โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
“ทีโบน”เป็นอีกหนึ่งวงดนตรีในบ้านเราที่ไม่ขยันทำการบ้าน เอ๊ย!!! ไม่ใช่ พวกเขาเป็นวงที่ไม่ขยันออกอัลบั้ม เพราะกว่า 20 ปีที่โลดแล่นอยู่ในยุทธจักรวงการเพลงไทย ทีโบนวงพี่ใหญ่แห่งแนวดนตรีเร็กเก้-สกาของไทย มีผลงานสตูดิโออัลบั้มออกมาเพียง 6 ชุดเท่านั้น โดยชุดล่าสุดเว้นว่างห่างหายจากชุดที่ 5 (กอด)ไปนานถึง 7 ปี จนบรรดาแฟนๆสกา-เร็กเก้บ้านเรา กลัวว่าพวกเขาจะเลิกราหรือหมดไฟไม่ปล่อยผลงานใหม่ๆ มาให้ได้ “Hic” กันอีก
แต่ข้อกังวลพลันหมดไป เมื่อพวกเขาปล่อยอัลบั้มใหม่(ชุดที่ 6)ออกมาเมื่อต้นปีที่แล้วในชื่อชุด“Bone in da House”
Bone in da House มีสมาชิกที่ทางวงจัดเต็มกันมาถึง 9 คน ได้แก่ “แก๊ป - เจษฎา ธีระภินันท์” : ร้องนำ กีตาร์, “กอล์ฟ - นครินทร์ ธีระภินันท์ : กีตาร์, “เล็ก - อริญชย์ ปานพุ่ม” : กลอง, “หนุ่ม - พิรศุษม์ พัฒนะจินดารักษ์” : เพอร์คัสชัน, “อ้น - พิสุทธิ ประทีปะเสน” : เทเนอร์แซกโซโฟน, “กุ๊ก - ธีรัช เลาห์วีระพานิช” : บาริโทน แซกโซโฟน, “ฤษฎ - สฤษฎ ตันเป็นสุข” : ทรัมเปต, “ซันนี่ - ณัฐพล มานิกัมปิลไล” : เบส และ “จ๋า - ชญาณี มหาศรี” : เปียโน ออร์แกน
นอกจากนี้ยังมีนักดนตรีสมทบอีกจำนวนหนึ่ง แต่ที่ถือเป็นความพิเศษไม่ใส่ไข่ ก็คือการได้คนดนตรีระดับโลกอย่าง “Prince Fatty”(Mike Pelanconi) มาเป็นโปรดิวเซอร์ร่วมกับวงทีโบน พร้อมร่วมฟีเจอริ่ง เช่นเดียวกับ “Dennis Alcapone” ตำนานดนตรีจากจาไมก้ามาที่มาร่วมฟีเจอริ่งด้วยเช่นกัน
Bone in da House มีทั้งหมด 10 เพลง นำโดย “หินกลิ้ง”(Like A Rolling Stone) เพลงเปิดอัลบั้มเป็นสกามันๆ ให้ Hic ขยับโยกตัวกันอย่างเต็มที่ มีเสียงเครื่องเป่าเล่นสอดประสานไปตลอด กีตาร์เล่นเสียงหน่วงๆฟังเด่นไม่เบา พี่แก็ปร้องเพลงนี้แบบสบายในโทนเสียงต่ำของเขา แถมมีลูกร้องกึ่งพูดเสียงเหน่อๆเปลี่ยนบรรยากาศ เพลงหินกลิ้งเนื้อหามุ่งให้ความหวัง พลังใจ เกิดเป็นคนต้องสู้มีความเพียร มีแรงศรัทธา ซึ่งฟังเข้าเข้ากับบรรยากาศของโอลิมปิกในช่วงนี้ได้ดีทีเดียว
“มาลัย ยอดรัก”(My Sweet Malai)จังหวะหน่วงลงมาหน่อย แต่ยังคงฟังสนุก ทางดนตรีใส่กลิ่นของความเป็นไทยเข้ามา มีเสียงเครื่องเป่าหนาๆเล่นเป็นกองหนุน
“Skarit” เจือกลิ่นดับมิวสิค มี Dennis Alcapone มาฟีเจอริ่ง ทั้งร้อง ตะโกน สอดคล้องไปกับการจัดเต็มของภาคดนตรีอย่างสุดมัน
เดินหน้า Hic กันต่อกับเพลงที่เจือเมโลดี้แบบไทยๆนั่นก็คือ “หน้าบาน”(Smiley Face) เป็นสกาสนุกๆอารมณ์เดียวกับมาลัยยอดรัก ท่อนโซโลมีเสียงทรอมโบนรับเชิญมาช่วยเพิ่มสีสัน เนื้อเพลงหน้าบาน ฟังแล้วหน้าบานกับการเชิญชวนให้คนเราหันมายิ้มให้กัน แบ่งปันน้ำใจให้กัน เพราะยุคนี้รอยยิ้มน้ำใจดูจะแห้งแล้งไปจากสังคมไทยมากขึ้นทุกที
