ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -แม้จะเล่นบทยึกยักยืดเยื้อสำหรับ “พรรคเพื่อไทย” ในการกระทำชำเรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยเฉพาะการระดมสมองครั้งล่าสุดในการประชุมพรรคที่เขาขาใหญ่เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา แต่ในท้ายที่สุดแล้ว สังคมก็เห็นร่องรอยและเป้าหมายอันเป็น “ความฝันสูงสุด” เรียบร้อยแล้ว
เมื่อ “นายโสภณ เพชรสว่าง” ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร ที่ “ค้อนปลอมตราดูไบ-นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งออกมาเปิดเผยผลการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้อย่างละเอียดทุกซอกมุม
เป็นข้อเสนอที่ต้องบอกว่า โดนใจนายห้างตราดูไบและคนเสื้อแดงจนนักโทษชายหนีคดีแทบที่จะอดตบรางวัลในเก้าอี้รัฐมนตรีให้กันเสียตั้งแต่ตอนนี้เลยทีเดียว
แต่สำหรับประเทศไทยและประชาชนคนไทยแล้ว ต้องบอกว่า มิได้ก่อให้เกิดประโยชน์เลยแม้แต่น้อย
ประเด็นสำคัญที่นายโสภณภูมิใจ ตั้งใจและเจตนานำเสนอมีอยู่ 2 ประการด้วยกันคือ
หนึ่ง-เดินหน้ารื้อองค์กรอิสระที่เป็นอุปสรรคในการโกงบ้านกินเมืองของนักการเมือง
สอง-เดินหน้าแก้มาตรา 309 เพื่อนิรโทษกรรมให้ นช.ทักษิณ ชินวัตร
นายโสภณประกาศชัดเจนว่า จะเสนอให้มีการยุบ “ศาลรัฐธรรมนูญ” และหันกลับไปใช้ “ตุลาการรัฐธรรมนูญ” โดยให้มีอำนาจเพียงแค่การตีความกฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือการขัดกันระหว่างหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ไม่มีอำนาจตัดสินเรื่องการยุบพรรค
แถมที่มาของตุลาการรัฐธรรมนูญยังมาจากรัฐสภาอีกต่างหาก
แน่นอน เหตุผลที่ต้องยุบศาลรัฐธรรมนูญเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะต้องไม่ลืมว่า ศาลรัฐธรรมนูญคือองค์กรอิสระที่เป็นศัตรูอันร้ายกาจของนักการเมืองชั่ว และระบอบทักษิณที่โกงการเลือกตั้งทั้งเมื่อครั้งที่ยังเป็นพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษายุบพรรคมาแล้วด้วยข้อหามีพฤติกรรมเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
นายโสภณประกาศชัดเจนว่าจะเสนอให้ยกเลิก “ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” พร้อมเสนอให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสินคดีที่เกี่ยวกับการเมืองแทน
คำถามที่สังคมมีต่อนายโสภณก็คือ ผู้พิพากษาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมิใช่ผ่านการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรอกหรือ และโดยข้อเท็จจริงแล้ว ก็มิใช่ว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็มิได้เปิดโอกาสให้มีการอุทธรณ์คดี เพียงแต่ฝ่ายจำเลยจะต้องมี “หลักฐานใหม่” ที่ทำให้ศาลเชื่อถือได้ยื่นเข้าไปประกอบการพิจารณา
แน่นอน เหตุผลที่ต้องล้มศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าจะว่าไปแล้วก็ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะต้องไม่ลืมว่า ผู้ที่เป็นเดือดเป็นร้อนจากคำพิพากษาของศาลก็คือเหล่านักการเมืองชั่ว และถ้านักการเมืองอาสาเข้ามาเพื่อชาติเพื่อบ้านเมืองจริงก็ไม่เห็นที่จะต้องกลัวแต่ประการใด
ทั้งนี้ ตัวอย่างสำคัญของนักการเมืองที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองมีคำพิพากษาก็มิใช่อื่นไกล หากแต่เป็นลูกพี่ใหญ่ของนายโสภณที่มีชื่อว่า “ทักษิณ ชินวัตร” ที่บัดนี้ยังต้องเร่ร่อนเป็นสัมภเวสีจากคดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินรัชดาฯ
เฉกเช่นเดียวกับข้อเสนอให้ลดอำนาจของ “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ” หรือ “ป.ป.ช.” จากเดิมที่ถ้าหากหลังป.ป.ช.ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดฟ้องศาล หากอัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ป.ป.ช.จะสามารถยื่นฟ้องเองได้ กลายเป็น ป.ป.ช.ไม่สามารถยื่นฟ้องได้เหมือนเดิมอีกต่อไป
การลดอำนาจของ ป.ป.ช.แล้วถ่ายโอนอำนาจในการสั่งฟ้องกลับไปที่อัยการสูงสุดจะทำให้สังคมเข้าใจว่าอย่างไร เพราะเป็นรับรู้กันว่า ป.ป.ช.คือองค์กรอิสระที่ตรวจสอบความชั่วของนักการเมืองและลากคอนักการเมืองชั่วมาลงโทษ ขณะที่อัยการสูงสุดมีข้อเคลือบแคลงจากสังคมมากมาย
ดังนั้น ข้อเสนอรื้อองค์กรอิสระดังที่กล่าวมาข้างต้นจึงไม่ต่างอะไรจากการดึงอำนาจเหล่านั้นให้กลับมาอยู่ใต้บาทานักการเมืองอีกครั้ง
