ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-แม้ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องคำร้องคณาจารย์ 146 คนเพื่อขอให้ยับยั้งยุติโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล
แต่ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลจะไม่พังเพราะโครงการนี้
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคำร้องที่นายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และคณะ ยื่นขอให้ศาลใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อยับยั้งยุติการจำนำข้าวของรัฐาล เนื่องจากเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 และ 84 (1)
“ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลจะรับคำร้องใดไว้พิจารณาวินิจฉัย จะต้องมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้อำนาจไว้ แต่ตามคำร้องนี้เป็นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยับยั้งหรือยุติโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ”
“ประกอบกับผู้ร้องยังมิใช่เป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพอันสืบเนื่องมาจากบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และมิใช่เป็นการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ คำร้องนี้ จึงไม่เป็นไปตามหลักกฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ถือว่าตกไปเลย” พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญอธิบายผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
แต่อย่างไรก็ตาม สังคมเชื่อว่า โครงการจำนำข้าว ไม่แตกต่างจากโครงการทางยกระดับโฮปเวลล์ในอดีต เหตุผลสำคัญคือ
1. ผลประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่กับครอบครัวชาวนา 4 ล้านครัวเรือน แต่กลับตกอยู่กับชาวนาที่มีฐานะ สามารถขนข้าวจำนวนไปจำนำที่โรงสีได้ โดยกระทรวงพาณิชย์ประกาศด้วยความภาคภูมิใจว่า มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 1.2 ล้านราย
แต่ชาวนาที่เหลืออีกหลายล้านคนกลับไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้
ผลประโยชน์จำนวนมากตกอยู่กับนักการเมือง และโรงสี ซึ่งอาจจะเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกัน เพราะนักการเมืองหลายคนมีกิจการโรงสี หากไม่ได้เป็นเจ้าของก็ต้องแบ่งให้นักการเมืองเพื่อจะได้สิทธิ์ในการร่วมโครงการ รวมทั้งโกดังเก็บข้าวเปลือกจำนวนมาก
จำนวนข้าวเปลือกในปีการผลิต 54/55 ที่รัฐบาลรับจำนำมีทั้งหมด 18 ล้านตัน
ลองคิดดูว่า รัฐบาลไม่มีโกดังเป็นของตนเอง ต้องเช่าทั้งหมด จะมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ??
เงินจำนวนมหาศาลนี้ ก็ต้องอยู่กับโรงสีนั่นเอง
2. ค่าใช้จ่ายในการรับจำนำข้าวมีทั้งหมด 282,520 ล้านบาท แบ่งข้าวนาปี 122,520 ล้านบาท ข้าวยนาปรัง 160,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่า พื้นที่ปลูกข้าวทีมีระบบชลประทานค่อนข้างดีเท่านั้นที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้มากกว่า จนทำให้ยอดเงินการใช้จ่ายรับจำนำข้าวนาปรังสูงกว่าข้าวนาปี
ค่าใช้จ่ายจำนวนนี้ รัฐบาลใช้เงินภาษีของประชาชนไปรับจำนำ โดยยังไม่สามารถส่งออกได้แม้แต่เมล็ดเดียว ข้าวเปลือกทั้งหมด 18 ล้านตัน สามารถสีเป็นข้าวสารได้ 10.2 ล้านตัน
ยังไม่สามารถส่งออกได้สักเมล็ดเดียว
จึงเป็นที่มาของการ “จับโกหก” รัฐบาลยิ่งลักษณ์
