xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

มะกันจิ้งจอกเจ้าเล่ห์ ฟอกผิดคดีซีทีเอ็กซ์ เพื่อ “แม้ว” และพวก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นช.ทักษิณ ชินวัตร
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-หลังจาก นช.ทักษิณ ชินวัตร ได้วีซ่าเข้าสหรัฐอเมริกาแล้ว หลายเรื่องราวก็ทยอยส่อพิรุธให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นกรณีการขอใช้อู่ตะเภา การพบปะนักธุรกิจสหรัฐฯ ที่มีบริษัทพลังงานข้ามชาติรวมอยู่ด้วยของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนมาถึงกรณีคดีทุจริตซีทีเอ็กซ์ ที่ส่อเค้าว่าจะกลายเป็นมวยล้มต้มคนดู เพราะมาบัดนี้กระทรวงยุติธรรม สหรัฐฯ ได้ส่งหนังสือมายืนยันกับทางไทยหน้าตาเฉยว่า ไม่พบร่องรอยการให้สินบนหรือการเสนอผลประโยชน์ตอบแทนใดๆ ในการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องซีทีเอ็กซ์ของไทยกับบริษัทอินวิชั่นฯ สหรัฐฯ

ทั้งๆ ที่ต้นเหตุเรื่องฉาวโฉ่นี้เกิดขึ้นมาเพราะหน่วยงานคณะกรรมการกำกับและตรวจสอบตลาดหลักทรัพย์แห่งสหรัฐฯ (เอสอีซี) นั่นเอง ที่เป็นผู้ตรวจสอบพบว่า บริษัทอินวิชั่นฯ มีการกระทำผิดด้วยการติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมืองในไทย เพื่อให้จัดเพื่อให้จัดซื้อชุดอุปกรณ์ดังกล่าวสำหรับนำไปติดตั้งประจำท่าอากาศยาน จำนวน 26 เครื่อง วงเงิน 35.8 ล้านเหรียญสหรัฐ จนถึงขั้นมีการฟ้องร้องกันระหว่างกระทรวงยุติธรรม สหรัฐฯ กับบริษัทอินวิชั่นฯ และบริษัทก็ยอมรับผิดและมีการประนีประนอมยอมความ

ความจริงแล้ว การยอมความของบริษัท ไม่ได้แปลว่าไม่มีร่องรอยการให้สินบนดังที่กระทรวงยุติธรรม สหรัฐฯ แก้ต่างหรือแก้ตัวแทนบริษัทอินวิชั่นฯ ซึ่งจะส่งผลให้ทักษิณและพวกที่ถูกตั้งกล่าวหาในคดีทุจริตจัดซื้อและติดตั้งเครื่องซีทีเอ็กซ์ พลอยได้รับอานิสงค์ลอยนวลพ้นผิดไปด้วย

ท่าทีที่กลิ้งกลอกไปมาดุจดังจิ้งจอกเจ้าเล่ห์ขึ้นอยู่กับว่ามีผลประโยชน์แลกเปลี่ยนต่างตอบแทนกันหรือไม่อย่างไรของสหรัฐฯ ทำให้การตั้งท่ายื่นฟ้องคดีเองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีอันต้องเงื้อค้างอีกรอบ เพราะไม่มั่นใจในสำนวนว่าจะแน่นหนาเพียงพอที่จะเอาผิดผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่

ไม่นับว่าภายในคณะกรรมการป.ป.ช.มีความเห็นขัดแย้งกันในคดีนี้มาโดยตลอด เพราะหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาในคดีคือ ชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด ซึ่งวันนี้ได้รับปูนบำเหน็จจากครม.ยิ่งลักษณ์ ให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ขณะเดียวกัน คณะอนุกรรมการไต่สวนคดีที่คณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่ตั้งขึ้นมาทำสำนวนคดีได้เลือก ใจเด็ด พรไชยา กรรมการป.ป.ช. ซึ่งเป็นอดีตอัยการ มาเป็นประธานคณะ อย่างนี้แล้วก็พอมองออกแต่ต้นว่า คดีซีทีเอ็กซ์จะไปในรูปไหน

