‘เอสเอ็มอีแบงก์’ เร่งเดินหน้าแผนฟื้นฟูหนี้เสีย มั่นใจภายใน 3-5 ปีข้างหน้า สำเร็จตามเป้า ประกาศสิ้นปีนี้ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่กว่า 1.9 หมื่นล้าน สวนหมัด “เวิลด์แบงก์”ไล่กลับไปดูเจตนาก่อตั้งเสียก่อน เผยลูกค้ายังมั่นใจความแข็งแรง ชูเป็นสถาบันการเงินของรัฐ ไม่มีทางล้ม
นายสุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า แนวทางปรับปรุงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินการตามแผนฟื้นฟูโดยกระทรวงการคลัง ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับปรุงกระบวนการทำงานภายใน พัฒนาระบบไอที และติดตามหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
สำหรับผลการฟื้นฟูตามแผนที่ผ่านมา นับว่าน่าพอใจ คาดจะทำให้ลดหนี้เสียได้ตามเป้าที่วางไว้ กล่าวคือ ในระยะเวลา 3-5 ปีต่อจากนี้ หนี้เสียจะลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันอยู่ประมาณ 39,000 ล้านบาท ในสิ้นปีนี้ (2556) จะเหลือ 28,000 ล้านบาท ปี 2557 ลดเหลือ 23,000 ล้านบาท และในปี 2558 เหลือ 17,000 ล้านบาท หรือประมาณ 10% ของยอดสินเชื่อรวม ขณะที่สินเชื่อใหม่ปีนี้ ตั้งเป้าอยู่ที่ 19,000 ล้านบาท และยอดสินเชื่อรวมถึง 150,000 ล้านบาท โดยจะเน้นปล่อยสินเชื่อไปยังกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย กระจายสินเชื่อให้ทั่วถึงในทุกกลุ่มธุรกิจ และทุกภูมิภาค
รอง กก.ผจก.เอสเอ็มอีแบงก์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้ออกมาให้ความคิดเห็นแนะให้ยุบรวมเอสเอ็มอีแบงก์ เพราะการทำงานไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสถาบันการเงินนั้น อยากจะให้เวิลด์แบงก์กลับไปดูเจตนารมณ์ที่แท้จริงในการก่อตั้งสถาบันการเงินแห่งนี้เสียก่อน ซึ่งตั้งขึ้นไม่ใช่หวังผลเรื่องกำไรเป็นอันดับแรกหรือเป้าหมายสูงสุด แต่มีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายที่ด้อยศักยภาพสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และช่วยนำมาพัฒนา จนเมื่อแข็งแรงแล้ว ยินดีที่ปล่อยไปใช้บริการของสถาบันการเงินพาณิชย์อื่นๆต่อไป ดังนั้น การที่เวิลด์แบงก์จะใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาของธนาคารพาณิชย์ทั่วไปมาชี้วัดเอสเอ็มอีแบงก์ จึงเปรียบเหมือนการพูดความจริงเพียงแค่ครึ่งเดียว
อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงที่ผ่านมา จะมีกระแสข่าวด้านลบเกี่ยวกับธนาคารอย่างต่อเนื่อง ทว่า ลูกค้ายังมีความเชื่อมั่นในความมั่นคงของธนาคาร เนื่องจากเป็นสถาบันการเงินของภาครัฐ ไม่มีทางจะล้มอย่างแน่นอน ดังนั้น จึงไม่เกิดกระแสตื่นขอรีไฟแนนซ์มากจนผิดปกติแต่อย่างใด