ในเฟซบุ๊กของ พานทองแท้ ชินวัตร ที่จ้างอดีตนักข่าวการเมืองแก่ๆ เขียนอธิบายการรับจำนำข้าวแบบใช้หลังเท้าแทนสมอง เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา มีเนื้อหาว่า
“ คือการที่รัฐกำหนดราคาเอาไว้ว่า ถ้าจะขายต่ำกว่า 15,000 บ. ไม่ต้องขายให้เอามาจำนำไว้กับรัฐ แล้วเอาเงินไป 15,000 บ. ถ้าจะขายได้ดีกว่านี้ ก็มาไถ่ถอนไป ถ้าไม่ได้ รัฐก็จะระบายออกให้เอง
พ่อค้าคนกลางที่เคย “ ซื้อกดราคาถูกจากชาวนา แล้วมาขายแพงกับผู้บริโภค” ก็จะหาซื้อข้าวแบบกดราคาไม่ได้ เพราะถ้าขอซื้อต่ำกว่า 15,000 บ. ชาวนาก็เอาข้าวมาจำนำกับรัฐดีกว่า
เมื่อข้าวส่วนใหญ่มาอยู่กับรัฐ ไม่สามารถซื้อราคาถูกจากชาวนาได้ พ่อค้า (ทั่วโลก) ก็ต้องมาหาซื้อจากรัฐบาล จะกดราคาจากรัฐบาลโดยซื้อข้าวราคาเดิม 7-8,000 บ. รัฐบาลก็ไม่ยอมขายให้ เพราะรัฐสามารถ ขายให้กับผู้รับซื้อได้หลากหลายทั่วโลก (ต่างจากชาวนาที่ต้องขายให้กับผู้รับซื้อใกล้บ้าน) บวกกับกลไกในการซื้อขาย ดีมานด์-ซัพพลาย ธรรมดาๆ ข้าวไทยย่อมราคาดีขึ้น”
ควายยังคิดไม่ได้ขนาดนี้เลย เพราะเนื้อหานี้ ระบุว่า “พ่อค้า (ทั่วโลก) ก็ต้องมาหาซื้อจากรัฐบาล จะกดราคาจากรัฐบาลโดยซื้อข้าวราคาเดิม 7-8,000 บ. รัฐบาลก็ไม่ยอมขายให้ เพราะรัฐสามารถ ขายให้กับผู้รับซื้อได้หลากหลายทั่วโลก”
พ่อค้าคนนั้น ชื่ออะไร? อยู่ประเทศไหนนะ? ที่มาซื้อข้าวสารจากรัฐบาลไทย คนไทยอยากเห็นหน้าตาจริงๆ
แล้วจะมาซื้อแบบกดราคาเดิม 7-8,000 บาทไม่ได้....คิดและเขียนด้วยหลังเท้า ตลาดข้าวจึงฉิบหายอย่างทุกวันนี้
คิดง่ายๆ ราคา 8,000 บาทต่อตัน หารด้วยอัตราแลกเปลี่ยน 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก็เท่ากับ 258 ดอลลาร์ต่อตัน แต่ปัจจุบันราคาข้าวในตลาดโลกของเวียดนาม 434 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน
ควายโง่ๆ ยังไม่คิดไม่ออกเลยว่า จะขายได้อย่างไร
ถ้าผมเป็นพานทองแท้ จะเลิกจ้างอดีตนักข่าวการเมืองแก่ๆ คนนี้เขียนให้ เพราะสอบตกคณิตศาสตร์ ป.1
ทุกวันนี้ ทั้งนักวิชาการ พ่อค้า ภาคเอกชน ส.ส. วุฒิสมาชิก สอบถามอยู่ทุกวันว่า “ขายข้าวให้ใคร เช่าเรือที่ไหน ซื้อกระสอบบรรจุข้าวจากใคร แล้วเงินอยู่ที่ไหน”
เหตุผลสำคัญ เพราะต้นทุนข้าวสารของไทยสูงกว่า ราคาที่ผู้ซื้อทั่วโลกต้องการ
ต้นทุนข้าวสารของไทยอยู่ที่ 825 ดอลลาร์ต่อตัน แต่ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เวียดนามขายข้าวสาร 5% ตันละ 434 อินเดียขายตันละ 379 ดอลลาร์
ใครจะบ้ามาซื้อข้าวสารไทย
บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ยังไม่ยอมรับข้อเท็จจริง บอกว่า ได้ระบายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือจีทูจี แล้วกับ 4 ประเทศ ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย โกตดิวัวร์ และบังกลาเทศ รวม 6 สัญญา ปริมาณรวม 7.3 ล้านตัน
“ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการส่งมอบรวม 5 ล้านตัน คาดว่าภายในปีนี้จะส่งมอบรวม 2 ล้านตัน เมื่อรวมกับการส่งออกของเอกชน 6 ล้านตัน ก็จะทำให้ปีนี้ส่งออกได้รวม 8.5 ล้านตัน เบื้องต้นได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศ เปิดการประมูลข้าวเป็นการทั่วไปให้ได้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ครั้ง และให้ระบายข้าวอย่างต่อเนื่อง” บุญทรง อธิบายแบบน้ำขุ่นๆ โดยคิดว่าคนไทยหาข้อมูลไม่เป็น
คิดว่าคนไทยจะเชื่อว่า รัฐบาลขายข้าวสารต้นทุน 825 ดอลลาร์ต่อตันได้จริง !!
