xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ปู” ถอยกรูด ชะลอประชามติแก้ รธน. หวั่นทำรบ.พังทั้งกระดาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ในที่สุดรัฐบาลเพื่อไทยภายใต้ระบอบทักษิณก็ต้อง “ใส่เกียร์ถอย” กับการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะนอกจากจะเจอกระแสวิจารณ์อย่างหนักถึงความพยายามที่จะใช้ทุกวิถีทางในการแก้กฎหมายเพื่อ “ฟอกผิด” ให้กับนักโทษหนีคดีคอร์รัปชั่นอย่าง “นช.ทักษิณ ชินวัตร” แล้ว ยังมีประเด็นปัญหาเรื่องข้อกฎหมายที่อาจทำให้การทำประชามติล่มกลางคันไปไม่ถึงฝั่งฝัน

เหตุที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ใส่เกียร์ถอยก็เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้รับชัยชนะในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้

นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อธิบายแง่มุมทางกฎหมายต่อคณะทำงานแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประกอบด้วยนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเอาไว้ว่า มาตรา 9 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติมี 2 ขั้นตอนคือ 1.ต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และ 2.จะต้องได้เสียงข้างมากหรือเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง

ตรงนี้หมายความว่าอย่างไร

ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยแจ้งว่า ในปัจจุบัน ผู้มีสิทธิลงคะแนนทั่วประเทศอายุเกิน 18 ปีมีทั้งหมด 46 ล้านเสียง และเมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2555 จะมีสิทธิอายุเกินผูีสิทธิอายุเกิน18 ปีเพิ่มขึ้นอีก 7 แสนคน หรือรวมเป็น 46.7 ล้านเสียง

นั่นหมายความว่า การลงประชามติครั้งนี้จะต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งหรือประมาณ 24 ล้านคน โดยถ้ามาไม่ถึง 24 ล้านคน ประชามติจะตกไปในทันที

แต่ถ้ารัฐบาลประสบความสำเร็จสามารถรณรงค์ออกมาใช้สิทธิถึง 24 ล้านคน ก็จะต้องพิจารณาในขั้นตอนที่สองคือมีผู้มาใช้สิทธิเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิน 12 ล้านเสียงหรือไม่ ถ้าไม่ การทำประชามติก็จะตกไปในทันทีเช่นกัน

แน่นอนว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการรณรงค์ให้คนออกมาใช้สิทธิถึง 24 ล้านคน ดังนั้น จงอย่าแปลกใจที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะมีความเป็นห่วงและกังวลในเรื่องดังกล่าวค่อนข้างมาก กระทั่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมาไม่สามารถหาข้อยุติแนวทางการทำประชามติได้ ซึ่งในที่สุดนางสาวยิ่งลักษณ์ต้องสั่งให้มีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อพลิกเกมวางกลยุทธใหม่ให้การทำประชามติผ่านฉลุย เพราะถ้าหากแพ้จะสุ่มเสี่ยงต่อเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

