xs
xsm
sm
md
lg

“บทเพลงน้ำเน่า” สะท้อนความจริง แด่“น้องน้ำ” ที่โดนกระทำชำเรา/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
ขยะที่มาพร้อมกับน้ำท่วม
บ้านผมอยู่เขตบางพลัด

ทุกวันนี้คนบางพลัดจำนวนมากต้องจำใจพลัดพรากจากบ้าน จากถิ่นที่อยู่อาศัย ระหกระเหินหนีน้องน้ำที่ไหลมาโจมตีอย่างท่วมท้นจนอ่วมอรทัย ปาเข้าไปสัปดาห์ที่สามแล้ว

นอกจากบางพลัดแล้วหลายพื้นที่ในเขตไข่ขาว(ไข่แดงคือกทม.ชั้นใน)ของฝั่งธนบุรีก็โดนน้ำท่วมอ่วมไม่แพ้กัน จนคนฝั่งธนทุกวันนี้ต้องกลายสภาพเป็นคน “ฝั่งทน” ที่ต้องทนทุกข์อยู่กับวิกฤตน้ำท่วมที่ทำท่าว่าปีนี้น้องน้ำจะท่วมฝั่งธนลากยาวเกิน 1 เดือนขึ้นไป

โอ้...ให้ตายเหอะยิ่งเละ แค่น้ำท่วมขังกทม. 3 วันขึ้นไปน้ำก็เน่าเหม็นแล้ว แต่นี่เล่นขังกันเป็นเดือน งานนี้น้องน้ำเลยจัดเต็มมาทั้งขยะและน้ำเน่าเสียชนิดที่ดูไม่จืดเลยจริงๆ ดำ เหม็น สกปรก ครบเครื่อง หมดสภาพของน้องน้ำที่บรรดากวีต่างร้อยรจนาออกมาเป็นภาษาอันสวยงามราวฟ้ากับเหว

นี่ถือเป็นการประจานความมักง่ายของคนไทยกลุ่มหนึ่งออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งเมื่อไม่กี่วันมานี้ผมเพิ่งโดนฤทธิ์ของคนมักง่ายมาแบบเต็มๆ โดยระหว่างที่เดินลุยน้ำเน่าในระดับหน้าอกออกจากบ้านไปยังปากซอย บ้านหลังหนึ่งพวกเล่นโกยขยะสารพัดสารพันจากบ้านให้ไปลอยเท้งเต้งบนท้องถนนที่เรากำลังเดินลุยน้ำอยู่แบบไม่สนใจใคร ส่วนอีกบ้านหนึ่งนี่แสบยิ่งกว่าอีก พวกเล่นเขวี้ยงถุงขยะจากชั้นสองลงมาบนถนน เฉี่ยวหัวผมไปนิดเดียวเอง พอเราแหงนหน้าขึ้นไปจะด่าบุพการีมัน ปรากฏว่ามันใช้วิชานินจา ไปมาไร้ร่องรอย หายต๋อมไปแบบไม่มีวี่แวว

เฮ้อ...นี่แหละประเทศไทย คนที่เก็บก็เก็บไป ส่วนคนที่ทิ้งก็ทิ้งไป ปัญหาขยะน้ำเน่าเสียมันจึงบานทะโร่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ จำเริญดีมั้ยล่ะ

และด้วยสาเหตุนี้หลังจากที่ผมได้นำเสนอ 5 บทเพลงอมตะที่ว่าด้วยแง่งามของสายน้ำไปในตอนที่แล้ว ในตอนนี้ผมจึงขอสลับอารมณ์แบบสุดขั้วด้วยการพาคุณผู้อ่านไปสัมผัสกับ 5 บทเพลงที่ว่าด้วยเรื่องการกระทำชำเราน้องน้ำ จนเกิดปรากฏการณ์แม่น้ำเน่าเสียไปในหลายพื้นที่
น้ำเน่า ขยะ ของคู่กัน ที่มากับวิกฤติน้ำท่วมในปีนี้
แม่น้ำสีเทา

