“กิตติรัตน์” ยอมรับ 2 แบงก์รัฐ “เอสเอ็มอี-ไอแบงก์” เดี้ยง! ตัวเลขหนี้เน่าท่วมแบงก์จริง หวั่นประชาชนแห่ถอนเงิน ลั่นจะดูแลผู้ฝากเงินทุกบัญชีหากเป็นหนี้ที่เกิดจากนโยบาย “รบ.ชุดนี้” พร้อมจัดสรรงบฯ ให้อย่างเต็มที่ ส่วนผลขาดทุนที่เกิดจาก “รบ.ในอดีต” ก็ต้องเข้าไปดูแลเช่นกัน วอนอย่าตื่นตระหนก พร้อมยอมรับหนี้เสียของทั้ง 2 แบงก์มีบางส่วนสะสมไว้มานาน ไม่เหมือนแบงก์พาณิชย์ที่หากเกิดปัญหาจะแก้ไขทันที
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลจะดูแลเงินฝากของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) อย่างเต็มที่หากมีปัญหาจากหนี้เสียที่เกิดขึ้นจำนวนมากในขณะนี้ จึงไม่ต้องการให้ผู้ฝากเงินตื่นตระหนก
สำหรับความเสียหายที่เกิดจากการปล่อยสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาลของธนาคารทั้ง 2 แห่ง หากเป็นของรัฐบาลชุดนี้จะได้รับการจัดสรรงบประมาณชดเชยให้เต็มที่ ส่วนผลขาดทุนที่เกิดจากรัฐบาลในอดีต ก็ต้องเข้าไปดูแลเช่นกัน
ทั้งนี้ เอสเอ็มอีแบงก์ มีหนี้เสียสูงถึง 3.9 หมื่นล้านบาท หรือกว่า 40% ของหนี้ทั้งหมดที่มีอยู่ 9.7 หมื่นล้านบาท มีกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงติดลบ 0.95% ขณะที่ไอแบงก์นั้นปัจจุบันมีหนี้เสีย 2.47 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 22.5% เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 4.6% ต่ำกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดว่าต้องมีไม่ต่ำกว่า 8.5%
นายกิตติรัตน์ เปิดเผยว่า หนี้เสียของธนาคารรัฐทั้ง 2 แห่ง บางส่วนสะสมไว้มานาน ไม่เหมือนธนาคารพาณิชย์เอกชนหากเกิดปัญหาจะแก้ไขทันที เพราะเอกชนจะตื่นตัวกว่าธนาคารของรัฐ ไม่ปล่อยให้สะสม แต่ในส่วนธนาคารรัฐมีระเบียบ และมีหน่วยงานที่ดูแลดีอยู่แล้วคือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จึงไม่จำเป็นต้องปรับแก้ระเบียบอะไรในขณะนี้
นายกิตติรัตน์ เปิดเผยอีกว่า ด้านข้อเสนอของธนาคารโลกที่ให้ควบรวมเอสเอ็มอีแบงก์กับธนาคารออมสินนั้น ต้องพิจารณาให้รอบคอบ และต้องปรับปรุงปัญหาหนี้เสียให้ดีขึ้นก่อน ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไข
“ปัญหาหนี้เสียของไอแบงก์ เป็นเรื่องปกติของแบงก์ในโลกที่มักมีปัญหาหนี้เสีย เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการแก้ไข โดยขณะนี้ นายธานินทร์ อังสุวรังษี กรรมการผู้จัดการไอแบงก์คนใหม่ กำลังเข้ามาดูแลเรื่องนี้ และเป็นการแก้ปัญหาธนาคารเพื่อให้ดีขึ้น” นายกิตติรัตน์ กล่าว