ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ล่วงเข้าสู่ศักราชใหม่ปี 2556 พร้อมกับล่วงเข้าสู่ปีที่ 2 ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คงต้องบอกว่า สถานการณ์โดยรวมของประเทศไทยมีความน่าปริวิตกไม่น้อย เนื่องเพราะมี “ชนวนระเบิด” ลูกใหญ่รอคอยอยู่เบื้องหน้าให้ประชาชนคนไทย “ขนหัวลุก” หลายต่อหลายลูกด้วยกัน
ที่สำคัญคือแต่ละลูกล้วนแล้วแต่หนักหนาสาหัสชนิดที่ไม่ตายก็คางเหลือง
ในทางการเมือง เรื่องใหญ่เรื่องโตเห็นจะหนีไม่พ้นเรื่อง “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่นักโทษชายทักษิณ ชินวัตรประกาศเจตนารมชัดเจนว่า ถึงอย่างไรก็ต้องแก้ ตามต่อด้วยเรื่อง “ปราสาทพระวิหาร” ที่มีศาลโลกจะมีคำพิพากษาเรื่องพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร อันจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเขตแดนของประเทศไทยในช่วงประมาณเดือนเมษายน
ขณะที่ในภาคเศรษฐกิจ ผลพวงจากการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ใช้นโยบายประชานิยมอย่างบ้าคลั่งจะบังเกิดผลให้เห็นชัดเจนในปี 2556 นี้ ทั้งนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ โครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดและโครงการรถยนต์คันแรก
ชนวนระเบิดทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาข้างต้นจะกลายเป็นชนวนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินหรือไม่ ต้องติดตามด้วย ความระทึกใจ แต่ที่แน่ๆ คือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะไม่มีวันบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างสงบสุขแน่นอน
ระเบิดลูกที่ 1 แก้รัฐธรรมนูญ
กล่าวสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ต้องบอกว่าเป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องสำคัญอันเร่งด่วนที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรจะต้องทำให้สำเร็จในปี 2556 เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้นักโทษชายหนีคดีโคลนนิงผู้พี่ไม่ต้องติดคุกติดตะรางจากกรรมชั่วที่ได้ก่อเอาไว้
ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์ในช่วงปี 2555 จะเห็นได้ว่าในเบื้องแรกเต็มไปด้วยความสับสนและชุลมุนค่อนข้างมากว่าจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญด้วยวิธีใด เพราะมวลมหาประชาชนแห่งรัฐไทยใหม่มีความเห็นแตกเป็น 3 ทาง
ทางหนึ่งโดยเฉพาะคนเสื้อแดงมีความเห็นฟันธงตรงกันว่า ปรารถนาจะเดินหน้าท้าชนด้วยการให้ส.ส.ในครอกเพื่อไทยโหวตรับวาระ 3 ดังจะเห็นได้จากปฏิญญาโบนันซ่าที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดงประกาศเอาไว้ชัดแจ้ง
ขณะที่อีกทางหนึ่งมีความเห็นว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหายุ่งยากในอนาคต รัฐบาลควรจะทำประชามติเพื่อขอฉันทามติจากคนไทยทั้งประเทศเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีความชอบธรรม และสามารถแก้ให้เป็นไปตามความต้องการได้ในทุกๆ เรื่อง เพียงแต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเงื่อนปมประการสำคัญติดอยู่ตรงที่มาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติมี 2 ขั้นตอนคือ 1.ต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และ 2.จะต้องได้เสียงข้างมากหรือเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง
นั่นหมายความว่า การลงประชามติครั้งนี้จะต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งหรือประมาณ 24 ล้านคน โดยถ้ามาไม่ถึง 24 ล้านคน ประชามติจะตกไปในทันที
แต่ถ้ารัฐบาลประสบความสำเร็จสามารถรณรงค์ออกมาใช้สิทธิถึง 24 ล้านคน ก็จะต้องพิจารณาในขั้นตอนที่สองคือมีผู้มาใช้สิทธิเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิน 12 ล้านเสียงหรือไม่ ถ้าไม่ การทำประชามติก็จะตกไปในทันทีเช่นกัน
และทางสุดท้ายคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว เป็นวิธีที่ทำได้ทันทีและไม่ยุ่งยากอะไรนัก เพียงแต่ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่สิ่งที่ตอบโจทย์ทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยได้อย่างสะเด็ดน้ำ
แต่สุดท้ายแล้ว ข้อถกเถียงดังกล่าวก็ยุติลงจากการวิดีโอลิงก์เข้ามายังเวทีชุมนุมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของคนเสื้อแดงที่โบนันซ่าเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมาของนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นประมุขสูงสุด
ชัดเจนว่า นักโทษชายทักษิณไม่เลือกดันทุรังตามข้อเสนอของนายจตุพรตามปฏิญญาโบนันซ่าที่เรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลยกเลิกแนวคิดการทำประชามติและเลือกวิธีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้โหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วาระ 3 ที่คั่งค้างอยู่ในสภาทันที
นักโทษชายทักษิณให้เหตุผลประกอบเอาไว้ชัดเจนว่า แม้การโหวตวาระ 3 เลยนั้นสามารถดำเนินการได้ แต่จะไม่ผ่าน 2 ขั้นตอน คือ 1.เสียงไม่ถึง 326 หรือ ครึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา และ 2.แม้จะผ่าน ก็ต้องเจอด่านที่สองคือศาลรัฐธรรมนูญที่เคยมีคำวินิจฉัยก่อนหน้านี้แล้วว่า ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเงื่อนไขในข้อสองที่มีความสำคัญมาก เพราะทำให้บรรดานักการเมืองกลัวจนขี้ขึ้นสมองกระทั่งไม่กล้ายกมือให้แม้จะมีผลประโยชน์รออยู่เบื้องหน้า เนื่องจากโทษที่ได้รับอาจรุนแรงถึงขั้นถูกตัดสิทธิทางการเมืองหรือยุบพรรคเลยทีเดียว
ทั้งนี้ นักโทษชายทักษิณส่งสัญญาณชัดเจนว่า ต้องการให้เดินหน้าทำประชามติ แถมคุยโวโอ้อวดสำทับว่า กรณีต้องมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งออกมาลงคะแนนจำนวน 24 ล้านเสียงเป็นเรื่อง “หมูๆ”
แต่กระนั้นก็ดี ถ้าหากสังเกตให้ดีจะพบว่า ในช่วงท้ายของการวิดีโอลิงก์ นักโทษชายทักษิณออกตัวเอาไว้ชัดเจนว่า “ตอนนี้พรรคเพื่อไทย ได้เดินหน้ารณรงค์ รับฟังความคิดเห็นประชาชน และให้ทางพรรคเพื่อไทยศึกษาว่า จุดไหนที่จะแก้ไข ถ้าไม่มากจะแก้รายมาตรา แต่ถ้ามากต้องทำประชามติ ยืนยันว่าแก้แน่ๆ ให้ใจเย็นๆ วันนี้ได้แค่ 60 % ก็ยังดี”
ดังนั้น จงอย่าแปลกใจว่าหลังจากการวิดีโอลิงก์ของนักโทษชายทักษิณ ท่าทีของนางสาวยิ่งลักษณ์ที่ก่อนหน้านี้เคยถามช้างตอบม้า วันนี้กลายเป็นมีความชัดเจนและเป็นไปในทิศทางเดียวกับพี่ชาย
“จริงๆ แล้วทางออกถ้าไม่เกินกึ่งหนึ่ง ก็กลับไปใช้รายมาตรา ถ้าเสียงไม่ครบ หรือเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ ก็สามารถกลับไปใช้รายมาตราได้”นางสาวยิ่งลักษณ์แบไต๋
สรุปคือยังไงก็จะแก้ ถ้าประชามติไม่ผ่านก็จะแก้เป็นรายมาตรา
