สะเก็ดไฟ
วันอังคารที่ 8 มกราคมนี้ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะส่งตัวแทนไปยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี ตามแถลงการณ์พันธมิตรฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ม.ค. 56 ที่ผ่านมาในเรื่องคดีปราสาทเขาพระวิหาร
เป็นประเด็นร้อนที่ต้องรอดูว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะมีท่าทีตีกระเชียงในเรื่องเขาพระวิหารนี้อย่างไร
คาดว่า ฝ่ายพันธมิตรฯ ก็ไม่ได้คาดหวังอยู่แล้วกับการตอบรับข้อเสนอจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ที่ต้องทำก็เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เพื่อแสดงจุดยืน ของพันธมิตรฯ ให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเสนอแนะ และข้อเป็นห่วงในเรื่องที่เกรงไทยจะพลาดท่าเสียดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบเขาพระวิหารให้กับกัมพูชา จึงเสนอแนวทางเรื่องนี้ไว้ว่า
“ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยประกาศอย่างเป็นทางการว่า ราชอาณาจักรไทยถือว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่มีอำนาจในการตีความคดีนี้ และราชอาณาจักรไทยจะไม่รับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในการตีความในคดีความนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการตีความนั้นก่อให้เกิดผลเสียต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของราชอาณาจักรไทย” แถลงการณ์พันธมิตรฯ ระบุ
นี่ถือว่าเป็นท่าทีอย่างเป็นทางการของพันธมิตรฯ ซึ่งอาจมีคนเห็นด้วยบ้างไม่เห็นด้วยบ้าง แต่หากดูกันให้ชัดและคิดกันให้ยาวไกล ก็จะพบว่าข้อเสนอของพันธมิตรฯ เต็มไปด้วยความหวังดีต่อส่วนรวมในเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร และการรู้เท่าทันในทิศทางของคดีนี้ตามประสาผู้ติดตามเรื่องราวทั้งหมดมาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม มาถึงตอนนี้การสู้คดีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ก็คงดำเนินกันต่อไปตามตารางเวลาที่วางไว้ ก็เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องคอยติดตามและให้กำลังใจการเตรียมการสู้ คดี ของคณะทำงานฝ่ายไทย ที่ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ ในการเตรียมไปแถลงสู้คดีด้วยวาจา ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่ได้กำหนดให้มีการนั่งพิจารณาคดีกรณีกัมพูชายื่นคำขอตีความคำพิพากษาคดี ปราสาทพระวิหารปี 2505 ในวันจันทร์ที่ 15 เมษายน ถึงวันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2556 ณ วังสันติภาพ ที่ทำการของศาลที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์
ทั้งนี้ ผลลัพธ์ของคดีที่มีการแจงออกมาอย่างเป็นทางการหลังการประชุม คณะดำเนินคดีปราสาทพระวิหารของไทยเมื่อวันศุกร์ที่ 4 ม.ค. 56 ที่มี สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก และหนึ่งในทีมสู้คดีของฝ่ายไทย
ฝ่ายผู้สู้คดีของไทยระบุว่าผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ไม่อยากให้คิดว่าเป็นเรื่องแพ้-ชนะ หากแต่เป็นเรื่องคดีความที่อาจมีคำตัดสินใน4 แนวทางดังนี้
(1) ศาล ตัดสินว่าไม่มีอำนาจพิจารณา และจำหน่ายคดี
(2) ศาลตัดสินตามท่าทีฝ่ายไทย คือให้ขอบเขตบริเวณปราสาทพระวิหารเป็นไปตามเส้นมติคณะรัฐมนตรี ปี 2505
(3) ศาลตัดสินตามท่าทีฝ่ายกัมพูชา คือให้ขอบเขตบริเวณปราสาทเป็นไปตามแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000
(4) ศาลอาจตัดสินกลางๆ ระหว่างท่าทีของทั้งสองฝ่าย โดยพิจารณาจากหลักฐานประกอบต่างๆ
ส่วนผลจะออกมาแบบไหน ก็ต้องรอดูกันต่อไปตามลำดับ คือต้องรอติดตามการแถลงคดีด้วยวาจาของฝั่งไทยกับฝั่งกัมพูชาในช่วง 15-19 เมษายนนี้ก่อน ว่าทิศทางการสู้คดีเป็นอย่างไร ใครมีแต้มต่อ ใครกำหนดประเด็นการแถลงคดีได้ดีกว่ากันระหว่างฝ่ายไทยกับกัมพูชา แล้วค่อยไปลุ้นอีกประมาณไม่เกิน 6 เดือนหลังจากเดือนเมษายนที่คาดกันว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะมีคำตัดสินออกมา
กระนั้นสิ่งที่ทำให้หลายคนใจชื้นขึ้นมาหน่อยก็คือ ท่าทีของ ดร.วีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ในฐานะทีมสู้คดีของฝ่ายไทย ที่ให้สัมภาษณ์เมื่อ 4 ม.ค. 56 หลังการประชุมคณะทำงานฯ โดยประกาศอย่างหนักแน่นว่า
“การแถลงทางวาจาดังกล่าวในเดือนเมษายนนี้มีความสำคัญมาก คณะกฎหมายของไทยได้เตรียมการอย่างรัดกุมรอบคอบตลอดมา อีกทั้งยังมีความพร้อมและตั้งใจสู้คดีอย่างเต็มที่”
ฟังแล้วมันช่างได้ใจคนไทยทั้งประเทศ ผิดกับสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ที่ยังไม่ทันจะสู้ก็ถอยร่นให้กัมพูชาแล้วชื่อของวีรชัย พลาศรัย เป็นผู้ที่รับผิดชอบเรื่องนี้มาตลอดหลายปี และมีชื่อและภาพปรากฏให้คนไทยได้จดจำและกล่าวขานกันมาตลอดหลายปี โดยเฉพาะกับภาพที่ไปเป็นหัวหน้าคณะสู้คดีฝ่ายไทยในห้องพิจารณาคดีที่ศาลโลก กรุงเฮก ที่บุคลิกลักษณะแสดงให้เห็นถึงการทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ
หลายคนดูจะคุ้นๆ กับชื่อนี้ไม่น้อย ที่จริงแล้วทูตวีรชัย คนที่ติดตามข่าวการเมืองและการต่างประเทศมาตลอดจะคุ้นหูอย่างมากกับการทำงานของวีรชัย ที่ตามข่าวแล้วถือว่าน่าสนใจไม่น้อย ไม่อย่างนั้นคงไม่ได้รับรางวัลครุฑทองคำประจำปี 2553-2554 ที่เป็นรางวัลสำหรับข้าราชการพลเรือนที่มอบให้เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณแก่ข้าราชการที่ปฏิบัติงานด้วยความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรม
ทูตวีรชัยเป็นที่รู้กันในกระทรวงบัวแก้วว่าเขาเป็นคนที่รู้เรื่องกฎหมายระหว่างประเทศและเรื่องเขตแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาและลาว ดีที่สุดคนหนึ่งของกระทรวงบัวแก้ว
ที่สำคัญยิ่งกว่าคือก่อนหน้านั้น สมัยนายวีรชัยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ดูแลและมีข้อมูลเรื่องการปล่อยเงินกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า หรือเอ็กซิมแบงก์ ให้รัฐบาลพม่า แล้วทางคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำความผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่อยู่ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้มีการตรวจสอบโครงการดังกล่าว
มีข่าวว่าทางกระทรวงการต่างประเทศได้ส่งข้อมูลโครงการปล่อยกู้ดังกล่าวนี้ไปให้คนใน คตส. สอบสวนและปัจจุบันมีการยื่นฟ้องดำเนินคดีอาญาต่อทักษิณ ชินวัตรในศาลฎีกาฯ ไปแล้ว
อีกทั้งต่อมาเมื่อมีการย้ายมาเป็นอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ก็มีนักการเมืองในกระทรวงการต่างประเทศบางคนมีการร้องขอเอกสารข้อมูลที่เป็นชั้นความลับหลายเรื่อง อย่างเรื่องโครงการปล่อยเงินกู้ให้พม่าของเอ็กซิมแบงก์ หรือเอกสารฉบับแปลในโครงการการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ของสหรัฐฯ ที่เป็นอีกหนึ่งคดีที่ คตส.ทำการสอบสวน
ตามข่าวช่วงนั้นบอกว่า การร้องขอดังกล่าวจากฝ่ายการเมืองได้รับการปฏิเสธ ไม่ให้ความร่วมมือในการส่งเอกสาร ด้วยสไตล์การทำงานแบบนี้ของนายวีรชัยเลยมีข่าวว่าทำให้ฝ่ายการเมืองในขั้วทักษิณ ชินวัตรไม่ค่อยถูกชะตา
จนในสมัยรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ตัววีรชัย พลาศรัยได้ถูกย้ายจากอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ที่เป็นกรมซึ่งดูแลเรื่องข้อพิพาทปราสาทเขาพระวิหารไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศที่เป็นตำแหน่งแขวนมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายวันนี้วีรชัยก็ได้มาเป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก และมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเตรียมการสู้คดีดังกล่าว
หลายคนพอเห็นโปรไฟล์ของทูตวีรชัย จึงบอกว่าแม้จะไม่เคยคิดคาดหวังกับสุรพงษ์อยู่แล้ว ต่อให้ไม่พูดออกมาว่าคดีนี้ผลจะออกมาไม่แพ้ก็เสมอ แต่อย่างน้อยก็ยังพอวางใจได้ว่าเมื่อฝ่ายไทยมีทูตวีรชัยอยู่สักคน ทีมสู้คดีของไทยทุกคนจะสู้เต็มที่อย่างที่ให้สัมภาษณ์
เพราะนี้ไม่ใช่เรื่องของการทูตสับขาหลอกอย่างที่พวกนักการเมืองชอบเอานิสัยเลวทรามมาใช้ในวงการทูต แต่มันหมายถึงอธิปไตยของประเทศ ที่จะมาทำเป็นเรื่องเล่นๆ ไม่ได้