“ชูเกียรติ โอภาสวงศ์” นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย บอกถึงกรณีที่มีข่าวจากผู้นำเข้าข้าวจากต่างประเทศของไทยว่ายังไม่มีประเทศใดมีการทำสัญญาซื้อขายข้าวในรูปแบบจีทูจี จากรัฐบาลไทยว่า “ภาคเอกชนก็ได้รับทราบมาตามที่รัฐบาลระบุว่ามีการทำสัญญาขายจีทูจีกับรัฐบาลในต่างประเทศ รวมกว่า 7 ล้านตัน ซึ่งไม่อยากพูดว่ารัฐบาลโกหกในเรื่องดังกล่าว แต่ข้อมูลที่ออกมาก็ถือว่าชัดเจน ทั้งการออกมาปฏิเสธข่าวของประเทศคู่ค้า ว่าไม่ได้ซื้อ หรือตัวเลขส่งออกข้าวโดยภาพรวมของไทย ก็ไม่มีตัวเลขการส่งออกข้าวของภาครัฐเลย”
“ที่ผ่านมามีการบอกว่ารัฐส่งออกข้าวไปแล้วในประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย จีน โกตดิวัวร์ ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลตัวเลขส่งออกตั้งแต่ 1 ม.ค.-30 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่าเป็นการส่งออกข้าวโดยภาคเอกชนทั้งหมด โดยส่งออกไปฟิลิปปินส์ จำนวน 246 ตัน จีนจำนวน 6 หมื่นตัน ซึ่งก็เป็นข้าวหอมมะลิทั้งหมด ไม่มีข้าวขาว โกตดิวัวร์ จำนวน 2 แสนตัน ซึ่งเป็นปลายข้าวหอมมะลิ จำนวน 1.7 แสนตัน ที่เหลือก็เป็นข้าวชนิดอื่นๆ มีเพียงอินโดนีเซียเท่านั้นที่เป็นการส่งมอบข้าวแบบจีทูจี จำนวน 3 แสนตัน ในช่วงตอนต้นปี ซึ่งก็เป็นการส่งมอบที่ค้างจากสัญญาปีก่อน”
“ภาพค่อนข้างชัดว่ารัฐบาลยังไม่ได้มีการส่งออกข้าวออกไปเลย” ชูเกียรติ ตอกย้ำ
“ความเป็นจริงว่ามีการส่งออกข้าวออกไป 7 ล้านตันนั้น จริงหรือไม่จริงอีก 2 เดือนก็รู้ ในเมื่อข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนี้ ซึ่งเราก็มีการตรวจสอบกันพอสมควรถึงความเป็นไปได้ในการส่งออกข้าวของรัฐ ภาพที่ออกมาจึงไม่อยากพูดว่ารัฐโกหกหรือไม่”
ภาคเอกชนที่คลุกคลีอยู่กับการส่งออกข้าวอีกคน บอกข้อเท็จจริงในทำนองเดียวกัน
วิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าว บอกข้อเท็จจริงกับสำนักข่าวอิศรา ว่า “ที่รัฐบาลอ้างว่า ทำจีทูจีกับหลายประเทศแล้วนั้น ผู้ส่งออกยืนยันได้ว่า ไม่เป็นความจริง ไม่เคยเห็นสถิติการส่งออกข้าวเลย ตลอด 12 เดือนที่ผ่านมาของโครงการจำนำข้าว ยังไม่เห็นแม้แต่เมล็ดเดียว”
“ ตัวเลข 3 แสนตันที่รัฐบาลบอกว่ามีการระบายออกไปก่อนหน้านี้ก็เป็นตัวเลขในสมัยรัฐบาลอื่น ขณะนี้ไม่มีตัวเลขการส่งออกของรัฐบาลนี้ ส่วนที่บอกว่ามีการเซ็น MOU หรือทำสัญญานั้น ในทางปฏิบัติก็ไม่สามารถทำได้ ไม่มีประโยชน์ ต้องมี L/C (LETTER OF CREDIT) ต้องให้ธนาคารที่เชื่อถือได้มารับรอง ถึงจะมีการส่งมอบข้าวได้ ไม่อย่างนั้นส่งข้าวไปแล้วเก็บเงินไม่ได้”
" เราเคยเจอกรณีกับประเทศเกาหลีเหนือ ที่เปิด L/C แต่เปิดจากธนาคารที่ใช้ไม่ได้ เราส่งข้าวไป 3 แสนตัน ยังไม่ได้เงิน ซึ่งผ่านมา 10 ปีแล้ว ฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเราจะส่งข้าวไปให้ใครก็ได้ ต้องถามรัฐบาลว่า การขายข้าวทำไมต้องเป็นความลับ ทำไมเปิดเผยต่อสาธารณะไม่ได้ ไม่มีที่ไหนต้องปิดเป็นความลับ เป็นการอ้าง ไม่กล้าเจอกับความจริงมากกว่า" นายวิชัย อธิบายข้อเท็จจริง