กระนั้นก็ดี แม้จะแก้เป็นรายมาตรา แต่ถ้าเมื่อใดปรากฏว่า รัฐบาลมีความชัดเจนว่าจะแก้มาตรา 309 เพื่อฟอกผิดให้นักโทษชายทักษิณ ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องออกมาเคลื่อนไหวและนั่นอาจนำไปสู่การชุมนุมครั้งใหญ่เพื่อขับไล่รัฐบาล
ระเบิดลูกที่ 2 เสียเขาพระวิหารให้เขมร
ในปี 2556 คดีพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาอันเกี่ยวเนื่องกับปราสาทพระวิหารจะกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง เพราะเป็นที่ชัดแจ้งแล้วว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือไอซีเจ ประกาศการแถลงคดีด้วยวาจา กรณีคำร้องขอให้ศาลตีความคดีปราสาทพระวิหารแล้ว โดยรอบแรกของการแถลงคดีที่ประเทศกัมพูชา จะเกิดขึ้นในวันจันทร์ที่ 15 เมษายน 2556 ตั้งแต่เวลา 10.00 - 16.30 น. ส่วนที่ประเทศไทยนั้น จะจัดขึ้นในวันพุธที่ 17 เมษายน 2556 เวลา 10.00-16.30 น.
สำหรับการแถลงคดีรอบที่สอง ที่ประเทศกัมพูชา จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2556 เวลา 15.00-17.00 น. ส่วนที่ประเทศไทย จะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2556 เวลา 15.00-17.00 น. ซึ่งสถานที่ที่ใช้สำหรับการแถลงคดีในครั้งนี้ ก็คือบัลลังก์ที่วังสันติ ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์
โดยก่อนหน้านี้ ทางการกัมพูชา ได้ยื่นคำร้องให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความ คำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ที่มีการตัดสินไปตั้งแต่ปี 2505 ซึ่งทางการไทยก็ได้ยื่นเอกสารเป็นคำอธิบายเพิ่มเติมแบบลายลักษณ์อักษรไปยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเช่นเดียวกัน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พร้อมกับยืนยันว่า ไทยได้ปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลก ในปี 2505 อย่างครบถ้วน
ขณะที่ หลายฝ่ายก็คาดการณ์ว่า หลังจากการแถลงคดีแล้ว ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง ก่อนที่จะมีการตัดสินคดีประมาณปลายปี 2556 ซึ่งนั่นจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของรัฐบาล เพราะเมื่อพิจารณาองค์ประกอบทั้งหมดแล้ว ต้องบอกว่า โอกาสที่ประเทศไทยแพ้มีมากว่าชนะ
หรือหมายความว่า นอกจากตัวประสาทพระวิหารแล้ว ประเทศไทยยังจะต้องสูญเสียพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบปราสาทพระวิหาร รวมทั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่บนเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา
ประชาชนชาวไทยจะยอมหรือไม่
ทหารที่มีหน้าที่ปกป้องอธิปไตยจะยอมหรือไม่
และรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะคลี่คลายสถานการณ์ดังกล่าวได้ด้วยวิธีใด
ระเบิดลูกที่ 3 ขึ้นค่าแรง -จำนำข้าว-รถคันแรก โคตรประชานิยมทำฉิบหายหนัก
สำหรับด้านเศรษฐกิจนั้น แม้หลายสำนักจะฟันธงว่า อัตราการเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจปี 2556 จะอยู่ในระดับ 4.5 - 5% ด้วยแรงกระตุ้นจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โครงการบริหารจัดการน้ำ และการอัดฉีดเม็ดเงินใน สารพัดนโยบายประชานิยม แต่อีกด้านหนึ่งได้ก่อผลกระทบหรือปัจจัยเสี่ยงตามมา ขณะที่ภาคการส่งออกยังชะลอตัวเพราะเศรษฐกิจโลกซบเซา คู่ค้าสำคัญทั้งสหรัฐฯ กลุ่มสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ยังไม่พ้นภาวะวิกฤต มีเพียงจีนที่น่าจะฟื้นตัวได้
