xs
xsm
sm
md
lg

ส่อเก๊! จีทูจีกับอินโดฯ งบดุล “สยามอินดิก้า” ระบุชัดทำสัญญาเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ขายข้าวจีทูจี 3 แสนตันส่อเก๊ งบดุล บ.สยามอินดิก้า ระบุชัดทำสัญญากับอินโดนีเซียเอง กู้เงิน 1,000 ล้านจ่ายล่วงหน้า “อคส.” แทน “บูล็อค” ทำพิลึกไล่นักข่าวพ้นออฟฟิซหลังเข้าขอแจงข้อมูลปมข้าวฉาว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่พรรคฝ่ายค้านระบุในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีว่าการที่รัฐบาลอ้างว่าการขายข้าวในสต๊อกจำนวน 3 แสนตัน ให้แก่องค์กรสำรองข้าวประเทศอินโดนีเซีย (บูล็อค) เป็นการค้าขายแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) นั้นไม่เป็นความจริง แท้ที่จริงแล้วเป็นการดำเนินการโดย “บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด”

สำนักข่าวอิศรา ได้ตรวจสอบงบดุลของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ที่นำส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมาพบว่า บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ทำสัญญาซื้อขายสินค้าให้แก่หน่วยงานของรัฐ โดยจะต้องจัดส่งสินค้าไปให้แก่หน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งในประเทศอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ ในงบดุลปี 2554 ซึ่งเป็นงบดุลปีล่าสุดที่บริษัทสยามอินดิก้านำส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา ได้มีการระบุข้อมูลเรื่องการขายข้าวให้กับอินโดนีเซียไว้ ในรายงานผู้สอบบัญชี เพื่อเสนอผู้ถือหุ้นบริษัทฯ

โดยระบุในหมายเหตุ 18 เงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้าว่า “ในเดือนธันวาคม 2554 บริษัทฯ ได้เข้าลงนามในสัญญาขายสินค้าให้แก่หน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่ง โดยตามเงื่อนไขในสัญญาบริษัทฯ จะต้องจัดส่งสินค้าไปให้แก่หน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งในประเทศอินโดนีเซีย ต่อมาในเดือนธันวาคม 2554 บริษัทฯ ได้จ่ายเงินล่วงหน้าค่าซื้อข้าว เป็นจำนวนเงิน 1,000 ล้านบาท โดยการใช้วงเงินสินเชื่อที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง เพื่อนำข้าวมาใช้ในการบรรจุและจัดส่งสัญญาดังกล่าวข้างต้น ปัจจุบัน บริษัทอยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารหลักฐานสำหรับยอดเงินคงเหลือของบัญชีเงินจ่ายล่วงหน้าค่าซื้อสินค้าดังกล่าว”


ผู้สอบบัญชียังระบุถึงข้อมูลเรื่องนี้ ในหมายเหตุ 21 เหตุการณ์ภายหลังวันที่ในงบการเงิน ว่า “เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2555 บริษัทฯ ได้เข้าลงนามในบันทึกต่อท้ายสัญญาขายสินค้าตามที่กล่าวในหมายเหตุ 18 โดยเปลี่ยนแปลงจำนวนสินค้าที่บริษัทฯ ต้องจัดส่ง นอกจากนี้บริษัทฯ มีหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นจากการให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกันต่อผู้ว่าจ้างเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงิน 176.5 ล้านบาท”

ผู้สอบบัญชียังได้ระบุว่า “ตามที่กล่าวไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 18 ข้าพเจ้าไม่สามารถตรวจสอบให้เป็นที่พอใจสำหรับความถูกต้องและครบถ้วนของยอดเงินคงเหลือของบัญชีเงินจ่ายล่วงหน้าซื้อสินค้า จำนวน 779.03 ล้านบาท เนื่องจากฝ่ายบริหารอยู่ระหว่างจัดเตรียมเอกสารประกอบการบันทึกบัญชี และข้าพเจ้าไม่ได้รับการตอบกลับหนังสือยืนยันยอดจากผู้ขายสินค้า ข้าพเจ้าไม่สามารถใช้วิธีการตรวจสอบอื่นให้ได้มาซึ่งหลักฐานจนเป็นที่พอใจสำหรับยอดคงเหลือของบัญชีดังกล่าว”


สำนักข่าวอิศรารายงานต่อโดยอ้างแหล่งข่าวจากวงการข้าว เปิดเผยว่า การขายข้าวจำนวน 3 แสนตันดังกล่าว ผู้ส่งออกได้รับการยืนยันจากตัวแทนรัฐบาลว่าเป็นหนึ่งในจำนวนข้าว 7.3 ล้านตัน ที่รัฐบาลระบุว่าเปิดระบายในรูปแบบจีทูจี แต่ขั้นตอนการดำเนินงานกลับไม่ได้ทำในรูปแบบจีทูจี เพราะมีการมอบหมายให้บริษัทสยามอินดิก้า มาดำเนินการแทนที่จะเป็นกรมการค้าต่างประเทศ