เปลี่ยนมาฟังเพลงบรรเลงกับ “Caravan Of Luv” ที่ยังคงมันต่อเนื่อง เพลงนี้นักดนตรีอิมโพรไวซ์กันในทางของแจ๊ซซึ่งเล่นซ้อนอยู่ในโครงการของเร็กเก้สกาอีกที
เบรกอารมณ์กันด้วย “พันหนึ่งราตรี”(Arabian Nights)(แทรก 6) เป็นเร็กเก้เพราะๆ มีเสียงเครื่องเป่าเล่นสอดประสาน ฟังเหงาๆเศร้าๆ ซึ่งถ้าขาดเสียงเครื่องเป่าไป เพลงนี้จะขาดอรรถรสไปมากโข
ส่วน “Big Jam” ได้ Horseman และ Prince Fatty มาร่วมฟีเจอริ่งส่งเสียง เป็นเร็กเก้จังหวะปนกลางเปิดพื้นที่ให้นักดนตรีแจมกันใหญ่ สมดังชื่อเพลง
“ไม่รู้” กีตาร์เสียงใสๆเล่นทางแจ๊ซนำมา ก่อนส่งเข้าเพลงเป็นเร็กเก้ช้าๆเพราะๆ เนื้อหาชวนคิดกับคนใกล้ๆตัวเราที่เรามักหลงลืมไป
ต่อกันด้วย “Don Juan On Da Beach” อีกหนึ่งเพลงบรรเลงสนุกๆ ซึ่งผมสงสัยจังว่าในวงทีโบนใครคือดอน ฮวน ริมชายหาด
จากนั้นมาปิดท้ายกันที่ “Bone In Da House” เป็นเพลงร้องภาษาอังกฤษผสมไทยในอารมณ์เร็กเก้สนุกๆ เปิดพื้นที่ให้แจมดนตรีกันทิ้งท้ายแบบพอหอมปากหอมคอ
สำหรับ Bone in da House ถือเป็นอัลบั้มที่คงทำให้แฟนเพลงหายคิดถึงได้เป็นอย่างดี เพราะชุดนี้ทางวงทีโบนจัดเต็มกันมาแบบเข้มข้น สนุก มัน ถึงน้ำถึงเนื้อของความเป็นดนตรี
นับเป็นอีกหนึ่งอัลบั้มในบ้านเราที่เป็นการผลิตงานดนตรีเพื่อดนตรี ไม่ได้ทำงานดนตรีเพื่อการตลาด มุ่งเน้นแต่ยอดขาย หรือเล่นดนตรีเพื่อให้ตัวเองเป็นเซเลบอย่างที่คนดนตรีหลายๆคนในยุคนี้นิยมทำกัน ซึ่งนี่อาจจะเป็นอัลบั้มที่ไม่ประสบความสำเร็จทางด้านยอดขายเท่าที่ควร แต่ในด้านของอรรถรสทางดนตรี โดยเฉพาะความเป็นเร็กเก้-สกานั้น Bone in da House มีให้ฟังกันอย่างเต็มอิ่ม
*****************************************
แกะกล่อง
ศิลปิน : ฮัคกี้ ไอเคิลมานน์
อัลบั้ม : Guitar Favourites
มือกีตาร์หนุ่มใหญ่(และตัวใหญ่)ที่หลงใหลในความเป็นไทยและซาบซึ้งในพระบารมีของในหลวง ผู้สร้างผลงานบรรเลง(เดี่ยว)กีตาร์คลาสสิกบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่คนไทยคุ้นหูกันเป็นอย่างดี
วันนี้เขานำบทเพลงโปรดที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่เป็นเพลงคลาสสิกมีท่วงทำนองคุ้นหู ร่วมด้วยเพลงโฟล์คเก่าแก่ อาทิ “Romance d’ Amour”,“Menuet”,“Greensleevs”,“Classical Gas”, “Jesu,Joy of Man’s Desiring” ซึ่งล้วนต่างเป็นบทเพลงอมตะเหนือกาลเวลามาบรรเลงด้วยกีตาร์คลาสสิคในแบบฉบับของฮัคกี้ ที่ละเมียดละไม เสียงใสสะอาด ฟังแล้วได้อรรถรสของบทเพลงอมตะในลีลากีตาร์คลาสสิคได้เป็นอย่างดี
*****************************************
คอนเสิร์ต
Bruckner 5th
วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (Thailand Philharmonic Orchestras หรือ TPO) นำเสนอคอนเสิร์ต Bruckner 5th โดย Claude Villaret วาทยกร จะมากำกับเพลง Symphony No.5 in B flat major ของ Anton Bruckner นักประพันธ์ชาวออสเตรียที่เขียนขึ้นในขณะที่ Bruckner กำลังผจญกับมรสุมชีวิตที่แสนเศร้า และ Bruckner เองก็ล้มป่วยจนทำให้ไม่เคยได้ยินเพลงที่ตนเองเขียนบรรเลงโดยวงออร์เคสตร้าเลย ซิมโฟนีบทนี้บางครั้งมีผู้เรียกว่า “Tragic” “Church of Faith” หรือ “Pizzicato” symphony
พร้อมกันนี้ TPO จะนำเสนอบทเพลง Piano Concerto No.1 in G minor op.25 ของ Felix Mendelssohn Bartholdy โดยได้รับเชิญ ขวัญชนก พงศ์ไพโรจน์ มือเปียโนดาวรุ่งวัยเพียง 20 ปี ที่ถูกการันตีด้วยเหรียญทองอันดับ 2 งานประกวดเซทเทรดเยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย รางวัล Trinity Awards Thailand 2 สมัยซ้อน และได้เหรียญทองการแข่งขัน Yamaha Thailand Music Festival ในปีพ.ศ. 2546
คอนเสิร์ตนี้จะจัดแสดงขึ้น ในวันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม 2555 เวลา 19.00 น. และวันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2555 เวลา 16.00 น. ที่หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา บัตรราคา 500, 300 และ 100 บาท (สำหรับนักเรียนนักศึกษา) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือสำรองที่นั่งกรุณาโทร. 0 2800 2525 - 34 ต่อ 153-154 หรือ www.music.mahidol.ac.th, www.thailandphil.com
“ทีโบน”เป็นอีกหนึ่งวงดนตรีในบ้านเราที่ไม่ขยันทำการบ้าน เอ๊ย!!! ไม่ใช่ พวกเขาเป็นวงที่ไม่ขยันออกอัลบั้ม เพราะกว่า 20 ปีที่โลดแล่นอยู่ในยุทธจักรวงการเพลงไทย ทีโบนวงพี่ใหญ่แห่งแนวดนตรีเร็กเก้-สกาของไทย มีผลงานสตูดิโออัลบั้มออกมาเพียง 6 ชุดเท่านั้น โดยชุดล่าสุดเว้นว่างห่างหายจากชุดที่ 5 (กอด)ไปนานถึง 7 ปี จนบรรดาแฟนๆสกา-เร็กเก้บ้านเรา กลัวว่าพวกเขาจะเลิกราหรือหมดไฟไม่ปล่อยผลงานใหม่ๆ มาให้ได้ “Hic” กันอีก
แต่ข้อกังวลพลันหมดไป เมื่อพวกเขาปล่อยอัลบั้มใหม่(ชุดที่ 6)ออกมาเมื่อต้นปีที่แล้วในชื่อชุด“Bone in da House”
Bone in da House มีสมาชิกที่ทางวงจัดเต็มกันมาถึง 9 คน ได้แก่ “แก๊ป - เจษฎา ธีระภินันท์” : ร้องนำ กีตาร์, “กอล์ฟ - นครินทร์ ธีระภินันท์ : กีตาร์, “เล็ก - อริญชย์ ปานพุ่ม” : กลอง, “หนุ่ม - พิรศุษม์ พัฒนะจินดารักษ์” : เพอร์คัสชัน, “อ้น - พิสุทธิ ประทีปะเสน” : เทเนอร์แซกโซโฟน, “กุ๊ก - ธีรัช เลาห์วีระพานิช” : บาริโทน แซกโซโฟน, “ฤษฎ - สฤษฎ ตันเป็นสุข” : ทรัมเปต, “ซันนี่ - ณัฐพล มานิกัมปิลไล” : เบส และ “จ๋า - ชญาณี มหาศรี” : เปียโน ออร์แกน
นอกจากนี้ยังมีนักดนตรีสมทบอีกจำนวนหนึ่ง แต่ที่ถือเป็นความพิเศษไม่ใส่ไข่ ก็คือการได้คนดนตรีระดับโลกอย่าง “Prince Fatty”(Mike Pelanconi) มาเป็นโปรดิวเซอร์ร่วมกับวงทีโบน พร้อมร่วมฟีเจอริ่ง เช่นเดียวกับ “Dennis Alcapone” ตำนานดนตรีจากจาไมก้ามาที่มาร่วมฟีเจอริ่งด้วยเช่นกัน
