รายงานการเมือง
คดีข้อกล่าวหาการทุจริตจัดซื้อและติดตั้งเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดและการก่อสร้างระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า หรือซีทีเอ็กซ์ 9000 ในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นัดชี้ขาดในวันอังคารที่ 28 สิงหาคมนี้ ว่าจะตัดสินใจอย่างไร
ระหว่างการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือจะยุติคดีสั่งไม่ฟ้องตามอัยการที่มีความเห็นก่อนหน้านี้ว่าสำนวนคดีซีทีเอ็กซ์ดังกล่าวที่ ป.ป.ช.รับเรื่องมาจาก คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ไม่สมบูรณ์ พยานหลักฐานอ่อนไม่เพียงพอต่อการเอาผิดผู้เกี่ยวข้องได้
เดิมทีตั้งแต่ คตส.โอนสำนวนคดีนี้มาให้ ป.ป.ช.ก็ตั้งแท่นออกข่าวว่าจะยื่นฟ้องเองมาตลอดโดย มีการติดต่อให้ทีมทนายความของสภาทนายความคอยเตรียมการเอาไว้ในการยื่นฟ้องและว่าความดำเนินคดี
แต่แล้วคดีก็ยืดเยื้อมาหลายปี ทั้งที่อัยการได้ตีสำนวนกลับมาให้ ป.ป.ช.นานแล้ว ท่ามกลางกระแสข่าวว่ามี ป.ป.ช.บางคนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการยื่นฟ้อง เพราะบอกว่าสำนวนของ คตส.อ่อนจริง ไม่มีพยานหลักฐานและพยานบุคคลที่จะเอาผิดเรื่องการทุจริตเรียกรับผลประโยชน์ในการจัดซื้อจัดจ้างได้
ฟ้องก็ไม่ได้อะไรควรยุติคดีดีกว่า
แต่ ป.ป.ช.บางคนก็เห็นว่าสำนวนที่ได้รับ แน่นหนาเพียงพอแล้วในการยื่นฟ้องเอาผิดผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ในเรื่องการจัดซื้อที่ผิดปกติ-จัดซื้อแพง ทำให้รัฐเสียหาย
การเสียงแตกกันดังกล่าวของ ป.ป.ช.ยืดเยื้อมานาน ไม่มีทีท่าจะจบสิ้น พอมีการหารือเรื่องคดีซีทีเอ็กซ์ขึ้นมาเมื่อใด ก็มักหาข้อสรุปไม่ได้ จนหลายคนตั้งข้อสงสัยกันมากมายว่าทำไมคดีไม่คืบหน้า มีอะไรหรือไม่
แต่ ป.ป.ช.ก็มักอ้างว่ากำลังพิจารณาอยู่ ใกล้เสร็จแล้ว ก็ยื้อมาได้อีกหลายปี แต่บัดนี้ มีคำยืนยันมาจากนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช.และอนุกรรมการไต่สวนคดีซีทีเอ็กซ์แล้วว่า ประชุมชุดใหญ่ 28 สิงหาคมนี้ได้ข้อสรุปแน่นอน หลังจากการประชุมเมื่อ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา
ปรากฏว่า ที่บอกก่อนหน้านี้จะได้ข้อยุติ ออกหัวออกก้อยแน่ ครั้นถึงเวลาก็ต้องยื้อเพราะอ้างว่าพยานหลักฐานบางอย่างในสำนวนที่เป็นเรื่องสำคัญเป็นภาษาอังกฤษ ต้องให้เจ้าหน้าที่แปลมาให้ก่อน เพื่อให้การลงมติของ ป.ป.ช.มีความรัดกุม
ดังนั้น หากการประชุมใหญ่ ป.ป.ช.วันที่ 28 สิงหาคมนี้ ยังไม่มีมติอย่างหนึ่งอย่างใดออกมา เชื่อได้ว่า เกิดปัญหาขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะหากไม่มีการชี้ขาดในความผิดเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของผู้เกี่ยวข้องทั้งนักการเมือง-อดีตบอร์ดบริษัทท่าอากาศยานไทย (ทอท.) และอดีตบอร์ดบริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.)รวมถึงบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทั้งในนามนิติบุคคลและผู้บริหารบริษัทเอกชนรวมทั้งสิ้น 25 คนตามสำนวนเดิมของ คตส.
มีความเป็นไปได้ว่า ป.ป.ช.มีความเห็นให้เอาผิดสั่งฟ้อง แต่มีความเห็นให้ยื่นฟ้องในฐานความผิดอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่เล็กกว่าความผิดเดิมที่คตส.ตั้งเรื่องไว้ในความผิดในข้อหาร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 3 มาตรา 11 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 83, 86 และ 91
จากที่มีกระแสข่าวว่า ป.ป.ช.บางคนเห็นว่า เมื่อพยานหลักฐานไปไม่ถึงในความผิดเรื่องการทุจริต ก็อาจใช้วิธีเอาผิดที่เล็กลงไปเช่นกรณีอดีตบอร์ด ทอท.-บทม. ซึ่งถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มีการเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อตรวจดูเครื่องซีทีเอ็กซ์ที่สหรัฐฯ โดยมีบริษัทเอกชนเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 103 ที่ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลนอกจากทรัพย์สินอันควรได้ตามกฎหมาย
หากออกมาแบบนี้จริง ป.ป.ช.คงต้องตอบคำถามและชี้แจงสังคมให้ได้ว่าทำไมถึงเอาผิดผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในความผิดเดิมที่ คตส.ตั้งมาไม่ได้ เพราะถ้าไปเอาผิดมาตรา 103 ป.ป.ช.คงไม่พ้นถูกวิจารณ์
ว่าเป็นการเอาผิดในคดีปลาซิวปลาสร้อย และไปไม่ถึงตัวการใหญ่อย่างพวกนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจสั่งการเวลานั้น
ก็ต้องดูกันว่ามติ ป.ป.ช.วันอังคารนี้จะเอาอย่างไร จะเดินหน้าฟ้องคดีเองเพราะเชื่อมั่นในพยานหลักฐานที่มี แม้จะมีข่าวว่าเจอตอคดีตันเพราะทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหรัฐอเมริกายืนยันมาที่ ป.ป.ช.เมื่อเร็วๆนี้ว่าไม่มีการจ่ายสินบนหรือเรียกรับผลประโยชน์เรื่องการจัดซื้อซีทีเอ็กซ์ หรือสุดท้ายจะฟ้องเองแต่ลดไซน์การฟ้องและเอาผิดคดีให้เล็กลงจากที่ คตส.ส่งเรื่องมาให้
หรือว่าจะฟ้องกราวรูด ยึดตามสำนวนเดิม คตส.ฟ้องตามความผิดที่ คตส.ส่งมาให้แล้วก็เพิ่มการเอาผิดผู้เกี่ยวข้องให้มากขึ้น จากที่ คตส.ส่งเรื่องมาให้
คดีนี้เป็นอีกหนึ่งสำนวนที่จะพิสูจน์การทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.ได้เป็นอย่างดี