xs
xsm
sm
md
lg

“เฉลิม-เพื่อไทย” ดาหน้าล้มองค์กรอิสระ! สนองใบสั่ง “ทักษิณ” ข้อหาก้างขวางคอนักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ชำแหละแนวคิด พ.ต.ท.ทักษิณ จ้องยุบ-ลดอำนาจตรวจสอบถ่วงดุล 6 องค์กรอิสระ ผ่านปาก “เฉลิม-เพื่อไทย” ข้อหาขัดขวางแก้ รธน.ช่วยทักษิณ-ก้างขวางคอนักการเมืองทุจริต โดยอุปสรรคใหญ่สุด คือ ที่มา ส.ว.เหตุนักการเมืองยังคุมส่วนของ ส.ว.สรรหาไม่ได้ ทำให้การให้คุณให้โทษกรรมการในองค์กรอิสระทำได้ไม่เต็มที่ แฉ ทักษิณต้องการคุมอำนาจเบ็ดเสร็จทั้งประเทศ เชื่อเมื่อได้ ส.ส.ร.มาจะเดินหน้าแก้ 9 ข้อทันที

ปรากฏการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในเวลานี้ ไม่เพียงดูศึกระหว่าง 2 พรรคใหญ่ คือ ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย แต่พบว่าศึกภายใน “พรรคเพื่อไทย” นั้นน่าสนใจยิ่ง โดยเฉพาะในเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญ

เหตุผลคือ แม้ทางพรรคจะมีคณะทำงานด้านกฎหมาย และมีการบริหารงานการเมืองในพรรคผ่านคีย์แมน 5 คน ที่รับคำสั่งจาก “นายใหญ่” เป็นหลักแล้ว ในบรรดานักการเมืองรุ่นเก๋า ต่างก็ต้องพยายามเชื่อมต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ และแสดงบทบาทสำคัญ เพื่อชี้นำทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค

ที่น่าจับตาที่สุดคงหนีไม่พ้น “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” รองนายกรัฐมนตรี!

ล่าสุด สดๆ ร้อนๆ คือ ในงานสัมมนาพรรคเพื่อไทย ที่โรงแรมกรีนเนอรี่ รีสอร์ท แอนด์ สปา เขาใหญ่ เมื่อ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา เฉลิม ก็ออกมา “รับใช้นาย” ด้วยการเน้นให้รีบแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะในส่วนขององค์กรอิสระ ทั้งหมด 9 ประเด็น 81 มาตรา

ขณะที่ นายโสภณ เพชรสว่าง ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร ก็เดินหน้าในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน โดยเสนอแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนขององค์กรอิสระผ่านเวทีรัฐสภา

แยกกันเดิน แยกกันตี เป้าหมายเดียวกัน!

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ พรรคเพื่อไทย กำลังใช้ความได้เปรียบในการเป็นรัฐบาล เดินหน้าเพื่อปิดกั้นการตรวจสอบอำนาจรัฐ ยิ่งกว่าสั่งยกเลิกการออกอากาศ “เหนือเมฆ 2” ของทางช่อง 3 เสียอีก

ฝ่ายการเมืองกำลังทำให้เกิดภาวะรัฐเผด็จการ ควบคุมอำนาจเบ็ดเสร็จ?

เพราะสาเหตุที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และชื่อที่ประกาศออกมาว่า จะมีการแก้ไขในอำนาจการทำงานนั้น ล้วนแต่เป็นองค์กรอิสระที่นอกจากจะเป็นองค์กรอิสระที่ขัดขวางการทุจริตของนักการเมือง และข้าราชการระดับสูงแล้ว หลายองค์กรยังเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในการเปลี่ยนประเทศไทยมาเป็นระบอบทักษิณ ที่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองครอบทั้งอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ

ดังนั้น องค์กรอิสระเหล่านี้ คือ ก้างขวางคอชิ้นใหญ่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ

ซ้ำที่ผ่านมายังเป็นตัวเชือด “พ.ต.ท.ทักษิณ” ให้ติดไปอยู่ในคดีความเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการจนต้องหนีคดีความไปอยู่ต่างประเทศเสียอีก

ทั้งแค้น ทั้งเอาคืน!

