xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

นิธิ: เศษเหล็กในซาเล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อัมมาร สยามวาลา
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -บทความของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่อง “เปลี่ยนประเทศไทยด้วยการรับจำนำข้าว” ในมติชนออนไลน์ เมื่อวันทื่ 5 พฤศจิกายน 2555 สร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอุตสาหกรรมข้าวไทยมาก

นักประวัติศาสตร์อย่างอาจารย์นิธิ กำลังบิดเบือนข้อเท็จจริงอุตสาหกรรมข้าวไทยอย่างรุนแรง ชนิดที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนพากันส่ายหัว

ไม่รู้แล้วยัง (เสือก) อวดรู้ว่า โครงการจำนำข้าวกำลังเป็นโครงการปฏิรูปสังคม

คงมัวแต่กินกาแฟ อัดกรองทิพย์มากไปหน่อย จึงจินตนาการคล้ายๆกับคุณปรสิต

นั่นจึงทำให้ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกรและดร.อัมมาร สยามวาลา เขียนบทความบ่งบอกข้อเท็จจริงจากการวิจัยให้นักประวัติศาสตร์ฟัง

บทความของอาจารย์ทั้งสองใช้ชื่อว่า "เปลี่ยนประเทศไทยด้วยการรับจำนำข้าว : ข้อเท็จจริงสำหรับ อ.นิธิ และประชาชน" ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2555

เนื้อหาในบทความของดร.นิพนธ์ และดร.อัมมารระบุว่า “บทความของ อ.นิธิ มีหลายประเด็น แต่เราขอตอบเพียง 3 ประเด็น คือ เรื่องแรกเป็นเรื่องข้อมูลอาจารย์นิธิ ข้องใจฝ่ายคัดค้านโครงการจำนำข้าว ที่ระบุว่าเงินจากโครงการจำนำข้าว ไม่ตกถึงมือชาวนาเล็กที่ยากจน”

โดยอาจารย์นิธิเขียนไว้ว่า “ปัญหาในด้านเชิงปฏิบัติ ผู้คัดค้านเห็นว่าโครงการนี้ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือชาวนากลางขึ้นไป กับโรงสี ส่วนชาวนาเล็กที่ "ยากจน" (คำนี้มีปัญหาในตัวของมันเองมากนะครับ) เงินไม่ตกถึงมือ เท่าที่ผมทราบ ความเห็นนี้ไม่ได้มาจากการวิจัย แต่เป็นการประมาณเท่านั้น เพราะในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับในตัวเลขว่าทั้งมอเตอร์ไซค์, รถปิกอัพ และวัสดุก่อสร้างขายดีขึ้นในเขตชนบท ซึ่งตลาดของชาวนากลางอย่างเดียวไม่เพียงพอจะอธิบายได้ อีกทั้งความกระตือรือร้นของชาวนาที่จะขยายการเพาะปลูก ก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า ชาวนาจำนวนมาก (ทั้งกลางและเล็ก) ตอบสนองต่อโครงการด้วยความยินดี”

“เรื่องที่สองเกี่ยวข้องกับการให้รัฐเข้ามาแทรกแซงตลาดข้าวแทนกลไกตลาด อาจารย์นิธิ เห็นว่าการขาดทุนจากโครงการจำนำเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะรัฐบาลตั้งใจขาดทุน เพื่อปฏิรูปสังคมอ.นิธิจึงเสนอให้รัฐบาลต้องวางแผนระบายข้าวให้ดี โดยการระบายข้าวตามจังหวะเพื่อรักษาตลาดข้าวไทย และจำกัดการขาดทุนให้น้อยที่สุด รวมทั้งการเสนอให้รัฐบาลลงทุนเพิ่มมูลค่า เช่น การแพคเกจจิ๊ง เป็นต้น”

โดยอาจารย์นิธิเขียนไว้ว่า “ผมคิดว่ารัฐบาลต้องชัด (กว่านี้) ว่าโครงการรับจำนำข้าวด้วยราคาสูงคือการปฏิรูปสังคม ไม่ใช่โครงการรับจำนำข้าวอย่างที่ผ่านมา ซึ่งมีเป้าหมายเพียงช่วยพยุงราคาข้าวของชาวนาให้ใกล้เคียงกับราคาตลาดโลกมากขึ้น และต้องไม่ขาดทุน”

