ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ค่ำวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ นช.ทักษิณ ชินวัตร ได้แสดงความเป็นเจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริงออกมา จากการโฟนอินไปยังที่ชุมนุมคนเสื้อแดงที่โบนันซ่า เขาใหญ่ พร้อมลั่นคำประกาศิต ให้ใช้วิธีทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เป็นการหักหน้าแกนนำคนเสื้อแดงอย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ ที่เพิ่งประกาศ “ปฏิญญาโบนันซ่า” ไปก่อนหน้านั้นไม่กี่นาทีว่าจะต้องให้สภาเดินหน้าลงมติวาระ 3 ของญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ไปเลย เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
อย่างไรก็ตาม การให้ทำประชามติ ของ นช.ทักษิณ หาใช่เพราะต้องการฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง แต่เป็นเพราะต้องการเลือกใช้วิธีที่จะปกปิดวาระซ่อนเร้นของตัวเองให้มิดชิดที่สุด เพื่อลดแรงต่อต้านให้เหลือน้อยที่สุด อันจะนำไปสู่ความสำเร็จการแก้ไขรัฐธรรมนูญในบั้นปลายนั่นเอง
นอกจากนั้นแล้ว การทำประชามติ หากผ่านไปได้ นช.ทักษิณยังสามารถนำไปอ้างเป็นความชอบธรรมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ได้อีก
คำปราศรัยผ่านโฟนอินบนเวทีโบนันซ่า เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ก็บอกชัดเจนอยู่แล้วว่า นช.ทักษิณเลือกที่จะใช้วิธีการทำประชามติ เพราะมั่นใจว่าจะสามารถหาคนมาใช้สิทธิได้เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คือ 25 ล้านคน ตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อกฎหมายเกี่ยวกับการทำประชามติ หาใช่เพราะต้องการฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนไม่
ส่วนที่ไม่ให้สภาเดินหน้าลงมติวาระ 3 ไปเลย ก็เพราะไม่มั่นใจว่า ในรัฐสภา ซึ่งมี ส.ส.และ ส.ว.รวมกัน 650 เสียงนั้น เขาจะสั่งซ้ายหันขวาหันได้เกินกึ่งหนึ่ง คือ 326 เสียงหรือไม่ และยังกลัวว่า จะเป็นการขัดคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวินิจฉัยไว้ เมื่อกลางปี 2555 ที่ผ่านมา
ที่แน่นอนที่สุดคือ ธงที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ของตัวเองนั้น มีอยู่ในใจของ นช.ทักษิณ ชินวัตร อยู่แล้ว แม้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตน น้องสาวผู้เป็นนายกฯ หุ่นเชิด จะบอกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการแก้ไขเพื่อประชาชนจริงๆ ไม่ใช่เพื่อพี่ชายของตนเอง
โฟนอินของ นช.ทักษิณ กับพฤติการณ์เร่งเร้าตอกย้ำอ้างเหตุผลข้างๆ คูๆ ว่าจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้ คือหลักฐานที่บ่งบอกว่า เป้าหมายของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อยู่ที่ผลประโยชน์ส่วนตัวของ นช.ทักษิณเอง
นช.ทักษิณ พูดระหว่างการโฟนอินตอนหนึ่งว่า การทำมาหากินในไทยจะทำอะไรก็ยากลำบากเพราะรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ขณะนี้มีอะไรไม่รู้อยู่เหนืออำนาจประชาชน ทำให้การจัดสรรอำนาจ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ไม่สมดุล และไม่เคารพอำนาจประชาชน รัฐธรรมนูญเกิดจากเผด็จการ จะให้เป็นประชาธิปไตยมันเป็นไปไม่ได้เพราะดีเอ็นเอมันเป็นเผด็จการ ถึงเวลาต้องทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม นช.ทักษิณ ไม่ได้อธิบายว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นไม่เป็นประชาธิปไตยตรงไหน นอกจากข้ออ้างเดิมๆ ว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลักการเนื้อหาไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่คนเสื้อแดงและ นช.ทักษิณยกย่องเชิดชูว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุดนั่นเอง และยังเพิ่มอำนาจให้ประชาชนในการตรวจสอบควบคุมนักการเมืองและการเสนอกฎหมายจากภาคประชาชนให้ง่ายขึ้นกว่าเดิม