คดีสินบนข้ามชาติซีทีเอ็กซ์ ถือเป็นคดีโด่งดังมานานนับถึงวันนี้เกือบสิบปีแล้ว โดยเป็นผลสืบเนื่องจากตั้งแต่ปี 2546 บริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) ได้ทำสัญญาว่าจ้างกลุ่มบริษัทร่วมทุนไอทีโอ จัดสร้างสนามบินสุวรรณภูมิแบบจ้างเหมาเบ็ดเสร็จครอบคลุมงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบิน ระบบสายพานลำเลียงและจำแนกกระเป๋าและสัมภาระแบบธรรมดา ครั้นเมื่อเกิดเหตุก่อการร้ายขึ้นในสหรัฐฯ จึงมีการปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยในการตรวจสอบกระเป๋าและสัมภาระทั้งระบบ บทม.จึงเจรจากับไอทีโอขอเพิ่มเติมสัญญา แต่ไอทีโอมีขีดจำกัดจึงขอซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์จากบริษัทอินวิชั่นฯ แต่ทางอินวิชั่นฯ ขอให้ไอทีโอติดต่อซื้อจากตัวแทนจำหน่ายในไทยคือ บริษัทแพทริออทฯ แทน

ในระหว่างที่มีการติดต่อซื้อขายเครื่องซีทีเอ็กซ์อิรุงตุงนังกันอยู่นั้น ปรากฏว่า กระทรวงยุติธรรม สหรัฐฯ และคณะกรรมการกำกับและตรวจสอบตลาดหลักทรัพย์แห่งสหรัฐฯ ตรวจสอบพบว่า อินวิชั่นกระทำผิดด้วยการร่วมเห็นชอบและรับรู้เพื่อให้ตัวแทนในไทยติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมืองเพื่อให้จัดซื้ออุปกรณ์ดังกล่าว เอสอีซี ลงโทษอินวิชั่นโดยไม่ดำเนินคดีแต่ลงโทษปรับเป็นเงิน 800,000 ดอลล่าห์สหรัฐฯ หรือประมาณ 32 ล้านบาท ฐานทำผิดกฎหมายว่าด้วยการคอร์รัปชั่นข้ามชาติและทำผิดกฎหมายเอสอีซี

ช่วงนั้น รัฐบาลทักษิณ ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ดำรงตำแหน่งรมว.กระทรวงคมนาคม ออกมาชี้แจงและตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเป็นพัลวัน เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่าไม่พบเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยเกี่ยวข้องรับผลประโยชน์มิชอบและสั่งให้บทม.สั่งซื้อตรงจากอินวิชั่นฯ แต่ให้ไอทีโอเป็นผู้รับติดตั้งระบบเหมือนเดิม

ในที่สุด บทม.จึงได้ทำสัญญาซื้อขายกับอินวิชั่นแบบพิสดาร กล่าวคือ ทำสัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งเครื่องซีทีเอ็กซ์ 9000 จำนวน 26 เครื่อง เป็นการซื้อโดยตรงกับอินวิชั่น ในวงเงิน 1,432 ล้านบาท โดยรวมอุปกรณ์และการดำเนินการต่าง ๆ 13 รายการ รวมถึงอะไหล่สำรองสำหรับช่วงรับประกัน 2 ปี และการฝึกอบรม แต่ บทม. กลับยังต้องจ่ายให้กลุ่มไอทีโอในราคา 2,608 ล้านบาท ตามสัญญาเดิม ซึ่งสูงกว่าซื้อตรงจากอินวิชั่นประมาณ 1,200 ล้านบาท โดยในสัญญาเดิม บทม.จัดซื้อจัดจ้างจากกลุ่มไอทีโอ ในวงเงิน 2,608 ล้านบาท