Bone in da House มีทั้งหมด 10 เพลง นำโดย “หินกลิ้ง”(Like A Rolling Stone) เพลงเปิดอัลบั้มเป็นสกามันๆ ให้ Hic ขยับโยกตัวกันอย่างเต็มที่ มีเสียงเครื่องเป่าเล่นสอดประสานไปตลอด กีตาร์เล่นเสียงหน่วงๆฟังเด่นไม่เบา พี่แก็ปร้องเพลงนี้แบบสบายในโทนเสียงต่ำของเขา แถมมีลูกร้องกึ่งพูดเสียงเหน่อๆเปลี่ยนบรรยากาศ เพลงหินกลิ้งเนื้อหามุ่งให้ความหวัง พลังใจ เกิดเป็นคนต้องสู้มีความเพียร มีแรงศรัทธา ซึ่งฟังเข้าเข้ากับบรรยากาศของโอลิมปิกในช่วงนี้ได้ดีทีเดียว
“มาลัย ยอดรัก”(My Sweet Malai)จังหวะหน่วงลงมาหน่อย แต่ยังคงฟังสนุก ทางดนตรีใส่กลิ่นของความเป็นไทยเข้ามา มีเสียงเครื่องเป่าหนาๆเล่นเป็นกองหนุน
“Skarit” เจือกลิ่นดับมิวสิค มี Dennis Alcapone มาฟีเจอริ่ง ทั้งร้อง ตะโกน สอดคล้องไปกับการจัดเต็มของภาคดนตรีอย่างสุดมัน
เดินหน้า Hic กันต่อกับเพลงที่เจือเมโลดี้แบบไทยๆนั่นก็คือ “หน้าบาน”(Smiley Face) เป็นสกาสนุกๆอารมณ์เดียวกับมาลัยยอดรัก ท่อนโซโลมีเสียงทรอมโบนรับเชิญมาช่วยเพิ่มสีสัน เนื้อเพลงหน้าบาน ฟังแล้วหน้าบานกับการเชิญชวนให้คนเราหันมายิ้มให้กัน แบ่งปันน้ำใจให้กัน เพราะยุคนี้รอยยิ้มน้ำใจดูจะแห้งแล้งไปจากสังคมไทยมากขึ้นทุกที
เปลี่ยนมาฟังเพลงบรรเลงกับ “Caravan Of Luv” ที่ยังคงมันต่อเนื่อง เพลงนี้นักดนตรีอิมโพรไวซ์กันในทางของแจ๊ซซึ่งเล่นซ้อนอยู่ในโครงการของเร็กเก้สกาอีกที
เบรกอารมณ์กันด้วย “พันหนึ่งราตรี”(Arabian Nights)(แทรก 6) เป็นเร็กเก้เพราะๆ มีเสียงเครื่องเป่าเล่นสอดประสาน ฟังเหงาๆเศร้าๆ ซึ่งถ้าขาดเสียงเครื่องเป่าไป เพลงนี้จะขาดอรรถรสไปมากโข
ส่วน “Big Jam” ได้ Horseman และ Prince Fatty มาร่วมฟีเจอริ่งส่งเสียง เป็นเร็กเก้จังหวะปนกลางเปิดพื้นที่ให้นักดนตรีแจมกันใหญ่ สมดังชื่อเพลง
“ไม่รู้” กีตาร์เสียงใสๆเล่นทางแจ๊ซนำมา ก่อนส่งเข้าเพลงเป็นเร็กเก้ช้าๆเพราะๆ เนื้อหาชวนคิดกับคนใกล้ๆตัวเราที่เรามักหลงลืมไป
ต่อกันด้วย “Don Juan On Da Beach” อีกหนึ่งเพลงบรรเลงสนุกๆ ซึ่งผมสงสัยจังว่าในวงทีโบนใครคือดอน ฮวน ริมชายหาด
จากนั้นมาปิดท้ายกันที่ “Bone In Da House” เป็นเพลงร้องภาษาอังกฤษผสมไทยในอารมณ์เร็กเก้สนุกๆ เปิดพื้นที่ให้แจมดนตรีกันทิ้งท้ายแบบพอหอมปากหอมคอ
สำหรับ Bone in da House ถือเป็นอัลบั้มที่คงทำให้แฟนเพลงหายคิดถึงได้เป็นอย่างดี เพราะชุดนี้ทางวงทีโบนจัดเต็มกันมาแบบเข้มข้น สนุก มัน ถึงน้ำถึงเนื้อของความเป็นดนตรี