ฝ่ายบริหารต้องการคุมหมด “นิติบัญญัติ-ตุลาการ”

ศ.ดร.เมธี ครองแก้ว อดีตกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะฝ่ายการเมืองมีความพยายามในการให้องค์กรอิสระหมดสภาพลงไปนานแล้ว โดยความคิดส่วนตัวนั้นก็เห็นว่าองค์กรอิสระเหล่านี้ที่จริงไม่จำเป็นต้องมี อย่างในประเทศพัฒนาแล้วจะไม่มีองค์กรเหล่านี้ แต่ประเทศไทยยังจำเป็นต้องมี ด้วยเหตุของฐานอำนาจ 3 ส่วนของการปกครองไทย ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ยังไม่ทำงานเต็มรูปแบบ

กล่าวคือ อำนาจนิติบัญญัติโดย ส.ส.ของไทยนั้น ยังไม่เคยมีอิสระ และถูกควบคุมจากฝ่ายบริหารอย่างเบ็ดเสร็จ จึงทำให้ ส.ส.ผู้ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการออกกฎหมาย และเป็นผู้รักษากฎหมายไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเอง

“ฝ่ายบริหารมีแนวคิดทำนองว่า พรรคได้สัญญากับประชาชนในตอนหาเสียงเลือกตั้ง และประชาชนให้คะแนนเสียงส่วนมากเลือกพรรคมาแล้ว ดังนั้น พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลจะทำอะไรก็ได้ จึงมีการควบคุมส่วนที่เป็น ส.ส.อีกที ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เพราะการหาเสียงที่สัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งนั้นจริงๆ แล้วทำไม่ได้ และ ส.ส.สามารถแข็งข้อกับพรรคการเมืองได้ในฐานะผู้รักษากฎหมาย”

โจทย์ข้อนี้การทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศไทยจึงไม่สมบูรณ์แบบ เพราะถูกครอบงำและยอมให้ถูกครอบงำโดยอำนาจฝ่ายบริหาร!

สำหรับฝ่ายอำนาจตุลาการ ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นฝ่ายฐานอำนาจที่ไม่ค่อยมีปัญหา และได้รับการยอมรับในความน่าเชื่อถือจากนานาชาติสูง แต่ในความคิดของตัวเองนั้น ยังมองว่า ฝ่ายอำนาจตุลาการยังมีประเด็นที่ว่าในทางกฎหมายแล้ว ผู้พิพากษาจะมีส่วนร่วมได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งพบว่าจะเป็นในลักษณะที่ว่า ถ้าเรื่องยังไม่เกิดอย่าเพิ่งไปทำอะไร ดังนั้นจึงมองว่าในฐานอำนาจฝ่ายตุลาการยังขาดบทบาทเชิงรุกที่ต้องเพิ่มให้มากกว่าเชิงรับอย่างเดียวในปัจจุบัน

ดังนั้น เมื่อฐานอำนาจทั้ง 3 ยังไม่สามารถทำหน้าที่โดยสมบูรณ์ได้ ก็เลยมองว่า “องค์กรอิสระ” ยังจำเป็นต้องมีในประเทศไทย