เพลงแม่น้ำสีเทา เป็นเพลงในชุด “หัวใจข้างขวา”(พ.ศ.2534) ผลงานอัลบั้มแรกของ “แอน-นันทนา บุญหลง” เพลงนี้แอนเขียนเนื้อร้องเอง ส่วนทำนองแต่งโดย ภาสกร หุตวณิช

แม่น้ำสีเทาเป็นเพลงที่แอน-นันทนา ร้องโชว์น้ำเสียงใสๆกับเปียโน(ไฟฟ้า)ตัวเดียว เนื้อหาว่าด้วยการทิ้งขยะสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำลำคลอง จนแม่น้ำใสๆกลายเป็นขุ่นเทา ดังเนื้อเพลงท่อนหนึ่งที่ร้องว่า

“...เศษที่คนนั้นทิ้ง คือสิ่งที่ไปทำลาย ให้แม่น้ำใสใส
ไม่เหมือนเก่า จากใสเปลี่ยนเป็นสีเทา
ดูแล้วมันเศร้าใจเหลือเกิน”

เพลงแม่น้ำสีเทาแม้มีเนื้อหาว่าด้วยสิ่งแวดล้อมที่ใช้ได้ แต่น่าเสียดายที่นอกจากจะไม่ดังแล้วยังเป็นเพลงที่สั้นจุ๊ดจู๋ แค่ 1.05 นาทีเท่านั้น แถมเล่นผ่านรอบเดียวแบบไม่มีซ้ำ จนบางคนบอกว่านี่เป็นเพลงแถมหรือเพลงที่ทางค่ายยัดมาให้เต็มอัลบั้ม เพราะกระแสเรื่องสิ่งแวดล้อมในยุคสมัยนั้นบูมเอาเรื่อง ศิลปินส่วนใหญ่ที่ออกอัลบั้มกับค่ายแกรมมี่จะต้องมีเพลงที่ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมแทรกมาด้วย 1 เพลงขึ้นไป

สมาคมเชื้อโรคแห่งประเทศไทย

สมาคมเชื้อโรคแห่งประเทศไทย เพลงสนุกๆอารมณ์กวนๆของ “วงทีโบน” เจ้าพ่อเร็กเก้-สกาของไทย เพลงนี้เป็นการหยิบยกประเด็นเรื่องน้ำเน่า น้ำเสีย โดยเฉพาะน้ำเน่าเหม็นในแม่น้ำเจ้าพระยามานำเสนอผ่านการเล่าเรื่องของเหล่าเชื้อโรค ที่แฝงไว้ด้วยการจิกกัดประชดเสียดสี ในแนวดนตรีเร็กเก้สนุกๆ อวลไปด้วยกลิ่นดนตรีลาตินที่ภาคเครื่องเคาะนั้นเด่นเหลือหลาย

พร้อมๆกันนี้ยังมีภาษาแปลกๆอย่าง “โอยะมาโห่ วาดาโฮ ดำปี๋ -แปลให้เป็นไทยยิ่งเน่ายิ่งเหม็นยิ่งดี -โอยะมาโห่ วาดาโฮ ยิ่งดี๋ - แปลให้ฟังใหม่ไม่น่าไม่เหม็นไม่ดี” มาช่วยสร้างสีสัน

ในขณะที่ภาคเนื้อร้องที่สะท้อนพฤติกรรมความมักง่ายของคนไทยจำนวนหนึ่งมาได้อย่างแสบสันต์ ก็เห็นจะเป็นในท่อนจบที่ร้องว่า

“...เชื้อโรคอย่างเราสนุกสนานทั้งปี
เลยจัดปาร์ตี้ขอบพระคุณคนไทย
ขยะน้ำเสียท่านก็ทิ้งให้ไป
ไม่นานเท่าไหร่จะยกเมืองไทยให้เรา...”

