xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เผยผลหารือ ส.อ.ท.เพื่อทำความเข้าใจ แย้มดูแลบาทไม่ใช้มาตรการที่รุนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล (แฟ้มภาพ)
ธปท.เผยผลหารือ ส.อ.ท.เพื่อทำความเข้าใจ ยันไม่อุ้มค่าเงินบาทตามเสียงเรียกร้องเพราะกระทบกลไกตลาด พร้อมระบุการใช้เครื่องมือในการดูแลค่าเงิน ธปท.จะไม่ใช้แนวทางรุนแรง ซึ่งอาจกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงนี้เริ่มกลับมามีความผันผวนน้อยลง แต่ก็ยังจำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป ส่วนการหารือเรื่องการบรรเทาผลกระทบค่าเงินบาทแข็งร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในวันนี้ เวลา 15.30 น.นั้นคงต้องรับฟังข้อเสนอแนะกันอยู่ เพราะนอกจากการดูแลสถานการณ์ในแต่ช่วงแล้ว จะได้หารือถึงแนวทางที่ควรช่วยกันดูแลในอนาคตด้วยเพราะค่าเงินบาทยังไม่ชัดเจนว่าจะเคลื่อนไหวในทิศทางใด

“การหารือกับ ส.อ.ท.คงต้องพูดคุยกัน แต่จะคาดหวังให้ ธปท.มาอุ้มค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับใดระดับหนึ่งคงไม่ได้ เพราะการผันผวนของค่าเงินบาทมาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยจากต่างประเทศที่หลายประเทศไม่ปฏิบัติตามกฎ ซึ่งเราก็เห็นใจภาคเอกชน แต่เอกชนก็ต้องระมัดระวังในส่วนของเขาด้วย ส่วนเราทางการก็จะระวังในส่วนต่างๆ และพยายามสร้างสมดุลทำให้เงินทุนไหลเข้าและไหลออกสมดุลเป็นธรรมชาติ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการค่าเงินได้ สรุปทั้งสองฝ่ายต้องช่วยกัน” นายประสารกล่าว

นายประสารกล่าวว่า จากการรับฟังข้อเสนอของ ส.อ.ท.ในเบื้องต้นตามแนวคิดที่คุณเจน นำชัยศิริ รองประธาน ส.อ.ท.ชี้แจงผ่านสื่อก่อนหน้านี้ 7 ข้อ จริงๆ ในขณะนี้ ธปท.ก็ทำครบทุกข้อแล้ว ยกเว้นข้อที่อยากให้มีการแยกเงินที่ไหลเข้ามาว่าเป็นเงินลงทุนโดยตรง หรือเงินที่เข้ามาเก็งกำไรนั้นคงทำได้ยาก เพราะในทางปฏิบัติคงลำบาก ส่วนข้อเสนอที่ให้เงินทุนที่ไหลเข้ามาในประเทศไทยต้องลงทะเบียนและแจ้งวัตถุประสงค์การใช้นั้น ในการปฏิบัติคงทำได้ยาก และอาจมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้ รวมถึงอาจจะยุ่งยากในการปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม แม้แนวทางนี้จะถือเป็นมาตรการหนึ่งในการสกัดเงินทุนไหลเข้า แต่คงยังไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับไทย ซึ่งเท่าที่ทราบประเทศจีนได้นำมาใช้ แต่จีนเป็นประเทศเศรษฐกิจปิด ระบบการเงินปิด การจะทยอยเปิดโดยให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาได้ แต่ให้ลงทะเบียนแจ้งวัตถุประสงค์การมาก็อาจจะได้ แต่สำหรับไทยคงไม่เหมาะ เพราะตลาดการเงินไทยไม่ได้พบการเก็งกำไรที่รุงแรง อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

“ในอดีตเคยมีการกู้เงินเข้ามาโดยไม่ทำอะไร รวมถึงที่ไหลมาลงทุนระยะสั้นเพื่อเก็งกำไรนั้นยอมรับว่าเคยมี เรารู้ว่าเป็นใคร รายไหน ในตลาดในวงการเขาก็รู้ ซึ่งเราก็เคยมีการลงโทษสั่งปรับ หรือพยายามไม่ติดต่อ และบางครั้งถึงขั้นยึดใบอนุญาตก็มี แต่ในปัจจุบันหรือในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาถึงจะมีเงินทุนระยะสั้นเข้ามามากขึ้น แต่ก็ยังไม่พบการเก็งกำไรจนผิดปกติจนต้องลงโทษแต่อย่างใด” นายประสารกล่าว

ก่อนหน้านี้ นายเจน นำชัยศิริ รองประธาน ส.อ.ท.ได้เรียกร้องให้ ธปท.ช่วยดูแลผลกระทบค่าเงินบาทแข็ง 7 มาตรการ คือ 1. ให้ ธปท.ดูแลไม่ให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นอย่างผันผวน โดยต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ 2. อย่าให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าคู่แข่งในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซึ่งหากแข็งค่าขึ้นมากกว่า 3% ถือว่าเป็นเรื่องหนักหนา เพราะในมุมมองผู้ประกอบการถือว่าค่าเงินบาทไทยแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแล้ว

3. ให้ปลดล็อกการถือครองเงินตราต่างประเทศ 4. ต้องการให้กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงกลไกและมาตรการต่างๆ มากขึ้น เช่น ให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐลดวงเงินค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมทางการเงิน ลดการป้องกันความเสี่ยงให้มีขนาดเล็กลง กำหนดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมให้เหมาะสม 5. แยกเงินที่ไหลเข้ามาเป็นเงินต่างประเทศที่แปลงเป็นเงินบาทเพื่อมาหาประโยชน์ แล้วสร้างภูมิคุ้มกันให้ชัดเจน 6. สนับสนุนผู้ประกอบการให้ลงทุนในต่างประเทศ และ 7. สนับสนุนการลงทุนภาครัฐและเอกชนโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น