xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ป.ป.ช.จัดให้ ไม่ฟ้องทุจริต CTX “ทักษิณ-สุริยะ” ลอยนวล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ในที่สุด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็มีมติเอกฉันท์ สั่งไม่ฟ้องคดีคดีทุจริตซีทีเอ็กซ์ โดย วิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. แถลงผลการพิจารณาคดีดังกล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาทั้ง 2 ข้อกล่าวหา คือ หนึ่ง การที่บริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) ว่าจ้างบริษัทร่วมค้าไอทีโอ จัดซื้อเครื่องในราคาแพงเกินจริง

และ สอง ข้อหา บทม.ทำตัวเป็นหุ่นเชิด หรือนายหน้าในการจัดซื้อเครื่องเสียเอง โดยผู้ถูกกล่าวหาในคดี ประกอบด้วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม ข้าราชการระดับสูงใน บทม. และบริษัทเอกชนหลายกลุ่ม รวม 25 คนนั้น ป.ป.ช. เห็นว่าพยานหลักฐานทั้งหมดไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดโดยปราศจากข้อสงสัย จึงมีมติเอกฉันท์ให้ยกคำร้อง โดยยืนยันไม่มีการเมืองกดดันการพิจารณา ซึ่งในการพิจารณาครั้งนี้ไม่มี นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นอดีต คตส. ร่วมพิจารณาด้วย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนข้าราชการระดับสูงของ บทม.6 คน ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติตั้งอนุกรรมการสอบสวนเพิ่ม หลังพบมีส่วนพัวพันโดยมีใบเสร็จการรับประโยชน์หรือสินบนจากบริษัทนายหน้าขายเครื่องดังกล่าว ระหว่างเดินทางไปดูงานต่างประเทศที่นครซานฟรานซิสโก ซึ่งถือว่ามีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 149 และกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 103 ความผิดสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต และห้ามรับทรัพย์สินเกิน 3,000 บาท

สำหรับผู้บริหารหรือบอร์ด บทม.ทั้ง 6 คน ประกอบด้วย นายศรีสุข จันทรางศุ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานกรรมการ บทม. พล.อ.สมชัย สมประสงค์ รองประธาน บทม. นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด นายเทิดศักดิ์ เศรษฐมานพ นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ และพล.อ.อ.ณรงค์ สังขพงศ์ ในฐานะกรรมการ บทม.

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่มติ ป.ป.ช.ค้านสายตาท่านผู้ชมและสร้างความผิดหวังแก่สังคม โดยเฉพาะคดีใหญ่ๆ ที่มีนักการเมืองตัวเป้งเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น คดีทุจริตคลองด่าน ซึ่งปล่อยให้นักการเมืองคนสำคัญหลุดพ้นข้อกล่าวหาอย่างสมศักดิ์ศรีมือเซียนระดับ “จอมโจรสมองเพชร” หรือกรณีสนามกอล์ฟอัลไพน์ ที่มีอายุความถึง 20 ปี แต่ ป.ป.ช.ก็มีความสามารถในการดองคดีโดยไปยื่นฟ้องเอาวันสุดท้ายในการสิ้นสุดคดีความ หวานคอนักการเมืองเขี้ยวลากดินอย่าง เสนาะ เทียนทอง ที่ชิ่งไม่ไปศาลในวันยื่นฟ้อง เมื่อศาลฎีกาฯ ขึ้นบัลลังก์พิจารณาคดีในนัดแรกจึงตัดสินยกฟ้องเพราะคดีขาดอายุความ

หลังจากที่ ป.ป.ช. มีมติยกคำร้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดีซีทีเอ็กซ์ นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตกรรมการ คตส. ตั้งคำถามกลับทันทีว่า ทำไมเมื่ออัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าวแล้ว จึงทำให้สำนวนของ คตส.อ่อนลง จนส่งผลให้ป.ป.ช.ไม่ฟ้องคดีไปด้วย และมีข้อสังเกตว่าการพิจารณาเรื่องการรับสินบนก็เป็นคนละฐานความผิดที่ คตส.ตั้งเรื่อง คือ การตรวจสอบที่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ของไทยทุจริตด้วยการล็อกสเปกซื้ออุปกรณ์ตรวจสอบสัมภาระผู้โดยสารจากบริษัทที่ขายเครื่องซีทีเอ็กซ์ 9000 เท่านั้น แถมยังตกลงให้ราคาสูงกว่าความเป็นจริงนับพันล้านอีกด้วย

เป็นที่ทราบกันว่า การที่บริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) ว่าจ้างบริษัทร่วมค้าไอทีโอ (คู่สัญญาที่บทม.ว่าจ้างจัดสร้างสนามบินแบบจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ) จัดซื้อเครื่องในราคาแพงเกินจริงนั้น ช่วงที่มีการสอบสวนและไต่สวนคดี ก็เห็นชัดๆ อยู่แล้วว่า ราคาที่ บทม.ทำสัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งเครื่องซีทีเอ็กซ์ 9000 จำนวน 26 เครื่องกับบริษัทอินวิชั่น วงเงิน 1,432 ล้านบาทเท่านั้น แต่ บทม.กลับยังต้องจ่ายให้กลุ่มไอทีโอ ในราคา 2,608 ล้านบาท ตามสัญญาเดิม ซึ่งสูงกว่าซื้อตรงจากอินวิชั่นประมาณ 1,200 ล้านบาท

สงสัยอย่างยิ่งว่า ส่วนต่างของราคาที่ บทม.จ่ายจริงเพิ่มขึ้นนับพันล้าน เป็นการซื้อที่ไม่แพงเกินจริงในสายตาของ ป.ป.ช.ไปได้อย่างไร? และอย่างนี้ถ้าไม่เรียกว่า บทม.ทำตัวเป็นหุ่นเชิด แล้วจะเรียกว่าอะไรดี ?