ขณะที่ไอทีโอจัดซื้อจัดจ้างจากแพทริออท เป็นเงิน 2,003 ล้านบาท แต่แพทริออท จัดซื้อจัดจ้างจากอินวิชั่น อีกทอดในราคา 1,432 ล้านบาท ซึ่งการซื้อขายที่ยอกย้อนหลายทอดทำให้ชวนสงสัยโดยเฉพาะส่วนต่างของราคาที่เพิ่มขึ้นนับพันล้านบาท

ความพิสดารพันลึกในการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวพันถึงการจ่ายสินบนข้ามชาติ ทำให้คดีนี้ถูกรื้อฟืนขึ้นมาอีกครั้งหลังเหตุการณ์รัฐประหาร กันยาฯ 2549 โดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ซึ่งตามสำนวนคดีของคตส.นั้น ระบุชัดว่า “ตัวแทนขายเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ซีทีเอ็กซ์ ของ InVision ในประเทศไทยวิ่งเต้นเพื่อขายเครื่อง ซีทีเอ็กซ์ ให้ บทม. ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บทม. ขอให้ InVision ส่งคุณลักษณะสำคัญเพื่อบังคับให้เลือกซีทีเอ็กซ์อันเป็นการขัดขวางไม่ให้บริษัทอื่น เข้าแข่งขันราคาได้”

นอกจากนี้ ผลการสอบของคตส. ยังได้ความว่า “เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2546 ที่ปรึกษา รมว.คมนาคมกับพวกเดินทางไปดูงานที่ท่าอากาศยานซานฟรานซิสโก หลังจากดูงานเสร็จแล้วได้แจ้งผู้แทนจำหน่ายเครื่อง ซีทีเอ็กซ์ รีบให้ CAGE ออกแบบโดยเร็วเพื่อรายงานต่อ รมว.คมนาคม สรุปตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการนี้ทั้งหมด ต่อมาเดือนกันยายน 2546 ตัวแทน InVision เข้าไปประชุม ทำงาน เตรียมเอกสารข้อมูลการนำเสนองานในห้องทำงานของที่ปรึกษา รวม.คมนาคม ที่กระทรวงคมนาคมแล้วให้ที่ปรึกษา รมว.คมนาคม นำข้อมูลดังกล่าวไปนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ กทภ.ครั้งที่ 4/2546 วันที่ 15 ตุลาคม 2546 โดยมีการฉายภาพเครื่อง ซีทีเอ็กซ์ และบรรยายให้ผู้เข้าร่วมประชุมเข้าใจผิดว่าเครื่อง ซีทีเอ็กซ์ สามารถตรวจวัตถุระเบิดและยาเสพติดได้พร้อมกันอันเป็นการจงใจชี้นำการตัดสินใจของกรรมการบางส่วนที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงโดยนักการเมือง ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ซึ่งทำหน้าที่กำกับนโยบายร่วมรู้เห็นด้วย”

“ต่อมา GE เข้าซื้อกิจการ InVision เมื่อมีการตรวจกิจการและทรัพย์สินพบสิ่งผิดปกติจึงรายงานให้กระทรวงยุติธรรม สหรัฐและ กลต.สหรัฐซึ่งเป็นผู้ดูแลกฎหมายการทุจริตในต่างประเทศ (FCPA) เข้าตรวจสอบจนได้ข้อเท็จจริงว่าผู้บริหารของ InVision ส่งเสริมผู้แทนจำหน่าย ซีทีเอ็กซ์ ในประเทศไทยเสนอให้และสัญญาว่าจะให้เงินแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยและพรรค การเมืองไทย เพื่อใช้อิทธิพลต่อรัฐบาลไทยเพื่อจูงใจให้ตัดสินใจซื้อเครื่อง ซีทีเอ็กซ์ อันเป็นการละเมิดกฎหมาย FCPA

“ วันที่ 3 ธันวาคม 2547 InVision ทำบันทึกตกลงกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวและตกลงว่า หากจะขาย ซีทีเอ็กซ์ ให้แก่ประเทศไทยจะต้องขายตรงให้แก่ บทม.หรือหน่วยราชการไทยเท่านั้นห้ามขายผ่านผู้แทนจำหน่ายหรือเอกชนอื่นใด นอกจากนี้ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2548 กลต.สหรัฐอเมริกายื่นฟ้อง InVision ต่อศาลกรณีละเมิดกฎหมาย FCPA ซึ่ง InVision ก็ยอมรับผิดตามฟ้อง”

