xs
xsm
sm
md
lg

“ประสงค์” เตือนระวังบ้านเมืองวุ่นวาย “วิกฤตต้มยำปู” อาบฟอร์มาลีนดูไบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ (ภาพจากแฟ้ม)
“ประสงค์” บรรยายนักศึกษา พตส. ทำนายบ้านเมืองปี 56 สุดวุ่นวาย เตือนเตรียมพร้อมรับ “วิกฤตต้มยำปู” อาบฟอร์มาลีนจากดูไบ ร้ายรุนแรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 ขณะที่คนกรุงจะเผชิญจลาจลต่อเนื่อง ชี้ปัญหาใหญ่ประชามติแก้ รธน. ข้อพิพาทปราสาทพระวิหาร นโยบายประชานิยมพ่นพิษ หนี้สาธารณะท่วม เงินคลังหร่อยหรอ พร้อมโต้เป็นตัวปัญหาร่วม “จำลอง-พล.อ.เปรม” ทำให้บ้านเมืองยากปรองดอง ด้านนักศึกษาหวังได้ฟังความเห็นต่างจาก “ทักษิณ”

วันนี้ (4 ม.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการศึกษาอบรมนักศึกษาหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) รุ่นที่ 4 ของสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวระหว่างบรรยายในหัวข้อ การพัฒนาการเมืองไทย ตอนหนึ่งว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นระบอบที่เลวน้อยที่สุด ยิ่งเป็นระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถือว่าเเป็นระบอบการปกครองที่เป็นทางออกที่ดีมากของระบบการเมือง เพราะมีเรื่องการใช้และการควบคุมการใช้อำนาจรัฐ บัญญัติไว้ แต่ก็มีข้อบกพร่องที่มองเห็นคือมักจะมีการพูดว่าต้องยึดเสียงข้างมากเป็นหลัก ปัญหาสำคัญคือการใช้เสียงข้างมากนั้นเป็นการใช้อย่างไร หากใช้ไม่ถูกต้องก็ถือเป็นทรราชของเสียงข้างมาก และข้อยุติที่ได้จากเสียงข้างมากดังกล่าวก็จะไม่ถูกต้องชอบธรรมด้วย

น.ต.ประสงค์ ยังกล่าวอีกว่า นักการเมืองสมัยนี้ ใช้ช่องโหว่ของกฎหมายมาเป็นประโยชน์ เพื่อทำลายหลักนิติธรรม จริยธรรม และมารยาททางการเมือง ทั้งที่รัฐธรรมนูญ ปี 50 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่วางกรอบจริยธรรมให้ผู้มีอำนาจรัฐปฏิบัติ ซึ่งถ้าออกจากหลักนี้มารยาทก็ไม่เกิด ประเทศจะวุ่นวายได้ง่าย คุณลักษณะสำคัญของระบอบประชาธิปไตย จึงต้องประกอบด้วย การมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง ประกันสิทธิเสรีภาพประชาชน เคร่งครัดออกกฎหมายและนโยบายต่างๆ ต้องประกอบไปด้วย หลักนิติธรรม จริยธรรม มารยาททางการเมืองเป็นสำคัญ

“ที่ผ่านมานักการเมืองชอบพูดตลอดว่าตัวเองมาจากการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวไม่ใช่เครื่องพิสูจน์ของระบอบประชาธิปไตย ต้องมีการถ่วงดุลอำนาจ ที่สำคัญการสรรหาบุคคลที่เป็นตัวเองของประชาชน ต้องมีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ถ้าไม่ใช่ตามนี้ก็เป็นประชาธิปไตยในรูปแบบ ไม่ใช่ประชาธิปไตยในเนื้อหา จะเห็นได้ว่า การเลือกตั้งครั้งล่าสุด มีการใช้อิทธิพลข่มขู่ ซื้อสิทธิขายเสียง ให้อามิสสินจ้าง แม้จะมีกระบวนการให้ใบเหลือง ใบแดง ของ กกต. แต่ก็สู้สิ่งเหล่านี้ไม่ไหว ส่งผลให้คนที่รับการเลือกตั้งเข้ามาไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม และเมื่อคนเหล่านี้มาบริหารบ้านเมือง ก็ทำให้การบริหารงานบิดเบี้ยว พิกลพิการ ฉ้อราษฎรบังหลวง ละเมิดหลักยุติธรรม ใช้อำนาจอย่างเหิมเกริม โดยอ้างว่าตัวเองมาจากการเลือกตั้ง ส่งผลให้ระบอบการเมืองเป็นธนาธิปไตย คือเป็นระบบของเงิน การบริหารเป็นระบบโจราธิปไตย ลักเล็กขโมยน้อยไปเป็นของตนเอง และที่ร้ายที่สุดอำนาจอธิปไตยกลายเป็นของวงญาติเท่านั้น คือ ญาติกาธิปไตย ซึ่งผมคงไม่ต้องเอ่ยว่าหมายถึงใคร หรือหมายถึงอะไร” น.ต.ประสงค์ กล่าว

