ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เดินมาถึงจุดไฮไลท์สำคัญสำหรับคดีแดงป่วนเมืองจนมีผู้เสียชีวิตล้มตาย ที่อยู่ในมือของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ผู้ซึ่งเปลี่ยนสีจากฟ้ามาอยู่ฝั่งแดงเดือดเต็มตัวในวันนี้
เพราะหลังจากศาลมีคำสั่งในคดีไต่สวนการตายของนายพัน คำกอง ว่าเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของทหารตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) นายธาริต ก็ขยายผลแห่งคดีตั้งข้อหากับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้อำนวยการ ศอฉ. ว่าร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 83, 84 และ 288
ถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การสลายม็อบทางการเมืองที่มีผู้บาดเจ็บล้มตาย แล้วมีการดำเนินคดีกับนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย เพราะก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 หรือ 6 ตุลาฯ 2519 หรือพฤษภาฯ 2535 หรือแม้แต่การสลายการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯ 7 ตุลาฯ 2551 สมัยรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ก็ไม่มีการดำเนินคดีใดๆ กับผู้นำประเทศ
เหตุผลในการแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลทั้งสองนั้น นายธาริต ซึ่งรับใช้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดงได้สมบทบาทโดยไม่เคอะเขิน ระบุว่า คดีนี้เมื่อศาลมีคำสั่งออกมาชัดเจนพนักงานสอบสวนจำเป็นต้องยึดถือข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อยุติและดำเนินการหาผู้รับผิดชอบ โดยพยานหลักฐานสำคัญที่เห็นสมควรแจ้งข้อหาแก่นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ มาจากการไต่สวนและคำสั่งของศาล รวมถึงพยานหลักฐานที่ได้จากการสอบสวนเพิ่มเติม
เช่น การสั่งใช้กำลังทหารที่มีอาวุธปืนเข้าปะทะกับผู้ชุมนุม ซึ่งศอฉ.เรียกว่าการกระชับพื้นที่และการขอคืนพื้นที่ การสั่งใช้อาวุธปืน การสั่งใช้พลซุ่มยิง โดยมีการออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรจากผอ.ศอฉ. โดยอ้างว่าเกิดจากการสั่งการของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นอย่างชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับพยานบุคคลที่ร่วมอยู่ในศอฉ.ว่านายอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้รับรู้ร่วมสั่งการและพักอาศัยอยู่ในศูนย์ปฏิบัติการของศอฉ.ตลอดเวลา
ที่สำคัญคือ การสั่งการมีการทำอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง แม้จะเกิดความสูญเสียชีวิตของประชาชนแล้วแต่ก็ไม่ได้มีระงับยับยั้งหรือใช้แนวทางอื่น ประกอบกับมีพยานแวดล้อมอื่นที่บ่งชี้ว่าเป็นเจตนาเล็งเห็นผลว่าได้รวมกันสั่งการเช่นนั้นจะทำให้เกิดการตายของประชาชนจำนวนมากและต่อเนื่องหลายวัน