“เรื่องสุดท้ายซึ่งเป็นประเด็นหลัก คือ อาจารย์นิธิเชื่อว่าโครงการรับจำนำข้าว มีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองให้ชาวนาเพื่อการเปลี่ยนประเทศไทย”

โดยอาจารย์นิธิเขียนไว้ว่า “จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม โครงการรับจำนำข้าวในราคาสูงของรัฐบาล ย่อมมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองให้แก่ชาวนาด้วย หากทำต่อเนื่องไปอีกสักสองสามปี จะไม่มีรัฐบาลใดกล้าเลิกโครงการนี้เป็นอันขาด”

“เพราะรัฐบาลกำลังทำอะไรที่มีความสำคัญสุดยอดในการเปลี่ยนประเทศไทย หนทางย่อมไม่ราบรื่นเป็นธรรมดา”

ประการที่หนึ่ง บทความของดร.นิพนธ์ และดร.อัมมารระบุว่า ข้อมูลที่เราสองคนนำเสนอต่อสาธารณชนว่าผู้ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่ เป็นชาวนาปานกลางขึ้นไปกับโรงสี มาจากข้อมูลจริงที่ได้จากหน่วยงานของรัฐและจากการวิจัย ไม่ใช่การประมาณการอย่างเลื่อนลอยอันที่จริงการวิจัยก็ต้องอาศัยการประมาณการจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่

อาจารย์ยังเข้าใจผิดว่าโรงสีไม่ได้กำไรอะไร เพราะรัฐบาลจ่ายค่าจ้างสี 500 บาทค่ากระสอบและค่ารถซึ่งเป็นอัตราที่เท่าทุน หรือบางโรงอาจจะบอกว่าขาดทุน แต่อาจารย์คงไม่ทราบว่ารัฐบาลกำหนดอัตราสีแปรสภาพที่ใจดีกับโรงสีมาก ปรกติการสีข้าวเปลือกเจ้า 1 ตันจะได้ต้นข้าว 500 กิโลกรัม และผลผลิตอื่น(ปลายข้าว+รำข้าว) อีก 160 กิโลกรัม แต่รัฐบาลกำหนดอัตราส่งมอบต้นข้าวขาว 5% เพียง 450 กิโลกรัม โรงสีจึงได้รับแจกข้าวสาร (หรือกำไรพิเศษ) จากการร่วมโครงการเกือบ 50 กิโลกรัมต่อข้าวเปลือก 1 ตัน หรือประมาณ 15,750 ล้านบาท (หรือ 825 บาทต่อตันข้าวเปลือก) กำไรนี้ผู้เขียนยังไม่ได้ไปรวมถึงส่วนค่าจ้างของโรงสี 21,382 ล้านบาท

ประการที่สอง สำหรับประเด็นที่สองของอาจารย์นิธิ ที่ว่าการขาดทุนจากโครงการจำนำข้าว เป็นเงินเล็กน้อย และเป็นการขาดทุนโดยตั้งใจ เพราะฉะนั้นจึงสามารถบริหารจัดการได้ อาจารย์ทั้งสองได้ขอแยกความเห็นของอาจารย์ในประเด็นที่สองออกเป็น 3 เรื่อง คือ

(ก) อาจารย์นิธิ เห็นว่าการขาดทุนหนึ่งแสนล้านบาทจากโครงการจำนำข้าว เป็น “เรื่องเล็กน้อย”เมื่อเทียบกับงบประมาณจำนวนนับล้านล้านบาทต่อปี

ดร.นิพนธ์ และดร.อัมมารเห็นว่า “ประเด็นสำคัญกว่า คือ เงินขาดทุนจำนวน 1 แสนล้านบาทไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กน้อย อย่างที่อาจารย์คิด เพราะเงินก้อนนี้มีต้นทุนเสียโอกาสที่กระทบต่อการทำนโยบายอื่นที่สำคัญของรัฐบาลชุดนี้ ขณะนี้ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าการใช้เงินจำนวนมากในโครงการจำนำข้าว เริ่มเกิดผลกระทบทางการคลังต่อโครงการสำคัญอื่นๆ เช่นงบประมาณของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคถูกจำกัดไว้เท่าเดิมใน 3 ปีข้างหน้า เม็ดเงินงบประมาณแท้จริงที่ใช้รักษาพยาบาล จะลดลงตามภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งปริมาณและคุณภาพของบริการรักษาโรคของประชาชนทั้งประเทศ