ปัจจัยที่เป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เศรษฐกิจโลกและการส่งออกยังอ่อนแอ จึงขึ้นอยู่กับการลงทุนภาครัฐ การจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเป็นสำคัญ
แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐที่แบงก์ชาติคาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ ได้กลายเป็นความเสี่ยงทางตรง เพราะการเบิกจ่ายมีความล่าช้ามาก โดยเฉพาะการใช้เงินใน พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ มูลค่า 350,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเบิกใช้ประมาณ 25,000 ล้านบาทในปี 2555 กลับเบิกใช้จริงเพียง 7,500 ล้านบาทเท่านั้น จึงปรับลดเกณฑ์เบิกจ่ายในโครงการนี้ในปี 2556 เหลือเพียง 60,000 ล้านบาท จากเดิมตั้งเป้า 175,000 ล้านบาท
ปัจจัยเสี่ยงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย นอกเหนือจากปัจจัยข้างต้นแล้ว ยังมีเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ในเดือนม.ค. 2556 ซึ่งแบงก์ชาติคาดว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงกว่ารอบแรกที่ปรับขึ้นเมื่อเดือนเม.ย. 2555
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ประเมินว่า การปรับค่าแรงรอบแรก ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มร้อยละ 40 และการปรับเพิ่มในเดือนม.ค. ปีหน้า ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 22 นั่นคือต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น 60% ในช่วง 2 ปี ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ธุรกิจขนาดและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่มีอยู่เกือบ 2.9 ล้านราย หากผู้ประกอบการไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ จะทำให้เกิดการเลิกจ้างจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีทยอยปิดตัวลง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกเป็นลูกโซ่
ประมาณว่า หากธุรกิจเลิกกิจการประมาณ 10% หรือ 2 แสนบริษัท อาจทำให้เกิดการว่างงานสูงถึง 4 - 5 แสนราย หรืออาจถึงล้านคน เพราะธุรกิจเคยแบกรับค่าแรงเพียงประมาณ 150 - 180 บาทต่อวัน ส่วนผลที่จะตามมาในระยะต่อไปก็คือ การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนค่าแรงถูกกว่า
น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวถึงผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท จะทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นถึง 22.4% จากปี 2555 ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับปรับขึ้นค่าจ้างในอดีตที่เฉลี่ยเพียง 2.5% เท่านั้น
เช่นเดียวกัน นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินว่า ผลจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท จะฉุดให้เศรษฐกิจประเทศหรือจีดีพี มีโอกาสลดลงกว่า 2% เช่นเดิมสมมติว่าเศรษฐกิจควรโตประมาณ 5 % ก็อาจโตช้าลงกว่า เพราะผลการขึ้นค่าจ้างแรงงานมีผลกระทบมากสมควร อย่างไรก็ตามหากมีการปรับประสิทธิภาพแรงงาน และทยอยปรับก็อาจส่งผลกระทบไม่มาก เพราะในบางจังหวัด การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันนั้น หมายถึงต้นทุนปรับเพิ่มกว่า 35% ซึ่งแม้ว่าทางสถาบันฯ จะเห็นด้วยการปรับขึ้นค่าแรงเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน แต่ต้องไม่เป็นการขึ้นแบบก้าวกระโดดและอัตราเดียวกันทั้งประเทศ เพราะอุปสงค์และอุปทานของแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน
ผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอ หัวข้อ "อุตสาหกรรมไทยจะแข่งขันอย่างไรภายใต้ค่าแรงที่สูงขึ้น" ยังระบุว่า หากรัฐบาลเร่งปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้น 300 บาทอย่างรวดเร็ว และไม่เป็นระบบ อาจจะส่งผลกระทบต่อการค้า การแข่งขันของภาคเอกชนในประเทศ ส่งผลต่อการเลิกจ้างงานในแรงงานระดับล่าง จนถึงการลงทุนและกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจในที่สุด ค่าแรงที่สูงขึ้น จะกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นต้องประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง รองลงมาคือ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ยางและเม็ดพลาสติก และก่อสร้าง
ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินในทิศทางเดียวกันว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบหนักจากการปรับค่าแรง 300 บาท โดยเฉพาะธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า เครื่องนุ่มห่ม ซึ่งใช้แรงงานจำนวนมาก โดยเฉลี่ยแล้วต้นทุนในภาคการผลิตและการบริการของเอสเอ็มอีจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 12 - 13 และคาดว่าจะทำให้ภาคบริการขาดแคลนแรงงานถึงร้อยละ 15 เนื่องจากจะมีการเลือกงานมากขึ้น
ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ จะสำแดงฤทธิ์เดชในไตรมาสแรกของปีหน้า ต้องลุ้นกันว่าจะลามกระทบต่อผู้ประกอบการ แรงงาน เมื่อเจ๊ง เลิกจ้าง กระทบภาคการผลิต ส่งออก และภาพรวมเศรษฐกิจ เป็นลูกโซ่หรือไม่ นโยบายค่าแรง 300 บาท กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจปีหน้า และเป็นหนึ่งในตัวแปรหลักที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้น้ำหนักในการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะมีการประชุมครั้งแรกในปีหน้า วันที่ 9 ม.ค. 2556
ขณะที่นโยบายช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการที่จะได้รับกระทบกลับยังมืดมน นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า การที่รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างการปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เอสเอ็มอี เป็นมาตรการที่ช่วยเหลือได้มากที่สุด เพราะค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับขึ้นเป็นวันละ 300 บาท มีผลต่อต้นทุนผู้ประกอบการมาก แต่ถ้ารัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ก็อาจมีผลทำให้ปิดกิจการประมาณ 1 ล้านราย และทำให้เอสเอ็มอีที่ได้เข้าร่วมโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำตามมาตรการต่างๆ วงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาทของรัฐก่อนหน้านี้ กลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งจะกระเทือนถึงภาระของรัฐบาลอีกระลอก
ไม่เพียงแต่นโยบายปรับขึ้นค่าแรงเท่านั้นที่เสี่ยงเศรษฐกิจทรุด ทางเวิลด์แบงก์ยังเตือนให้ระวังผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากโครงการประชานิยมจำนำข้าวทุกเม็ดของรัฐบาลอีกด้วย