“คดีนี้ศาลมีคำสั่งครบถ้วนแล้ว หน้าที่ของพนักงานสอบสวนคือการดำเนินการต่อตามผลการไต่สวนและคำสั่งศาล ซึ่งคดีนี้ศาลสั่งว่ามาจากกระสุนปืนของทหารที่ปฏิบัติตามคำสั่งศอฉ. พนักงานสอบสวนจึงต้องต่อยอดถึงผู้มีอำนาจสั่งการของศอฉ.ที่เป็นต้นเหตุของการสั่งการจนมีการตายว่าเป็นใคร” นายธาริต กล่าว
และเพื่อให้ดูเนียน ไม่มีสองมาตรฐาน นายธาริต บอกว่า ไม่ได้ทำตามใบสั่งใคร ไม่ได้กลั่นแกล้งใคร เหตุการณ์รุนแรงมีผู้เข้าข่ายกระทำผิดทั้งสองฝ่าย ซึ่งขณะนี้กลุ่มฮาร์ดคอร์ฝ่ายเสื้อแดงก็ถูกดำเนินคดีมีการฟ้องร้องในศาลไปแล้ว 62 คดี มีจำเลย 295 คน ส่วนผู้สั่งการของศอฉ.เพิ่งจะถูกดำเนินคดีเป็นรายแรก
เมื่อเจอคนที่เคยร่วมรับผิดชอบอยู่ในศอฉ.ด้วยกัน แทงข้างหลัง ตั้งข้อหาหนักถึงขั้นว่าฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล นายอภิสิทธิ์ จึงตอกกลับอธิบดีดีเอสไอว่า ลุแก่อำนาจ การทำคดีมีความผิดปกติ เพราะถ้าตนเองถูกตั้งข้อหา นายธาริต ก็อยู่ในข่ายที่ต้องถูกสอบด้วย เนื่องจากอยู่ในคณะกรรมการศอฉ.ที่ต้องรับผิดชอบด้วย
"ไม่รู้สึกหวั่นไหว ถึงจะถูกตัดสินประหารชีวิต ก็ต้องยอมรับ ซึ่งไม่คิดมาก่อนว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้" นายอภิสิทธิ์ ตัดพ้อต่อชะตากรรม
อดีตนายกรัฐมนตรี ยังได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์บีบีซี ด้วยว่า การตั้งข้อกล่าวหาที่ว่าตนสั่งฆ่าประชาชนนั้นห่างไกลจากความเป็นจริง เพราะสถานการณ์ขณะนั้นผู้ชุมนุมได้ยึดสถานที่สำคัญใจกลางเมือง มีอาวุธ มีการปาระเบิดและยิงปืนเข้าใส่ประชาชน เราไม่ได้เข้าไปสลายการชุมนุม เพียงแค่ตั้งด่านตรวจและถูกโจมตี เกิดการต่อสู้ตามท้องถนน โชคร้ายที่มีประชาชนเสียชีวิต
ขณะที่บีบีซี อ้างถึงรายงานของฮิวแมนไรต์วอตช์ ที่ระบุว่า ผู้เสียชีวิตเกือบทุกคนถูกทหารยิง แต่นายอภิสิทธิ์ ก็บอกว่า มีรายงานที่ทำโดยคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) พบว่า มีราว 20 กรณีที่ผู้เสียชีวิตเกิดจากการกระทำของฝ่ายผู้ชุมนุมซึ่งมีอาวุธ
“เรามีการสอบสวนอยู่ราว 20 กรณี เพียงแค่ 2 กรณีเท่านั้นที่มีการสรุปว่าเป็นการตายจากการถูกกระสุนปืนซึ่งใช้ในกองทัพ แต่ก็ต้องจำด้วยว่าผู้ชุมนุมได้ขโมยอาวุธจากกองทัพไป ในการจะกล่าวหาที่เจาะจงเช่นนี้ คุณต้องรู้เกี่ยวข้อหาที่ถูกแจ้งไว้เสียก่อน การแจ้งข้อหาต่อผมในขณะนี้ คือการเสียชีวิตของคนที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมเลยด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มีรถตู้คันหนึ่งพยายามฝ่าแนวกั้นของทหาร จากนั้นจึงมีการยิงขึ้น ผู้ตายนั้นเพียงแต่ออกมาดูว่าเกิดอะไรขึ้นแล้วก็โชคร้ายที่เขาถูกยิง แต่ถ้าจะพูดว่ารัฐบาลเป็นผู้สั่งทหารให้ฆ่าประชาชนก็ไม่ได้ตรงตามสิ่งที่เกิดขึ้นทีเดียว” นายอภิสิทธิ์ กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับบีบีซี
นายอภิสิทธิ์ ยังตอบคำถามกรณีการใช้กระสุนจริงด้วยว่า ถ้าไม่ได้ใช้กระสุนจริงจะสู้กับกลุ่มคนที่ติดอาวุธได้อย่างไร ตนเสียใจที่มีผู้เสียชีวิต แต่ก็มีคำสั่งชัดเจนว่าพวกเขาควรใช้กระสุนจริงอย่างไรภายใต้สถานการณ์แบบไหน คำสั่งซึ่งออกโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีนั้น เพื่อป้องกันตัวเอง เพื่อป้องกันการเสียชีวิตของประชาชนคนอื่น พวกเขาต้องใช้อย่างระมัดระวังสูงสุด ถ้ามีความเป็นไปได้ที่จะต้องใช้อาวุธต่อคนเหล่านี้ ที่บางครั้งก็ปะปนอยู่กับฝูงชน พวกเขาก็ควรหลีกเลี่ยง
และถ้าการใช้คำสั่งนี้แปลว่าพวกเราสั่งให้มีการฆ่าคน ตนคิดว่าไม่ยุติธรรม เพราะอย่างกรณีการประชุมกลุ่มประเทศ G-20 ก็มีบางคนเสียชีวิตเพราะเจ้าหน้าที่พยายามปฏิบัติหน้าที่และก็ต้องมีการสอบสวน การมีผู้เสียชีวิตควรถูกตัดสินหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับกฎหมาย แต่ไม่มีที่ไหนที่นายกรัฐมนตรีจะต้องมารับผิดชอบกับปฏิบัติการใดๆ ก็ตาม
นายธาริต เองก็คงรู้ว่า การตั้งข้อหาฆ่าคนตายฯ ต่ออดีตนายกฯ และอดีตรองนายกฯ เป็นเรื่องที่ชวนสงสัยต่อสังคมมาตั้งแต่ต้น แต่ไม่ทำก็ไม่ได้เพราะฝ่ายรัฐบาลเพื่อไทยและเสื้อแดงจ้องขย้ำถ้าละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ และถ้าทำไม่สมบทบาทก็ไม่ใช่ จะทำเกินเลยไปก็ไม่งาม
ดังนั้น นายธาริต จึงยืนยันว่าจะไม่นำตัวบุคคลทั้งสองไปศาลตามที่ฝ่ายเสื้อแดงเรียกร้อง แต่วางเงื่อนไขข้อตกลง 4 ข้อ คือ 1.ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องไม่หลบหนีออกนอกประเทศ หากจะเดินทางไปต่างประเทศต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานสอบสวนก่อน 2 .จะไม่เข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน 3.ไม่กระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรง และ 4.ไม่เป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน โดยหวังผลเพื่อลดแรงกดดันจากทั้งฝ่ายเสื้อแดงและแม่ยกเสื้อฟ้า
อย่างไรก็ตาม การตั้งข้อกล่าวหาต่ออดีตผู้นำประเทศครั้งนี้ มองได้สองแง่มุมคือในด้านกฎหมายและทางการเมือง
ในแง่กฎหมายนั้น หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า ข้อกล่าวหาฆ่าคนตายฯ นั้นดูหนักหน่วงสะใจฝ่ายเสื้อแดงยิ่งนัก แต่ประเด็นนี้นักกฎหมายทั่วไปมองปราดเดียวก็รู้ว่า ตั้งข้อหาเพื่อให้หลุดคดี เพราะข้อหาร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 83, 84 นั้นองค์ประกอบของคดีต้องครบถ้วน เพราะ "การร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตาย" ต้องมีทั้งผู้สั่งการและคนรับคำสั่งการ แต่กรณีนี้ดีเอสไอกลับแจ้งข้อหาต่อนายอภิสิทธิ์กับนายสุเทพ ในฐานะ "คนสั่งการ" แต่คนรับคำสั่งการไปฆ่าคนอื่น ซึ่งเป็นทหารปฏิบัติการในพื้นที่ไม่ได้มีการตั้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด
และคำว่า "โดยเจตนาเล็งเห็นผล" นั้น คำสั่งของศอฉ.เพื่อใช้ปฏิบัติการกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะที่สั่งนั้นผู้สั่งไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดหรือไม่เกิด จะหนัก-เบาแค่ไหน ยังไม่รู้ แล้วจะเอาเรื่องเจตนาเล็งเห็นผลมาเป็นข้อหาในกรณีนี้ได้อย่างไร อีกทั้งตามมาตรา 83 ที่เป็นการ "ร่วมกระทำความผิด" ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้อย่างแน่ชัดว่าทหารที่เป็นยิงจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ที่เป็นผู้สั่งการมีการร่วมกันกระทำความผิดในลักษณะ "แบ่งงานกันทำ" อย่างไรด้วย
การต่อสู้ในแง่กฎหมายแล้ว นายอภิสิทธิ์กับนายสุเทพ จึงไม่หวั่นพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ไม่เพียงเท่านั้น พรรคประชาธิปัตย์ ยังตีกินทางการเมืองอีกด้วย
โดยงานนี้นายอภิสิทธิ์ ได้ออกมาแสดงบทบาทนักการเมืองหัวก้าวหน้าชนิดเรียกเสียงกรี๊ดจากแม่ยกสีฟ้าดังสนั่น ด้วยคำยืนยันที่ว่า ไม่มีความหวั่นไหว ถึงตายก็ตายไม่มีปัญหาอะไร แม้แต่การถูกประหารชีวิต เพราะตนเป็นนักการเมือง ที่ต้องรับผิดชอบต่อส่วนรวมและระบบ ใครทำอะไรต้องรับผิดชอบสิ่งนั้น
"ถ้าศาลจะตัดสินว่า ผมผิดสมควรประหาร ผมพร้อมยอมรับโทษนั้น ผมก็เรียกร้องว่า คุณทักษิณไม่ต้องถูกประหารแต่ขอให้กลับมารับโทษติดคุก 2 ปีก่อน ถ้านักการเมืองเป็นอย่างนี้ ตรงไปตรงมา ไม่เอาประโยชน์ของตัวเองเป็นสำคัญ ไม่เอาเรื่องตัวเอง มาต่อรองหรือสร้างเงื่อนไขความวุ่นวายในบ้านเมือง ไม่อย่างนั้น ก็ไม่จบไม่สิ้น หากทำเช่นนี้บ้านเมืองก็จะเดินไปได้ แต่ถ้านักการเมืองเห็นแก่ตัว การเมืองก็จะจมปลักอยู่อย่างนี้"
ในการให้สัมภาษณ์กับบีบีซี นายอภิสิทธิ์ ก็ได้ย้ำว่า “ผมคิดว่าประชาชนจำนวนมากรู้ดีว่าเกิดอะไรขึ้นในปี 2552 และ 2553 และสิ่งที่แตกต่างก็คือ ในฐานะรัฐบาล เราเป็นรัฐบาลแรกที่อนุญาตให้ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และอัยการ และศาลทำงานในเรื่องนี้ และผมยอมรับไม่ว่าคำตัดสินจะออกมาอย่างไร แม้แต่จะเป็นคำตัดสินประหาร ผมก็จะยอมรับ และผมก็ขอให้อดีตนายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) และสมาชิกในรัฐบาลชุดนี้ให้พวกเขาปฏิบัติตามเช่นเดียวกัน เพราะพวกเขาก็มักจะหาทางออกกฎหมายนิรโทษกรรมพวกเขาเองเสมอ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ผมถามอยู่เสมอ ผมต้องการถูกฟ้องร้อง ผมจะต่อสู้ ผมจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในศาล และไม่ว่าเหตุผลใดก็ตามที่มีคำพิพากษาว่าผมผิด ผมก็จะยอมรับ”
แต่จะอย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้ว งานนี้ที่ดูท่าว่าดีเอสไอ ลุแก่อำนาจ กลั่นแกล้ง ก็อาจกลับตาลปัตรกลายเป็นละครแหกตาเสื้อแดง-เผาไทย สร้างคะแนนนิยมให้ประชาธิปัตย์ ไปซะงั้น !