(ข) เพราะโครงการจำนำด้วยราคาสูง เป็นการปฏิรูปสังคม ชาวนาจะนำเงินขาดทุนไปลงทุนสร้างเนื้อสร้างตัว

ดร.นิพนธ์และดร.อัมมารเห็นว่า การกำหนดราคาจำนข้าว 15,000บาท กำลังดึงดูดแรงงานที่อยู่นอกภาคเกษตรให้กลับเข้ามาทำนา รวมทั้งการเปลี่ยนพื้นที่เกษตรที่ใช้ปลูกพืชชนิดอื่น มาปลูกข้าวแทนเพราะปลูกข้าวได้รายรับมากกว่า ถ้าเช่นนั้นเงินสงเคราะห์ชาวนาก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย กลุ่มชาวนาที่มีฐานะก็จะกดดันไม่ให้รัฐบาลเลิกโครงการรับจำนำ (จนกว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แล้วเราต้องไปกู้เงินไอเอ็มเอฟ และถูกบังคับให้ตัดรายจ่ายแบบที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540-41 และเพิ่งเกิดขึ้นในกรีก)

(ค) อาจารย์นิธิ เสนอให้รัฐบาลต้องวางแผนระบายข้าวให้ดีเพื่อให้ขาดทุนน้อยที่สุด เราจะเปรียบเทียบผลงานการระบายข้าวของรัฐบาลกับกระบวนการผลิตและการค้าข้าวที่ควบคุมด้วยกลไกตลาด

ดร.นิพนธ์และดร.อัมมาร เห็นว่า การจำนำข้าวกำลังทำลายกระบวนการเหล่านี้(กลไกตลาด) บัดนี้ชาวนาพยายามเพิ่มผลผลิตข้าวให้มากที่สุดโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพข้าว มีการเพิ่มรอบการผลิตโดยการหาเมล็ดพันธุ์อายุสั้น (เป็นข้าวคุณภาพต่ำ) มีการใช้ปุ๋ยใช้ยาฆ่าแมลงเพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตกำลังพุ่งขึ้นตามราคาจำนำ 15,000 บาท ราคาจำนำจึงเป็นตัวกำหนดต้นทุนการผลิต และต้นทุนคงไม่ลดลงเมื่ออุปสงค์สมดุลกับอุปทานอย่างที่อาจารย์นิธิให้ความเห็น

“อันที่จริงประวัติความพยายามผูกขาดการส่งออกข้าวล้มเหลวมาตั้งแต่สมัยคุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี บริษัทเพรสซิเด้นท์อะกริ สามารถประมูลข้าวของรัฐ 2 ครั้ง รวมกว่า 2 ล้านตัน แต่บริษัทกลับประสบปัญหาไม่สามารถส่งออกได้ทั้งๆที่มีการขอแก้สัญญาหลังการประมูลจนทำให้วุฒิสภาต้องตั้งคณะกรรมาธิการสอบสวนและตีพิมพ์รายงานออกมา ต่อมาบริษัทนี้ประสบปัญหาไม่สามารถชำระหนี้แก่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ในเวลาต่อมาผู้บริหารของบริษัทนี้หันมาตั้งบริษัทใหม่และได้สัญญาขายข้าวให้อินโดนีเซีย แต่หนังสือพิมพ์รายงานว่ารัฐบาลอินโดนีเซียไม่ยอมรับข้าวบางส่วน เพราะปัญหาด้านคุณภาพ นี่คือ เหตุผลที่เวลานี้ เจ้าหน้าที่รัฐเริ่มเปลี่ยนท่าทีหันมาขอความร่วมมือจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยในการส่งออกข้าวหอมมะลิ”บทความของดร.นิพนธ์และดร.อัมมารระบุ

ประการที่สาม ประเด็นที่สามซึ่งเป็นประเด็นหลักในบทความของอาจารย์นิธิ คือ อาจารย์เชื่อว่าโครงการรับจำนำข้าว จะมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองให้ชาวนาเพื่อการเปลี่ยนประเทศไทย