น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า เห็นว่า การจะพัฒนาการเมืองระบอบประชาธิปไตยต้องแก้ที่เหตุ ซึ่งแหล่งความล้มเหลวในบ้านเมืองมาจาก 3 สาเหตุสำคัญ จาก 3 สาเหตุสำคัญ คือ 1.ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม คนไทยยังมีความเขลาและความจน ซึ่งความเขลา ไม่ใช่ความโง่ แต่เป็นการขาดข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องในการตัดสินใจ เมื่อประกอบกับความจนจึงทำให้ง่ายต่อการถูกมอมเมา ผู้บริหารและผู้มีอำนาจ มีความต้องการอย่างเดียวคือต้องการให้คนรักคนชอบ จึงหยิบยื่นในสิ่งที่คนชอบ คือ นโนบายประชานิยมต่างๆ โดยไม่ได้สนใจว่า จะสร้างพิษสงให้กับประชาชนอย่างไร ส่งผล หนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น เงินในพระคลังหร่อยหรอ วินัยการเงินการคลังไม่มี บริหารบ้านเมืองเพียงปีเศษ เป็นหนี้เป็นแสนล้าน หลังปีใหม่ก็จะกู้อีก 2.2 ล้านล้าน ซึ่งประชาชนที่ยังเขลา ก็ไม่รู้ว่า หนี้เหล่านี้ตนเองต้องแบกรับ ดังนั้นในปี 2556 ถ้าแก้ไม่ถูกที่ถูกทาง ประเทศไทยจะล้มละลายทางเศรษฐกิจอย่างที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ไทยจะกลายเป็นประเทศกรีซ 2 ที่หายนะทางสภาวะเศรษฐกิจ

2.โครงสร้างและกระบวนการที่เรียกว่าสถาบันประชาธิปไตย ซึ่งต้องประกอบไปด้วย รัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง การเลือกตั้ง การประชุมรัฐสภา การจัดตั้งรัฐบาล การมีจิตสำนึก สิ่งเหล่านี้มีมากน้อยแค่ไหน ในส่วนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ไม่ได้ห้ามไม่ให้มีการแก้ การแก้ถูกบัญญัติไว้ในมาตรา 291 และกำหนดผู้แก้ไว้ 4 จำพวก แต่มาตรา 291 กำหนดให้แก้เป็นรายมาตรา ไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราไหนให้แก้ทั้งฉบับ และอยากให้ผู้ที่จะทำประชามติ กลับไปศึกษาข้อความรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ให้ดี เพราะมีถ้อยคำตอนหนึ่งว่า การทำประชามติจะจัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ ซึ่งถ้าให้ตนทำประชามติ จะทำใน 2 เรื่อง คือ ถามประชาชนเห็นด้วยหรือไม่จะเอาเงิน 7.5 ล้านบาทไปให้คนเผาบ้านเผาเมือง และเห็นด้วยกับการอยู่ต่อไปของนักการเมืองที่คุมอำนาจอยู่ในตอนนี้หรือไม่ เชื่อว่าประชาชนจะมาออกเสียงเกิน 24 ล้านเสียงแน่ แต่ถ้าจะทำประชามติว่าควรจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ คิดว่าประชาชนคงออกมาไม่ถึง 24 ล้านเสียง จึงเชื่อว่าปัญหารัฐธรรมนูญจะเป็นปัญหาใหญ่ที่เป็นอีกวิกฤติหนึ่งของบ้านเมือง และ 3.วัฒนธรรมและทัศนะทางการเมืองของประชาชน ทำอย่างไรจะปลูกฝังความไม่เห็นแก่ตัวให้เกิดขึ้นได้

