xs
xsm
sm
md
lg

ผวา “อีโคคาร์” จุดชนวนวิกฤตหนี้เสีย คาดได้เห็นสัญญาณ เม.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
ลีสซิ่ง “กสิกร” ผวาหนี้เสียนโยบาย “รถยนต์คันแรก” เกาะติดกลุ่มลูกค้า “อีโคคาร์” จำนวนเกือบ 1 แสนรายเพราะมีความสามารถในการผ่อนชำระน้อย โดยเลือกการดาวน์น้อยผ่อนนาน บางรายวางเงินดาวน์เพียง 5-10% แต่มีระยะเวลาการผ่อนถึง 72 เดือน คาดได้เห็นสัญญาณ เม.ย.นี้ พร้อมระบุหากเอ็นพีแอลรุนแรงอาจเป็นหนี้สูญกระทบสถาบันการเงิน ประเมินเบื้องต้นสูงกว่า 1.32%

นายอิสระ วงศ์รุ่ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด กล่าวยอมรับว่ามีความเป็นห่วงปัญหาหนี้เสียจากสินเชื่อรถยนต์คันแรก โดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มรถยนต์ประหยัดพลังงาน (อีโคคาร์) ที่มีความสามารถในการผ่อนชำระน้อย โดยเลือกการดาวน์น้อยผ่อนนาน บางรายวางเงินดาวน์เพียงร้อยละ 5-10 แต่มีระยะเวลาการผ่อนถึง 72 เดือน ซึ่งมีประมาณ 96,000 คัน

นายอิสระกล่าวว่า สาเหตุเพราะลูกค้าบางรายซื้อรถยนต์เพราะต้องการได้สิทธิคืนภาษี แต่ไม่ได้ประเมินว่าจะมีรายได้เพียงพอต่อการผ่อนชำระหรือไม่ เพราะยอดเงินผ่อนชำระขั้นต้นประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ประกอบกับลูกค้าคาดหวังว่าจะนำเงิน 80,000-100,000 บาทจากการคืนภาษีมาใช้ในการชำระเงินต้น แต่ในทางปฏิบัติลูกค้าอาจนำเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายด้านอื่นๆ จนหมดทำให้กระทบต่อแผนการผ่อนชำระโดยเฉพาะในระยะยาว คาดว่าจะเห็นปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นชัดเจนในเดือนเมษายน 2556 นี้ ส่งผลให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของระบบจะสูงกว่าร้อยละ 1.32 ซึ่งหากเป็นหนี้เอ็นพีแอลรุนแรงจนกลายเป็นหนี้สูญอาจจะกระทบต่อการตั้งสำรองให้เพิ่มขึ้นได้

“ปีนี้หนี้เสียในระบบน่าจะปรับขึ้น เพราะจากนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรก โดยเฉพาะอีโคคาร์ที่ดาวน์น้อยกว่าร้อยละ 20 หรือผ่อนมากกว่า 72 เดือน น่าจะเป็นกลุ่มที่ต้องติดตาม จะมีปัญหาในการชำระหนี้ ต้องรอดูหลังรัฐบาลคืนเงินจะมี 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่นำเงินมาชำระงวดต่อ หรือกลุ่มที่นำเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่น ทำให้ไม่มีเงินชำระค่างวด”

อย่างไรก็ตาม นายอิสระกล่าวว่า อานิสงส์จากนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกยังต่อเนื่องมาถึงการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ในปีนี้มีจำนวนรถยนต์อีก 500,000-600,000 คันจากนโยบายรถยนต์คันแรกที่ยังไม่ได้ส่งมอบ ทำให้คาดว่าภาพรวมการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ในปีนี้จะสูงถึง 1.1-1.2 ล้านคัน หรือคิดเป็นเม็ดเงินสินเชื่อ 1.05-1.1 ล้านล้านบาท เติบโตร้อยละ 27-33 จากปีก่อนอยู่ที่ 800,000-900,000 ล้านบาท และส่งผลต่อไปถึงธุรกิจต่อเนื่อง เช่น ธุรกิจประกันภัย


กำลังโหลดความคิดเห็น