ดร.นิพนธ์ และดร.อัมมารเห็นว่า “ความเข้มแข็งทางการเมืองของชาวนา” ที่เราเห็นในบทส่งท้ายของอาจารย์นิธิ นั้น เราก็เห็นว่าเกิดจากการที่ชาวนาใช้อำนาจหย่อนบัตรในการเลือกตั้ง เลือกพรรคการเมืองที่สัญญาว่าจะให้ผลทันทีต่อตน ข้อนี้เป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยแบบประชานิยมที่กำลังเป็นชุดนโยบายมาตรฐานของทุกพรรคการเมืองในปัจจุบัน เสน่ห์ของประชาธิปไตยแบบนี้ คือทำให้เกิดนโยบายที่บรรลุผลทันตาเห็น เราไม่ปฏิเสธว่าชาวนาเกือบทุกคนได้ราคาข้าวตามที่รัฐบาลสัญญาไว้ แต่ที่เราวิตกมากก็คือ ผลเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากนโยบายนี้ทั้งแก่อุตสาหกรรมข้าวและสภาพการเงินการคลังของรัฐบาล จะมิได้รับการกล่าวถึง

อาจารย์นิธิยังเขียนในบทความว่า

“อีกข้อหนึ่งที่พูดกันมากคือการทุจริตทั้งของชาวนาเอง (ขายส่วนต่างของสิทธิการจำนำข้าว), นายทุนผู้รับซื้อส่วนต่างนี้, ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ทั้งขององค์กรของรัฐและบริษัทเซอร์เวย์เยอร์ เรื่องนี้จริงแน่นอนโดยไม่ต้องทำวิจัยเลยก็ได้ โครงการใช้เงินเป็นแสนล้านโดยไม่มีการโกงเลย จะเกิดขึ้นได้ที่ไหนในโลกล่ะครับ แต่ที่น่าสนใจกว่าก็คือ โกงมากกว่าโครงการจำนำข้าวที่ผ่านมาหรือโครงการประกันราคามากน้อยแค่ไหน และโกงได้อย่างไรหรือมีช่องโหว่ตรงไหนบ้าง และควรอุดอย่างไร น่าเสียดายที่ไม่มีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ในการคัดค้าน”

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้คำตอบในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า “การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐระหว่างรัฐบาลจีนและรัฐบาลไทย เป็นสิ่งที่รัฐบาลโกหก เนื่องจากการตรวจสอบจากเอกสารแล้วพบว่า ในจำนวนข้าวที่รัฐบาลว่าจะขาย ในจำนวน 7.32 ล้านตันนั้นเป็นการซื้อขายให้กับบริษัทผี ของคนไทย และของบริษัทจีน ซึ่งเป็นบริษัทผี ซื้อแค่ชื่อบริษัทเพื่อมาทำสัญญาเท่านั้น โดยบริษัทจีนที่ว่านั้นชื่อ GSSG IMP AND EXP.CORP ตั้งอยู่ที่นครกวางเจา ประเทศจีน”

บริษัท GSSG IMP AND EXP.CORP มี นายรัฐนิธ โสจิรกุล เป็นผู้มีอำนาจของบริษัท ลงนามมอบอำนาจให้กับนายนิมล รักดี มีที่อยู่ อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร ให้เป็นผู้มีอำนาจในการลงนามแทน ในการซื้อขายข้าวตามสัญญารัฐต่อรัฐ จำนวน 5 ล้านกิโลกรัม

นายรัฐนิธ มีชื่อเล่นว่า “ปาล์ม” อายุ 32 ปี ผู้ช่วยลำดับที่ 3 ของ นางระพีพรรณ พงษ์เรืองรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และเมื่อตรวจสอบบัญชีธนาคารกรุงไทย พบว่ามียอดเงินค้างในบัญชี จำนวน 64.63 บาทเท่านั้น

นายนิมล ที่เป็นผู้มีอำนาจของบริษัทจีนนั้น ตรวจสอบพบว่า คนในพื้นที่ จ.พิจิตร เรียกว่า “เสี่ยโจ” เป็นมือขวาให้กับ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ“เสี่ยเปี๋ยง”

ตามเอกสารของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่า นายนิมล เป็นคนของบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง และถูก ป.ป.ช.ตรวจสอบพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตรับจำนำข้าว ในปี 46 - 47 สมัยรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในประเด็นนำข้าวเก่ามาเวียนเทียนเข้าโครงการรับจำนำ