สำหรับผมเวลาฟังเพลงนี้ทีไร นอกจากภาพน้ำเน่าเสียจะผุดลอยขึ้นมาในจินตนาการแล้ว ผมยังมักพาลคิดเลยไปว่า ที่ทำการสมาคมเชื้อโรคแห่งประเทศไทยมันอยู่ที่ไหนกันแน่ ระหว่างทำเนียบกับรัฐสภา ???

เสียงจากแม่กลอง

ด้วยความเป็นเด็กราชบุรีหรือเด็กราดรี วง “ดิ อินโนเซ้นท์” จึงสะท้อนภาพปัญหาความเน่าเสียของลำน้ำแม่กลองที่เกิดจากการทำโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นข่าวโด่งดังเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้วออกมา ผ่านบทเพลง “เสียงจากแม่กลอง” ในอัลบั้ม“ขวัญใจนักเรียน”(พ.ศ. 2524)

เพลงเสียงจากแม่กลอง แต่งโดย “พีรสันติ จวบสมัย” มือคีย์บอร์ด เพลงนี้เป็นการเล่าเรื่องผ่านวิถีของลูกปลา ที่แหวกว่ายอยู่ตามลำคลองก่อนที่แม่ของเขาจะพาว่ายไปยังแม่น้ำแม่กลองที่ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าสะอาดสวยงาม แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปโรงงานได้ทำให้แม่น้ำแม่กลองที่เคยใสสะอาดเปลี่ยนไป กลายเป็นแม่น้ำน่าเสีย

เพลงนี้แม้นำเสนอด้วยดนตรีสนุกๆฟังสบาย เนื้อร้องใช้ภาษาบอกเล่าอย่างเรียบง่าย แต่ว่าก็สื่อสารได้ตรงมาตรงไปดี โดยเฉพาะในท่อนแยกสู่ท่อนจบนั้นสะท้อนภาพการกระทำของมนุษย์ที่เห็นแก่ตัวบางกลุ่มได้ดีมาก

“...จากนั้นน้ำเสียก็บ่อย ปลาใหญ่ปลาน้อยต้องพลอยช้ำใจ
โรงงานเอาแต่สบาย ฉันต้องร้องไห้แม่ตายจากฉัน
จับฉันไปกินไม่ว่า ปล่อยน้ำมาฉันสูญพันธุ์
เอาแต่สบาย มักง่ายแย่งกัน ขอท่านจงโปรดเห็นใจ”

เสียงจากแม่กลอง นอกจากจะประสบความสำเร็จเป็นหนึ่งในเพลงดังของอินโนเซ้นท์แล้ว ยังได้รับรางวัลจากชมรมสภาวะแวดล้อมสยาม และโครงการสิ่งแวดล้อม องค์การสหประชาชาติ ในฐานะที่มีความสนใจในการรณรงค์เพื่อรักษาสภาวะแวดล้อมที่ดี

อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงของเมืองไทยนั้น หลังมีเสียงจากแม่กลองเกิดขึ้นก็ได้มีเสียงจากลุ่มน้ำอื่นๆตามมาอีกมากมาย ซึ่งแทนที่เสียงจากแม่กลองจะเป็นต้นแบบให้บรรดาโรงงานต่างๆหันมาใส่ใจอนุรักษ์ แม่น้ำ ลำคลอง ทะเล แต่สิ่งที่ออกมากลับตรงกันข้าม คือนับวันยิ่งมาโรงงานยิ่งปล่อยน้ำเสียลงสู่สายน้ำมากขึ้น
แม่น้ำเจ้าพระยาในกทม.ที่มีภาพบวกในด้านความสวยงาม 2 ฟากฝั่ง และมีภาพด้านลบในเรื่องของความสกปรก ขยะ น้ำเน่า และสิ่งปฏิกูลต่างๆ
แม่เจ้าพระยา

