เสียที่เกิดจากปล่อยสินเชื่อตามนโยบายรัฐจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกวัน

โดยล่าสุด หนี้เสียของเอสเอ็มอีแบงก์อยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท จากสินเชื่อทั้งหมด 9.7 หมื่นล้านบาท เป็นหนี้ที่คาดว่าจะแก้ไขได้ 1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ที่เหลือ 3 หมื่นล้านบาท เป็นหนี้ที่แก้ไขไม่ได้ และต้องดำเนินการฟ้องร้อง

ทั้งนี้ สศค. ยังได้ระบุในแผนว่า หากปล่อยให้เอสเอ็มอีแบงก์แก้ปัญหาด้วยตัวเองต่อไป หนี้เสียก็จะยังอยู่ในระดับสูง 40-50% ของหนี้ทั้งหมดต่อไป จะทำให้เป็นภาระงบประมาณอีกจำนวนมากในการเข้าไปเพิ่มทุน เพื่อแก้ปัญหาหนี้เสีย และสร้างความแกร่งให้แก่ธนาคาร

สำหรับการให้เอสเอ็มอีแบงก์ไปควบรวมกับธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นสถาบันการเงินของรัฐที่มีความเข้มแข็ง มีสินทรัพย์ถึง 2 ล้านล้านบาท สินเชื่อกว่า 1 ล้านล้านบาท มีหนี้เสียเพียง 0.9% ของหนี้ทั้งหมดเท่านั้น หากจะมีหนี้เสียเพิ่มจากการควบรวมกับเอสเอ็มอีแบงก์อีก 3-4 หมื่นล้านบาท ก็จะทำให้หนี้เสียของธนาคารออมสินเพิ่มขึ้นเป็น 1.2% ของหนี้ทั้งหมด ซึ่งถือว่าต่ำมาก

“ตอนนี้เอสเอ็มอีแบงก์ไม่ได้เร่งกระบวนการสรรหากรรมการผู้จัดการคนใหม่ เพื่อรอความชัดเจนจากกระทรวงการคลัง เรื่องการให้ไปควบรวมกับธนาคารออมสิน โดยหาก รมว.คลังเห็นชอบ ก็ไม่จำเป็นต้องสรรหากรรมการผู้จัดการคนใหม่”

ด้าน นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง กำกับดูแลเอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการฟื้นฟูเอสเอ็มอีแบงก์จะเสนอแผนฟื้นฟูมาให้พิจารณาตั้งแต่เดือน ธ.ค.2555 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่เห็นส่งมา ซึ่งจะต้องสอบถามว่ามีปัญหาอะไร และจะสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้หรือไม่

สำหรับการแก้ไขปัญหาโดยการควบรวมกับธนาคารออมสิน เห็นว่า ควรให้เอสเอ็มอีแบงก์แก้ปัญหาไปก่อนว่าทำได้ตามแผนหรือไม่ หากไม่ได้ก็ต้องมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะดำเนินการแก้ไขด้วยแนวทางไหนต่อไป

นายมนัส แจ่มเวลา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เปิดเผยว่า คณะกรรมการได้สอบถามปัญหาการบริหารงานของกรรมการผู้จัดการคนใหม่ และได้รับการยืนยันว่า ได้พยายามปรับเปลี่ยนการบริหารงานของธนาคารใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ได้สร้างปัญหาจนทำให้ธนาคารเดินหน้าไม่ได้จนเกิดความเสียหายต่อธนาคาร ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่มีการเปลี่ยนแปลงอาจจะมีผู้บริหาร หรือพนักงานบางส่วนปรับตัวไม่ได้

สำหรับการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อของธนาคารนั้น ก็ถือเป็นหน้าที่ของกรรมการผู้จัดการคนใหม่ที่จะเข้าไปดูแลให้เกิดความรัดกุมขึ้น แม้ว่าสินเชื่อที่มีการอนุมัติไปแล้ว แต่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงจนทำให้การปล่อยสินเชื่อไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ทางธนาคารก็มีเหตุผลที่จะเข้าไประงับจ่ายเงินงวด เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่ายังปล่อยสินเชื่อนั้นต่อไปได้หรือไม่ เป็นการปรับการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ตอนที่คณะกรรมการเลือกกรรมการผู้จัดการคนนี้เข้ามาทำงาน เชื่อว่าเป็นคนมีความสามารถ ไม่น่าจะมีปัญหาอย่างที่ถูกกล่าวหาว่าบริหารไม่เป็น ไม่มีความรู้เรื่องธนาคารจนทำให้เกิดความเสียหาย” นายมนัสกล่าว

อย่างไรก็ดี มีกระแสข่าวว่า กรรมการผู้จัดการคนใหม่ไม่มีความรู้ด้านการเงิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธนาคารอย่างหนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น