สำหรับข้อเสนอเรื่อง “มาตรา 309” ที่นายโสภณออกตัวเอาไว้เสียตั้งแต่ไก่โห่ว่า ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือนายห้างตราดูไบ แต่ต้องการยกเลิกเพราะเป็นมาตราที่สนับสนุนการทำให้รัฐประหารนั้น จริงอยู่ การรัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเกิดในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากพิสูจน์แล้วว่า ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร แต่คำถามสำคัญมีอยู่ว่า จะเชื่อได้อย่างไรว่า นายโสภณมิได้มีวาระซ่อนเร้นอื่นๆ แอบแฝงอยู่
เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาโดยอัตโนมัติหลังจากการเลิกมาตรา 309 ก็คือ คดีความทั้งหลายทั้งปวงของนักโทษชายทักษิณทั้งที่มีคำพิพากษาและยังไม่มีคำพิพากษาจะเป็นโมฆะโดยปริยาย เนื่องจากมาตรา 309 คือกฎหมายที่รับรองอำนาจของ คตส.ในการจัดการกับนักการเมืองชั่วที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549
ทั้งนี้ ถ้าหากนายโสภณต้องการไม่ให้เกิดรัฐประหารอย่างที่ผายลมเอาไว้ ก็มิเห็นจำเป็นที่จะต้องเลิกมาตรา 309 หากแต่สามารถบัญญัติมาตราใหม่ขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะได้
ดังนั้น จึงเป็นที่ชัดเจนว่า นายโสภณเสนอเลิกมาตรา 309 เพื่อหวังผลในการช่วยนักโทษชายทักษิณ เป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ถ้าจะว่าไปแล้วข้อเสนอของนายโสภณไม่ได้แตกต่างจากสาระสำคัญที่นำเสนอผ่านที่ประชุมพรรคเพื่อไทยที่เขาใหญ่เท่าใดนัก ดังจะเห็นได้จากสิ่งที่ “นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวเอาไว้ในงานดังกล่าวว่า “รัฐธรรมนูญมีความพยายามเพิ่มอำนาจองค์กรอิสระ และชัดเจนว่าผู้บริหารองค์การอิสระไม่เชื่อมโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง องค์กรอิสระใช้อำนาจเกินขอบเขต และมุ่งทำลายพรรคการเมืองที่ประชาชนไว้วางใจ รัฐธรรมนูญปี 50 เป็นใจกลางความขัดแย้ง”
หรือแม้กระทั่งข้อเสนอของ “ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง” ก็จะเห็นได้ว่าเป็นไปในท่วงทำนองเดียวกันคือต้องการล้างบางองค์กรอิสระ
ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น
เพราะหลังจากที่นายโสภณเผยผลการศึกษาออกมา ก็มีอีกหนึ่งชุดข้อมูลในลักษณะเดียวกันออกมาสมทบอีกหนึ่งชุดโดยการนำเสนอของ “นายประสพ บุษราคัม” ประธานคณะกรรมการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันของสภาผู้แทนราษฎร ที่ประกาศชัดว่าปรารถนาจะตัดมาตรา 7 ด้วยข้ออ้างว่า ไม่ต้องการให้มีบุคคลมาขอนายกฯ พระราชทานอีก ทั้งๆ ในความเป็นจริงแล้วมาตรา 7 มิได้มีบัญญัติขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว
มาตรา 7 เขียนเอาไว้ว่า...ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ชัดเจนว่า มาตรานี้บัญญัติเอาไว้กรณีที่ประเทศถึงทางตันชนิดที่ไม่มีวิธีใดแก้ไขปัญหาเอาไว้ มิใช่มีไว้เพื่อขอนายกพระราชทานตามมาตรา 7 เพียงอย่างเดียว
ร้ายไปกว่านั้นคือ นายประสพยังเสนอให้องค์กรศาล และองค์กรอิสระต่างๆ ควรผ่านกระบวนการทางสภาฯ ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนในการแต่งตั้งทั้งหมด ทั้ง ป.ป.ช. , กกต. อัยการสูงสุด ศาลปกครอง รวมทั้งตำแหน่งประธานศาลฎีกาด้วย นั่นเท่ากับว่าเป็นการรวบอำนาจอธิปไตยของประเทศไปไว้ในมือนักการเมือง ซึ่งเป็นการทำลายระบบถ่วงดุลอำนาจของประเทศไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้รัฐบาลใช้อำนาจตามอำเภอใจได้มากขึ้น
คำถามมีอยู่ว่า แล้วใครจะกล้าทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร และฝ่ายการเมือง
ผลที่ตามมาคือ ต่อไปการทุจริตคอร์รัปชัน การใช้อำนาจรัฐ การโกงเลือกตั้ง จะทำได้สะดวกขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์คำพูดของนายจารุพงศ์ ร.ต.อ.เฉลิม นายประสพและนำมาเชื่อมโยงกับข้อเสนอที่นายโสภณโยนหินถามทางออกมา ก็เห็นได้ชัดเจนว่า ทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่นักโทษชายทักษิณ ชินวัตรต้องการ
ยิ่งเมื่ออ่านสิ่งที่ นช.ทักษิณให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าวการเมืองของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐก็ยิ่งเห็นชัดเจนถึงความต้องการและเป้าหมายที่บึกทึกเอาไว้ในตารางการทำงานของนักโทษชายหนีคดีได้เป็นอย่างดี
“เชื่อว่าการเมืองปีนี้จะเป็นปีแห่งการเมืองตกผลึก ขอพูดคำว่าตกผลึกทางการเมือง วันนี้ผมเชื่อว่าการชนะเด็ดขาดจะเกิดขึ้นระหว่างพรรคการเมืองที่ใช้ปัญญากับขั้วที่ใช้โวหาร ในเมื่อประชาชนแยกแยะได้แล้วสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและกับตัวเขาเอง อะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง ตรงนั้นจะเป็นการตกผลึก ดังนั้น ปีนี้จะเป็นเรื่องของกระแสการทำประชามติ และปลดล็อกคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ”