xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อย่ากลัวบาทแข็ง ธปท.ชี้ระยะสั้น! กล่อมผู้ส่งออกปรับตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เปิดรับศักราชใหม่ ปรากฏการณ์สกุลเงินภูมิภาคเอเชียปรับตัวแข็งค่าขึ้น รวมถึงเงินบาทไทยเกิดขึ้นจากภาวะนักลงทุนกล้าลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น (Risk on) ในประเทศเกิดใหม่ที่มีการเติบโตที่ดีกว่า ถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่ต่างชาติจะโยกเงินมาลงทุนในแหล่งที่ให้ผลตอบแทนที่ดีและมีศักยภาพ

เงินบาทแข็งค่าขึ้นตามกระแสกลุ่มประเทศในภูมิภาคตั้งแต่ปีใหม่ พอเข้าช่วงกลางเดือน ม.ค.เงินบาทแข็งค่าเร็วขึ้น หลังจากนั้นเงินบาทคงสถานะไว้ที่อันดับ 2 ของเอเชีย ซึ่งอันดับแรกสลับกันไปมาระหว่างรูปีของอินเดียกับริงกิตของมาเลเซีย

ณ วันที่ 30 ม.ค.การเคลื่อนไหวเงินบาทประมาณ 29.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่า 2.89%นับตั้งแต่ปลายปี 55 จนถึงปัจจุบัน ถือเป็นอันดับสองรองจากสกุลเงินรูปีแข็งค่า 2.95% ขณะที่การเคลื่อนไหวระหว่างวัน (วันที่ 30 ม.ค.เทียบกับวันที่ 29 ม.ค.) เงินบาทแข็งค่า 0.30% เป็นรองรูปีเช่นกันที่แข็งค่าสูงสุดถึง 0.65%

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเคลื่อนย้ายเงินทุนจะเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจและยังไม่เห็นสัญญาณการโจมตีค่าเงินหรือเข้ามาในลักษณะทุบราคาชี้นำไปทิศทางใดทิศทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตลาดการเงินต่างคาดการณ์ว่าปี 56 เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียเติบโตค่อนข้างดี ทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามา แต่เงินบาทยังเคลื่อนไหวตามพื้นฐานเศรษฐกิจ จึงไม่มีเจตนาเข้าไปแทรกแซง แต่จะทำต่อเมื่อเงินบาทไม่สอดคล้องพื้นฐานเศรษฐกิจ

อีกทั้งปัจจุบันไทยก็มีมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทอยู่บ้าง อาทิ ต่างชาติลงทุนเป็นเงินบาท ถ้าไม่มี Underlying รองรับ เราจะมีข้อห้าม ทำให้นักลงทุนต่างชาติทำได้เล็กน้อยเท่านั้น และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อดูแลเฉพาะด้านเดียวของเงินทุนไหลเข้าคงไม่ได้เห็นได้จากฮ่องกงมีดอกเบี้ยต่ำเท่ากับสหรัฐ แต่เงินไหลเข้าอยู่ จึงควรใช้อัตราดอกเบี้ย เพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงินและควรผสมผสานเครื่องมือให้เหมาะสถานการณ์ดีกว่า

ผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน แบงก์ชาติ ยืนยัน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เงินบาทจะดีดตัวในระยะสั้นๆ แต่สิ่งเหล่านี้ต้องดูระยะยาว ขณะเดียวกันการทำงานของแบงก์ชาติก็มีการเปรียบเทียบเงินบาทกับสกุลเงินอื่นหลากหลายมิติ ไม่เฉพาะสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอย่างเดียว อีกทั้งต้องดูปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจประเทศนั้นๆ ประกอบด้วย เพราะเศรษฐกิจดีสกุลเงินแข็งค่าเป็นเรื่องปกติ

“ขณะนี้แบงก์ชาติยังไม่มีการใช้มาตรการอะไรมาดูแลค่าเงินบาท แต่เราก็มีมาตรการในมือ ซึ่งดูความเหมาะสมตามสถานการณ์ เพราะการใช้ยาพวกนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย รวมถึงต้องให้ถูกกับโรค โดยหากใช้ยาแรงเกินไปอาจได้รับผลกระทบได้หรือยาอ่อนเกินไปก็อาจจะไม่ได้ผลเลย ฉะนั้น เราต้องมั่นใจว่าเป็นช่วงเวลาที่จำเป็นและขนาดที่เหมาะสม”

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันแบงก์ชาติก็มีผลขาดทุน แต่ในส่วนของผู้ว่าการแบงก์ชาติพยายามพูดเสมอว่าไม่ได้เป็นอุปสรรคในการดูแลค่าเงินบาท เพราะการทำหน้าที่ของธนาคารกลางไม่ใช่บริษัทที่คิดแง่ผลกำไรอย่างเดียว ดังนั้น ปรากฏการณ์อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเป็นเรื่องธรรมชาติไปแล้ว และการทำหน้าที่ของแบงก์ชาติด้วยการต้านกระแสเงินทุนมหาศาลก็เป็นเรื่องที่ยากในยุคนี้ ขณะเดียวกันตอนนี้ภาคธุรกิจไทยก็มีการปรับตัวต่อปรากฏการณ์เช่นนี้ค่อนข้างดีทีเดียว

จึงเริ่มความพยายามแบงก์ชาติที่ทำหน้าที่หลากหลายบทบาทมากขึ้นแทนที่จะมุ่งเป้าหมายไปดูแลค่าเงินบาทเพียงอย่างเดียว ตอนนี้จะเห็นพยายามเป็นตัวกลางประสานธนาคารพาณิชย์เพิ่มเติม เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงเครื่องมือบริหารความเสี่ยงมากขึ้นและทราบถึงกลไกการทำงานและให้รู้ว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่แพง อาทิ ขอลดขนาดธุรกรรมให้เล็กลงให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้าถึงง่ายขึ้น หรือสนับสนุนให้ทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า ซึ่งขนาดของสัญญาเล็กมาก 1,000 เหรียญสหรัฐ เป็นต้น

“ภาคธุรกิจควรทำอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงภาคธุรกิจก็ควรหันมาใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการจ่ายหรือรับชำระสินค้ามากขึ้น เพื่อลดความผันผวนจากค่าเงินได้อีกทางหนึ่ง”

การสร้างเข้าใจให้แก่ภาคธุรกิจถึงหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งภาคธุรกิจยังไม่เข้าใจอีกมากเป็นอีกแนวทางหนึ่งแบงก์ชาติพยายามจะย้ำเสมอ

อาทิ เรื่องผู้ส่งออกสามารถถือครองเงินตราต่างประเทศได้ประมาณ 2 ปี กล่าวคือ ผู้ส่งออกมีระยะเวลาในการรับเงินจากคู่ค้าต่างประเทศได้ภายใน 360 วัน และเมื่อได้รับเงินแล้วต้องนำรายได้ดังกล่าวเข้าไทยทันที แต่สามารถขายรับเป็นเงินบาทหรือเลือกฝากเงินตราต่างประเทศนี้ไว้ในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศของบุคคลไทย(FCD)ได้อีก 360 วัน ซึ่งบัญชีนี้สามารถฝากเงินได้เท่ากับจำนวนรายได้รับมาจากการส่งออกสินค้า โดยไม่จำกัดระยะเวลา เป็นต้น

นอกจากนี้ การออกแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ระยะแรกของปี 55-56 ของแบงก์ชาติก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผ่อนคลายให้การเคลื่อนย้ายเงินทุนสมดุลและลดแรงกดดันเงินบาทแข็งค่าได้ และอีกมุมหนึ่งก็เป็นเปิดทางและเป็นพี่เลี้ยงให้ภาคธุรกิจไทยออกไปสยายปีกในต่างแดนได้ของที่ดีราคาถูก รวมถึงยังได้กระจายการลงทุนหลากหลาย เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้เงินบาทแข็งค่าก็ใช่ว่ามีแต่ผลเสีย แต่ประโยชน์ที่ได้รับจากเงินบาทแข็งค่าก็มีไม่น้อย โดยเฉพาะการซื้อของจากต่างประเทศถูกลงไม่ว่าจะเป็นการซื้อน้ำมัน ซึ่งปีๆ หนึ่งประเทศไทยพึ่งพาส่วนนี้ค่อนข้างมากและระยะหลังราคาค่อนข้างสูง หรือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประเทศ ซึ่งตอนนี้มีความจำเป็นและมีนโยบายที่จะดำเนินการ ฉะนั้นการสั่งซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ จากต่างประเทศในราคาถูกเป็นจังหวะที่ดีในช่วงนี้

ในยุคค่าจ้างแรงงานแพงขึ้นจากการที่รัฐประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วไปประเทศก็ใช้โอกาสนี้สั่งซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศเข้ามา เพื่อช่วยลดปัญหาการใช้แรงงานจากคนได้อีกวิธีหนึ่ง ด้านภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)เองก็สามารถสั่งซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศในราคาถูกเช่นกัน

สิ่งสำคัญในตอนนี้มองเรื่องเงินบาทแข็งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องตื่นมาปรับตัวเอง เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดังนั้น กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลจากเงินบาทแข็งค่าก็ควรมีมาตรการภาษีหรือแนวทางช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มออกมาดูแลมากกว่าที่จะใช้แนวทางเดิมๆ ให้บาทแข็งกลับมาอ่อนค่า จึงต้องเข้าใจความผันผวนสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ฉะนั้นการดูแลแค่ด้านเดียวจะได้ไม่คุ้มเสียเปล่าๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น