xs
xsm
sm
md
lg

ดีเอสไอแจ้งข้อหา “อภิสิทธิ์-สุเทพ” สั่งฆ่าแท็กซี่เสื้อแดง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ดีเอสไอ แจ้งข้อหา “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง คดี “พัน คำกอง” และร่วมก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนา เตรียมให้เข้ารับทราบข้อหา 12 ธ.ค.นี้

วันนี้ (6 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน คดี 91 ศพ เหตุชุมนุมทางการเมือง ปี 2553 แถลงผลประชุมคณะพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ตำรวจ และอัยการ ว่า ที่ประชุมมีมติร่วมกันให้ดำเนินการแจ้งข้อหากับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบสูงสุดของ ศอฉ. และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ผอ.ศอฉ.ว่า “ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 83, 84 และ 288 สืบเนื่องจากศาลยุติธรรมมีคำสั่งในคดีการไต่สวนสาเหตุการตายของ นายพัน คำกอง เท็กซี่เสื้อแดงว่า การตายเกิดจากถูกกระสุนปืนของทหารที่เข้าปฏิบัติการตามคำสั่งของ ศอฉ.และศาลยุติธรรมได้ส่งสำนวนการพิจารณาไต่สวนทั้งหมดพร้อมคำสั่งมายังตำรวจนครบาล และถึงดีเอสไอ ในที่สุดแล้ว ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนจำเป็นต้องยึดถือเอาข้อเท็จจริงอันเป็นยุติโดยการไต่สวนของศาล

นายธาริต กล่าวว่า พยานหลักฐานสำคัญที่ทำให้คณะพนักงานสอบสวนทั้ง 3 ฝ่าย มีมติแจ้งข้อหาแก่บุคคลทั้งสอง มาจากพยานที่ได้จากการไต่สวนและคำสั่งศาล และพยานหลักฐานเพิ่มเติมที่สอบสวนได้ เช่น การสั่งใช้กำลังทหารที่มีอาวุธปืนเข้าปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่ง ศอฉ.เรียกว่า การกระชับพื้นที่ และการขอคืนพื้นที่ การสั่งใช้อาวุธปืน การสั่งใช้พลซุ่มยิง และอื่นๆ โดยมีการออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร จาก นายสุเทพ และได้อ้างไว้ในคำสั่งด้วยว่า เกิดจากการสั่งการของนายกรัฐมนตรี อย่างชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับพยานบุคคลที่ร่วมอยู่ใน ศอฉ.ว่า นายอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้รับรู้สั่งการ และพักอาศัยในศูนย์ปฏิบัติการของ ศอฉ.ตลอดเวลา และสำคัญคือ การสั่งการของบุคคลทั้งสอง กระทำอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง แม้เกิดการสูญเสียชีวิตของประชาชนแล้ว ก็หาได้ระงับยับยั้ง หรือใช้แนวทางอื่นแต่อย่างใด รวมถึงพยานแวดล้อมกรณีอื่นๆ อีก จึงบ่งชี้ได้ว่าเป็นเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่าการร่วมกันสั่งการเช่นนั้น ย่อมทำให้เกิดการตายของประชาชนจำนวนมากและต่อเนื่องกันหลายวัน

นายธาริต แถลงเพิ่มเติมว่า หน้าที่ของพนักงานสอบสวนต้องดำเนินการต่อตามผลไต่สวนและคำสั่งของศาล ส่วนทหารที่ได้เข้าปฏิบัติการ ศาลไม่ได้ระบุว่า เป็นผู้ใดและผลการสอบสวนไม่สามารถระบุตัวตนได้ ดังนั้น ตามกฎหมายอาญามาตรา 70 ระบุว่า เมื่อมีการปฏิบัติตามคำสั่งการย่อมได้รับความคุ้มครองโดยไม่ต้องรับโทษ จึงไม่แจ้งข้อกล่าวหากับทหาร รวมทั้งฝ่ายยุทธการ และกองทัพซึ่งได้รับการคุ้มครอง เนื่องจากปฏับัติตามคำสั่ง ศอฉ.อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอ ได้มีหนังสือแจ้งให้นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ มารับทราบข้อหา และทำตามสอบสวนในฐานะผู้ต้องหา ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ และแจ้งว่า หากทั้งสองเข้าพบพนักงานสอบสวน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาและสอบสวนเสร็จแล้วก็จะใช้ดุลพินิจปล่อยตัวไป โดยไม่ขอศาลให้ฝากขังตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ เนื่องจากทั้งสองเป็นอดีตข้าราชการฝ่ายการเมืองชั้นผู้ใหญ่ ดีเอสไอจึงออกหนังสือเชิญแทนหมายเรียก

นายธาริต กล่าวว่า การให้มารับทราบข้อหาในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการดำเนินคดี เพราะหากพ้นวันที่ 20 ธ.ค.2555 แล้ว บุคคลทั้งสอง ก็จะได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองตามกฎหมาย เนื่องจากเปิดประชุมสภาผู้แทนฯ โดยเชื่อว่า ทั้งสองจะมาตามนัดหมาย ไม่ถ่วงเวลาจนเปิดประชุมสภาผู้แทนฯ ในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ ทั้งนี้ ตนยืนยันไม่ได้ทำคดีไปตามใบสั่งการเมือง และเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นมีผู้ทำผิดทั้ง 2 ฝ่าย โดยกลุ่มฮาร์ดคอร์ นปช.ถูกดำเนินคดีไปแล้ว 62 คดี มีผู้ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาล 295 คน ส่วนกลุ่มผู้สั่งการของ ศอฉ.เพิ่งถูกดำเนินคดีเป็นคดีแรก จึงสรุปได้ว่า ดีเอสไอดำเนินคดีทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะเกิดเหตุ นายอภิสิทธิ์ และ นายสุเทพ เป็นนายกรัฐมนตรี และรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง หากไม่สั่งให้ฝ่ายปฎิบัติการยุติเหตุการณ์จลาจลของกลุ่มนปช.จะเข้าข่ายละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 หรือไม่ นายธาริต กล่าวว่า ประเด็นอยู่ว่าการสั่งการของนายอภิ สิทธิ์และนายสุเทพทำนอกหน้าที่หรือไม่ การดำเนินการของทั้ง 2 คนเข้าข่ายเล็งเห็นผล คือใช้กองกำลังที่มีอาวุธเข้าปะทะกับประชาชน ใช้พลซุ่มยิงย่อมมีเจตนาทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้ นายธาริต เคยออกมาแถลงในนาม ศอฉ.ว่า เห็นด้วยกับการเข้าควบคุมสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ นายธาริต กล่าวว่า ความเห็นของตนเป็นเห็นด้วยในการดำเนินการที่ไม่เกี่ยวกับการใช้อาวุธ แต่ไม่เคยให้ความเห็นในการดำเนินการใช้อาวุธกับประชาชน ซึ่งการตัดสินใจของ ศอฉ.เป็นความเห็นของคน 2 คน คือ นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ โดยกรรมการฝ่ายยุทธการมีหน้าที่ให้คำปรึกษา ส่วนกรรมการทั่วไปมีหน้าที่ติดตามสถานการณ์เท่านั้น จึงไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ






กำลังโหลดความคิดเห็น