น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลกได้ทำการศึกษาผลกระทบ โครงการรับจำนำข้าวในฤดูกาล 2555/2556 คาดว่ารัฐบาลต้องใช้งบประมาณ 432,000 ล้านบาท หรือประมาณ 3.8% ของจีดีพี สูงกว่าฤดูกาลปีก่อนที่รัฐใช้เงิน 376,000 ล้านบาท หรือ 3.4% ของจีดีพี แต่ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ได้ขายข้าวออกจากคลังสินค้า จึงต้องติดตามผลขาดทุนที่แท้จริง เมื่อรัฐบาลขายข้าวออกมา
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากแนวโน้มราคาข้าวในตลาดโลก คาดว่าผลขาดทุนจะอยู่ระหว่าง 132,000 ล้านบาท สำหรับฤดูการผลิตปีนี้ และเมื่อรวมผลขาดทุนจากในฤดูกาล 2554/2555 อีก 115,000 ล้านบาท รวมแล้วผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว 2 ปี มีจำนวน 247,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1-1.3% ของจีดีพี เนื่องจากรัฐบาลตั้งราคารับจำนำข้าวสูงกว่าราคาข้าวในตลาดโลกประมาณ 50% หรือที่ประมาณ 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และคาดว่าราคาข้าวขาว 5% ในตลาดโลกปี 2556 จะอยู่ที่ 520 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ต่ำกว่าปีนี้ซึ่งอยู่ที่ 550 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
พร้อมกับเสนอแนะว่ารัฐบาลควรนำงบประมาณไปใช้ในการเพิ่มผลิตภาพและคุณภาพข้าว และช่วยชาวนาที่มีรายได้น้อยโดยตรง ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลไม่ต้องเสียเงินงบประมาณมาก และยังเป็นการเพิ่มผลผลิตข้าวไทยให้สูงขึ้น ซึ่งจากข้อมูลปี 2543-2553 ประเทศไทยมีผลผลิตข้าวต่ำสุดอยู่ที่ 2,877 ตันต่อเฮกเตอร์ เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม มีผลผลิตข้าว 4,834 ตันต่อเฮกเตอร์, อินเดีย 3,103 ตันต่อเฮกเตอร์, พม่า 3,757 ตันต่อเฮกเตอร์
เวิลด์แบงก์ ซึ่งประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจของไทยว่าจะมีอัตราการเติบโตประมาณ 4.7 เนื่องจากมีการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ผลักดันการบริโภคและการลงทุนให้เติบโตสามารถทดแทนการส่งออกที่ชะลอตัว ยังเตือนว่า ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาได้แก่ เศรษฐกิจโลก ปัญหาการเมืองภายใน รวมทั้งนโยบายประชานิยม ซึ่งการกู้เงินเพื่อมาลงทุนของภาครัฐและทุ่มให้กับโครงการประชานิยม จะทำให้หนี้สาธารณะของไทยในปี 2556 จะใกล้เคียง 50% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจาก 45% ในปีนี้
ดังนั้นสิ่งที่เป็นห่วง คือหนี้สาธารณะซ่อนเร้นที่รัฐต้องแบกรับอาจส่งผลต่อฐานะการคลังในภาพรวม และสถาบันการเงินของรัฐที่จะมีหนี้สะสมมากขึ้นจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล จะมีผลต่อภาระงบประมาณที่รัฐบาลจะต้องชดเชยความเสียหายให้กับสถาบันการเงินของรัฐในอนาคต
ขณะที่นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ เตือนรัฐบาลว่าโครงการรับจำนำข้าวจะทำให้หนี้สาธารณะพุ่งเป็น 70 - 80% ในปี 2562 ทั้งนี้ โครงการรับจำนำข้าว ถือเป็นนโยบายประชานิยมที่ใช้งบประมาณมากและไม่มีวันสิ้นสุด ขณะที่การระบายข้าวสู่ตลาดโลกทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายเพราะราคาสูงกว่าประเทศอื่นและคู่แข่งสำคัญ เช่น เวียดนาม อินเดีย ได้เพิ่มผลผลิตข้าวสู่ตลาดโลกในราคาที่ต่ำกว่าไทย