โดย นายวราเทพ ระบุว่า เนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นว่าการทำประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550มีความเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการศึกษาวิธีการออกเสียงประชามติและประชาเสวนาว่าจะดำเนินการอย่างไร ทั้งในข้อกฎหมายและวิธีการปฏิบัติ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงศึกษาธิการ ,รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคณะทำงานจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 2-3สัปดาห์ เมื่อทำการศึกษาแล้วเสร็จให้คณะทำงานสรุปวิธีการที่เหมาะสม และจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป รวมทั้งให้ดำเนินการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนด้วย อย่างไรก็ดีในเรื่องของขั้นตอนและรายละเอียดในการทำประชามตินั้น จะต้องมีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะต้องปรึกษากับประธานสภาฯ และประธานวุฒิสภาเพื่อดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ การถอยเพื่อดูท่าทีในการลงประชามติครั้งนี้ดูจะไม่ใช่สิ่งที่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าความหวั่นวิตกต่อผลกระทบที่เกิดจากการดึงดันในทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ'ล้างความผิด' ให้ นช.ทักษิณ ของรัฐบาลเพื่อไทยนั้นได้แผ่ขยายไปในวงกว้าง แม้หลายคนในรัฐบาลจะออกมาแสดงท่าทีมั่นอกมั่นใจสนับสนุนให้ลงประชามติ แต่ลึกๆ แล้วย่อมหวั่นเกรงถึงกระแสต้านและผลกระทบที่ตามมา เพราะไม่เช่นนั้นนกรู้อย่าง 'เหลิม บางบอน' คงไม่เสี่ยงขัดใจ 'นายใหญ่แห่งดูไบ' ออกมาเตือนว่าการทำประชามติครั้งนี้อาจทำให้รัฐบาลตกที่นั่งลำบากเพราะหากทำประชามติแล้วเสียงสนับสนุนไม่เป็นไปตามเป้า รัฐต้องสูญเงิน 2 พันล้านเพื่อทุ่มเททำประชามติไปเปล่าๆ ประชาชนก็จะออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า เบื้องต้นได้ศึกษาจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงลงประชามติในปี 2556 จะมีเพิ่มขึ้นจากเดิมราว 9 แสนราย ทำให้มีจำนวนผู้มีสิทธิลงมติประมาณ 49 ล้านเสียง และตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 มาตรา 9 กำหนดไว้ว่า ต้องมีผู้ลงมติเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง ซึ่งเท่ากับ 25 ล้านเสียง และต้องมีเสียงที่เห็นด้วยเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ คือมากกว่า 12.5 ล้านเสียง ดังนั้นหากมีผู้ออกไปใช้สิทธิไม่เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิคือไม่ถึง 25 ล้านคนก็ถือว่าจบ ซึ่งถือว่ายากมาก และหากเป็นเช่นนี้ นายกฯยิ่งลักษณ์ก็จะเหนื่อยอีกนาน

“การเอาอกเอาใจกันนั้นได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงนี้” ร.ต.อ.เฉลิม แสดงความวิตกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในส่วนของฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์นั้นก็ได้แสดงท่าทีคัดค้านการทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเห็นว่าการแก้กฎหมายเพื่อฟอกผิดให้แก่ นช.ทักษิณนั้นถือเป็นการทำลายระบบนิติรัฐนิติธรรมของไทย โดยขณะนี้มีประเด็นเกี่ยวกับการทำประชามติที่ทางพรรคจับตามองอยู่ 2ประเด็น

ประเด็นแรก คือ การทำประชามติครั้งนี้จะออกมาในรูปแบบใด จะมีการทำประชามติที่แปลงโฉมจากการขอมติหาข้อยุติไปเป็นเรื่องการขอคำปรึกษาแทนหรือไม่ เนื่องจากกฎหมายมีข้อกำหนดว่าการทำประชามติในลักษณะของการขอคำปรึกษานั้นจะใช้คะแนนเสียงแค่เกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่มาใช้สิทธิเท่านั้น แต่หากเป็นการทำประชามติเพื่อหาข้อยุติจะต้องใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงทั่วประเทศ และประเด็นที่สอง รัฐบาลมีความพยายามที่จะไปแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติเพื่อลดจำนวนเสียงสนับสนุนซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญลงหรือไม่

แต่ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือท่าทีของ 'นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ' หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำฝ่ายค้าน ที่เขียนจดหมายเปิดผนึกผ่านเฟซบุ๊ก คัดค้านการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเนื่องจากมองว่าเป็นการแก้กฎหมายเพื่อให้ นช.ทักษิณ มีอภิสิทธิอยู่เหนือกฎหมาย โดยนายอภิสิทธิเรียกร้องให้ประชาชนเดินหน้า 'ล้มประชามติ' ซึ่งก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์หลากหลายและกลายเป็นประเด็นที่พรรคเพื่อไทยหยิบยกขึ้นมาโจมตีว่าเป็นกระทำที่ผิดกฎหมาย ไม่เคารพรัฐธรรมนูญ และเลยเถิดถึงขั้นขู่จะยุบพรรคประชาธิปัตย์กันเลยทีเดียว