ในยุคสุนทราภรณ์, ดิอิมพอสสิเบิ้ล,ชาตรี ที่แม่น้ำเจ้าพระยายังคงสภาพดีมีความสวยงาม วงดนตรีเหล่านั้นได้สะท้อนภาพความงามของแม่น้ำเจ้าพระยาออกมาในมุมมองเฉพาะตน แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปแม่เจ้าพระยาถูกคนคนมักง่าย ทิ้งขยะ ของเสีย สิ่งปฏิกูลลงไป จนสะสมเน่าเหม็น กลายเป็นสายน้ำดำ น้ำครำ ทำให้มุมมองที่มีต่อแม่เจ้าพระยาของนักร้องนักดนตรีบางคนเปลี่ยนไป ดังในสองบทเพลงที่ผมจะกล่าวถึงต่อไปนี้

เพลงแรก “แม่เจ้าพระยา” ของ “ปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล” ผู้ที่แม้จะออกอัลบั้มมาเพียง 2 ชุด และไม่โด่งดังมากมาย เขาคนนี้ก็เป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าสร้างปรากฏการณ์แปลกใหม่ให้กับวงการเพลงไทยในยุคนั้นได้พอสมควร

แม่เจ้าพระยาเป็นเพลงในอัลบั้มที่สอง“คิดไปเป็นชาวเกาะ”(พ.ศ.2529) เพลงนี้ถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบดนตรีที่ไม่ป็อบปนเศร้ากับเสียงร้องติดกลิ่นฝรั่งของคุณปานศักดิ์ เนื้อเพลงว่าด้วยอดีตของสายน้ำเจ้าพระยาอันสวยงามที่ถูกผู้คนแห่งยุคสมัยลืมเลือนไป แถมยังมองไม่เห็นในคุณค่าของเจ้าพระยาทิ้งสารเคมีของเสียลงไป จนแม่เจ้าพระยาเน่าเสีย

“...นับวันสายน้ำไหลผ่านไป
ดูเหมือนเรามองไม่เห็นถึงคุณค่า
ปล่อยสารเคมีของเสียที่รู้กันว่า
เป็นพิษร้ายทำลายเจ้าพระยา...”

อย่างไรก็ดีเพลงนี้ในท่อนจบยังมีให้ความหวังด้วยการวิงวอนให้ช่วยกันดูแลรักษาแม่น้ำเจ้าพระยาดังเนื้อเพลงที่ร้องว่า

“...ขอเพียงวันนี้และต่อไป จงช่วยกันรักษาไว้ซึ่งคุณค่า
หยุดทิ้งเคมีของเสียที่รู้กันว่า เป็นพิษร้ายทำลายเจ้าพระยา
มาช่วยดูแลรักษา โดยหยุดทิ้งลงเจ้าพระยา
มาช่วยดูแลรักษา โดยหยุดทิ้งลงเจ้าพระยา...”

เจ้าพระยา

สำหรับอีกหนึ่งบทเพลงที่สะท้อนความเป็นจริงของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถูกน้ำมือมนุษย์กลุ่มหนึ่งทำร้ายจนกลายเป็นแม่น้ำเน่าก็คือเพลง “เจ้าพระยา” ของกลุ่มศิลปินตัวน้อย XYZ

เจ้าพระยาเป็นเพลงในอัลบั้ม “กุ๊ก กุ๊ก กู๋”(พ.ศ. 2533) อัลบั้มชุดสุดท้ายของ XYZ เพลงนี้เล่าถึงวิถีของแม่น้ำเจ้าพระยาในยุคเปลี่ยนผ่าน จากแม่น้ำสวยใสกลายมาเป็นแม่น้ำสายดำคล้ำ โดยไม่ลืมที่จะใส่ความหวังลงไปในเพลงให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยาเอาไว้

เพลงนี้ดนตรีเป็นป็อบร็อค เปิดนำมาด้วยเสียงเปียโนเพราะพริ้ง ก่อนจะส่งต่อเข้าสู่ภาคเนื้อร้องที่เหล่าสมาชิกวง XYZ สลับกันร้อง ฟังแล้วสัมผัสได้ถึงเสียงใสๆของศิลปินกลุ่มนี้ในยุคที่ยังเป็นเด็กวัยใสได้เป็นอย่างดี