“หลังจากที่รัฐบาลไปเจรจากับทางอินโดนีเซียเรียบร้อยแล้ว ได้มีการมอบหมายให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้ดำเนินการ จัดหาเอกชนเข้ามารับหน้าที่นี้ ซึ่งก็ได้บริษัทสยามอินดิก้ามาดำเนินการให้ ขณะที่แหล่งเงินที่สยามอินดิก้านำมาใช้ในการจัดหาข้าวก็เป็นเงินกู้จากธนาคารกรุงไทย ทำให้บริษัทสยามอินดิก้าถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเข้ามาจับเสือมือเปล่าในเรื่องนี้”

แหล่งข่าวกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าผิดหวังกับการดำเนินการเรื่องนี้ คือ หลังจากที่บริษัทสยามอินดิก้าได้ส่งมอบสินค้าไปได้ไม่กี่งวด ก็ถูกอินโดนีเซียปฏิเสธรับของ โดยอ้างว่าตรวจพบสินค้าไม่มีคุณภาพ ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่รับรู้กันทั่วในวงการผู้ส่งออกข้าวไทย

ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านตรวจสอบพบว่า บริษัทจีนได้แต่งตั้งแทนที่มีความเชื่อมโยงกับบริษัทสยามอินดิก้าเข้ามาซื้อข้าวกับรัฐบาลไทยนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า ฝ่ายค้านควรยื่นเรื่องไปยังสถานทูตจีนให้เข้ามาตรวจสอบสถานะที่แท้จริงของบริษัทจีนรายนี้ว่าเป็นอย่างไร และได้รับมอบอำนาจจากรัฐบาลจีนให้เข้ามาซื้อข้าวจากรัฐบาลไทยจริงหรือไม่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และบริษัทสยามอินดิก้า ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้

อนึ่ง ในวันเดียวกันนี้ สำนักข่าวอิศรารายงานด้วยว่า เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2555 ได้เดินทางไปยังบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คือ เลขที่ 48/7-8 (ชั้น 2) ซอยรัชดาภิเษก 20 (รุ่งเรือง) ถนนรัชดาภิเษก แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เพื่อขอสัมภาษณ์ผู้บริหารเกี่ยวกับกรณีที่ถูกฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่า อาจได้รับประโยชน์จากการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล รูปแบบจีทูจี ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา

พบว่า ที่ตั้งสำนักงานบริษัท สยามอินดิก้า เป็นอาคารพาณิชย์ 9 ชั้น อยู่ด้านในสุดซอยรุ่งเรือง ฝั่งตรงข้าม สน.สุทธิสาร ด้านหน้าอาคารมีป้ายชื่อบริษัทสยามอินดิก้า และโลโก้ติดไว้ชัดเจน

เมื่อเข้าไปติดต่อประชาสัมพันธ์ บริเวณชั้น 1 ตัวอาคารดังกล่าว ได้รับแจ้งว่า ผู้บริหารบริษัท สยามอินดิก้า ไม่ได้เข้ามาที่บริษัท เมื่อผู้สื่อข่าวระบุว่า หากผู้บริหารไม่สะดวก มีเจ้าหน้าที่คนไหนที่พร้อมจะให้ข้อมูลได้บ้าง เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์จึงได้ต่อสายโทรศัพท์ขึ้นไปเพื่อสอบถามข้อมูล

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ผู้สื่อข่าวกำลังรอคำตอบจากฝ่ายประชาสัมพันธ์อยู่นั้น เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของบริษัท สยามอินดิก้า ได้เดินเข้ามาสอบถามว่ามาติดต่อใคร และมีธุรกิจอะไร เมื่อผู้สื่อข่าวระบุว่าต้องการพบผู้บริหารบริษัทสยามอินดิก้า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้แจ้งว่า ผู้บริหารบริษัทไม่ได้เข้ามาที่นี้นานแล้ว ส่วนพนักงานที่เดินเข้าออกบริษัท ในขณะนี้ก็เป็นพนักงานบริษัทอื่นที่มาเช่าอาคารสยามอินดิก้าเป็นสำนักงานบริษัท เมื่อถามว่า ผู้บริหารไม่ได้เข้าสำนักงานมานานหรือยัง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยรายนี้ ระบุว่า “สักพักแล้ว”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างที่กำลังพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ รปภ.มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นบริเวณด้านหน้าทางเข้าบริษัท จากนั้นเจ้าหน้าที่ รปภ.ได้ขอตัวไปรับโทรศัพท์สายดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ รปภ.ได้ยืนยันกับสายโทรศัพท์ที่โทร.เข้ามาว่า “ผม..ได้แจ้งเขาไปแล้วครับว่าผู้บริหารของเราไม่มีใครอยู่ที่นี่แล้วครับ”