“ การยุติความล้มเหลวทางการเมืองโดยประชาชน เป็นเพียงสิ่งเดียวที่จะช่วยให้ประเทศของเราก้าวข้ามอุปสรรคที่ขวางทางบ้านเมืองมานานหลายปีไม่ให้เดินไปข้างหน้า นั่นคือ ความต้องการอยู่เหนือกฎหมายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ด้วยการร่วมกันล้มประชามติที่นายกฯ ผู้เป็นน้องสาวกำลังจะทำเพื่อรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หวังลบมาตรา 309 เพื่อล้มคดีทั้งหลายของพี่ชายนักโทษ”

นั่นคือส่วนหนึ่งของข้อความที่นายอภิสิทธิโพสผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา

การรณรงค์คว่ำประชามตินายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์มีความชัดเจนว่า ทำให้ 2 แนวทางคือ

หนึ่ง-รณรงค์ให้มีการลงประชามติว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล

หรือ สอง-รณรงค์ให้ประชาชนไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งหรือใช้ภาษาง่ายก็คือ ให้นอนหลับทับสิทธิ โดยพรรคประชาธิปัตย์ขยายความเอาไว้เสร็จสรรพว่า การนอนหลับทับสิทธิสามารถทำได้ เนื่องจากการลงประชามติเป็นสิทธิของประชาชน ไม่ใช่หน้าที่เหมือนการลงคะแนนเลือกตั้ง การไม่ไปออกเสียงจึงไม่ถือเป็นการเสียสิทธิ

นัยสำคัญของเรื่องนี้มีอยู่ว่า ทำไมนายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ถึงเลือกใช้ทั้ง 2 วิธี โดยเฉพาะวิธีหลังคือการนอนหลับทับสิทธิซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าไม่ใช่วิถีทางของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะต้องไม่ลืมว่า ก่อนหน้านี้นายอภิสิทธิ์ประกาศชัดเจนว่ายึดมั่นในวิถีทางของรัฐสภา

เพราะหากยังจำกันได้ในช่วงที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเดินหน้ารณรงค์โหวตโนในการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศปี 2554 ในแคมเปญ “อัปรีย์ไป จัญไรมา” นายอภิสิทธิ์และพรรคแมลงสาบประกาศด้วยเสียงอันดังและฟังชัดว่า ไม่เห็นด้วยกับการโหวตโน ทั้งๆ ที่การโหวตโนหรือการไปใช้สิทธิเลือกตั้งและกากบาทลงในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ใครเป็นสิทธิอันชอบธรรมของปวงชนชาวไทยตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

เหตุผลประการเดียวที่นายอภิสิทธิ์ทำเช่นนั้นก็เพราะไม่ต้องการให้การโหวตโนกระทบต่อคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์

นอกจากนี้ ในขณะที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมเพื่อเรียกของความเป็นธรรมในหลากหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นกรณีปราสาทพระวิหาร นายอภิสิทธิ์ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกลับแสดงความรังเกียจอย่างออกนอกหน้าว่า ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม และอยากให้ใช้กระบวนการทางรัฐสภาแก้ปัญหา ทั้งๆ ที่การชุมนุมถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 63 เอาไว้ชัดเจนว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