ตามสำนวนของคตส. ระบุว่า มีผู้กระทำผิดในความผิดตามสัญญาก่อสร้างอาคารผู้โดยสารและความผิดฐานเรียกรับสินบน โดยมีผู้ถูกกล่าวหาแยกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มนักการเมือง ได้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม, นายธีรวัฒน์ ฉัตราภิมุข อดีตที่ปรึกษารมว.คมนาคม

2.คณะกรรมการ-พนักงานบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) และคณะกรรมการ-พนักงานบริษัทท่าอากาศ ยานไทย(ทอท.) 9 รายคือ นายศรีสุข จันทรางศุ, พล.อ.สมชัย สมประสงค์, พล.อ.อ.ณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์, นายชัยเกษม นิติสิริ, นายอดิเทพ นาคาวิสุทธิ์, นายสามารถ ยลภัคย์, นายบัญชา ปัตตนาภรณ์, นายสมชัย สวัสดีผล และนายกมลพงศ์ ชูมณี

3.กลุ่มนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา 13 ราย ได้แก่ นายธีระวัฒน์ ศรีฉัตราภิมุข, กิจการร่วมค้า ITO ประกอบด้วย บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน), บริษัท Takenaka Corportion และบริษัท Obayashi Corportion, นายเปรมชัย กรรณสูต, นางนิจพร จรณะจิตต์, นายธวัชชัย สุทธิประภา, Mr.Takemi Yokota, Mr.Shiro Osada, Mr.Tadashi Uehara, Mr.Masahide Kuniyoshi, Mr.Dominic Della Maggiora, นายวรวิทย์ วิสูตรชัย, บริษัทแพททริออท บิซิเนส คอนซัลแตนส์ และนายวรพจน์ ยศะทัตต์ สำหรับนายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด นั้น คตส.มีมติจะแยกฟ้องเองตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. มาตรา 56 (2) ประกอบมาตรา 97

อย่างไรก็ตาม เมื่อคตส.ส่งสำนวนคดีซีทีเอ็กซ์ให้นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุดขณะนั้น พิจารณาสั่งคดี ผลปรากฏว่า อัยการสูงสุดมีความเห็นไม่สั่งฟ้องคดี ต่อมาเมื่อ คตส. หมดวาระลง คดีซีทีเอ็กซ์ถูกโอนไปยัง ป.ป.ช. และทาง ป.ป.ช.ได้ตั้งคณะทำงานร่วมกับอัยการ เพื่อไต่สวนคดีเพิ่มเติม แต่สุดท้ายแล้ว อัยการสูงสุด ยืนยันไม่สั่งฟ้องโดยอ้างข้อไม่สมบูรณ์ในคดีเช่นเดิม

การประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เลื่อนพิจารณาเรื่องนี้จากวันที่ 21 ส.ค. มาเป็นวันที่ 28 ส.ค. ว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี ดูท่าจะลากยาวต่อไปอีก เพราะ วิชัย วิวิตเสวี กรรมการป.ป.ช. ออกมาแพลมว่า ต้องรอเอกสารจากกระทรวงยุติธรรม สหรัฐฯ เพิ่มเติม และยังมีข้าราชการระดับสูงเข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มอีก แถมเตะลูกออกไม่แน่ว่าจะโยงถึงอดีตนักการเมืองหรือไม่ ชวนให้เชื่อว่าเพื่อนมิตรทักษิณและป.ป.ช.ช่างทำงานมีประสิทธิภาพเสียจริงๆ

หมายเหตุ - 'ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์' มีแฟนเพจแล้วนะครับ ขอเชิญร่วมพูดคุยและแสดงความคิดกันได้ที่ http://www.facebook.com/Astvmanagerweekend
ชัยเกษม นิติสิริ
สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

กำลังโหลดความคิดเห็น