ส่วนอีกหนึ่งโครงการประชานิยมที่ประชาชนแห่เข้าร่วมล้นหลาม คือ โครงการคืนภาษีรถคันแรก ซึ่งจะส่งผลทั้งกระตุ้นการก่อหนี้ส่วนบุคคล หนี้ครัวเรือนเพิ่ม และเป็นภาระของรัฐในการหาเงินมาคืนภาษีให้กับผู้ซื้อรถ โดยกรมสรรพสามิต คาดว่าจะมีรถเข้าร่วมโครงการประมาณ 1.2 ล้านคัน เม็ดเงินที่รัฐที่ควรจะได้จากการเก็บภาษีสรรพสามิตแต่กลับต้องคืนให้กับผู้ขอใช้สิทธิ์คาดว่าจะตกประมาณแสนล้านบาท
กระแสวิพากษ์วิจารณ์โครงการรถคันแรก มีมาอย่างต่อเนื่อง โครงการนี้กลุ่มที่ได้ประโยชน์เต็มๆ คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และธุรกิจต่อเนื่องที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดจนทำให้ไทยกลายเป็นผู้ผลิตยานยนต์อันดับที่ 9 จากเดิมอยู่อันดับที่ 15 ของโลก ส่วนประชาชนเข้าร่วมโครงการที่เหมือนว่าจะได้ประโยชน์จากการคืนเงินภาษีแต่ถึงที่สุดแล้วอาจกลายเป็นทุกขลาภเพราะรายได้ไม่มากพอจะผ่อนรถและค่าใช้จ่ายจิปาถะที่จะตามมาทั้งค่าประกัน ค่าบำรุงรักษา ค่าน้ำมัน ฯลฯ สุดท้ายก็จะได้เห็นมหกรรมการยึดรถของไฟแนนซ์ ทำให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลในระบบสถาบันการเงิน ขณะที่หนี้ครัวเรือนก็พุ่งกระฉูด
เห็นได้จากรายงานของแบงก์ชาติ ที่พบว่า ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีมูลค่า 2.7 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 21.4% และจากต้นปีจนถึงไตรมาส 3/55 ซึ่งการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตรา 15.73% โดยสินเชื่อเพื่อการบริโภคมีอัตราการเติบโตจากต้นปี 23.67% โดยมียอดสินเชื่อคงค้าง ณ ไตรมาส 3/55 จำนวน 643,889 ล้านบาท สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์/จักรยานยนต์คงค้าง 749,844 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปี 22.39%
ขณะที่ไฟแนนซ์ปล่อยกู้รถยนต์คันแรก เริ่มเห็นการขอนำรถมาคืนเพราะมีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ เนื่องจากการด่วนตัดสินใจซื้อเพื่อให้ทันได้สิทธิ์ขอคืนภาษี และความต้องการซื้อรถยนต์อีโคคาร์ทั้งที่ความจริงตามฐานะการเงินอาจซื้อได้แค่รถจักรยานยนต์เท่านั้น
นอกจากนั้น ธุรกิจเช่าซื้อซึ่งแข่งปล่อยสินเชื่อที่อนุญาตให้ดาวน์ต่ำตั้งแต่ 20% ลงมา เป็นการกวาดกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงเข้ามาในพอร์ต ยิ่งดาวน์ต่ำ ภาระสินเชื่อที่ต้องจ่ายคืนก็จะสูง ดอกเบี้ยจะแพงกว่า จะทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถผ่อนชำระได้ โดยเชื่อว่ากลุ่มนี้น่าจะอยู่ในตลาดอีโคคาร์ค่อนข้างมาก เพราะรถราคาไม่สูงมากมีโอกาสที่ลูกค้ากลุ่มที่ความสามารถทางการเงินยังไม่พร้อมจะเข้ามาได้ง่ายกว่า โดยในกลุ่มผู้ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรายใหญ่ขณะนี้ ต่างเริ่มเห็นสัญญาณปัญหาที่ลูกค้าหยุดผ่อนชำระบ้างแล้ว
นี่ยังไม่นับว่า โครงการรถคันแรกจะก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาทั้งการจราจรติดขัด มลพิษ การหันมาลงทุนก่อสร้างถนนเพื่อรองรับรถยนต์แทนที่รัฐจะเน้นการลงทุนระบบขนส่งมวลชน รวมทั้งอุบัติเหตุ อาชญากรรม คดีฟ้องร้อง การยึดรถหรือขอคืนรถยังจะส่งผลต่อธุรกิจรถมือสองที่จะเกิดความปั่นป่วนตามมา
และนี่ไม่นับรวมประชานิยมชุดใหม่ที่จะทำคลอดออกมาอีกเป็นระลอกในปี 2556 อย่าง “กองทุนสวัสดิการตำบลหรือหมู่บ้าน” ที่จะโปรยเงินก้อนโตออกมาอีกคำรบ
ก็ต้องลุ้นกันว่า นโยบายประชานิยมที่ชื่นชมกันว่าดีเยี่ยมทั้งหลายนั้น จะนำพาเศรษฐกิจไทยรุ่งโรจน์หรือสุ่มเสี่ยงสู่หายนะกันแน่