คำตอบในเรื่องนี้อยู่ที่สูตรคณิตศาสตร์ทางการเมืองเรื่องการทำประชามติ เพราะการรณรงค์เพื่อคว่ำประชามติของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะในรูปแบบของการนอนหลับทับสิทธิคือการตัดไฟเสียแต่ต้นลม เพราะยิ่งคนนอนหลับทับสิทธิมาก โอกาสที่การทำประชามติในลักษณะของการหาข้อยุติ จะต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งหรือประมาณ 24 ล้านคน ซึ่งเมื่อดูจากตัวเลขการเลือกตั้งที่ผ่านมาของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดก็เห็นกันชัดๆ ว่า โอกาสที่จะเป็นเช่นนั้นมีน้อยมาก

ขณะที่นางสดศรี สัตยธรรม กกต. ด้านกิจการพรรคการเมืองและออกเสียงประชามติ ก็ออกมารับลูกพรรคเพื่อไทยว่า การที่นายอภิสิทธิ์ออกมาระบุว่าจะรณรงค์ให้ประชาชนล้มการจัดทำประชามตินั้นถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยสุ่มเสี่ยงที่จะมีความผิดตามมาตรา 43 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 (3) ซึ่งระบุว่า ผู้ใดหลอกลวงบังคับขู่เข็ญหรือใช้อิทธิพลคุกคาม เพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิ หรือไม่ออกเสียง อาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ดังนั้นเห็นว่าหากนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใดกระทำการใดที่ส่อพฤติกรรมอาจจะมีความผิดตามกฎหมายดังกล่าว อาจถูกร้องต่อ กกต. และศาลอาญาได้ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดทางอาญา

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยก็มีความเห็นที่ไม่แตกต่างจากนายอภิสิทธิ เพราะหากย้อนไปดูพฤติกรรมที่ผ่านมาของพลพรรคเพื่อไทยก็จะเห็นถึงความพยายามในการแก้ไขมาตรา 309 เพื่อยกเลิกความผิดกรณีทุจริตคอร์รัปชั่นของ นช.ทักษิณ แต่เมื่อถูกกระแสคัดค้านจนไม่สามารถดำเนินการได้ รัฐบาลก็หาช่องทางใหม่โดยการตีมึนเหมารวมล้มรัฐธรรมนูญปี 50 และยกร่างขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ ?? จากนั้นก็โฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนแห่แหนสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับอากาศธาตุ ซึ่งยังไม่รู้จะมีเนื้อหาและหน้าตาเป็นอย่างไร แม้จะอ้างว่าจะแต่งตั้งให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาทำหน้าที่ยกร่างกฎหมาย แต่ก็ไม่มีอะไรมาการันตีได้ว่าเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นไปอย่างที่ประชาชนต้องการ เพราะนอกจากยังไม่มีความชัดเจนเรื่องที่มาของ ส.ส.ร.แล้ว การยกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้ ส.ส.ร.เขียนตามอำเภอใจนั้นย่อมไม่ต่างจากการออกเช็คเปล่าให้ ส.ส.ร เอาไปกรอกตัวเลข

เมื่อประมวลสถานการณ์ทั้งหลายทั้งปวงแล้วจึงไม่แปลกที่ทีมกฎหมายและสมาชิกเพื่อไทยจะพากันใส่ 'เกียร์ถอย' เพื่อรอดูท่าทีและทางหนีทีไล่ เพราะแม้จะเห็นช่องทางกฎหมายที่จะสามารถเดินหน้าทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปได้ แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าการทำประชามติครั้งนี้จะมีเสียงสนับสนุนตามเป้า เพราะไม่ว่าจะมีมือกฎหมายที่เก่งกาจแค่ไหน มีอำนาจบารมีมากมายเพียงใด แต่คงไม่มีอำนาจใดที่ยิ่งใหญ่กว่าพลังของมวลมหาประชาชน !!

ทว่า สุดท้ายแล้วคงต้องติดตามกันต่อไปว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลจะใช้แท็คติกใดเพื่อให้เป้าหมายสูงสุดไปถึงฝั่งฝัน เพราะเชื่อแน่ๆ ว่าคงไม่เลิกล้มความตั้งใจโดยง่าย


กำลังโหลดความคิดเห็น