บริษัทเพรซิเดนท์ มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด เพราะเมื่อปี 47 “เสี่ยเปี๋ยง” ได้ไปจดทะเบียนบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด ทั้งนี้นายนิมล มีชื่อเรียกในวงการว่า “โจ เพรซิเดนท์ พิจิตร” เป็นคนของบริษัทสยามอินดิก้า ซึ่งเคยร่วมทุจริตค้าข้าวตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ

“ประเด็นที่รัฐบาล ยอมนำหัวของบริษัทจีนมาทำสัญญาแบบจีทูจี เป็นเพราะว่าต้องการเลี่ยงการประมูลซึ่งมีราคาสูง และเมื่อทำเช่นนี้ จะค้าข้าวกระสอบละ 300 บาท ทั้งที่ราคาข้าวในตลาดจะอยู่ที่กระสอบละ 1,500 - 1,555 บาท ดังนั้นเมื่อค้าข้าวกระสอบละ 300 บาท จำนวนที่รัฐบาลว่าจะขายทั้งหมด 7.32 ล้านตัน จะมีค่าส่วนต่างถึง 20,000 ล้านบาท”น.พ.วรงค์อภิปราย

ข้าวที่มีการซื้อขายนั้นพบว่า ถูกนำไปไว้ที่โกดัง จ.พิจิตร ซึ่งเป็นโกดังเก็บข้าวของบริษัทสยามเพรซิเดนท์ โดยใช้วิธีการเทข้าวเก็บไว้ในโกดัง แทนเก็บไว้ในกระสอบ โดยทราบว่าเมื่อช่วง 5 พ.ค. - 16 ก.ค. มีการนำข้าวไปไว้ถึง 4.1 แสนกระสอบ

แหล่งที่มาของเงินที่นำมาใช้ในการซื้อข้าว ก็มาจากในประเทศไทย โดยปรากฏชื่อ นายสมคิด เรือนสุภา เป็นผู้ดำเนินการออกแคชเชียร์เช็ค โดยมีเงินจ่ายให้กรมการค้าต่างประเทศ 4,960 ล้านบาท และมีการถอนเงินออกจากบัญชีกรมการค้าต่างประเทศ 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 4,200 ล้านบาท

เมื่อไม่มีการค้าข้าวแบบจีทูจีจริง แต่รัฐบาลกลับเปิดโอกาสให้สยามอินดิก้าเอาข้าวของรัฐบาลไปเร่ขายให้กับโรงสี ในลักษณะของไปเงินมา

มีการพบแคชเชียร์เช็ค ออกในนามของนายสมคิด เรือนสุภา หรือไอ้คิด ที่ซื้อแคชเชียร์เช็คจำนวนกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งเมื่อสอบที่อยู่ของนายสมคิด ตามที่แจ้งที่อยู่เลขที่ 191 ซอยดำเนินกลาง เขตพระนคร พบว่าไม่มีสภาพเป็นบ้านของพ่อค้าข้าวรายใหญ่ และจากการสอบถามประชาชนพบว่านายสมคิดได้ย้ายไปอยู่บ้านภรรยา ที่เขตบางแคที่เป็นเพียงบ้านไม้ 2 ชั้น ตั้งอยู่ริมคลองเท่านั้น

ที่สำคัญยังพบว่า นายสมคิดเป็นคนของบริษัท สยามอินดิก้า เพราะนายสมคิดได้รับมอบอำนาจจากเสี่ยเปี๋ยงไปจดทะเบียนตั้งบริษัท สยามอินดิก้า เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2547

นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมการฟอกเงิน โดยโอนเงินมาตอนเช้า ตกบ่ายถอนเงินออกเป็นเงินสด...แก๊งบ้านเอื้ออาทรฟื้นชีพอีกครั้ง

ดังนั้นดร.นิพนธ์ และดร.อัมมารจึงสรุปว่า “โครงการรับจำนำข้าวจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย จากระบบการค้าขายที่อาศัยการแข่งขันบนความสามารถ ไปเป็นตลาดของพรรคพวก”

นี่หรือครับ การเปลี่ยนประเทศไทย…พ่อค้าข้าว 5 ล้านกิโลกรัมมีเงินอยู่ในบัญชีแค่ 64 บาท


นิพนธ์ พัวพงศกร
นิธิ เอียวศรีวงศ์

กำลังโหลดความคิดเห็น