หลังวางสายโทรศัพท์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ รปภ.ได้เดินเข้ามาแจ้งกับผู้สื่อข่าวว่า “ได้รับคำสั่งมาว่าห้ามสื่อมวลชนเข้ามาภายในบริษัท” พร้อมขอให้ผู้สื่อข่าวเดินออกไปนอกบริษัททันที

จากการตรวจสอบพบว่า อาคารสยามอินดิก้า นอกจากเป็นที่ตั้งสำนักงานบริษัท สยามอินดิก้า แล้ว ยังเป็นสถานที่ตั้งบริษัทเอกชน 7 แห่ง คือ

1. บริษัท เอ็มไพร์ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด จดทะเบียนวันที่ 20 สิงหาคม 2545 ทุน 5,000,000 บาท แจ้งประกอบธุรกิจจำหน่ายระบบโปรแกรมและงานคอมพิวเตอร์ ปรากฏชื่อ น.ส.ปัทมนันท์ ผดุงชีวิต นางสุดา คุณจักร กรรมการผู้มีอำนาจ นางสุดา คุณจักร ถือหุ้นใหญ่ 96.5333%

2. บริษัท สิราลัย จำกัด จดทะเบียนวันที่ 5 มีนาคม 2555 ทุน 2,200,000,000 บาท แจ้งประกอบกิจการให้เช่าอาคารโรงงาน ที่พักอาศัยรวมปลูกสร้าง น.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร เป็นกรรมการ และผู้ถือหุ้นใหญ่ 50.0250%

3. บริษัท ทีซี พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด จดทะเบียนวันที่ 18 มิถุนายน 2555 ทุน 80,000,000 บาท ประกอบกิจการอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าและดำเนินการทางธุรกิจ น.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร เป็นกรรมการ

4. บริษัท เท็นโอเวอร์เท็น จำกัด จดทะเบียนวันที่ 6 ตุลาคม 2553 ทุน 1,000,000 บาท ประกอบกิจการค้าผ้า เครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับกาย เครื่องอุปโภค น.ส.ศิริกันยา จันทร์สกุลพร เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ 90%

5. บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด จดทะเบียนวันที่ 20 มิถุนายน 2551 ทุน 50,000,000 บาท ประกอบกิจการให้เช่าซื้อจักรยานยนต์ใหม่ และเงินให้กู้ยืมส่วนบุคคล น.ส.ดวงใจ แก้วบุตตา กรรมการ บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด ถือหุ้นใหญ่ 99.9996%

6. บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด จดทะเบียน วันที่ 5 กันยายน 2551 ทุน 200,000,000 บาท ประกอบกิจการให้บริการด้านสินเชื่อแก่บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลในรูปแบบของการให้เช่าซื้อ และให้กู้ยืมเงินสินเชื่อ ปรากฏชื่อ นายทนง พิทยะ ร่วมเป็นกรรมการ กับ น.ส.ดวงใจ แก้วบุตตา บริษัท ดี.ที.เจ.เซอร์วิส จำกัด ถือหุ้นใหญ่ 49.9997% บริษัท ดี.ที.เจ.โฮลดิ้งส์ จำกัด 49.9997% ขณะที่นายทนง พิทยะ ถืออยู่ 0.0001%

7. บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1982 จำกัด จดทะเบียนวันที่ 22 พฤศจิกายน 2538 ทุน 2,123,000,000 บาท ประกอบกิจการให้บริการด้านสินเชื่อแก่บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลในรูปแบบการให้เช่าซื้อ และกู้ยืมเงินสินเชื่อ น.ส.ดวงใจ แก้วบุตตา บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด ถือหุ้นใหญ่ 100%

จากการตรวจสอบพบว่า นางสุดา คุณจักร ปรากฏชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท สยามอินดิก้า คนปัจจุบัน

น.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร น.ส.ศิริกันยา จันทร์สกุลพร มีนามสกุลเดียวกับ “อภิชาติ จันทร์สกุลพร” อดีตกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำนวน 43,739,000 หุ้น เป็นอดีตผู้ก่อตั้ง กรรมการ และผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด จำนวน 232,560 หุ้น

ขณะที่ “ทุน” บริษัท สิราลัย จำกัด พบว่า ในช่วงจดทะเบียนตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2555 มีแค่ 1,000,000 บาท ก่อนจะปรับขึ้นเป็น 1,200,000,000 บาท เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 และเพิ่มเป็น 2,200,000,000 บาท เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2555

ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับ บริษัท “GSSG IMP AND EXPORT CORP” จากเมืองกวางเจา ประเทศจีน เข้ามาทำสัญญาซื้อข้าวกับกรมการค้าต่างประเทศ และมีการตรวจพบว่า ตัวแทนบริษัทที่เข้ามาดำเนินการ คือ “รัฐนิธ โสติกุล” (ปาล์ม) และนายนิมล รักดี มีความเกี่ยวโยงกับบริษัทสยามอินดิก้า
กำลังโหลดความคิดเห็น