นับเป็นอีกหนึ่งอัลบั้มในบ้านเราที่เป็นการผลิตงานดนตรีเพื่อดนตรี ไม่ได้ทำงานดนตรีเพื่อการตลาด มุ่งเน้นแต่ยอดขาย หรือเล่นดนตรีเพื่อให้ตัวเองเป็นเซเลบอย่างที่คนดนตรีหลายๆคนในยุคนี้นิยมทำกัน ซึ่งนี่อาจจะเป็นอัลบั้มที่ไม่ประสบความสำเร็จทางด้านยอดขายเท่าที่ควร แต่ในด้านของอรรถรสทางดนตรี โดยเฉพาะความเป็นเร็กเก้-สกานั้น Bone in da House มีให้ฟังกันอย่างเต็มอิ่ม
*****************************************
แกะกล่อง
ศิลปิน : ฮัคกี้ ไอเคิลมานน์
อัลบั้ม : Guitar Favourites
มือกีตาร์หนุ่มใหญ่(และตัวใหญ่)ที่หลงใหลในความเป็นไทยและซาบซึ้งในพระบารมีของในหลวง ผู้สร้างผลงานบรรเลง(เดี่ยว)กีตาร์คลาสสิกบทเพลงพระราชนิพนธ์ที่คนไทยคุ้นหูกันเป็นอย่างดี
วันนี้เขานำบทเพลงโปรดที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่เป็นเพลงคลาสสิกมีท่วงทำนองคุ้นหู ร่วมด้วยเพลงโฟล์คเก่าแก่ อาทิ “Romance d’ Amour”,“Menuet”,“Greensleevs”,“Classical Gas”, “Jesu,Joy of Man’s Desiring” ซึ่งล้วนต่างเป็นบทเพลงอมตะเหนือกาลเวลามาบรรเลงด้วยกีตาร์คลาสสิคในแบบฉบับของฮัคกี้ ที่ละเมียดละไม เสียงใสสะอาด ฟังแล้วได้อรรถรสของบทเพลงอมตะในลีลากีตาร์คลาสสิคได้เป็นอย่างดี
*****************************************
คอนเสิร์ต
Bruckner 5th
วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (Thailand Philharmonic Orchestras หรือ TPO) นำเสนอคอนเสิร์ต Bruckner 5th โดย Claude Villaret วาทยกร จะมากำกับเพลง Symphony No.5 in B flat major ของ Anton Bruckner นักประพันธ์ชาวออสเตรียที่เขียนขึ้นในขณะที่ Bruckner กำลังผจญกับมรสุมชีวิตที่แสนเศร้า และ Bruckner เองก็ล้มป่วยจนทำให้ไม่เคยได้ยินเพลงที่ตนเองเขียนบรรเลงโดยวงออร์เคสตร้าเลย ซิมโฟนีบทนี้บางครั้งมีผู้เรียกว่า “Tragic” “Church of Faith” หรือ “Pizzicato” symphony
พร้อมกันนี้ TPO จะนำเสนอบทเพลง Piano Concerto No.1 in G minor op.25 ของ Felix Mendelssohn Bartholdy โดยได้รับเชิญ ขวัญชนก พงศ์ไพโรจน์ มือเปียโนดาวรุ่งวัยเพียง 20 ปี ที่ถูกการันตีด้วยเหรียญทองอันดับ 2 งานประกวดเซทเทรดเยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย รางวัล Trinity Awards Thailand 2 สมัยซ้อน และได้เหรียญทองการแข่งขัน Yamaha Thailand Music Festival ในปีพ.ศ. 2546
คอนเสิร์ตนี้จะจัดแสดงขึ้น ในวันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม 2555 เวลา 19.00 น. และวันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2555 เวลา 16.00 น. ที่หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา บัตรราคา 500, 300 และ 100 บาท (สำหรับนักเรียนนักศึกษา) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือสำรองที่นั่งกรุณาโทร. 0 2800 2525 - 34 ต่อ 153-154 หรือ www.music.mahidol.ac.th, www.thailandphil.com