“ในปี 56 อยากให้ทุกคนเตรียมตัว เพราะฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศจะล้มละลาย ขณะนี้นโยบายประชานิยมขึ้นค่าแรง 300 บาท พ่นพิษแล้ว แค่วันที่ 1 ม.ค. มีคนตกงาน 15,000 คน จึงควรเตรียมตัวนำเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้ประคับประคองตัวเอง ถ้าสามารถบอกผู้มีอำนาจรัฐได้ ก็ให้ช่วยกัน บ้านเมืองวันนี้วิกฤติในทุกด้าน เรื่องไม่ถูกต้อง ก็ทำให้ถูกต้อง และตราบใดสภาพบ้านเมืองเป็นอย่างนี้ ประชาชนจะทนไม่ได้ ผมไม่อยากใช้คำว่า ท่านต้องระมัดระวังว่าจะเกิดจราจลต่อเนื่องในกรุงเทพฯ เรื่องความมั่นคง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และบูรภาพแห่งดินแดน มันล้มเหลวหมด สิ่งเหล่านี้เป็นมะเร็งร้ายกัดกร่อนประเทศไทย ความมั่นคงชายแดนภาคใต้ ความมั่นคงรอบประสาทเขาพระวิหาร เราจะเสียดินแดน จากการใช้แผนที่สัดส่วน 1 ต่อ 2 แสน เขมรจะกินเขตแดน เข้ามาในจังหวัดภาคอีสานถึงอ่าวไทย ซึ่งเรามีทรัพยากรเป็นแสนๆล้าน ทั้งแก๊ส น้ำมันดิบ บนบกและในทะเลมีไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นแห่ง ปัญหาของบ้านเมือง ปีนี้จึงวิกฤติวุ่นวายสุดๆ ปี 2540 เราเผชิญ วิกฤติต้มยำกุ้ง แต่คราวนั้นเป็นวิกฤติเฉพาะเศรษฐกิจ แต่ปี 2556 จะเป็นวิกฤติครบเครื่อง ร้ายแรงกว่าปี 2540 เป็นวิกฤตต้มยำปู อย่าคิดว่าเอร็ดอร่อย เพราะเป็นปูที่อาบฟอร์มาลีนจากดูไบ ซึ่งอยากฝากนักการเมืองทุกคน แม้จะต่างพรรคกัน แต่หากเกิดปัญหา ต้องคิดเอาบ้านเมืองเอาไว้ก่อน ไม่ใช่นั้นบ้านเมืองเราก็จะล้มลาย” น.ต.ประสงค์ กล่าว

หลังจากนั้น นักศึกษา พตส. ได้มีการสอบถาม น.ต.ประสงค์ ในเรื่องทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับว่าสามารถทำได้หรือไม่ รวมทั้งได้มีการแสดงความคิดว่า ปัญหาบ้านเมืองเกิดจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่ง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ น.ต.ประสงค์ เป็นบุคคลที่เสมือนเป็นพี่ เพื่อนและพ่อ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะเป็นผู้ชักชวนให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาทำงานการเมือง ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่บ้านเมืองเกิดความปรองดอง พล.ต.จำลอง น.ต.ประสงค์ และพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ควรจะได้มีการพูดคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อยุติปัญหา โดย น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า ในเรื่องการทำประชามติ เห็นว่าหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะสุ่มเสี่ยงต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะมาตรา 291 ให้แก้ไขเป็นรายมาตรา แล้วรัฐบาลไปทำประชามติเพื่อแก้ไขทั้งฉบับ ก็เท่ากับการทำประชามติขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ อีกทั้งประเด็นที่จะให้ประชาชนลงประชามติจะต้องตั้งประเด็นอย่างไร ไม่ให้ถูกมองว่า เป็นประโยชน์เพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง รวมถึงการทำประชามติกฎหมายกำหนดให้ต้องทำวันเดียว แต่กฎหมายก็ให้คนไทยในต่างประเทศ สามารถออกเสียงประชามติได้ ซึ่งก็ทำให้เกิดปัญหาเรื่องของวันและเวลา จุดนี้อาจทำให้ กกต. สุ่มเสี่ยงต่อการถูกถอดถอน และการที่รัฐบาลต้องการหารือการทำประชามติกับ กกต.นั้น ถ้ารัฐบาลต้องการปรึกษา ทำไมจึงไม่มาหา กกต. การที่ กกต. ไปพบ ทำให้ถูกมองได้ว่า กกต. สั่งได้

ส่วนที่ให้ตน พล.ต.จำลอง และพล.อ.เปรม ทำเรื่องปรองดองนั้น ตนยืนยันว่า ไม่ใช่ตัวปัญหา และตอบแทนอีก 2 คนได้เลยว่าก็ไม่ใช่ตัวปัญหาเหมือนกัน เมื่อไม่ใช่ก็พร้อมให้ทุกคนปรึกษา ยืนยันเราทั้งหมดอยากเห็นบ้านเมืองสงบสุขและการบริหารบ้านเมืองบริหารงานไปอย่างราบเรียบ

มีรายงานว่า หลังจากที่ น.ต.ประสงค์ บรรยายเสร็จสิ้น นักศึกษา พตส. บางคนก็มีแนวคิดว่า ควรที่จะมีการเชิญบุคคลที่มีแนวคิดอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นความเห็นคนละฝ่ายกับ น.ต.ประสงค์ มาพูดคุยให้ความรู้กับนักศึกษาบ้าง โดยได้มีการเสนอชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าอยากให้มาบรรยายในหลักสูตรเกี่ยวกับเรื่องความปรองดอง แต่ก็ยังไม่มีข้อชัดเจน


กำลังโหลดความคิดเห็น