xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“แม้ว”พลิกเกม เป่าหูชาวบ้านให้เคลิ้ม ก่อนชำเรา รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ถึงอย่างไร นช.ทักษิณ ชินวัตร ยังคงมุ่งมั่นที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ให้ได้ เพื่อยกเลิกบทบัญญัติในมาตรา 309 อันจะมีผลในการลบล้างความผิดส่วนตัวและมีผลพลอยได้ในการได้ทรัพย์สินมูลค่า 4.6 หมื่นล้านกลับคืน รวมทั้งลบล้างบทบัญญัติอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการกลับคืนสู่อำนาจของเขา

การชะลอการทำประชามติเพื่อเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ออกไป จึงเป็นเพียงแค่การปรับเกมให้กระบวนการแก้ไขเดินหน้าไปได้โดยไม่ถูกขัดขวาง เท่านั้น

โจทย์ใหญ่ที่ นช.ทักษิณ จะต้องแก้ให้ได้ก่อน ก็คือว่า จะต้องให้มีผู้ไปลงประชามติอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ซึ่งปัจจุบันมี 46 ล้านคน เพราะฉะนั้นจะต้องมีผู้ออกไปใช้สิทธิอย่างน้อย 23 ล้านคน และในจำนวนผู้ไปใช้สิทธินั้นต้องเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างน้อยกึ่งหนึ่ง นั่นคือ 11.5 ล้านเสียง กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 จึงจะดำเนินต่อไปได้

ในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ต้นปีนั้น เราจะเห็นการปรับเกมของทักษิณ ชินวัตร มาโดยตลอด ซึ่งจะว่าไปแล้ว การที่เขาสามารถกุมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรรวมถึงวุฒิสภาได้เกินกึ่งหนึ่ง เขาสามารถที่จะเลือกแก้ไขบางมาตรา เพื่อลบล้างความผิดส่วนตัว หรือคืนทรัพย์สินให้เขาได้ทันที

แต่กระแสต้านจากนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม และภาคประชาชน โดยเฉพาะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ประกาศเงื่อนไข 3 ข้อของการออกมาชุมนุมใหญ่ หนึ่งในนั้นคือการออกกฎหมายเพื่อลบล้างความผิดให้ทักษิณและพวกพ้อง

นช.ทักษิณ ชินวัตร จึงปรับเกมด้วยการให้พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยข้ออ้างที่ว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ที่ใช้อยู่ ไม่มีความชอบธรรม เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหาร รวมทั้งอ้างว่า ได้หาเสียงกับประชาชนเอาไว้ในช่วงเลือกตั้งว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เสียงข้างมากในรัฐสภา สามารถฉุดกระชากลากถูให้ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ดังกล่าว ผ่านการโหวตไปจนวาระ 2 แล้ว แต่เกมของ นช.ทักษิณ ก็มาสะดุดที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ชี้ว่า การจะตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ซึ่งเท่ากับเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นั้น จะต้องถามความเห็นของประชาชนก่อน เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2550 มาจากการลงประชามติรับรองของประชาชน 14 ล้านเสียง

มีบางกระแสในพรรคเพื่อไทย ชี้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงคำแนะนำ ไม่จำเป็นต้องทำตามก็ได้ และเสนอให้สภาลงมติวาระ 3 เพื่อให้ร่างแก้ไขมาตรา 291 ผ่านออกมาบังคับใช้ แล้วเดินหน้ากระบวนการตั้ง ส.ส.ร.ต่อไป

อย่างไรก็ตาม นช.ทักษิณ คงประเมินแล้วว่า การเดินหน้าให้สภาลงมติวาระ 3 มีความเสี่ยงที่จะเป็นการขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การยุบพรรคเพื่อไทยรวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคได้

ท้ายที่สุดจึงปรับเกม ให้มีการทำประชามติ สอบถามความเห็นของประชาชนก่อนว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ถ้าประชามติเห็นด้วยจึงจะเดินหน้าให้สภาลงมติวาระ 3 ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ด่านสำคัญคือ จำนวนประชาชนที่จะออกมาลงประชามติต้องมีจำนวนมากพอ ตามที่บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติคือรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยการออกเสียงลงประชามติ พ.ศ. 2552 กล่าวคือจำนวนเสียงของผู้ออกมาใช้สิทธิในการทำประชามติจะต้องให้ได้เกินครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และผู้ที่เห็นด้วยจะต้องมีมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้ออกไปใช้สิทธิ