รวมทั้งรัฐธรรมนูญ 2550 ยังเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ผ่านการลงประชามติ โดยเปิดโอกาสให้ทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่ ถึงแม้ฝ่ายคนเสื้อแดงจะเดินสายเปิดเวทีต่างจังหวัดและแจกซีดีนับล้านแผ่นเพื่อบิดเบือนเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างไร ก็ยังสามารถทำได้อย่างเสรี
นช.ทักษิณ และฝ่ายคนเสื้อแดงจึงไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญ 2550 มีมาตราใดที่ไม่เป็นประชาธิปไตย นอกจากอ้างเรื่องที่มาและใช้ตรรกะตื้นๆ ว่า ผลไม้ที่เกิดจากต้นไม้มีพิษก็ย่อมจะมีพิษ
ยิ่งไปกว่านั้น แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามความต้องการของ นช.ทักษิณที่แพลมออกมา ยังไม่เห็นว่าจะทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น นอกจากแก้เพื่อ นช.ทักษิณและนักการเมืองทุนสามานย์เท่านั้น
ข้อเสนอของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ที่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ทั้งหมด 9 ประเด็น 81 มาตรานั้น สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของ นช.ทักษิณว่าต้องการแก้ไขมาตราใดบ้าง เพียงแต่ เขาไม่เลือกใช้วิธีแก้ไขรายมาตรา อันเป็นการเผยไต๋ให้ฝ่ายต่อต้านจับได้ว่าเป็นการแก้ไจรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองเท่านั้น
แม้ว่า แนวทางของ ร.ต.อ.เฉลิมดูเหมือนแย้งกับคำประกาศิตของ นช.ทักษิณที่ทำประชามติ แต่ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่ ร.ต.อ.เฉลิมเสนอต่อที่ประชุมพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.นั้น สอดคล้องกับสิ่งที่ นช.ทักษิณ โฟนอินที่เขาใหญ่ทั้งสิ้น
ข้อเสนอทั้ง 9 ประเด็นนั้น แม้ ร.ต.อ.เฉลิม จะยังไม่เปิดเผยออกมาทั้งหมด แต่ในการแถลงของนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.นั้น ได้ระบุถึงมาตรา 237 ที่ลงโทษยุบพรรคการเมืองกรณีกรรมการบริหารพรรคทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และมาตรา 68 เกี่ยวกับการยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างรัฐธรรมนูญและระบอบการปกครอง
นอกจากนั้นยังมีรายงานข่าวว่าจะแก้ไขให้ยกเลิกศาลฎีกาแผนกคดีคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ปรับปรุงศาลปกครอง ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนแปลงที่มาของ ป.ป.ช.โดยให้สภาเป็นคนเลือก
หากย้อนไปดูคำพูดของ นช.ทักษิณ ชินวัตร ตอนโฟนอินโบนันซ่า ที่อ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทำให้การจัดสรรอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการไม่สมดุลนั้น ย่อมสะท้อนว่า นช.ทักษิณต้องการจัดสรรอำนาจทั้งสามใหม่ และข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 9 ประเด็น ของ ร.ต.อ.เฉลิม ก็มุ่งสนองตอบความต้องการนี้
เป้าหมายการแก้รัฐธรรมนูญของ นช.ทักษิณ ชินวัตรดังกล่าว หากทำได้สำเร็จ ก็จะเท่ากับว่า การเมืองไทยจะเดินถอยหลังกลับไปอยู่ในช่วงก่อนที่รัฐธรรมนูญ 2540 บังคับใช้
นั่นเพราะ การมีศาลฎีกาแผนกคดีคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ การมี ป.ป.ช. รวมถึงการยุบพรรคการเมือง ล้วนเป็นหลักการสำคัญที่เพิ่งมีขึ้นในรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ต้องการให้มีองค์กรอิสระขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจนักการเมือง
การยกเลิกองค์กรเหล่านี้ หรือทำให้องค์กรเหล่านี้ตกอยู่ภายใต้อาณัติของนักการเมืองเหมือนเดิม การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จึงไม่ใช่เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยตามที่กล่าวอ้าง แต่เป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของนักการเมืองทุนสามานย์ อันมี นช.ทักษิณ ชินวัตรเป็นผู้นำมากกว่า