ฟังเฉลิมเหมือนฟังทักษิณ 9 ข้อเตรียมให้ ส.ส.ร.แก้

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา 1 ในกลุ่ม 40 ส.ว.เปิดเผยว่า ขณะนี้แม้ว่าจะมีการเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนขององค์กรอิสระของคนในพรรคเพื่อไทยที่ยังมีจุดแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่สำหรับการออกมาพูดของ ร.ต.อ.เฉลิม ทุกครั้ง จะเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง เนื่องจากสิ่งที่ ร.ต.อ.เฉลิม พูดนั้นจะเป็นเรื่องความต้องการที่แท้จริงของพรรคเพื่อไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ดังนั้น 9 ข้อที่ ร.ต.อ.เฉลิม พูดถึง จะมีการแก้ไขอย่างแน่นอน เมื่อพรรคเพื่อไทยเดินหน้าการลงประชามติสำเร็จ และมีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาแก้กฎหมาย 9 ข้อนี้จะเป็นประเด็นหลักที่พรรคเพื่อไทยจะแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ยังจะมีประเด็นเพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ อื่นๆ ประกอบด้วย

อย่างไรก็ดี ในส่วนขององค์กรอิสระ จากการเสนอแก้ไขครั้งนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่า เป็นความต้องการทำลายกลไกตรวจสอบถ่วงดุลของฝ่ายการเมือง โดยกลไกที่เป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดของฝ่ายการเมืองในเวลานี้คือ ส.ว.สรรหา

นายไพบูลย์ เปิดเผยว่า ต้องดู ส.ว.ตั้งแต่ปี 2548 ที่ได้มาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 จะเห็นได้ชัดว่า ส.ว.มีฐานเสียงเดียวกันกับ ส.ส.กล่าวคือ ในการเลือกตั้ง ส.ว.จะใช้หัวคะแนนและฐานเสียงเดียวกับฐานเสียงของ ส.ส.ซึ่ง ส.ว.เลือกตั้งส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่นักการเมืองส่งไปลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งมีอยู่ยุคหนึ่งที่เห็นได้ชัดมาก คือ ส.ส.จะส่งคนที่เป็นญาติ หรือคนในครอบครัวมาเป็น ส.ว.แต่เมื่อรัฐธรรมนูญปี 50 กำหนดห้ามไว้ แต่สุดท้ายคนที่สมัคร ส.ว.ก็ยังเป็นเครือข่ายพรรคการเมืองอยู่ดี

ทีนี้รัฐธรรมนูญปี 2550 จึงออกแบบให้มี ส.ว.สรรหา ที่จะมีการสรรหามาจากองค์กรศาลต่างๆ จำนวน 70 คน ซึ่งเป็นจำนวน 50 ต่อ 50 กับ ส.ว.เลือกตั้ง เพื่อให้เกิดกระบวนการถ่วงดุลอำนาจใน ส.ว.เหตุเพราะ ส.ว.มีอำนาจทั้งในการแต่งตั้งกรรมการในองค์กรอิสระ และมีทั้งอำนาจในการถอดถอน หากฝ่ายการเมืองสามารถควบคุมเสียงใน ส.ว.ได้หมด ก็จะมีอำนาจควบคุม แทรกแซงองค์กรอิสระต่างๆ รวมถึงข่มขู่ว่าจะถอดถอนได้ด้วย ซึ่งก็จะเป็นการทำลายระบบตรวจสอบถ่วงดุลในที่สุด

ดังนั้น อย่าแปลกใจที่พรรคเพื่อไทย เสนอให้ ส.ว.ทั้งหมดต้องมาจากการเลือกตั้ง!

เมื่อมาดูในส่วนศาลต่างๆ ที่พรรคเพื่อไทยมีความต้องการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั้นโดยภาพรวม ฝ่ายการเมืองต้องการลดอำนาจศาลต่างๆ โดยให้ศาลที่เป็นองค์กรอิสระเข้าไปสังกัดในศาลที่อยู่ในอำนาจภายใต้การบริหารของกระทรวงยุติธรรม ส่วนนี้นอกจากจะต้องการลดบทบาทแล้ว ยังต้องการควบคุม แทรกแซงองค์กรอิสระฝ่ายยุติธรรมโดยฝ่ายบริหารแบบเบ็ดเสร็จอีกเช่นเดียวกัน

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง-ศาล รธน.แผลลึกในใจ “แม้ว”

ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์แยกส่วนออกมา จะเห็นว่า ในส่วนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นั้น ได้มีบทบาทในการตรวจสอบนักการเมืองอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

หน้าที่หลักของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม รธน.2540 มี 5 ประการสำคัญ คือ คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีเกี่ยวกับการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน คดีเกี่ยวกับการร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ได้แก่ คดีร่ำรวยผิดปกติ คดีมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ, คดีเกี่ยวกับกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ใดถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

คดีสำคัญที่ผ่านมา ได้แก่ คดีทุจริตยาในกระทรวงสาธารณสุข ของนายรักเกียรติ สุขธนะ ปี 2546, คดี ป.ป.ช.ขึ้นเงินเดือนตัวเองโดยมิชอบในปี 2547, ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ ก็โดนคดีในส่วนนี้ตั้งแต่ปี 2550 ทั้งคดีที่ดินรัชดา คดีหวยบนดิน เอ็กซิมแบงก์ ฯลฯ

นายไพบูลย์ เปิดเผยว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนี้ มีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมาก และนักการเมืองค่อนข้างกลัว เนื่องจากมีการพิจารณาคดีที่รวดเร็ว จึงมีความต้องการยุบหน่วยงานนี้ไปอยู่ภายใต้ระบบของศาลฎีกา คือ มีกระบวนการศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ซึ่งจะใช้เวลาในการพิจารณาในหนึ่งคดีเป็น 10 ปี ซึ่งนักการเมืองมองว่าสามารถแก้ไขคดีของตัวเองได้ ผิดกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เมื่อตัดสินว่าผิดก็จะมีความผิดทันที

ในส่วนศาลรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยมีความคิดที่จะลดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไปอยู่ภายใต้ศาลยุติธรรม เพื่อลดอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นศาลสูงที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ปัญหาที่ผ่านมา คือ ในการพยายามแก้กฎหมายเพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ของพรรคเพื่อไทยนั้น ติดขัดในขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญนี้เป็นสำคัญ โดยเฉพาะในการโหวตแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 ของรัฐสภา ที่มีหลายฝ่ายยื่นคำร้องโดยตรงถึงศาลรัฐธรรมนูญให้หยุดกระบวนการดังกล่าว และศาลรัฐธรรมนูญได้เสนอแนะแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับด้วยการให้มีการลงประชามติ ถามความเห็นภาคประชาชนเสียก่อน

เรื่องง่ายๆ ของพรรคเพื่อไทยที่ต้องการอาศัยคะแนนเสียงข้างมากในสภาฯ ในการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จึงเป็นเรื่องยากไปในทันที เพราะต้องไปทำประชามติ ที่ต้องมีเสียงของประชาชนที่มีสิทธิไปลงประชามติเกินกึ่งหนึ่ง และจนกระทั่งเวลานี้ แม้ พ.ต.ท.ทักษิณ จะสั่งให้เดินหน้าลงประชามติ แต่คนในพรรคเพื่อไทยต่างรู้ดีว่าเป็นภาวะเสี่ยงอย่างยิ่ง

ในส่วนของผู้ตรวจการแผ่นดิน นายไพบูลย์ มองว่า แม้มีการเสนอแก้อำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ขนาดยังไม่ได้แก้ พรรคเพื่อไทยยังมีพฤติกรรมการข่มขู่ผู้ตรวจการแผ่นดินอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาในส่วนของผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น มีหลายกรณีที่มีความเห็นที่สามารถฟ้องศาลได้ โดยเฉพาะกรณีหน่วยงานของรัฐกระทำความผิด

โดยผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น ที่ผ่านมา เป็นบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากผู้ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชน มีความรอบรู้และมีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน วิสาหกิจ หรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี หน้าที่สำคัญสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ในกรณีที่เห็นว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ และสามารถยื่นคำร้องต่อศาลปกครองได้ในกรณีที่คำสั่งของบุคคลใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ และดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ด้วย

อีกทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมีอำนาจตามมาตรา 245 ยังได้ยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ผู้จัดการประมูลคลื่นความถี่ 3G ต่อศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากเห็นว่าการจัดประมูลใบอนุญาตดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เกิดการแข่งขันอย่างเสรี จนทำให้เกิดผลกระทบต่อประโยชน์ของสาธารณชนเป็นหลัก ในขณะที่บริษัทเอกชน 3 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด, บริษัท ดีแทคเนคเวอร์ค จำกัด และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ได้ประโยชน์สูงสุดจากการประมูลครั้งนี้
ป.ป.ช.-กกต.ในอำนาจ ส.ว.เลือกตั้ง

เป็นอีกหนึ่งกลไกตรวจสอบที่ขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ อีกหน่วยงานที่พรรคเพื่อไทยต้องการลดอำนาจลงอย่างยิ่ง!

สำหรับ ป.ป.ช.และ กกต.นั้น พรรคเพื่อไทยต้องการให้ทั้งหมดมาจากการเลือกโดย ส.ว.เลือกตั้งทั้งหมด ดังนั้น จึงเห็นภาพที่ชัดเจนว่าฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายบริหารที่คุมฝ่ายนิติบัญญัติได้แล้ว ต้องการใช้อำนาจแทรกแซงทางการเมืองผ่านฝ่ายนิติบัญญัติในส่วน ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดแบบเบ็ดเสร็จด้วย

เรื่องนี้ ดร.เมธี ครองแก้ว อดีตกรรมการ ป.ป.ช.กล่าวว่า ในขณะดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ ป.ป.ช.จะเห็นได้ว่ามีคดีที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง และข้าราชการระดับสูงจำนวนมาก ที่ผ่านมาพบว่า เมื่อ ป.ป.ช.ส่งคดีความอะไรไปให้สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นคดีใหญ่ๆ ของนักการเมือง ได้แก่ อัลไพน์ รถดับเพลิง ซีทีเอ็กซ์ ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่มีการฟ้องเกิดขึ้นจากสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น

ตรงนี้จึงเห็นว่า อำนาจการฟ้องของ ป.ป.ช.มีความสำคัญ และไม่ควรยกเลิก เพราะกระบวนการยุติธรรมมีช่องโหว่เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายการเมือง และไม่เกิดกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลที่แท้จริง

ดังนั้น ไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่ประชาชนจะได้จากการที่ฝ่ายการเมืองแก้กฎหมายเพื่อยุบ และลดอำนาจองค์กรอิสระ เพราะนักการเมืองทำเพื่อประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุล

ท้ายที่สุดแล้ว นายไพบูลย์ มองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ถูกต้องตามหลักนิติธรรม และไม่ถูกต้องตามหลักการตรวจสอบถ่วงดุล จะแก้อย่างไรก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ เพราะคนหลายฝ่ายคงไม่ยอมให้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ และที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยอย่าลืมว่าจะทำอะไรก็มีแต่สะดุด

“มันไม่ง่ายหรอก”! เป็นเสียงทิ้งท้ายของ ส.ว.สรรหา 1 ในกลุ่ม 40 ส.ว.

หมายเหตุ:

เฉลิมเสนอ 9 ประเด็นครอบองค์กรอิสระ

สำหรับ 9 ประเด็นหลักที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ได้นำเสนอในส่วนของการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อลดทอนอำนาจองค์กรอิสระ ประกอบด้วย

1.ยกเลิกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ยุบรวมเข้าไปอยู่ภายใต้ศาลฎีกา เพื่อให้ทำตามหลักสากล

2.ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

3.ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองให้มีเหมือนเดิมแต่ให้ผนวกรวมเป็นแผนกหนึ่งภายใต้ศาลฎีกา

4.มาตรา 68 ว่าด้วยเรื่องที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าการยื่นฟ้องล้มล้างการปกครองให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยตรงได้หรือไม่