ประเด็นนี้ คนที่ยอมรับความเป็นจริงที่สุด คือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่มองว่าเป็นเรื่องยากระดับ “เข็นครกขึ้นภูเขา”ที่จะให้คนออกไปลงประชามติให้ได้ถึง 23 ล้านคน และเสนอว่า ให้ นช.ทักษิณ ชินวัตร มาใช้บริการของตนดีกว่า เพราะไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่แก้แค่ 7 ประเด็นเท่านั้น

กระนั้นก็ดี นช.ทักษิณเลือกที่จะไม่ใช้บริการของ ร.ต.อ.เฉลิม นั่นเพราะหากแก้เฉพาะบางมาตราที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองอย่างโดดๆ ย่อมเกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงขึ้นมาแน่นอน

การทำประชามติ จึงต้องเดินหน้าต่อไป เพราะสามารถปกปิดวาระซ่อนเร้นส่วนตัวไว้ได้แนบเนียนกว่า ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เองก็หลุดปากยอมรับว่า พี่ชายให้ใช้วิธีการทำประชามติ โดยอ้างว่าเพื่อให้เกิดความปรองดองของคนในชาติ

ส่วนปัญหาเรื่องจำนวนคนที่จะมาลงประชามติ 23 ล้านคน และต้องมีผู้เห็นด้วย 11.5 ล้านคนนั้น นช.ทักษิณอาจจะมั่นใจอยู่ลึกๆ ว่า น่าจะสามารถหามาได้

ส่วนจะหามาโดยวิธีสุจริตหรือทุจริตนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ที่แน่ยิ่งว่าแช่แป้ง ก็คือการใช้กลไกอำนาจรัฐในการเป่าหูประชาชนให้ออกเสียงประชามติเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ที่ประชุม ครม.วันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา จึงมีมติมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาหาวิธีกระบวนการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยอ้างว่าเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด และให้เป็นไปตามกฎหมาย โดย ครม.ได้รับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาล ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และรับฟังข้อเสนอจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งทั้งหมดเห็นตรงกันว่าควรจัดให้มีการทำประชามติ เนื่องจากในการทำประชามติมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องและมีขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ ที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนพอสมควร

ทั้งนี้ มีระยะเวลาการทำงานของคณะทำงานดำเนินการศึกษาวิธีการออกเสียงประชามติ ทั้งในข้อกฎหมายและวิธีการปฎิบัติที่เหมาะสม ตามที่ ครม.มีมติแต่งตั้ง ประมาณ 2-3 สัปดาห์

นอกจากนี้รัฐบาลกำลังจะมั่วนิ่มเอาเรื่องการจัด “ประชาเสวนา” ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปรองดองฯ ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธาน มาปะปนกับการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาลงเสียงประชามติ

ทั้งนี้ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รับมอบหมายให้ดูเรื่องการทำประชาเสวนา ซึ่ง ครม.ได้อนุมัติงบประมาณไว้ก่อนหน้าแล้ว 90.2 ล้านบาท ยอมรับว่า อาจจะใช้เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนตามที่กฎหมายกำหนด

แม้นายจารุพงศ์ จะอ้างว่า เวทีประชาเสวนาเพื่อความปรองดอง ไม่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ประชามติ แต่ก็ยอมรับว่า อาจมีการแจกเอกสารเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประชาชนทุกบ้านต่อไป และภายในต้นเดือนมกราคมจะมีการหารือกันระหว่างคณะกรรมการที่วางกรอบเรื่องการลงประชามติ และคณะกรรมการการจัดงานประชาเสวนาว่าจะทำงานร่วมกันอย่างไร

ขณะที่นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อ้างว่า การชะลอการประกาศให้ทำประชามติออกไปก่อน เพื่อให้มีความพร้อมของหน่วยงานที่จะจัดทำประชามติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง มีหลายกระทรวงที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องจึงต้องเข้าไปเตรียมการให้พร้อมก่อนที่จะเสนอให้ความเห็นชอบก่อนออกประกาศ

นัยตามคำพูดของนายวราเทพก็คือ แต่ให้แต่ละหน่วยงานไปเป่าหูชาวบ้านให้เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน จนมั่นใจว่าจะมี ประชาชนออกมาใช้สิทธิและเห็นด้วยจำนวนมากพพอตามต้องการ หลังจากนั้นจึงจะประกาศวันลงประชามติ

และการชำเรารัฐธรรมนูญ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของ นช.ทักษิณ ชินวัตร ก็จะดำเนินไปอย่างราบรื่น


กำลังโหลดความคิดเห็น