เขายังบอกว่า ขณะนี้ปัญหาต่างๆ เริ่มแสดงอาการออกมา แต่รัฐบาลกำลังหาทางลงไม่ได้ ยังไม่มีทางที่จะระบายออกในราคาสูงอย่างที่วางเอาไว้ ต่อให้เอกชนซึ่งขายข้าวเก่งกว่ารัฐบาลก็คงขายไม่ได้ ปัญหาอยู่ที่รัฐบาลตั้งราคาผิด แทนที่จะอิงตามกลไกตลาด เพิ่มลดได้ตามสถานการณ์โลกที่ไม่นิ่ง กลับตั้งราคาเองและเป็นราคาเดียว แล้วนั่งคิดเองว่า ทั่วโลกจะตาม ซึ่งผ่านมา 12 เดือน ก็ชี้ชัดแล้วว่า ไม่มีใครตาม การตั้งราคาสูงจึงส่งผลเพียงให้ประเทศได้เงินน้อยลง เพราะยอดส่งออกหดตัวเท่านั้น และเหตุนี้เองที่เกษตรกรต้องรู้ปัญหาได้แล้วว่า แม้เกษตรกรจะได้ประโยชน์จากขายข้าวได้ราคาดี แต่จากนี้รัฐบาลคงรับซื้อไม่ได้ตลอดไป และการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนอยู่จะตรงไหน"
ที่สำคัญมีความเคลื่อนไหวของรัฐบาลที่เล่นแร่แปรธาตุในการระบายข้าว โดยสำนักข่าวอิศรา ได้เผยแพร่คำอธิบายของแหล่งข่าวในวงการค้าข้าวว่า
“เชื่อว่าขณะนี้รัฐบาลมีการระบายข้าว เนื่องจากขณะนี้มีเงินหมุนเวียนกลับคืนมา โดยใช้วิธีแบบฉลาดเล่น เช่นเดียวกับการเปลี่ยนโกดังรับฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าว มาเป็นเช่าโกดัง เนื่องจากเจ้าของโกดังไม่ต้องรับผิดชอบ เป็นวิธีการเลี่ยงบาลี”
“วิธีการขาย จะให้ผู้ส่งออกหาออเดอร์จากรัฐวิสาหกิจต่างประเทศ ซึ่งส่วนมากเป็นประเทศจีน ที่ทำเรื่องขอซื้อจากรัฐบาลไทย และตั้งผู้ส่งออกข้าวเป็นผู้แทนในประเทศไทยดำเนินการเรื่องนี้ มีการเจรจากัน เพื่อหลีกเลี่ยงการประมูล และเมื่อขายเสร็จจึงไม่ต้องพิจารณาตรวจสอบว่า มีส่งออกข้าวหรือไม่ และต่อให้มีการส่งออก ก็เป็นการส่งออกในชื่อผู้ส่งออกไทย จึงไม่ปรากฏชื่อจีนหรือต่างประเทศ จึงเป็นที่มาของการไม่เปิดเผยข้อมูลการส่งออกต่างๆ จากการตรวจสอบพบว่า ตัวเลขการส่งออกต่อเดือนที่ผ่านมาประมาณเดือนละ 5 แสนตัน กระทั่งสิ้นสุดเดือนกันยายนที่ผ่านมา รวมประมาณ 5 ล้านตัน ก็ไม่ใช่ตัวเลขที่หวือหวา”
บริษัทที่เป็นผู้ส่งออกติดอันดับ คือ บริษัทสยามอินดิก้า ซึ่งไม่ใช่ผู้ค้าข้าวรายใหญ่ของไทย
“ในวงการข้าวยังมีการพูดคุยกันด้วยว่า จะมีการระบายข้าวประมาณ 2 ล้านตัน แลกกับการบริหารจัดการน้ำของประเทศจีน ซึ่งเมื่อเช็คไปทางประเทศจีน ทราบว่า มีการพูดคุยกันจริง แต่จะรับมอบกันประมาณกลางปี 2556 โดยรอดูความชัดเจนของการคัดเลือกโครงการบริหารจัดการน้ำก่อน รวมทั้งมีการเจรจาเรื่องรถเมล์ ขสมก. 4,000 พันคัน กับประเทศจีนด้วยเช่นกัน" แหล่งข่าว อธิบาย
นั่นหมายความว่า อาจจะมีประเทศจีนเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่อาจจะซื้อข้าวไทย โดยแลกกับโครงการบริหารจัดการน้ำ ส่วนฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซื้อข้าวจากเวียดนาม บังคลาเทศ ซื้อข้าวจากอินเดีย
แต่จะขายได้สักเท่าไหร่ และกี่ครั้ง...ทุกวันนี้สต็อกข้าวจำนวน 10.2 ล้านตัน ยังไม่มีใครมาซื้อเลย !!?