เพลงเจ้าพระยา ทั้งภาคดนตรีและเนื้อเพลงทำออกมาได้กลมกลืนกลมกล่อม ฟังไพเราะมากๆ แต่เป็นความไพเราะที่แฝงไว้ด้วยความเจ็บปวดของแม่น้ำเจ้าพระยาที่น่ารันทดใจยิ่งนัก

“ *กาพย์โคลงกลอนก่อนนั้น เขาวาดฝันบรรยายเรื่องราว
กล่าวเป็นเพลงเรือขับขาน เป็นตำนานเพลงเจ้าพระยา
แต่มาในบัดนี้ คำกวีในจินตนา
ก็เป็นเพียงความงามที่แล้วมา เหมือนฝันวันวาน

ไม่มีใครกล่าวขาน ไม่มีนิทานเรื่องใหม่
เมื่อเจ้าพระยาขุ่นไป ไม่เหมือนเดิม
ไม่มีเพลงหนุ่มสาว ไม่มีเรื่องราวอ่อนหวาน
เหลือแต่โคลงกลอนแห่งสาร...เคมี
(ซ้ำ *)
เจ้าพระยาขุ่นไป หรือใครทำใจให้ขุ่น
เจ้าพระยาสิ้นบุญอยู่หรือไร
จับมือมาประสาน คิดการช่วยกันเข้าไว้
เจ้าพระยาจะใสเหมือนก่อน”
(ซ้ำ *)

เพลงเจ้าพระยา : โดย XYZ

........

ครับ และนั่นก็เป็น 5 บทเพลงที่สะท้อนการกระทำของมนุษย์มักง่ายกลุ่มหนึ่ง ที่กระทำชำเราสายน้ำจนเน่าเหม็น ดำคล้ำ มากมายไปด้วยขยะและสิ่งสกปรกของเสีย ซึ่งแม้บทเพลงเหล่านี้จะเป็นเพลงเก่ามีอายุอานามอย่างต่ำร่วม 20 ปีขึ้นไป แต่ในวันนี้สภาพน้ำเน่าเหม็นก็ยังคงปรากฏให้เห็นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ปีนี้ ทำให้เราได้เห็นภาพน้ำเน่าเสียในกรุงเทพฯที่เกลื่อนกลาดไปด้วยขยะเน่าเหม็น ซึ่งทางกรมควบคุมมลพิษคาดว่าหลังวิกฤตน้ำท่วมผ่านพ้น เราจะมีขยะที่มาจากน้ำไม่ต่ำกว่า 3 ล้านตัน นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องตามแก้ตามเก็บกันต่อไปหลังน้ำลด

อย่างไรก็ตาม เรื่องของขยะและน้ำเน่าเสีย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯเมืองหลวงนั้น ที่ผ่านมาไม่มีท่าว่าสถานการณ์สะอาดขึ้น เนื่องเพราะไอ้คนเก็บก็เก็บไป ไอ้คนทิ้งก็ทิ้งไป

แต่เมื่อคนเก็บมันมีปริมาณเทียบไม่ได้กับปริมาณคนทิ้ง ปัญหาขยะ ปัญหาน้ำเน่าจึงกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่สะสมดังเชื้อโรคหมักหมมคู่กับสังคมไทยมายาวนาน และจะยังคงสะสมต่อไปอีกยาวนาน หากว่ายังไม่สามารถแก้พฤติกรรมมักง่ายของคนไทยจำนวนหนึ่งได้
***********************************************************

คลิกฟังเพลง แม่น้ำสีเทา-นันทนา บุญหลง

คลิกฟังเพลง สมาคมเชื้อโรคแห่งประเทศไทย-ทีโบน

คลิกฟังเพลง เสียงจากแม่กลอง-ดิ อินโนเซ้นท์

คลิกฟังเพลง แม่เจ้าพระยา-ปานศักดิ์

คลิกฟังเพลง เจ้าพระยา-XYZ
กำลังโหลดความคิดเห็น