xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เร่งแก้บาทผันผวน ส่งสัญญาณผ่อนเกณฑ์ถือครองเงิน ตปท.เพิ่มเติม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท.เร่งแก้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน “ประสาร” เผยพร้อมจะพิจารณาผ่อนเกณฑ์ถือครองเงินตราต่างประเทศให้เอกชนเพิ่มเติม เพื่อดูแลค่าเงินบาท พร้อมยอมรับปัจจุบัน ธปท.ก็อนุญาตให้ผู้ส่งออกถือครองเงินตราต่างประเทศได้นานเป็นปีอยู่แล้ว ส่วนข้อเรียกร้องให้ลดดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินไหลเข้านั้นต้องคิดให้รอบคอบ แนะส่งออกหันใช้สกุลเงินอื่นตกลงซื้อขายสินค้าเพื่อเลี่ยงความเสี่ยงค่าเงินผันผวน

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หากเอกชนหรือผู้ส่งออกจะมีข้อเสนอเพิ่มเติมในการถือครองเงินตราต่างประเทศ เพื่อเพิ่มความสะดวกและบริหารค่าเงินในช่วงที่เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน ธปท.ก็พร้อมจะรับฟัง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ธปท.ก็อนุญาตให้ผู้ส่งออกถือครองเงินตราต่างประเทศได้นานเป็นปีอยู่แล้ว

“เอกชนที่ได้รับผลกระทบ หากมีข้อเสนอะไร จะให้ถือเงินตราต่างประเทศนานขึ้นเราก็จะรับฟัง อะไรที่ไม่กระทบมากหรือเหลือบ่ากว่าแรงเราก็จะพิจารณาผ่อนให้ แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถนัดเอกชนเพื่อหารือผลกระทบบาทแข็งค่าได้ ซึ่งต้องรอทางสภาอุตสาหกรรม หรือ ส.อ.ท.ก่อนว่าจะสะดวกหารือเมื่อไร”

นายประสารกล่าวว่า ค่าเงินบาทปรับอ่อนค่าลงในช่วงนี้น่าจะเป็นผลการปรับตัวของตลาด แต่เศรษฐกิจโลกยังผันผวน เงินบาทจึงยังมีโอกาสผันผวนได้อีก ผู้เกี่ยวข้องค่าเงินควรระวังเพราะยังไม่ชัดเจนว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งชัดเจน

นายประสารกล่าวเสริมว่า ธปท.มีมาตรการติดตามกระแสเงินทุนไหลเข้าอย่างใกล้ชิด ซึ่งจากการติดตามพบว่าถึงแม้นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่เห็นสัญญาณการชี้นำตลาด หรือเก็งกำไร เพราะกระแสเงินทุนมีการไหลเข้า-ออกอย่างรวดเร็วจึงแสดงให้เห็นว่านักลงทุนยังไม่มีความมั่นใจในทิศทางค่าเงินบาทมากนัก ส่งผลให้เงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ขณะนี้มีการปรับตัว และมีแนวโน้มอ่อนค่าลง อีกทั้งธปท. มีข้อจำกัดสำหรับการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดการเงินควรมีความระมัดระวังให้มากขึ้น ผู้ส่งออกอาจเจรจากับคู่ค้าโดยอาจเปลี่ยนไปค้าขายด้วยสกุลเงินอื่น และมีการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน

ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อป้องกันการไหลเข้า เพื่อลดแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการบริหารจัดการค่าเงินเท่านั้น แต่การออกนโยบายการเงินจะต้องพิจารณาในหลายด้านประกอบกัน โดยเฉพาะเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณาอย่างรอบคอบ


กำลังโหลดความคิดเห็น