มติของ ป.ป.ช. ยังสร้างความแปลกใจและผิดหวังอย่างยิ่งสำหรับคุณหญิงจารุวรรณ เมฑกา อดีตกรรมการ คตส. ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีซีทีเอ็กซ์ของคตส. เพราะสำนวนคดีที่ คตส.ทำมาปีกว่ามีการเรียกพยานบุคคลทั้งชาวไทยและต่างชาติมาชี้แจงขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด ซึ่งพยานบุคคลจากบริษัทเอกชนได้ให้การที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีอย่างมาก

นอกจากนั้น ยังมีการรวบรวมเอกสารหลักฐานทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษถึง 40 แฟ้มใหญ่ ส่งให้กับอัยการและ ป.ป.ช. ที่สำคัญ ประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้ของ คตส.คือ นายอำนวย ธันธรา เป็นถึงอดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาและอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่สอบสวนคดีนี้อย่างรอบคอบ รัดกุม มีความเป็นกลาง แต่สุดท้าย ป.ป.ช.กลับสั่งไม่ฟ้องทั้งกลุ่มนักการเมือง บอร์ด บทม.และกลุ่มเอกชน

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า คีย์แมนซึ่งเชื่อมโยงให้ดีลซื้อขายครั้งนั้นบรรลุผลสำเร็จก็คือ นายธีรวัฒน์ ฉัตราภิมุข ที่ปรึกษานายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.กระทรวงคมนาคม นั้น ป.ป.ช. เชื่อเหลือเกินว่า การทำงานของที่ปรึกษาคนดังกล่าวทาง รมว.คมนาคม ไม่ได้รู้เห็นใดๆ เลย เช่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ไม่รู้ไม่เห็นเช่นเดียวกัน เมื่อ ป.ป.ช. เชื่อเช่นนั้นจึงปิดคดีแบบมวยล้มต้มคนดูยกธงขาวตั้งแต่ยังไม่ขึ้นชก ปิดฉากมหากาพย์สินบนข้ามชาติแบบอื้อฉาวจนนาทีสุดท้าย

จะว่าไปแล้ว คดีซีทีเอ็กซ์ ที่เข้าเครื่อง ป.ป.ช.ฟอกขาวล่าสุดนี้ ถือเป็นแค่น้ำจิ้ม เพราะกาลาดินเนอร์ทุจริตสุวรรณภูมิชุดใหญ่ที่อยู่ในแฟ้มคดี ป.ป.ช.มีอยู่เกือบนับสิบ ซึ่งที่ผ่านมา ป.ป.ช. ได้ช่วยฟอก ช่วยดอง ช่วยแช่แข็ง กระทั่งว่าข่าวคราวการทุจริตครั้งมโหฬารของสนามบินสุวรรณภูมิลบเลือนหายไปจากความสนใจของสังคม สวนทางกับผลงานฉาวโฉ่ที่โผล่ฟ้องตัวเองดังเช่นเหตุการณ์ความวุ่นวายโกลาหลเมื่อไม่นานมานี้ เพราะสนามบินต้องปิดซ่อมรันเวย์แบบฉุกเฉินให้อับอายชาวโลกทั้งที่เพิ่งเปิดใช้งานมาแค่ 6 ปีเท่านั้นเอง

ความอ่อนปวกเปียกของหน่วยปราบโกงระดับชาติ จึงไม่แปลกที่ประเทศไทยจะติดอันดับคอร์รัปชั่นระดับโลกในระดับต้นๆ และไต่อันดับการทุจริตมากขึ้นทุกๆ ปี จะโทษสังคมไทยอยู่ใต้ระบบอุปถัมภ์ ยอมรับนักการเมืองโกงแต่ทำงานบ้างเสียทั้งหมดก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะถ้าหน่วยงานปราบโกงและกระบวนการยุติธรรมเข้มแข็ง สามารถเอาคนผิดมาลงโทษโดยไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมเสียบ้าง บางทีอาจทำให้การประกาศสงครามต่อต้านคอร์รัปชั่นทั้งโดยรัฐบาลและหน่วยงานปราบทุจริตของชาติไม่ถูกมองเป็นแค่ตัวตลกเล่นจำอวดเท่านั้น

หมายเหตุ - 'ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์' มีแฟนเพจแล้วนะครับ ขอเชิญร่วมพูดคุยและแสดงความคิดกันได้ที่ http://www.facebook.com/Astvmanagerweekend
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น