5.ผู้ตรวจการแผ่นดินควรยุบไป ไม่ต้องมี เนื่องจากหน่วยงานดังกล่าวมีแต่รับเรื่องร้องเรียนแต่ไม่มีอำนาจในการฟ้อง

6.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องมาจากการเลือกตั้งของรัฐสภา เนื่องจากองค์กรอิสระต้องสามารถตรวจสอบได้ โดยมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี

7.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องมาจากการเลือกตั้งจากรัฐสภาเช่นเดียวกับ กกต.อยู่ในวาระครั้งละ 4 ปี สามารถตรวจสอบได้

8.เสนอให้ยกเลิก ม.190 ตามรัฐธรรมนูญปี 50 เนื่องจากมาตราดังกล่าวสร้างความยุ่งยากให้การทำงานของรัฐบาล

9.เสนอให้แก้ไข ม.237 เพื่อไม่ให้เกิดการยุบพรรค

7 ม.ค.โสภณ เพชรสว่าง เดินเครื่องแก้ รธน.

7 ม.ค.นายโสภณ เพชรสว่าง ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร ก็ออกมาพูดเรื่องเดียวกัน แต่มีใจความเพิ่มเติมและแตกต่างกับแนวทางของ ร.ต.อ.เฉลิม
ที่มาของ ส.ส.จะย้อนกลับไปในแบบปี 2540 คือ มี ส.ส.500 คน จาก ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน

เสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ แล้วใช้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้มีอำนาจตีความกฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หรือการขัดกันระหว่างหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ไม่มีอำนาจตัดสินเรื่องของการยุบพรรค ในส่วนนี้ ร.ต.อ.เฉลิม เสนอไม่ให้ยุบ แต่ให้รวมเป็นแผนกหนึ่งภายใต้ศาลฎีกา

ยกเลิกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสินคดีที่เกี่ยวกับการเมืองแทน ในส่วนนี้ ร.ต.อ.เฉลิม เสนอให้ไปอยู่ภายใต้ศาลฎีกาเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ในส่วนของ ป.ป.ช.ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร เสนอว่าต้องมีการลดอำนาจ ป.ป.ช.จากเดิมที่ ป.ป.ช.ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดฟ้องศาล หากอัยการสูงสุดมีความเห็นไม่สั่งฟ้อง ป.ป.ช.สามารถฟ้องเองได้ ให้แก้ให้อำนาจการสั่งฟ้องอยู่ที่อัยการสูงสุดเท่านั้น ป.ป.ช.ไม่สามารถยื่นฟ้องได้

จารุพงศ์เน้นต้องรีบแก้ รธน.

ขณะที่ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวเปิดงานสัมมนาพรรคเพื่อไทยที่เขาใหญ่ ในวันที่ 6 มกราคม เช่นเดียวกัน โดยระบุว่า รัฐบาลสามารถก้าวข้ามอุปสรรคมาได้ระดับหนึ่ง แต่ยังก้าวได้ไม่เต็มตัว เพราะประเทศยังมีปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2550 มีเจตนารมณ์ ทำลายระบบตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ซึ่งเป็นอำนาจพื้นฐานประชาธิปไตย ทั้งนี้รัฐธรรมนูญมีความพยายามเพิ่มอำนาจองค์กรอิสระ และชัดเจนว่า ผู้บริหารองค์กรอิสระไม่เชื่อมโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 50 ใช้อำนาจเกินขอบเขต และมุ่งทำลายพรรคการเมืองที่ประชาชนไว้วางใจ ด้วยความพยายามยุบพรรคการเมืองอย่างง่ายดาย อีกทั้งรัฐธรรมนูญได้วางกับดักทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ในเรื่องการทำประชามติ จนทำให้กระบวนการแก้เป็นไปด้วยความยากลำบาก ดังนั้น เชื่อว่า รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นใจกลางความขัดแย้ง และเป็นเหตุวิกฤตที่จะนำมาซึ่งความไม่เสถียรภาพ และเป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น